hyperbaric chamber - 002

แชร์ประสบการณ์ป่วยเป็น DCS Type 2

ขอแชร์ประสบการณ์ป่วยเป็น DCS Type 2
เป็นโรคที่คนดำน้ำหรือชื่นชอบการดำน้ำไม่อยากเป็น
ตอนที่เรียนดำน้ำหลักสูตร Open Water ในหลักสูตรก็ได้มีการกล่าวถึงเกี่ยวกับโรคที่เกิดจากการดำน้ำ แต่ก็ไม่คิดว่ามันจะมาเกิดขึ้นตัวเอง 😭

DCS คืออะไร ???

เป็นโรคที่เกิดจากการดำน้ำ ในทางการแพทย์เรียกว่า Decompression Sickness หรือว่า โรคน้ำหนีบ

เมื่อเราดำน้ำ เนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย ได้รับการก๊าซไนโตรเจนจากถังอากาศ (ถังอากาศมีก๊าซไนโตรเจน 79 % + ก๊าซออกซิเจน 21 %) ภายใต้ความกดดันจนเกิดภาวะการอิ่มตัว เมื่อมีการลดความกดดัน เนื้อเยื่อจะคายก๊าซไนโตรเจนที่เกินออกเป็นฟองอากาศ (bubble) เข้าสู่ระบบต่างๆ ของร่างกาย รวมทั้งระบบการไหลเวียนของเส้นเลือด ฟองก๊าซที่เกิดขึ้นเกินความสามารถที่ร่างกายจะสามารถกำจัดออกไปได้เอง ทำให้เนื้อเยื่อและหลอดเลือดได้รับบาดเจ็บ เกิดการอักเสบ จากการเบียดแทรก บีบกดจากฟองอากาศ เนื้อเยื่อเกิดการขาดเลือด และเกิดการอุดตันในส่วนต่างๆ ของร่างกาย

DCS แบ่งออกเป็น 2 type

Type 1 จะแสดงอาการปวดเมื่อยตามข้อ กล้ามเนื้อ มีผื่นแดงตามตัว
Type 2 จะแสดงอาการที่เกี่ยวกับระบบประสาท มีอาการชาตามกล้ามเนื้อ อ่อนแรง มึนงง สับสน เสียการทรงตัว

Timeline การดำน้ำของเรา

ขอเกริ่นก่อนว่า ไปดำน้ำ + เรียน Advanced Open Water ที่เกาะเต่า ดำน้ำ 5 วัน วันละ 2 dive
📍วันที่ 1 : แผนการดำน้ำราบรื่น ทำตามกฎการดำน้ำทุกครั้ง อาการหลังขึ้นจากน้ำไม่มีผิดปกติ ทั้ง 2 dive
📍วันที่ 2 : แผนการดำน้ำราบรื่น ทำตามกฎการดำน้ำทุกครั้ง อาการหลังขึ้นจากน้ำไม่มีผิดปกติ ทั้ง 2 dive
📍วันที่ 3 : dive แรกของวัน แผนการดำน้ำราบรื่น ทำตามกฎการดำน้ำ อาการหลังขึ้นจากน้ำไม่มีผิดปกติ
ส่วน dive ที่ 2 dive นี้ ลง deep ที่ 17 เมตร ระหว่างกำลังไต่ระดับเพื่อจะทำ safety stop เจอกระแสน้ำแรงทำให้ตัวเองคุม buoyancy ไม่อยู่ ทำให้ตัวเอง shoot ขึ้นไปบนผิวน้ำ จำได้ว่าก่อนที่ตัวเองจะ shoot ความลึกอยู่ที่ 6 เมตร ซึ่งเท่ากับว่า dive นี้ไม่ได้ทำ safety stop แต่หลังขึ้นมาจากน้ำไม่มีอาการผิดปกติอะไร แต่ก็แอบกังวล ก็ลองเฝ้าดูอาการไปก่อน 😭
📍วันที่ 4 : ตื่นเช้ามาไม่ได้มีอาการปกติแต่อย่างใด ก็ไปดำน้ำต่อ วันนี้แผนการดำน้ำราบรื่น ทำตามกฎการดำน้ำทุกครั้ง อาการหลังขึ้นจากน้ำไม่มีผิดปกติ ทั้ง 2 dive
📍วันที่ 5 : วันนี้เป็น dive เช้า ระหว่างที่อยู่บนเรือกำลังเดินทางไป dive site ที่ HTMS Sattakut Wreck วันนี้ต้องทำ deep ที่ 30 เมตร ฝนตกปรอยๆ คลื่นทะเลแรง จนเรือโยกซ้ายขวา โคลงเคลงไปหมด คนที่อยู่บนเรือก็พากันอ้วกไปกันครึ่งลำแล้ว 🤮 ขนาดเรากินยาแก้เมาเรือก่อนขึ้นเรือ 30 นาที ยังไม่รอด

