Martini

ภาวะเมาไนโตรเจน (Nitrogen Narcosis)

“Martini Law”:
Each 15 meter (50 feet) depth is equivalent to the intoxication of one Martini

ฝรั่งเค้าเทียบเคียงไว้กับเหล้ายี่ห้อ มาตินี่ ครับ … ถ้าของไทยๆ อาจจะเป็น แม่โขง แสงทิพย์ Law ก็ได้นะครับ ใจความสำคัญก็คือ ภาวะเมาไนโตรเจนจะเริ่มมีอาการให้เห็นได้ ตั้งแต่ที่ความลึก 15 เมตร อาการจะเหมือนกับดื่มเหล้าเพียวๆ หนึ่งแก้ว … และจะเพิ่มอีกหนึ่่งแก้ว ทุกๆความลึกที่เพิ่มขึ้น 15 เมตร แต่จะมีผลแน่นอนกับนักดำน้ำทุกคนที่ความดันบรรยากาศ 4 ATA หรือที่ความดันย่อยของไนโตรเจน (partial pressure of nitrogen) 3.2 บาร์ ซึ่งก็คือที่ 30 เมตรเป็นต้นไปครับ ….. คิดแบบง่ายๆ สำหรับเรื่องนี้ครับ การเมาไนโตรเจน ลักษณะจะคล้ายการเมาเหล้าครับ ประการแรก อาการจะขึ้นอยู่กับความ “คอแข็ง” หรือ “คออ่อน” กับไนโตรเจนของแต่ละคน คนที่คออ่อนมากอาจจะแสดงอาการตั้งแต่ที่ 15 เมตร แต่คนที่คอแข็งอาจแสดงอาการที่ความลึกมากกว่านี้ ส่วนอาการก็จะเหมือนเมาเหล้า ตรงที่จะรู้สึกเคลิบเคลิ้ม, การตัดสินใจช้าลง แต่อาจมีความรู้สึกเชื่อมั่นในตัวเองแบบผิดๆ, การคิดแบบมีเหตุผลน้อยลง, การระแวดระวังภัยลดลง, หลงลืม จำรายละเอียดของเหตุการณ์หรือแผนการดำน้ำที่วางไว้ไม่ได้ … ถ้าอาการรุนแรงมาก อาจหมดสติหรือชักได้

การแก้ไข

การแก้ไขนั้นทำไม่ยากครับ แค่เปลี่ยนความลึกมาสู่ระดับที่ตื้นขึ้น อาการก็จะลดลง และหายไปครับ

การป้องกัน

  • การดำโดยมีบัดดี้ จะเป็นการสังเกตอาการผิดปกติของคู่ดำน้ำได้ดีที่สุด และสามารถช่วยเหลือแก้ไขได้ทันทีที่แสดงอาการ
  • กำหนดความลึกของการดำน้ำที่ใช้ “อากาศอัด” (compressed air) ไว้ที่ความลึกไม่เกิน 30 เมตร (4 ATA)
  • สำหรับการดำที่ใช้ก๊าซผสม (mixed gas) ควรจำกัดความดันย่อยของไนโตรเจนไว้ไม่เกิน 3.2 บาร์
  • สำหรับผู้ที่ต้องทำการดำน้ำในที่ลึกมากๆ การฝึกทำความคุ้นเคยกับอาการของ nitrogen narcosis เช่นการฝึกการดำที่ 165 ฟุตใน hyperbaric chamber จะทำให้ผู้ป่วยทราบถึงอาการแสดงของตนหรือของบัดดี้เมื่อเริ่มมีอาการได้
เขียนโดยหมอเอ๋
เผยแพร่ครั้งแรก23 ก.ค. 2554