Sheck Exley กับการดำน้ำในถ้ำ

นอกเหนือจากการมีสัตว์ทะเลจำนวนมากมายแล้ว เมือง Jacksonville ก็ยังมีชื่อเสียงในโลกของการดำน้ำอีกด้วย ว่าเป็นบ้านเกิดของ Sheck Exley และ Octopus อุปกรณ์ดำน้ำชิ้นสำคัญ ที่ได้รับการออกแบบโดย Exley เอง อันที่จริง หากท่านไม่ได้อยู่ในแวดวงดำน้ำ ท่านคงไม่เคยได้ยินชื่อเสียงของ Exley แต่ในแวดวงการดำน้ำในถ้ำ และ Technical Diving แล้ว มีบุคคลน้อยมาก ที่ได้รับการยอมรับนับถือมากกว่าเขา

Exley ได้เขียนตำราว่าด้วยการดำน้ำในถ้ำขึ้นมาในปี 1979 เป็นตำราเล่มเล็กๆ แต่สำคัญในเรื่องความรู้เกี่ยวกับการเอาชีวิตรอด จากการดำน้ำในถ้ำ ในตำราชื่อ Basic Cave Diving, A Blueprint for Survival ของเขานั้น เขาได้กล่าวถึงหลักสำคัญเกี่ยวกับ ความปลอดภัยในการบีบตัวเองเข้าไปในถ้ำใต้น้ำ ที่มีทั้งปล่อง ทางแยกต่างๆ ที่มีหินอันหนาหนักขวางทาง ระหว่างตัวคุณกับอากาศ ที่ผิวน้ำ ก่อนที่จะเขียนหนังสือเล่มนี้ออกมา Exley ได้ดำน้ำในถ้ำของรัฐฟลอริด้า ตั้งแต่ปี 1965 เมื่อเขาผ่านการเรียนดำน้ำขั้นต้น ขณะอายุ 16 ปี ในการดำน้ำครั้งแรกของเขา หลังจากเรียนดำน้ำจบนั้น เขาได้ดำใกล้แม่น้ำคริสตัลที่ฟลอริด้า และไปพบกับปากทาง เข้าถ้ำตื้นๆ แต่ซับซ้อน ซึ่งเป็นต้นทางของน้ำพุหลายแห่งในบริเวณนั้น อาจจะเรียกได้ว่าเป็นชะตากรรมชักนำไปก็ได้

เช่นเดียวกันกับคนอื่นๆ ก่อนหน้าเขา Exley ไม่สามารถต้านทานต่อแรงปรารถนา ที่จะเข้าไปในถ้ำ ทั้งๆ ที่ไม่มีการเรียนรู้ ฝึกฝน หรือประสบการณ์ในการดำน้ำในถ้ำมาก่อนเลย ในเวลานั้น ก็ไม่มีการฝึกฝนดำน้ำในถ้ำ อย่างเป็นทางการอยู่ดี และหากท่านไม่รู้จักคน ที่มีความรู้เรื่องนี้ ก็นับว่าท่านโชคไม่ดีเอง การดำน้ำในถ้ำยุคนั้น นักดำต้องสร้างประสบการณ์ จากการดำน้ำในถ้ำจริงด้วยตนเอง ต้องเสี่ยงชีวิตเพื่อเรียนรู้เอง อันเป็นกระบวนการที่โหดหินมาก ยิ่งประกอบกับถ้ำที่ดำยากๆ ด้วยแล้ว นักดำน้ำหลายคนต้องสังเวย ด้วยชีวิตของพวกเขาเอง เนื่องจากนักดำน้ำทั่วไปที่ดำน้ำในทะเลเปิดนั้น เคยชินกับการที่สามารถขึ้นสู่ผิวน้ำไปหาความปลอดภัย ได้โดยตรง พวกเขาก็จะไม่มีความพร้อมทั้งด้านเทคนิค และจิตใจที่จะดำในสิ่งแวดล้อมที่มีสิ่งกีดขวางเหนือศีรษะ เช่น ในถ้ำ ซึ่งการที่จะกลับไปสู่ผิวน้ำได้นั้น นักดำน้ำจะต้องดำย้อนทางกลับไปในทางที่มา ในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่นักดำน้ำ จะต้องมีความมั่นคงในจิตใจมาก สำหรับการดำน้ำยาวนานไปหาทางออกที่เข้ามา ซึ่งมักจะอยู่ท่ามกลางน้ำขุ่น มีทางแยกต่างๆ มากมายหลายหลาก การตัดสินใจจะไปทางซ้ายหรือขวา จะถูกนับว่าเป็นการตัดสินใจ ที่สำคัญต่อชีวิตของนักดำน้ำเอง ในระยะเวลาสั้นๆ ที่เริ่มการดำน้ำในถ้ำกันนั้น อัตราการเสียชีวิตพุ่งขึ้นสูงจนน่าตกใจ

