วิธีการทำความสะอาดและดูแลรักษาเร็กกูเลเตอร์

เร็กกูเลเตอร์เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่สำคัญที่สุดในชุดอุปกรณ์ดำน้ำของเรา เพราะเป็นตัวจ่ายอากาศให้กับเราตลอดไดฟ์ การดูแลอย่างเหมาะสมจะช่วยให้เราใช้งานได้อย่างปลอดภัย ป้องกันอันตรายที่คาดไม่ถึง และยืดอายุการใช้งาน ช่วยประหยัดเงินจากการซ่อมแซมด้วยเหตุที่ไม่สมควรเกิด ได้อีกด้วย

การทำความสะอาดเร็กกูเลเตอร์หลังดำน้ำเสร็จเป็นสิ่งที่ควรทำ ยิ่งปล่อยไว้นาน วัสดุก็ยิ่งมีโอกาสเสื่อมสภาพมากขึ้น ไม่ใช่แค่หลังจากดำน้ำทะเลเท่านั้น แม้กระทั่งในสระว่ายน้ำหรือน้ำจืดก็เช่นเดียวกัน น้ำทะเลจะมีผลึกเกลือและอนุภาคทรายที่ทำให้วัสดุเกิดการกัดกร่อนได้ ส่วนสระว่ายน้ำก็มีคลอรีนและกรด และทะเลสาบน้ำจืดก็ยังมีแร่ธาตุ และอาจมีเกลือ รวมถึงตะกอนที่เป็นด่าง ที่จะทำให้เร็กกูเลเตอร์เสื่อมสภาพได้เช่นกัน

ในการทำความสะอาดเร็กกูเลเตอร์มีเรื่องที่ควรทำอย่างระมัดระวัง และมีบางเรื่องที่ไม่ควรทำเพราะจะสร้างความเสียหายให้กับเร็กกูเลเตอร์ได้ หากศึกษาแล้วยังไม่เข้าใจชัดเจนเรื่องใด สามารถสอบถามผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมได้

ขั้นตอนการทำความสะอาดเร็กกูเลเตอร์

เริ่มต้นตั้งแต่หลังการดำน้ำทุกไดฟ์

หลังจากจบการดำน้ำแต่ละไดฟ์ อย่างน้อยควรล้างเร็กกูเลเตอร์แบบง่ายๆ ขณะที่ยังต่ออยู่กับถังอากาศและเปิดวาล์วอากาศไว้ เพราะแรงดันจากถังจะช่วยป้องกันไม่ให้มีน้ำย้อนเข้ามาในระบบได้ โดยใช้น้ำสะอาดเทราดลงไปพร้อมกับถูเบาๆ ให้สิ่งที่ติดมาจากทะเลหลุดออกไปบ้าง

หลังจากทำความสะอาดแบบง่ายๆ ไวๆ และปิดถังอากาศเรียบร้อยแล้ว หากอยู่บนเรือ liveaboard นักดำน้ำส่วนใหญ่มักจะวางเร็กกูเลเตอร์ทิ้งไว้กับวาล์วถังอากาศ เพื่อรอใช้งานในไดฟ์ถัดไป แต่ท่านที่ต้องการดูแลเร็กกูเลเตอร์อย่างจริงจัง ควรจะปลด 1st stage ออกจากถังอากาศแล้วปิด dust cap ให้เรียบร้อยด้วยตัวเอง เนื่องจากในระหว่างพักน้ำรอไดฟ์ถัดไปนั้น ลูกเรือจำเป็นต้องถอด 1st stage ออกจากถังเพื่ออัดอากาศเข้าถังด้วย บางครั้งลูกเรืออาจไม่ได้ระมัดระวัง ถอดและวาง 1st stage ไว้โดยไม่ได้ปิด dust cap ซึ่งทำให้มีน้ำ ความชื้น หรือสิ่งแปลกปลอมเข้าไปใน 1st stage เสี่ยงต่อปัญหาอื่นที่ตามมาได้

วิธีการทำความสะอาด dust cap

ก่อนจะปิด dust cap เข้ากับเร็กกูเลเตอร์ทุกครั้ง ต้องล้าง dust cap ให้สะอาดก่อน โดยทั่วไปมักจะใช้อากาศจากถังอากาศ โดยเปิดวาล์วทีละน้อย ปล่อยลมออกมา ให้ลมแรงพอที่จะไล่น้ำและฝุ่นออกจากหน้าสัมผัสของ dust cap ซึ่งมักจะสะอาดกว่าการใช้ผ้าเช็ด สังเกตว่าหน้าสัมผัสของ dust cap แห้งสนิทและสะอาด ปราศจากน้ำ เม็ดทราย หรือฝุ่นผงแล้ว จึงปิดเข้ากับช่องอากาศของ 1st stage หมุนปิดให้แน่นพอดีๆ ไม่แน่นจนเกินไปจนทำให้ dust cap เสียหาย (หลวมไป ก็อาจปิดไม่สนิท)