เมื่อถึง dive site ที่จะต้องลง เรากับ instructor รีบโดดลงจากเรือเลย ไม่ไหว อยู่บนเรือไม่ได้แล้ว ลงจากเรือก็เจอกระแสน้ำบนผิวน้ำแรงอีก ต้องตีฟินไปหาทุ่น กว่าจะถึงทุ่นก็เหนื่อยพอสมควร แล้วเราก็ปล่อยลมจาก BCD ลงใต้น้ำไปเลยจ้า ไม่ไหวแล้ว เจอคลื่นแรงทั้ง 2 dive เลยวันนี้ 😅 แต่แผนการดำน้ำราบรื่น ทำตามกฎการดำน้ำทุกครั้ง อาการหลังขึ้นจากน้ำไม่มีผิดปกติ ทั้ง 2 dive
📍วันที่ 6 : วันนี้ไม่ได้ไปดำน้ำแล้ว ก็เลยจะตะลอนเที่ยวรอบๆ เกาะเต่า 1 วัน แล้วก็จะเดินทางกลับ กทม. วันพรุ่งนี้ พอตกช่วงเย็นๆ มีอาการมึนหัวนิดหน่อย 😅 แต่ก็ไม่ได้คิดอะไรมาก คิดว่าเพลียแดดที่ไปตะลอนๆ มาทั้งวัน ก็เลยกินยาพาราแล้วเข้าไปนอนพัก
📍วันที่ 7 : เดินทางออกจากเกาะเต่าช่วงบ่ายๆ ไปต่อรถไฟที่สถานีชุมพรเพื่อกลับ กทม. ตกช่วงเย็นๆ มีอาการปวดหัว มึนหัว ก็กินยาพาราแล้วก็นอนพักจนถึง กทม.
📍วันที่ 8 : กลับถึงบ้านแล้ว เข้าห้องน้ำเพื่อจะอาบน้ำ ระหว่างอาบน้ำรู้สึกว่า มึนหัว ปวดหัว มีอาการโคลงเคลง ตอนแรกไม่ได้กังวลอะไรคิดว่าอาจจะเพลียจากการเดินทาง อาบน้ำเสร็จก็มานอนพัก และหลังจากตื่นมารู้สึกว่าอาการมึนหัวดีขึ้น เลยออกไปซื้อข้าวกิน

สักพักมีอาการมึนหัวอีกแล้ว โคลงเคลง บ้านหมุน เราเลยรีบกลับเข้าบ้าน มานั่งพักแต่อาการมึนหัวก็ยังไม่ดีขึ้น พอลุกขึ้นยืนเหมือนตัวเองจะล้มไปข้างหลัง แล้วก็มึนหัวหนักมากๆ จนอ้วกออกมา หลังจากนั้นสักพักมีอาการอ่อนเพลีย อ่อนแรง หายใจไม่อิ่ม หัวใจเต้นเร็ว ตัวเย็น มีอาการชาที่หลังมือข้างขวาและแขนข้างขวา ไม่โอเค รู้สึกแย่มาก เหมือนจะตายเลย 😭

เมื่อรู้สึกว่าตัวเองไม่โอเค อาการไม่ได้ดีขึ้นและหนักกว่าเดิม ทำให้ตัวเองนึกถึงโรคที่เกิดจากการดำน้ำขึ้นมาทันที เลยลองหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคที่เกิดจากการดำน้ำ ซึ่งก็มีข้อมูลน้อยมาก จนเราไปเจออยู่อันนึงมีเคสนึงที่เค้าเคยเป็น ได้มาแชร์ประสบการณ์ไว้ใน Facebook

เราอ่านแล้ว อาการเดียวกันกับเราเลย ตอนนั้นเครียดมาก เลยลอง dm ทักไปหาคนนั้นที่เค้าเคยเป็นโรคนี้ ซึ่งเราก็ได้คำแนะนำที่ดีๆ มา และบอกให้เราไปพบหมอที่กรมการแพทย์ทหารเรือ ขอบคุณนะคะคุณพีค