เรื่องราวของนักดำน้ำในถ้ำ มีกล่าวไว้มากมาย มีนักดำน้ำสองคนเข้าถ้ำด้วยถังอากาศใบเดียว ซึ่งนักดำน้ำอีกคนจะหายใจ ด้วยเร็กฯ สำรอง พวกเขาไม่มีประสบการณ์ และสายเชือกนำทาง จึงหลงทางในที่สุด พวกเขาถูกค้นพบภายหลังจากเสียชีวิตแล้ว และมีร่องรอยของการ Panic อย่างชัดเจน เช่น มีรอยฟินบนฝุ่นที่พื้นกระจุยกระจายไปหมด มีรอยเล็บบนเพดานถ้ำ แสดงให้เห็นว่า มีการพยายามขุดหาทางออกบนผนังหิน อีกรายหนึ่งเป็นนักดำน้ำ ที่ไม่ได้รับการฝึกดำในถ้ำมาก่อน และเข้าไปในถ้ำคนเดียว ไม่มีสายนำทาง และหลงทางในที่สุด เมื่อรับรู้ชัดเจนว่าหลงทาง จนไม่มีทางหาเจอแล้ว เขาได้ใช้มีด (และอากาศที่เหลืออยู่) เขียนลงบนถังอากาศของเขา เพื่อให้คนที่มาพบร่างเขาได้อ่าน ว่า “ผมหลงทาง เสียใจมาก แม่ครับ ผมรักแม่”

Exley รอดชีวิต และเมื่อเขาอายุ 23 ปี เขาได้ดำน้ำในถ้ำมาแล้วถึง 1000 ไดฟ์ จำนวนการดำน้ำเหล่านั้นบวกกับรายงาน เรื่องอุบัติเหตุการดำน้ำในถ้ำ ที่เขาอ่านในเวลาว่าง เป็นต้นกำเนิดของปรัชญาการดำน้ำในถ้ำของเขา ซึ่งได้ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ ออกไปในที่สุด เขารู้สึกไม่ชอบใจกับอัตราการเสียชีวิต ที่สูงมากของนักดำน้ำในถ้ำ และคิดว่าการให้การศึกษาจะช่วยให้ คนตายน้อยลงได้ หนังสือของเขาก็ถูกมองสองมุม สมาชิกกลุ่มนักดำน้ำในถ้ำหลายคนคิดว่า การออกหนังสือแบบนี้จะทำให้ มีคนมาลองดำน้ำในถ้ำมากขึ้น และอัตราการตายก็จะพุ่งสูงกว่าเดิมอีก แต่ในที่สุด ก็ได้มีการพิสูจน์ว่า Exley คิดถูก เพราะอัตราการเสียชีวิตของนักดำน้ำในถ้ำน้อยลงไปมาก หลังจากมีการให้การศึกษาเรื่องนี้กับนักดำน้ำในถ้ำหน้าใหม่