ล้างเร็กกูเลเตอร์หลังเสร็จจากการดำน้ำ

ขั้นตอนต่อไปนี้ บางคนอาจทำทุกไดฟ์ บางคนอาจทำหลังไดฟ์สุดท้ายของวัน หรือบางคนอาจทำหลังไดฟ์สุดท้ายของทริปทีเดียวเลยก็ได้ ขึ้นกับความต้องการและปริมาณน้ำจืดที่เรือมีพอให้ใช้งาน

  • วิธีที่ดีที่สุด คือล้างขณะที่เร็กกูเลเตอร์ยังต่ออยู่กับถังอากาศดังที่กล่าวไว้ข้างต้น
  • หากเร็กกูเลเตอร์ไม่ได้ต่ออยู่กับถังอากาศ ให้ปิด dust cap ให้สนิท (อย่าลืมทำความสะอาด dust cap ก่อนตามวิธีการข้างต้น)
  • ห้ามแช่ 1st stage ลงในน้ำ เพราะตัว dust cap ไม่สามารถกันน้ำเข้ามายัง 1st stage รวมถึงสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ อาจย้อนเข้ามา
  • ล้างด้วยน้ำจืดให้น้ำไหลผ่าน การใช้น้ำอุ่น (ไม่เกิน 49°C) จะช่วยขจัดสิ่งปนเปื้อนที่จะทำให้เร็กกูเลเตอร์เสื่อมสภาพได้ดียิ่งขึ้น ห้ามใช้น้ำร้อนหรือน้ำเย็นจัดเด็ดขาด
  • ล้างและถูเบาๆ บริเวณขั้วต่อของสายต่างๆ กับ 1st stage เพื่อล้างขี้เกลือที่ติดตามซอกต่างๆ ถ้ามี host protector ให้ขยับออกมาเพื่อให้ทำความสะอาดได้ง่ายและทั่วถึงยิ่งขึ้น
  • ระหว่างนั้น ก็สังเกตรอยบิ่นบนวัสดุที่เป็นโลหะ หรือรอยแตกบนสายยางที่อาจมีอากาศรั่วออกมาได้ ไปพร้อมกันเพื่อจะประเมินสภาพก่อนใช้งานไดฟ์ถัดไป หรือเตรียมส่งศูนย์บริการเพื่อตรวจและซ่อมแซมต่อไป
  • หากไม่ได้ต่ออยู่กับถังอากาศที่เปิดอากาศไว้ ระวังอย่าโดนปุ่ม purge ที่ 2nd stage เพราะจะทำให้วาล์วอากาศเปิดออก และน้ำย้อนกลับเข้าไปในสายได้ น้ำหรือความชื้นที่เข้ามาจะสร้างความเสียหายให้กับเร็กกูเลเตอร์และยังทำให้เกิดเชื้อรา

แช่ส่วน 2nd stage, เกจ และสายเติมลม BCD ลงในน้ำ

  • สำหรับ 2nd stage, เกจ และสายเติมลม BCD ให้ล้างสิ่งสกปรกออกก่อนแล้วนำไปแช่ในน้ำ
  • การล้าง 2nd stage ควรล้างโดยให้น้ำอุ่นไหลผ่านเมาท์พีซออกไปทางช่องปล่อยอากาศ (exhaust tee) ด้านล่างทั้ง 2 ข้าง ซึ่งจะช่วยล้างเอาสิ่งที่อาจติดค้างอยู่ตรงแผ่นวาล์วซิลิโคนออกไปด้วย
  • ส่วนเมาท์พีซทำความสะอาดได้โดยการใช้แปรงสีฟันถู สามารถใช้สบู่อ่อนหรือน้ำยาต้านเชื้อแบคทีเรียในการฆ่าเชื้อโรคได้ นอกจากนี้ การใช้แปรงสีฟันยังช่วยขจัดทรายหรือสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ ออกจากจุดที่เข้าถึงยากได้
  • การแช่น้ำ อาจแช่ไว้หนึ่งชั่วโมงหรือข้ามคืน แกว่งส่วนต่างๆ ไปมาเพื่อไล่สิ่งแปลกปลอมที่เกาะติดอยู่ (ระวังอย่าแช่ส่วนของ 1st stage ในน้ำ)
  • หากชุดเร็กกูเลเตอร์ต่ออยู่กับถังอากาศ ให้กดปุ่ม purge ที่ 2nd stage สัก 5-10 วินาที เพื่อให้อากาศไหลออก พาเอาความชื้นที่อาจจะตกค้างอยู่ในสายออกมาด้วย ทำทั้งตัวหลักและ octopus (alternate air source)
  • หากชุดเร็กกูเลเตอร์ไม่ได้ต่ออยู่กับถังอากาศ ต้องระวังอย่าโดนปุ่ม purge โดยเฉพาะขณะที่แช่ 2nd stage ในน้ำ เพราะน้ำหรือความชื้นสามารถเข้ามาผ่านวาล์วได้ หากน้ำหรือความชื้นเข้ามา อาจต้องส่งเร็กกูเลเตอร์เข้าศูนย์บริการ
  • ระหว่างนั้นสังเกตรอยบิ่นหรือแตกบนตัว 2nd stage ไปด้วย
  • ล้างเสร็จแล้ว ปลดออกจากถังอากาศให้เรียบร้อย แล้วทิ้งไว้ให้เร็กกูเลเตอร์แห้งสนิทก่อนนำไปจัดเก็บ

