เป็นที่ทราบกันดีว่า ตีนกบ (Fins) หรือที่เราเรียกกันทับศัพท์ว่า ” ฟิน “ นั้น มีอยู่ 2 ลักษณะใหญ่ๆ นั่นคือ
- ฟินแบบธรรมดา (Paddle Fin)
- ฟินแบบแฉก (Split Fin)
ซึ่งทั้งสองลักษณะ มีวิธีการทำงานค่อนข้างแตกต่างกันอย่างมาก ใช้แรงในการตีฟินต่างกัน และให้ประสิทธิภาพ ต่างกันด้วย โดยเราจะพบว่า ฟินแฉกมักจะนำเสนอว่า มีประสิทธิภาพสูง คือ ใช้แรงน้อยกว่าฟินแบบธรรมดา เพื่อให้เกิดแรงพอๆ กัน แต่เราก็พบว่า นักดำน้ำส่วนใหญ่ โดยเฉพาะ กลุ่มที่มีประสบการณ์สูง ก็ยังนิยมใช้แบบธรรมดากันอยู่ โดยที่ฟินแฉกยังไม่ได้มาแทนที่ไปทั้งหมด แสดงว่า ต้องมีอะไรที่เด่นและด้อย ให้พิจารณา ก่อนตัดสินใจเลือกใช้ฟินแบบนี้ อย่างแน่นอน เรามาลองทำความเข้าใจ การทำงานของฟินแฉก และความแตกต่างของฟินทั้งสองแบบนี้ กันเสียหน่อยดีกว่าครับ
ฟินแฉก (Split Fins) ทำงานอย่างไร
ฟินแฉก ทำงานโดยอาศัย การเคลื่อนที่ของใบฟินไปในน้ำ ทำให้เกิดความต่างของความดันน้ำระหว่าง 2 ด้านของใบฟิน ตามกฎของแบร์นูลี (Bernoulli’s Principle) และทำให้เกิดแรงที่ผลักตัวเราไปข้างหน้าได้ แบบเดียวกับปีกของเครื่องบิน ที่ทำให้เกิดแรงยกได้ เมื่อเคลื่อนที่ไปในอากาศ และยิ่งเคลื่อนเร็ว ก็ยิ่งเกิดแรงยกมาก
แต่อันที่จริง ต้นแบบของฟินแฉก ไม่ได้มาจาก ปีกเครื่องบินหรอกครับ แต่เป็นใบพัดเครื่องยนต์เรือ (และใบพัดเครื่องบินด้วย) ต่างหาก โดยที่ใบของใบพัดเหล่านี้ นอกจากจะมีรูปหน้าตัดเหมือนปีกเครื่องบิน เพื่อให้เกิด แรงผลักจากความต่างของความดันแล้ว ใบของใบพัด ยังจะบิดโค้ง เพื่อเรียงแนวการไหลของน้ำ ให้ออกไป ด้านหลังตรงๆ และผลักเรือให้ไปข้างหน้าได้เต็มที่ ซึ่งจะเห็นได้ว่า รูปร่างของใบฟิน แบบแฉก ขณะวาดไปในน้ำ จะบิดไปเป็นแบบเดียวกัน กับใบพัดเรือด้วย
นอกจากนี้ น้ำที่ไหลผ่านด้านหน้าฟินขณะตีฟิน จะถูกบีบให้ไปรวมกันตรงกลาง และไหลผ่านฟินออกไป ตรงรอยแยกของฟินนั่นเอง ซึ่งการไหลผ่านออกไปนี้ ช่วยลดแรงลาก (Drag — เป็นแรงเสียดทานรูปแบบหนึ่ง) ที่เกิดขึ้น ระหว่างน้ำกับใบฟิน ในกรณีที่ไม่มีแฉก น้ำต้องไหลผ่านหน้าใบฟินทั้งใบ ออกไปทางด้านหลัง
สำหรับผู้ที่เคยใช้ฟินแบบแฉก จะพบว่า แรงที่ต้องใช้ในการตีฟินนั้นน้อยมาก ผู้ใช้จะรู้สึกเบา และแทบไม่เชื่อว่า ฟินแบบนี้ ทำงานได้ทัดเทียมฟินแบบธรรมดา จนกว่า จะเอานาฬิกาจับเวลา และสายวัดระยะทาง มาลองวัดกันจริงๆ
