28-29 November 2009 : My 2 Most Memorable Tec Diving Log

วันนี้เป็นวันที่ฉันได้นัดกลุ่มทีม Tec มาดำน้ำด้วยกันอีกครั้งหลังจากทุกคนได้ทำการสอบ Tec จบไปแล้วเมื่อสามเดือนที่แล้ว ได้ชื่อว่าเป็น Tec Divers ที่ไม่ใช่แค่ชื่อที่ทำให้ดำน้ำลึกได้ แต่ที่สามารถวางแผนดำน้ำได้อย่างละเอียดตามที่ได้เรียนมาเพื่อความปลอดภัยของตัวเองและทีม

“ครูดำ ไปดำน้ำ Tec ด้วยกันอาทิตย์นี้นะ ว่างป่าว” ถามไปก็คิดอยู่ในใจว่า ถ้าชวนเที่ยว theque คงตอบได้เร็วอย่างไม่ต้องคิด

“เดี๋ยวเช็ค Visa ก่อน” ก็เป็นคำตอบแบบนี้ทุกครั้งที่ถาม

ส่วนฉันได้แต่บอกแม่ (คุณ) ด้วยเสียงเบาๆ พอได้ยินว่า “อาทิตย์นี้ไปดำน้ำนะ” แค่เนี้ยะก็พอ

คนต่อมา “พี่โต้ง ดำน้ำเสาร์-อาทิตย์นะ ไปได้ป่าว” หลังๆ นี้ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า คนโสดอย่างพี่โต้งทำไมต้องขอ Visa ด้วย บอกว่าดำน้ำวันเดียวได้ แต่สองวัน Visa ไม่ผ่าน ครั้งนี้หลังจาก 3 เดือนผ่านไป พี่โต้งไม่อิดออด บอกว่า “ได้” คำเดียวสั้นๆได้ใจความ

“เจอกันที่เก่าเวลาเดิม”

“อืม” พี่โต้งตอบ

เมื่อคนพร้อม สิ่งที่ต้องจัดการต่อมาคือ ถังอากาศ Deco ซึ่งเอาไปไว้ที่ร้านให้อัด Oxygen ไว้ 80% ตั้งแต่ 3 เดือนที่แล้วเหมือนกัน ไม่ได้ดำน้ำ Tec ก็ไม่ได้แวะเวียนไปเอามาเลย จนคนอัดอากาศลืมไปแล้วเหมือนกัน โชคดีไปว่า ถังอากาศยังอยู่ อากาศยังอยู่ครบ และทีม Tec เราก็พร้อมเดินทางสู่แสมสาร

หากเป็นนักดำน้ำที่ดำน้ำที่แสมสารอยู่เป็นประจำ ทุกคนจะรู้กันว่า ที่แสมสารมีหลุมกระทะลึกสุดถึง 70 เมตร ซึ่งความลึกนี้หาไม่ได้ง่ายๆ ในอ่าวไทย หลุมนี้ไม่ใช่ “รู” แต่เป็นหลุมใหญ่เหมือนกะทะทองแดงใหญ่ๆ ที่นี่คือที่ที่ส่วนมากนักดำน้ำ Technical ใช้ฝึกเพื่อหาความลึก เพื่อให้ทำการฝึกให้ตรงกับจุดประสงค์ หากแต่ที่นี่ไม่ได้ดำน้ำได้ง่ายๆ เหมือนกัน ที่ความลึก 40 เมตร ปากหลุม มักจะมีกระแสน้ำวน ตัวฉันเองเคยเจอบ้างตอนฝึก ที่เคยพบ มันไม่ใช่กระแสน้ำที่ดูดลง หากแต่แค่พาตัวเราไหลวนเป็นวงใหญ่ๆ หากไม่ได้ดูเข็มทิศคงไม่รู้ แต่เพื่อความไม่ประมาท หากไม่ได้เป็นนักดำน้ำที่ได้รับการฝึกฝนและมีทักษะที่ดี ขอแนะนำว่าอย่าไปดำน้ำที่นี่เลย