อันเนื่องมาจาก การแสวงหาความปลอดภัยในระดับสูงขึ้นของเขา ที่ทำให้ Exley คิดค้นอุปกรณ์ชิ้นที่มีอิทธิพลสูงยิ่ง สำหรับวงการดำน้ำ นั่นคือ อุปกรณ์ที่เรียกกันในปัจจุบันว่า Octopus นั่นเอง อุปกรณ์ดำน้ำนั้น คือ วาล์วแรงดันสูง (First Stage) ที่ติดอยู่กับถังอากาศ และมีวาล์วตัวที่สอง (Second Stage) ติดกับวาล์วตัวแรกด้วยสายส่งอากาศ วาล์วตัวที่สองนี่เอง ที่นักดำน้ำจะคาบไว้ และหายใจผ่านมัน อากาศแรงดันสูงจากถังอากาศ ก็จะถูกทำให้แรงดันลดลงด้วยวาล์วตัวแรก และถูกส่งมาให้กับวาล์วตัวที่สอง ที่แรงดันอากาศจะถูกปรับให้เหมาะสม กับการหายใจของนักดำน้ำ ณ ความลึก (หรือแรงดันของน้ำ) ในขณะนั้น ด้วยอุปกรณ์แบบนี้ สิ่งที่นักดำน้ำต้องทำก็เพียงแต่หายใจ เร็กกุเลเตอร์จะจัดการทุกอย่างให้

เทคนิคหนึ่งที่ Exley คิดค้นขึ้นมาคือ การใช้อุปกรณ์แบบใหม่ ใช้ในการแบ่งอากาศหายใจ แทนที่จะใช้การ Buddy Breathing ด้วยเร็กกุเลเตอร์ตัวเดียวกัน โดยปกติแล้ว เป็นการยากมากที่เร็กฯ จะเสียหายจนใช้การไม่ได้ สถานการณ์ส่วนมากที่เกิดขึ้นนั้น มักจะเป็นการที่นักดำน้ำคนหนึ่งอากาศหมด และต้องขอแบ่งอากาศจากบัดดี้ของตนเองมากกว่า ในยุคนั้น เมื่อเหตุการณ์ฉุกเฉิน เกิดขึ้นในถ้ำ นักดำจะต้องผลัดกันหายใจด้วยเร็กฯ ตัวเดียว ซึ่งเป็นการยุ่งยาก และทุลักทุเลมาก โดยเฉพาะในถ้ำ ซึ่งต้องการเวลา ทุกวินาทีให้เป็นประโยชน์ที่สุด เทคนิคการ Buddy Breathing จึงเป็นวิธีที่ไม่สามารถยอมรับได้ Exley ได้ทำการออกกฎใหม่ ออกมาว่า นักดำน้ำในถ้ำทุกคน ภายใต้การดูแลของเขาจะต้องมีเร็กฯ (Second Stage) สำรองติดตัวไปด้วย ด้วยวิธีนี้นักดำน้ำ จะสามารถหายใจจากถังอากาศเดียวกัน ได้อย่างสะดวก และปลอดภัยกว่าเดิม

ปัญหาก็มีอยู่ที่ว่าในยุคนั้น เทคโนโลยียังไม่ก้าวหน้าเพียงพอ และไม่มี First Stage ตัวใดที่มีช่อง สำหรับใส่สาย Second Stage สำรองเลย ในการแก้ไขปัญหานี้ Exley ได้ไปปรึกษากับ Joseph Califano ซึ่งมีอาชีพเป็นช่างอุปกรณ์ดำน้ำโดยตรง และ Califano ได้สร้าง First Stage ตัวแรกที่มีช่องใส่สาย Second Stage ถึง 5 ช่อง ให้กับ Exley เมื่อประกอบวาล์วสำรองถึงห้าชุดเรียบร้อยแล้ว นักดำน้ำทุกคนจะนึกถึง “หมึกสาย” และชื่อ Octopus จึงกลายเป็นชื่อใช้เรียก อุปกรณ์นี้มาจนถึงบัดนี้ ซึ่งอุปกรณ์ระบบนี้ กลายเป็นมาตรฐานสำหรับวงการดำน้ำ นักดำน้ำทุกคนในปัจจุบันจะมี Octopus ติดตัวไปเวลาดำน้ำเสมอ

