cover image of Mares gears in white

Mares แบรนด์ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน คู่กับวงการดำน้ำโลก

เมื่อเอ่ยถึงแบรนด์อุปกรณ์ดำน้ำที่เก่าแก่ อยู่คู่กับวงการดำน้ำมาอย่างยาวนาน Mares จะเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่เรานึกถึง แม้อาจจะมีบางช่วงเวลาที่ชื่อเสียงของแบรนด์นี้แผ่วเบาลง โดนแบรนด์อื่นเป็นที่แซงหน้าไปบ้าง ก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่นักดำน้ำในยุค 10-20 ปีที่แล้วจะจำได้อย่างแน่นอน ก็คือ Mares เป็นผู้ผลิตฟินที่มีประสิทธิภาพสูงรายหนึ่งของโลก

อย่างไรก็ตาม คงมีไม่กี่คนที่รู้ว่า Mares และ Ludovico Mares (หรือ Ludwig) ผู้ก่อตั้ง Mares ยังมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยีอุปกรณ์ดำน้ำอีกหลายอย่าง ที่เราอยากเล่าให้คุณฟัง

หน้ากากดำน้ำชิ้นแรกของโลก

ในยุคก่อนจะมีการประดิษฐ์อุปกรณ์ดำน้ำลึกโดย Jacques Cousteau (อย่างที่เรามักจะได้รู้จักในระหว่างการเรียนดำน้ำขั้นต้น เรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การดำน้ำลึก) นั้น มนุษย์เราก็ลงดำน้ำหาสิ่งต่างๆ จากก้นทะเลขึ้นมาใช้ประโยชน์นานแล้ว ไม่ว่าจะเป็น จับปลา หาหอย หามุก และฟองน้ำ เป็นต้น ในสมัยนั้นมีการพัฒนา “แว่นสองตา” ลักษณะคล้ายกับที่ปัจจุบันคือ แว่นตาว่ายน้ำ หรือ goggles ขึ้นมาโดยการขัดเปลือกหอยบางชนิดจนมีความใสระดับหนึ่ง พอใช้งานได้ แต่แว่นสองตาแบบนี้ ใช้ดำน้ำได้ไม่ลึกมาก แค่ไม่กี่เมตรจากผิวน้ำเท่านั้น เพราะหากลงลึกกว่านั้นจะประสบกับปัญหา eye squeeze ถึงขั้นเส้นเลือดฝอยในตาแตก เพราะไม่สามารถปรับความดันอากาศในช่องแว่นตาได้

ราวปี ค.ศ. 1920 Ludwig ในวัย 22 ปี หลังปลดประจำการจากกองทัพ เขาหยิบเอาทักษะและประสบการณ์การดำน้ำที่ได้มาจากกองทัพ และทักษะการยิงปลาที่เคยฝึกฝนมาในสมัยวัยรุ่น มาประกอบอาชีพจับปลาขาย ที่เมือง Pula ประเทศโครเอเชีย ริมทะเลเอเดรียติก (Adriatic) ที่นี่เองที่เขาได้ทดลองประดิษฐ์หน้ากากดำน้ำขึ้น โดยใช้ กระจกกลมใส กับ ยางในของล้อรถยนต์ เพื่อใช้ในการดำน้ำหาปลา ซึ่งทำให้เขาเห็นภาพใต้น้ำชัดขึ้น และลงดำน้ำได้ลึกขึ้นจากการที่สามารถ equalize อากาศในหูและหน้ากากได้ ผลลัพธ์ก็คือ เขาลงจับปลาได้จำนวนมากขึ้นมาก จนมีชาวประมงคนอื่นได้ทราบข่าวและมาขอให้เขาทำหน้ากากดำน้ำให้หลายต่อหลายคน

ต่อมาอีกหลายปี สิ่งประดิษฐ์ของเขาชิ้นนี้ก็ค่อยๆ ได้รับการปรับปรุงต่อยอดมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นหน้ากากดำน้ำแบบที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