วันนี้อากาศดี มีกัปตันเล็กเป็นคนขับเรือ “เนาวรัตน์” ซึ่งพวกเราทีม Tec ไว้ใจและเชื่อในฝีมือพี่เล็กในการปล่อยเราให้ตรงจุด และรอเก็บเราเมื่อถึงเวลานัดหมาย เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากพวกเราเป็นพวก ดำน้ำอึด (ตามคำของพี่เล็ก) ฉะนั้นอาจถูกลืมและปล่อยทิ้งไว้ที่นั้นได้ บนเรือเนาวรัตน์ยังมีครูเบิ้ม ครูที่สอนพวกเราดำน้ำแบบ Technical ซึ่งในวันนี้ครูไม่สามารถลงไปกับเราได้เนื่องจากติดสอน เมื่อเราวางแผนการดำน้ำแบบติดดีคอม (คือต้องอยู่ในน้ำนานกว่า Safety Stop 3 นาที) คำนวณว่าอากาศที่เรานำลงไปนั้นมีให้เราพอใช้ทั้งไดฟ์ และมีสำรอง 1/3 สำหรับฉุกเฉิน คำนวณตารางการดำน้ำจาก software ใน computer และจดตารางการทำดีคอมลงบน wetnote หรือ slate และนั่งทบทวนซึ่งกันและกัน เพื่อที่จะได้ไม่ไปทะเลาะกันใต้น้ำถ้าตารางไม่เหมือนกัน

เมื่อวางแผนทุกอย่างเสร็จแล้ว ครูเบิ้มเดินเข้ามาถามว่า “แผนการดำน้ำเป็นยังไง กี่เมตร กี่นาที จะไปลงกันตรงไหน จะให้นันขับ dinghy ไปส่ง” ฉันบอกครูว่า “เราจะดำน้ำลึกสุด 50 เมตร 20 นาที ทำ Decom รวมแล้วจะขึ้นมาตอน 58 นาทีค่ะ ส่วนเรื่องลงที่ไหนถามครูดำคะ” ฉันรีบโยนให้ครูดำเป็นคนตัดสินใจและตอบครูเบิ้ม

“ลงหัวเกาะด้านนู้นครับครู” ครูดำบอก

และเมื่อทุกอย่างได้วางแผนและบอกกล่าวกับครูเบิ้มและพี่เล็ก พวกเราก็แยกย้ายกันไปแต่งตัวเตรียมลงน้ำ เราสามคนมาเจอกันที่ platform ท้ายเรือเพื่อขึ้น dinghy ที่ขับโดยนายนัน เมื่อถึงจุดหมาย ครูดำให้นันขับใกล้เกาะหน่อยแล้วเราค่อยว่ายลงไปหาความลึก บอกกับนันว่า เมื่อพวกเราลงน้ำไปแล้ว อีก 30 นาทีจะยิงทุ่นขึ้นมา และจะขึ้นจากน้ำตอนนาทีที่ 58

นันบอกว่า “ครับพี่  แต่ผมไม่มีนาฬิกา”

“อ้าว เฮ้ออออ เอ้า เอานาฬิกาพี่ไป ดูพวกพี่ด้วยนะ” ฉันบอก

“ครับ แต่นาฬิกาพี่กดจับเวลายังไงครับ” นันกวนต่อ

“โธ่เว้ย ดูว่าตอนนี้กี่โมง อีกครึ่งชม. ต่อจากนี้ไง อย่ากวนหนักนะ” ฉันเริ่มขึ้นเสียง เพราะฉันมีแท็งค์ 2 ลูกที่อยู่ข้างหลัง ไม่ใช่ไม่หนักนะ

แล้วพวกเราก็นับ 1 2 3 และ backroll ลงไป แต่ยังต้องโผล่ขึ้นมาเพื่อมารับถังอากาศ Deco อีกคนละ 1 ใบจากนัน และที่ผิวน้ำก่อนที่จะดำน้ำลงไป พวกเรายังต้องเช็คกันอีกรอบ โดยฉันเป็นคนเรียกจุดต่างๆที่ต้องเช็ค “valve เปิดทุกอันรึยัง”, “สายติดอะไรรึเปล่า”, และ ฯลฯ เมื่อเช็คครบ ส่งสัญญาณลง ยังไม่วายต้องเช็คซึ่งกันและกันต่อว่า มีอากาศรั่วออกจากถังอากาศรึเปล่า ทุกอย่างที่ทำมันดูยุ่งยากและวุ่นวาย แต่ทุกอย่างนี้แหละที่จะทำให้ตัวเองและทีมปลอดภัย