Exley ได้ก้าวต่อไปในการประสบความสำเร็จ ในการดำน้ำในถ้ำของเขา เขาได้สร้างสถิติความลึกถึง 881 ฟิต ในปี 1989 และสถิติการดำในถ้ำยาวถึงสองไมล์คนเดียว โดยใช้เวลาถึง 11 ชั่วโมงครึ่งในปี 1990 เขาได้กลายเป็นผู้บุกเบิกการดำน้ำแบบ Technical โดยเฉพาะการเริ่มใช้อากาศชนิดอื่นๆ ในการดำ เพื่อเอาชนะความลึกมากๆ สรุปแล้ว ในระยะเวลา 29 ปี ของการดำน้ำ ในถ้ำของเขานั้น เขาได้ดำไปถึง 4,000 กว่าไดฟ์

เหมือนดังว่าจะเน้นอันตรายที่ยิ่งใหญ่ของการดำน้ำในถ้ำ Exley เสียชีวิตในปี 1994 เมื่ออายุเพียง 45 ปี ขณะที่พยายามจะสร้าง สถิติการดำน้ำลึกถึง 1000 ฟิตที่ Mexican Sinkhole อย่างไรก็ดี การเสียชีวิตของเขา ไม่เชิงว่าจะเป็นการเสียชีวิต เพราะดำน้ำในถ้ำ เนื่องจากถ้ำดังกล่าวนั้น ไม่ได้ซับซ้อน หรืออันตรายอย่างใด เป็นเพียงหลุมลึกมากๆ เท่านั้น อันตรายแท้จริงที่ปลิดชีวิตเขานั้นคือ ผลกระทบทางสรีระวิทยา อันเนื่องจากการหายใจ ภายใต้แรงกดดันของการดำน้ำลึก การวางแผนดำน้ำของเขาส่วนมาก จะเป็นการจัดการกับส่วนผสมอากาศที่เขาต้องใช้ ในความลึกมหาศาลที่เขาพยายามสร้างสถิตินั้น การจัดการกับอากาศที่หายใจ เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง และโอกาสของการใช้อากาศจนหมดก็มีอยู่สูง เนื่องจากภายใต้ความลึกมากมายแบบนั้น อากาศจะหมดลงไป อย่างรวดเร็วมาก ที่ความลึกยี่สิบฟิตนั้น อากาศในถังมาตรฐานจะเพียงพอ สำหรับการหายใจถึงหนึ่งชั่วโมงครึ่งอย่างสบายๆ แต่ที่ความลึก 920 ฟิตแล้ว อากาศปริมาณเท่ากันจะหมดลงไป ภายในสองหรือสามนาทีเท่านั้นเอง

ไม่มีใครทราบสาเหตุที่แท้จริง ว่าอะไรเกิดขึ้นกับ Exley แต่มีการสันนิษฐานกันว่า เขาคงใช้อากาศที่ต้องใช้ ณ ความลึกนั้น หมดเร็วกว่าที่คาด และอาจจะขึ้นมาไม่ได้โดยง่าย เขาจึงดึงตัวเองไว้ ด้วยการพันเชือกสายทุ่นที่ใช้ดำลง กับข้อมือของเขาเอง ในช่วงนั้นเขาอาจจะต้องสลับก๊าซที่ใช้หายใจ ไปใช้ก๊าซที่ไม่เหมาะกับความลึกตอนนั้น และหมดสติไป ร่างของเขาถูกนำขึ้นมา พร้อมกับเชือก เมื่อเจ้าหน้าที่ดึงเชือกสายทุ่นกลับขึ้นมา

ความลึกสูงสุดที่ Dive Computer ของเขา แสดงว่าเขาดำลึกลงไปถึง 879 ฟิต

 

เขียนโดยดร. พิชิต เมืองนาโพธิ์
พิสูจน์อักษรทีมงาน FreedomDIVE
เผยแพร่ครั้งแรก2 มิ.ย. 48
ปรับปรุงล่าสุด17 พ.ค. 64