ฟินที่ใช้วัสดุ 2 ชนิด

หลังจากที่ Ludwig ได้ก่อตั้งโรงงาน Mares Sub ขึ้นในปี ค.ศ. 1949 (ตอนที่เขาอายุ 50 ปีแล้ว) ก็มีการพัฒนาอุปกรณ์ดำน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือมีคุณสมบัติต่างๆ เพิ่มขึ้น ใช้งานได้ดีขึ้น ออกมาเรื่อยๆ

ในปี ค.ศ. 1973 Mares ได้พัฒนาเทคนิคการผลิตฟินที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญจากฟินในอดีตมาเป็นต้นแบบของฟินในยุคนี้ นั่นคือ การผลิตฟินจากวัสดุ 2 ชนิด ซึ่งทำให้สามารถเลือกใช้วัสดุให้เหมาะกับฟังก์ชั่นที่ต่างกันของแต่ละจุด คือ ใบฟิน (fin blade) ทำจากพลาสติกแบบเทคโนโพลีเมอร์ (technopolymer) และช่องสวมเท้า (foot pocket) ทำจากยางสังเคราะห์แบบเทอร์โมพลาสติก (thermoplastic rubber) ทำให้ได้ฟินที่มีน้ำหนักเบาขึ้น ยืดหยุ่นมากขึ้น และมีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้นกว่าฟินแบนๆ แข็งๆ แบบเดิมมาก รวมทั้งยังสวมใส่สบายมากขึ้นด้วย

ในปัจจุบัน ฟินบางรุ่นของ Mares จะใช้วัสดุมากกว่า 2 ชนิดเพื่อสร้างคุณสมบัติต่างๆ ตามที่ออกแบบ ส่วนฟินหลายรุ่นหลายแบรนด์ที่นักดำน้ำลึกใช้กันทั่วไปในปัจจุบัน ก็ผลิตด้วยเทคนิคนี้เป็นพื้นฐาน

เทคโนโลยี Channel Thrust ของฟินประสิทธิภาพสูง

จากเทคนิคการผลิตฟินด้วยวัสดุที่มากกว่า 1 ชนิดนั้น Mares ได้ค้นคว้าวิจัยรูปแบบของฟินที่จะให้ประสิทธิภาพสูงขึ้น จนได้เทคโนโลยี Channel Thrust ที่อาศัยการเสริมใบฟินพลาสติก ด้วยร่องยางในแบบต่างๆ ที่ทำให้รูปร่างของฟินขณะทำงานในน้ำ เกิดเป็นโพรงน้ำ ผลักดันน้ำออกไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น ช่วยให้ประสิทธิภาพของฟินสูงขึ้น หรือก็คือ พลังงานที่นักดำน้ำใส่ลงไปในการตีฟินได้เกิดผลลัพธ์เต็มที่มากขึ้น

หลังจากที่สิทธิบัตรของ Channel Thrust ได้หมดอายุไปเมื่อไม่นานมานี้ เราจึงได้เห็นฟินที่มีร่องแบบเดียวกันกับฟินหลายๆ รุ่นของ Mares ออกมาวางจำหน่ายกันมากมายหลายแบรนด์ เพราะสามารถผลิตได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้กับ Mares แล้ว

หน้ากากดำน้ำติดเลนส์สายตา

ในปี ค.ศ. 1979 เขาได้พัฒนาหน้ากากดำน้ำที่สามารถเปลี่ยนเลนส์สายตาได้ขึ้นเป็นครั้งแรกในโลกด้วย

ที่จริงแล้ว ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ Mares ได้สร้างสรรค์คุณค่าไว้ในประวัติศาสตร์วงการดำน้ำของโลก ซึ่งหากมีโอกาส เราจะคัดสรรมาเล่าให้คุณฟังต่อไป

แหล่งข้อมูล