เมื่อดำน้ำลงเราเจอพื้นทรายตั้งแต่ 5 เมตร ครูดำจับทิศและเริ่มไต่ระดับลงไปเรื่อยๆ ที่ประมาณ 30 เมตร ฉันเห็นไอ้กู่ตัวใหญ่ (ไอ้กู่ คือปลานกแก้วที่มีเขี้ยว) ฉันตะโกนเรียกครูดำให้ดูเพราะครูดำอยู่ข้างขวาของฉัน และพี่โต้งอยู่ถัดไปอีก ครูดำได้เห็นแว้ปเดียว แต่พี่โต้งไม่ได้เห็น และพวกเราก็ดำน้ำเข้าสู่ความลึกต่อไป

ที่ประมาณ 40 เมตร แสงรอบๆตัวเริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัด พี่โต้งกับครูดำเปิดไฟฉาย เห็นเป็นลำแสงส่องไปข้างหน้า ทำให้ฉันเห็นพวกเขาง่ายกว่าเขาเห็นฉัน เพราะฉันไม่ได้เอาไฟฉายไปวันนั้น น้ำที่นี่ไม่ได้ใสมาก เต็มที่ก็ 5-7 เมตร

ขณะที่ฉันกำลังเพ่งมองไปข้างหน้า ฉันเหลือบไปเห็นทางซ้ายมือของฉัน ฉันเห็นเหมือนมีอะไรเคลื่อนไหวอยู่  ฉันจึงเขยิบตัวเองเข้าไปทางซ้ายมากขึ้น เมื่อตาเริ่ม focus เห็น ฉันแทบไม่เชื่อสายตา…มัน…มัน…. มันคือ  กระเบนนก (Eagle Ray) กำลังช้อนปากกินอยู่ที่พื้นทราย ฉันตื่นเต้นดีใจ รีบหันหลังกลับไปทางขวาเรียก “คูคคคคค.ดำ………” (เวลาพูดใต้น้ำต้องพูดช้าๆยาวๆ ไม่งั้นคนฟังๆไม่รู้เรื่อง) แต่ตัวฉันคงบังเจ้ากระเบนนกมิด ต้องชี้และส่งมือพัลวัน และมันก็ว่ายไปข้างหลัง จังหวะเดียวกับที่ครูดำว่ายเข้ามา ฉันเห็นมันไปแล้ว ครูดำไม่สามารถ focus เห็นมันทัน ตามมาด้วยพี่โต้งที่ถามฉันว่าเห็นอะไร

ฉันได้แต่ส่งสัญญาณมือ กระพือท่าปีกกระเบน และตะโกนออกมาจาก reg “กะ.เบนนนนนน.นกกกก.” ทุกคนเข้าใจที่ฉันพูด แต่ทำท่าทางว่า ไหนหละ? ฉันได้แต่ทำท่าโบกมือไปมาแปลว่า “Bye Bye มันไปแล้ว” ครูดำหันไปมองพี่โต้ง และเอานิ้วชี้วงๆ อยู่ข้างขมับ เป็นสัญลักษณ์ที่พวกเราเข้าใจว่า “มันเมาไนโตรเจน” ฉันเห็นและรีบตะโกนออกจาก reg “ไม่มมม ด้ายยยย มาววววววว” ทั้งครูดำและพี่โต้งขำกันใหญ่เลย และพวกเราก็ดำน้ำกันต่อ เมื่อเราถึงที่ 48.8 เมตร ก็เกือบได้เวลาต้องขึ้นแล้ว เพราะใช้เวลาไปประมาณ 18 นาที

ระหว่างทางตั้งแต่ที่ 48 เมตร ไล่ระดับขึ้นมานั้นฉันมองไปรอบๆ ที่นั่นสวยงามมาก ไม่น่าเชื่อว่าที่ความลึกขนาดนี้ และในน้ำที่มีตะกอนแบบนี้ ยังมีปะการังดำ ฟองน้ำครก และแส้ทะเล และฝูงปลา Snappers อยู่ด้วย … ที่นี่สวยนะ (อันนี้รับประกันว่าไม่ได้เมา) … ไดฟ์ไซด์นี้มีลักษณะเป็นกองหินไล่ชันลงมา เราสามารถใต่ขึ้นไปทำ Decom ตามหินจนถึง 12 เมตร และพวกเราก็ยิง lift bag ขึ้นเมื่อถึง 30 นาทีที่นัดหมายกับนันเอาไว้ ต่อจากนั้นพักน้ำตามตารางจนหมด ขึ้นผิวน้ำที่ 58 นาทีเป๊ะ ก่อนจะขึ้นได้ยินเสียงเครื่องเรือนันวิ่งไปวิ่งมาแล้ว

