Gradient Factors (GF) ปัจจุบันจะมีใช้ในคอมพิวเตอร์ที่ใช้ Algorithm ของ Buhlmann โดย GF จะทำหน้าที่เป็นตัวกำหนดย่อยของตัวกำหนดหลักเช่น M value อีกทีหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าจะอนุญาตให้นักดำน้ำสามารถกำหนดขีดความปลอดภัยได้ลึกซึ้งกว่าตามสถานการณ์ที่เผชิญ
Gradient Factors จะมีตัวเลข 2 ชุด เช่น 45/85 โดยตัวเลขชุดด้านหน้า ซึ่งเรียกว่า GFlow คือเปอร์เซ็นต์ของ M value เพื่อใช้ในการกำหนด Stop แรกที่ความลึก เช่น 45 หมายถึง 45% ของ M value ก็จะส่งผลให้ในกรณีของ Technical diving สต๊อปแรกจะไม่ลึกมาก หากตัวเลขต่ำกว่านี้เช่น 15 สต๊อปแรกจะลึกกว่า ส่วนกรณีของ Recreational diving จะส่งผลให้เวลา NDL ที่ความลึกมากๆ น้อยลง ยิ่งตัวเลขมากขึ้นเช่น 70 ยิ่งทำให้เวลาน้อยลงอีก
ส่วนตัวเลข GF ชุดหลังซึ่งเรียกว่า GFhigh คือเปอร์เซ็นต์ของ M value ที่คอมพิวเตอร์จะไม่อนุญาตให้คุณเกินตลอดการขึ้นสู่ผิวน้ำ เช่น 85 คือ 85% ของ M value ส่งผลให้ในกรณีของ Technical diving ก็จะต้องทำ Deco stop ตามเวลาหนึ่ง แต่หากตัวเลขลดลงมาเป็น 70 ก็แปลว่าต้องทำ Deco stop นานขึ้นอีก
ผลกระทบของ GFhigh กับ Recreational diving ก็เป็นลักษณะที่ว่า หากตัวเลข GFhigh สูง เช่น 85 คอมพิวเตอร์จะอนุญาติให้นักดำน้ำกลับถึงผิวน้ำได้เร็วพอสมควร (ขึ้นเร็วกว่า) แต่ถ้าตัวเลขต่ำ เช่น 70 ก็จะชะลอให้นักดำน้ำค่อยๆ ขึ้นสู่ผิวน้ำช้าลง
จากที่คุณ Ben Remenants ตั้ง GF 70/70 ในการดำน้ำแบบสันทนาการ ส่งผลให้การดำของเขาปลอดภัยมากขึ้นเพราะการตั้งค่านี้จะทำให้เวลาที่ช่วงความลึกน้อยลงกว่าปกติ (GFlow) และความเร็วในการขึ้นถึงผิวน้ำจะช้าลงกว่าปกติ (GFhigh) ซึ่งร่างกายย่อมน่าจะได้รับไนโตรเจนน้อยลง
คอมพิวเตอร์ในปัจจุบันบางยี่ห้ออนุญาติให้นักดำน้ำปรับ Gradient Factors ได้ บางยี่ห้อถึงขนาดอนุญาติให้ปรับ GFhigh ได้ในขณะที่อยู่ในน้ำ ซึ่งสถานการณ์การใช้งานอาจเป็น เช่น กรณีที่ขณะอยู่ในน้ำนักดำน้ำรู้สึกว่าไดฟ์นี้ออกแรงมากกว่าปกติหรือหนาวกว่าปกติ ก็สามารถปรับลด GFhigh เพื่อให้การขึ้นสู่ผิวน้ำช้าลงส่งผลให้ร่างกายปล่อยไนโตรเจนออกได้มากขึ้น หรือในกรณีที่นักดำน้ำอาจสูญเสียอากาศไปจำนวนมากขณะอยู่ใต้น้ำก็สามารถที่จะปรับเพิ่ม GFhigh เพื่อให้สามารถกลับขึ้นสู่ผิวน้ำได้เร็วขึ้น
ครูแสน แสนยา โลหิตนาวี
3 ธ.ค. 2563
ข้อมูลอ้างอิงจาก Shearwater Research และ Alert
บทความจาก Facebook: Innovative Divers