สำหรับคนที่เป็นตะคริวบ่อยๆ กับฟินแบบธรรมดาที่ใช้อยู่ คุณน่าจะรู้สึกดีขึ้นมาก เมื่อลองใช้ฟินแฉก อย่างไรก็ตาม ฟินแฉกแบบ open-heel จะมีมวลมาก และแรงที่เราต้องใช้ในการเคลื่อนที่วัตถุนั้น ยังแปรผันตามมวลของมันด้วยเช่นกัน (ไม่ใช่แค่รูปร่างของมันเท่านั้น)
การทำงานของฟินแฉก
ฟินธรรมดา (Paddle Fins) ทำงานอย่างไร
หากจะเปรียบเทียบกับฟินธรรมดา ให้นึกถึงพัดใบลาน หรือพัดจีน ที่เราใช้พัดไปพัดมา ให้มีลมผ่านมาที่ตัวเรา แล้วรู้สึก เย็นสบายนั่นล่ะครับ ฟินแบบธรรมดา ทำงานโดยการดันน้ำไปทางด้านหลัง เพื่อสร้างแรงปฏิกิริยา ดันตัวเราไปทางด้านหน้า ด้วยความที่ทำงานง่ายๆ แบบนี้ น้ำที่ไหลผ่านหน้าใบฟิน ก็เลยไหลไม่เป็นระเบียบเท่าไหร่ แม้จะมีครีบช่วยเรียงกระแสบ้างแล้ว แต่ก็ไม่เป็นทิศเป็นทางเท่าที่ควร แรงที่เกิดขึ้นเลยไม่ถูกรวบยอด ออกไปในทิศทางเดียวอย่างเต็มที่ และน้ำที่ไหลผ่านหน้าใบฟิน ก็สร้างแรงเสียดทาน ให้เปลืองแรงนักดำน้ำขึ้นอีกนิดด้วย ปัญหาเรื่องน้ำไหลไม่เป็นทิศทางนี้ เบื้องต้น ได้รับการปรับปรุง โดยการใส่รางสูงด้านข้าง เหมือนครีบแบนๆ ขึ้นมา ช่วยให้น้ำไม่ไหลผ่านฟินออกไปทางด้านข้าง แต่ออกไปทางด้านหลังมากขึ้น และถัดมา ก็ได้รับการปรับปรุงเพิ่มเติมอีก ด้วยการออกแบบใบฟิน ให้มีหน้าตาเป็นโพรงน้ำ ขณะทำงาน (นำทีมออกแบบโดย Mares จ้าวแห่งฟินแบบ paddle) ทำให้ได้ประสิทธิภาพที่ดีขึ้น จากน้ำที่ถูกดันออกไปทางด้านหลังอย่างมีทิศทางมากขึ้น
ส่วนเรื่องแรงลาก ที่เกิดขึ้นบนหน้าใบฟิน ถ้าเป็นไปตามที่ผู้ผลิตฟินแฉกกล่าวอ้างจริงๆ ก็คงยังไม่สามารถแข่งขันกับฟินแฉกได้ แต่ก็เริ่มมีผู้ผลิตฟินบางยี่ห้อ คิดค้นวิธีลดแรงลากบนหน้าฟินแบบ paddle นี้บ้างแล้วเหมือนกัน อย่าลืมติดตามพัฒนาการเรื่องนี้ กันต่อได้ครับ
เมื่อต้องเลือกใช้ฟินแบบใดแบบหนึ่ง ก็คงต้องพิจารณาความเหมาะสมหลายเรื่องประกอบกัน คำว่า “ประสิทธิภาพ” อาจไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูปครับ ทางที่ดีที่สุด ถ้าได้ทดลองใช้ก่อน (ซัก 2 – 3 รอบด้วย) ว่าชอบรุ่นไหนจริงๆ ก็จะดีครับ
เขียนโดย | ศุภพงษ์ อารีประเสริฐกุล |
พิสูจน์อักษร | ทีมงาน FreedomDIVE |
แหล่งข้อมูล | Atomicaquatics.com และ Wikipedia.org |
ปรับปรุงล่าสุด | 17 พ.ค. 2564 |