ระหว่างนั่ง dinghy กลับเรือใหญ่ ฉันถามนันว่า มีคนเห็นกระเบนนกรึเปล่า นันบอกว่า กัปตันเล็กบอกว่า เห็นมันกระโดดขึ้นมาตรงที่พวกเราดำน้ำกัน ฉันรีบหันไปบอกครูดำเลยว่า “บอกแล้วไม่ได้เมา เห็นจริงๆ”

ครั้งแรกของการดำน้ำเที่ยวแบบ Technical ฉันประทับใจในไดฟ์ไซด์นี้ ฉันว่ามันสวยมาก ปะการังมีให้เห็นตั้งแต่ตื้นๆ ที่ 12 เมตร ดิ่งลงไปจนถึง 48 เมตร ไม่ใช่พื้นทรายล้วนเหมือนอีกด้านหนึ่งของเกาะ ส่วนกระเบนนกนั้นเป็นของแถม ให้ลงที่นี่อีกเป็นสิบครั้ง ฉันก็ว่าฉันไม่เบื่อ

29 November 2009 – Log Dive 1391

หลังจากเมื่อวานที่ได้เห็นกระเบนนกคนเดียว ฉันยังอยากจะดำน้ำ Tec ต่อ อยากดำน้ำลงที่เมื่อวานเพื่อไปพิสูจน์หากระเบน และลงไปเก็บรายละเอียดเกี่ยวกับไดฟ์ไซต์ตรงนี้

หากแต่วันนี้ กัปปิตันเล็กของเรามาจอดให้เลยจากไดฟ์ไซต์มาประมาณ 200-300 เมตร ในเมื่อไม่มีทางเลือก เราจึงวางแผนกันให้เวลาใต้น้ำน้อยกว่าเมื่อวาน เพราะถังอากาศ Deco เรามีจำกัด ครั้งนี้เราไม่มีนันคอยขับเรือยางตามแล้ว ที่ท้ายเรือมีกลุ่มที่ดำน้ำแบบ free diving อยู่ ซึ่งฉันจะพูดติดตลกเสมอว่า free diving คือการดำน้ำแบบไม่ต้องเสียเงิน เพราะไม่ต้องใช้ถังอากาศดำน้ำ ฉันมองพวกเขาแล้วก็อิจฉา เพราะพวกเขาไม่ต้องพกถังอากาศมากมายพะรุงพะรัง ไม่ต้องแบกถังอากาศหนัก มีแค่หน้ากากและตีนกบ กับลมหายใจอึดเดียว พวกเขาสามารถลงไปแตะพื้นทรายท้ายเรือที่ความลึก 23 เมตร และกลับขึ้นมาได้อย่างสบายๆ

หันกลับมามองทีม Tec ของเราแล้ว ถึงจะมีนักดำน้ำแค่ 3 คน platform ที่กว้าง 7-8 เมตรนี้ดูเล็กลงทันใด เพราะพวกเราแบกถังอากาศคนละสองใบข้างหลัง และอีก 1 ใบห้อยอยู่ที่ข้างๆ (ถังอากาศ Deco) แขนทั้งสองข้างของเรา ใส่ทั้งไดฟ์คอม นาฬิกา เข็มทิศ บางคนมีไดฟ์คอมสำรอง และยังต้องมีไฟฉายอีก ดูแล้วเหมือนคนบ้าหอบอุปกรณ์ดำน้ำยังไงไม่รู้ เหมือนกับว่าที่บ้านมีอุปกรณ์อะไรเอามาใส่ลงน้ำให้หมด