ไม่ว่าจะเป็นชุดเร็กกูเลเตอร์ของเราเอง หรือชุดเช่าจากร้านดำน้ำใดก็ตาม เราควรดูแลทำความสะอาดด้วยตัวเองเสมอ เพื่อคุณภาพการใช้งานและความปลอดภัยจากอุปกรณ์ที่ตัวเราเองต้องใช้หายใจใต้น้ำ รวมทั้งหากมีความเสียหายเกิดขึ้น แม้เป็นชุดเช่าก็ตาม เราก็อาจต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายนั้นด้วย

ข้อควรระวัง

  • ห้ามใช้ตัวทำละลายหรือสารจากปิโตรเลียมในการทำความสะอาดหรือหล่อลื่นส่วนใดๆ ของเร็กกูเลเตอร์
  • อย่าให้ส่วนใดส่วนหนึ่งของเร็กกูเลเตอร์สัมผัสกับก๊าซแอโรซอล (aerosol — ก๊าซพ่นสเปรย์) เนื่องจากสารบางอย่างในแอโรซอลอาจทำให้วัสดุที่เป็นยางและพลาสติกเสื่อมสภาพ

การจัดเก็บเร็กกูเลเตอร์หลังจากทำความสะอาดเสร็จ

  • ควรเก็บเร็กกูเลเตอร์ให้ไกลจากความชื้น หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรง บริเวณที่อาจสัมผัสกับความร้อนสูง หรือมอเตอร์ไฟฟ้าที่ก่อให้เกิดโอโซน การสัมผัสกับความร้อนจัด โอโซน คลอรีน และรังสีอัลตราไวโอเลตเป็นเวลานานอาจทำให้ชิ้นส่วนและส่วนประกอบของยางเสื่อมสภาพก่อนเวลาอันควร และอย่าต่อเร็กกูเลเตอร์ทิ้งไว้กับถังอากาศ
  • หลีกเลี่ยงการกดทับเร็กกูเลเตอร์ ตรวจสอบให้แน่ใจว่าสายไม่มีการหักงอ และหลีกเลี่ยงการพับ เนื่องจากสายอาจเสื่อมสภาพจากการที่ต้องรับแรงกดมาก อาจเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาร้ายแรงในภายหลัง
  • หากเก็บเร็กกูเลเตอร์ไว้ในกระเป๋าเร็กกูเลเตอร์ (สำหรับเดินทาง) ให้ม้วนสายเป็นห่วงที่ใหญ่พอ หากพอมีพื้นที่ การวางสายในแนวราบบนชั้นวางก็เป็นวิธีที่เหมาะสม การแขวนเร็กกูเลเตอร์โดยใช้ส่วน 1st stage อาจทำให้สายที่ข้อต่องอได้ และแตกเสียหายเมื่อเวลาผ่านไป จึงควรตรวจสอบสายหลังจากเก็บไว้เป็นเวลานาน
  • วัสดุบางชนิดที่ประกอบอยู่ในอุปกรณ์ดำน้ำ เช่น ยาง หรือ O-ring เมื่อเก็บไว้นานๆ อาจแข็งตัวมากขึ้นและเปราะแตกได้ง่าย จึงควรนำเร็กกูเลเตอร์ออกมาใช้งาน หรือบีบนวดขยับมันบ้าง เพื่อยืดอายุการใช้งาน

การดูแลอุปกรณ์เฉพาะอื่นๆ

สำหรับอุปกรณ์เฉพาะบางอย่าง ที่ประกอบอยู่กับชุดเร็กกูเลเตอร์ อาจมีคำอธิบายเพิ่มเติมวิธีการใช้งานและบำรุงรักษา เช่น

แหล่งข้อมูล