เมื่อสามปีที่แล้ว ก่อนที่จะเริ่มเรียนดำน้ำลึกแบบ Technical นี้ ฉันพยายามชั่งใจอยู่หลายครั้งว่าจะลงทุนเรียนดีมั้ย ต้องใช้คำว่าลงทุนเพราะอุปกรณ์ที่ต้องซื้อเพื่อเรียนนั้นดูไม่มากมาย แค่ต้องมี reg 4 ตัว มี wing 2 อัน มีไฟฉายที่สว่างและอยู่ได้นาน ต้องมีถังอากาศ 80 cu.ft สองใบ และถังอากาศ 40 cu.ft อีกสองใบ ค่าใช้จ่ายค่าเรียนไม่เท่าไหร่เมื่อเทียบกับอุปกรณ์ที่ต้องมี ถามว่าอุปกรณ์พวกนี้จะเช่าได้มั๊ย คำตอบคือ ฉันไม่มั่นใจในความปลอดภัยของอุปกรณ์ที่ไม่ได้ดูแลและใช้ด้วยตัวเอง ยิ่งฉันจะต้องนำตัวเองลงไปที่ลึกซึ่งความผิดพลาดนิดเดียวนั้นเปรียบเหมือนจะกลายเป็นประกายไฟเล็กๆ ในทุ่งหญ้าที่แห้งในฤดูแล้ง และหากมีลมช่วยพัดกระพือมันจะกลายเป็นไฟลามทุ่งในทันที พูดง่ายๆ คือ ผิดพลาดนิดเดียวก็จะกลายเป็นหายนะได้ ฉะนั้นสิ่งที่เสี่ยงต่อความผิดพลาด โดยเฉพาะความผิดพลาดเรื่องอุปกรณ์ที่ไม่ได้รับการดูแลรักษา หากเราสามารถควบคุมหรือหลีกเลี่ยงได้ ทำไมไม่ทำ?? “มันคุ้มค่ากับชีวิตแล้วเหรอ” นี่เป็นคำถามที่ที่บ้านฉันถามเสมอ

หลังจากที่ต้องใช้เวลาเรียนดำน้ำลึกแบบ Technical นี้เป็นเวลาสองปี ใช้เวลาสะสมซื้ออุปกรณ์อีก 1 ปี และความพยายามดำน้ำหาความลึกในแถบแสมสารนี้ มีบางครั้งพวกเราเตรียมทุกอย่างพร้อมแล้ว แต่เมื่อลงน้ำไป กระแสน้ำที่ปากหลุมแสมสารนั้นรุนแรงเกินกว่าที่จะฝึกได้ ครูเบิ้มต้องส่งสัญญาณขึ้น เป็นอันว่าไดฟ์นั้นพวกเราไม่ได้ certify ยังมีเรื่องอาการปวดหลังแรกๆ ที่เกิดจากการแบกแท็งค์สองใบข้างหลัง ซึ่งจริงๆ แก้ได้เพียงแค่ต้องยืดเส้นหลังก่อนการดำน้ำทุกครั้ง แต่ทั้งเวลาที่นาน และความยุ่งยากในการจัดหาอากาศ การขนส่งถังอากาศ และสุขภาพ ทั้งหมดนี้ มันทำให้ฉันเกือบที่จะถอดใจ

วันนี้ฉันยืนอยู่ท้ายเรือ พร้อมความภูมิใจที่สามารถผ่านการฝึกจนสามารถวางแผนการดำน้ำลึก และสามารถลงไปดำน้ำลึกกับเพื่อนทีม Tec ที่อดทนเรียนด้วยกันมา เมื่อวานนี้กับการได้เห็นกระเบนนกที่แสมสารใต้น้ำ เป็นสิ่งที่ฉันบอกกับตัวเองว่า นี่แหละคือกำไรที่ฉันเริ่มจะเก็บเกี่ยวได้จากการเรียนดำน้ำ Tec แล้ว

พวกเราเริ่มดำน้ำลงไปตามสายเชือกของกลุ่ม Free Diving ที่ทำไว้ท้ายเรือ ตอนแรกฉันว่าจะรออยู่ที่พื้นทรายที่ 23 เมตร เพื่อที่จะทักทายนักดำน้ำ Free Diving ที่จะดำน้ำลงมาตัวเปล่าๆ แต่คิดไปคิดมาเดี๋ยวทำให้เขาตกใจ เลยบอกกลุ่มให้เริ่มเดินทางไปตามทิศที่เรานัดหมายเอาไว้ วันนี้น้ำใสกว่าเมื่อวาน น่าจะมองเห็นได้ถึง 7-8 เมตร

ดำน้ำไปสักประมาณ 10 นาที ฉันก็ตะโกนออกมาว่า “คูคคคคคค  ดำ ดดดดดำ” เพราะตาฉันไปสะดุดเห็นปลาประหลาดข้างหน้า ดูจากปากที่กว้างหนาเหมือนปากของ Angelina Jolie แล้วก็รูจมูกบานๆ 2 รูกับตากลมโตพร้อมขนคิ้วที่ตั้งโด่ขึ้นมา ตัวลายๆ นอนสบายๆ อยู่ในรูของซอกปะการังก้อนเดียวที่อยู่บนพื้นทรายตรงนั้น ฉันรู้ได้ทันที มันคือ Toadfish หรือปลาคางคก ซึ่งไม่ใช่ปลาหาง่ายแถวนี้ ฉันเคยเจอปลาแบบนี้มาก่อนแล้วที่เรือจม Petchburi Bremen แต่ไม่คิดว่าจะมาเห็นเด่นชัดอยู่กลางพื้นทรายแบบนี้ เพราะเท่าที่เคยเห็นมา มันมักจะหลบอยู่ใต้ปะการัง หรือที่เคยเห็นหลบอยู่ใต้โถส้วมในเรือ Petchburi Bremen

ครูดำและพี่โต้งว่ายเข้ามาดูใกล้ๆ ฉันต้องส่งเสียงบอกครูดำต่อว่า “โทดดดดดดดดดดด ฟิชชชชชชชชช” ครูดำทำท่างง ฉันบอกต่อว่า “ปลา…. คางงง คกกกก” แต่ไม่แน่ใจว่าแกเข้าใจรึเปล่า แต่กับพี่โต้งฉันรู้ว่าพี่แกรู้ว่ามันคือปลาอะไร ก่อนจะเคลื่อนตัวออกจากเจ้าปลาคางคก ครูดำทำมือโบกไปมาเหมือนบิน แล้วก็ทำท่าว่า อยู่ไหน ฉันได้แต่มองท่าแล้วทำตาอาฆาต แล้วตอบว่า “ไม่เห็น ไม่มี” แล้วแกกับพี่โต้งก็หัวเราะแล้วก็ว่ายออกไป ยังมาล้อเลียนเรื่องที่ฉันเห็นกระเบนนกคนเดียวอยู่เลย นี่แหละน้าฉันถึงชอบดำน้ำกับครูดำและพี่โต้ง มันส์ๆ ขำๆ ดี

พวกเราดำหาความลึกเรื่อยไปจนฉันคิดว่าเราเกือบจะถึงจุดดำน้ำเมื่อวานแล้ว เพราะจากพื้นทราย เราเริ่มเห็นปะการังและปลามากขึ้น แต่เราไปได้แค่ความลึก 39.6 เมตร และฉันต้องส่งสัญญาณบอกครูดำว่า เราต้องเริ่มใต่ระดับขึ้นแล้ว หมดเวลา 15 นาทีที่เราวางแผนกันไว้แล้ว เป็นอย่างนี้ได้ทุกทีสิ So many things I want to see and so little time

ขณะที่พวกเรากำลังรวมตัวกันและส่งสัญญาณขึ้น ฉันหันไปเห็นที่หางตาอีกแล้ว ฝูง Barracuda หางเหลือง ตัวประมาณสองไม้บรรทัดต่อกัน มันมาเป็นโรงเรียนเอกชนเล็กๆ ไม่ได้มากมาย แต่ทั้งครูดำและพี่โต้งก็หยุดดูพวกมันด้วยกัน มองตามจนสุดสายตา อยากจะดำน้ำตามมันลงไปมากๆ แต่เราต้องขึ้นแล้ว จึงได้แต่มอง

ครูดำบอกฉันว่า “ผมคิดว่ามันจะม้วนตัวเข้ามาวนรอบตัวเราซะอีก”

ฉันบอกครูดำว่า “ครั้งที่แล้วที่เจอตอนสอบไดฟ์สุดท้าย มันไม่วนเหมือนกัน สงสัยบาราคูด้าแถวนี้วนไม่เป็น”  แต่สิ่งที่ฉันพยายามมองหาคือ ฉลาม ที่อาจว่ายน้ำตามบาราคูด้ากลุ่มนี้ ซึ่งก็ไม่มีเหมือนกัน

แล้วเมื่อพวกมันไปแล้ว พวกเราก็พร้อมใจกันส่งสัญญาณขึ้น และว่ายน้ำกลับเรือ การดำน้ำครั้งนี้ได้ให้คำตอบของคำถามของฉันแล้วว่า จะเรียน Technical Diving ไปทำไม? มันคือรางวัลของการดำน้ำลึก ครั้งต่อไปฉันจะเอากล้องลงไปเก็บรูปขึ้นมาเป็นหลักฐาน เพื่อที่จะได้บอกทุกคนว่า “ฉานนน ม่ายยยยย ด้ายยยยยย มาววววววววว”

เขียนโดยน้อง Teen
เผยแพร่ครั้งแรก12 ธ.ค. 2552