เราได้ข้อมูลมาแล้วและได้โทรสอบถามกับทางโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า แผนกศูนย์เวชศาสตร์ความดันบรรยากาศสูง เบื้องต้นพี่พยาบาลได้สอบถามอาการเบื้องต้น เราก็เล่าอาการที่เกิดขึ้นให้ฟังว่ามีอาการอะไรบ้าง พี่พยาบาลแจ้งว่าให้รีบมาโรงพยาบาลเข้าพบคุณหมอด่วนๆ เลย

เราก็รีบออกไปโรงพยาบาลเลยหลังจากวางสายจากเมื่อไปถึงโรงพยาบาล โดนจับวัดความดันซึ่งความดันเราสูงมาก ไม่เคยเป็นมาก่อน 😩 คุณหมอรีบเข้ามาดูอาการ และถามถึง timeline การดำน้ำทั้งหมดทุก dive มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง ต้องบอกให้ละเอียด

พอหลังจากสอบถามอาการเสร็จแล้ว คุณหมอตรวจหลายอย่างเลยแหละ วัดความดัน วัดออกซิเจนในเลือด ตรวจเลือด เอกซเรย์ปอด ตรวจหู ทำ test การทรงตัว และ ระบบประสาท

พอทำ test เสร็จแล้ว คุณหมอให้ไปนอนสูดดมออกซิเจน รอฟังผล สักพักคุณหมอมาแจ้งว่า คนไข้เป็นโรค DCS Type 2 ซึ่งถ้าเป็น type นี้ถือว่ารุนแรง เพราะทำ test ระบบประสาทไม่ผ่าน แต่โชคดีที่แสดงอาการออกมาไม่รุนแรง บางเคสชักแล้วหมดสติไปก็มี คุณหมอได้แจ้งวิธีการรักษาว่า คนไข้ต้องได้รับการรักษา โดยการเข้า Hyperbaric Chamber ตาราง 6 โดยการให้ออกซิเจนบริสุทธิ์ 100% ภายใต้แรงดันสูง เป็นเวลา 6 ชั่วโมง

เคสแบบนี้ทางการแพทย์ให้เป็นเคสฉุกเฉิน ปล่อยทิ้งนานไม่ได้ อาการมันแสดงเยอะกว่าเดิม อาจทำให้เสียชีวิตได้ คุณหมอแจ้งว่าจะเริ่มการรักษาตอน 1 ทุ่ม ซึ่งเรามีเวลาเตรียมตัว 1 ชั่วโมง ก่อนเข้า chamber นึกในใจไม่มีเวลาเตรียมตัวเลย พ่อแม่ก็ยังไม่ได้บอกเลย แอบหนีมาหาหมอคนเดียว โดนด่าแน่ แล้วก็โดนด่าจริงๆ ไปเที่ยวกลับมาแล้วป่วย 😭

การเตรียมตัวก่อนเข้า Hyperbaric Chamber

  • กินข้าวหรืออะไรก็ได้รองท้องก่อนเข้าไป chamber เพราะต้องเข้าไปอยู่ในนั้นหลายชั่วโมง เดี๋ยวหิว
  • ใครแต่งหน้าไป ต้อง cleansing ออกก่อน
  • เปลี่ยนชุด โดยใส่ชุดที่เจ้าหน้าที่เตรียมมาไว้ให้
  • งดการใส่คอนแทคเลนส์ แว่นตา เครื่องประดับ หนังยางรัดผมก็ไม่ได้ ถ้าอยากได้หนังยางรัดผม ขอเจ้าหน้าที่ได้นะคะ เราขอค่ะ มันคือหนังยางรัดผมที่มัดถุงแกงค่ะ เราได้สีแดง 😂
  • เข้าห้องน้ำให้เรียบร้อย แต่ข้างใน chamber มีห้องน้ำนะคะ แต่เรารู้สึกว่ามันหวิวๆ หน่อย มีแค่ฉากแผ่นเหล็กกั้น แต่ถ้าปวดก็ต้องเข้าค่ะ มันจำเป็น 😅
  • พกน้ำเปล่าเข้าไปด้วยนะคะ สัก 2 – 3 ขวด เอาไว้จิบ เพราะเข้าไปข้างในตอนเราสูดเอาก๊าซออกซิเจนคอมันแห้งนะคะ
  • บอกลาโทรศัพท์ไปได้เลยจ้าาา ทำใจให้สบายค่ะ 6 ชั่วโมงเอง 😆

บรรยากาศข้างในห้อง Hyperbaric Chamber

เคยดูหนังเกี่ยวกับยานอวกาศมั้ย นั่นแหละอารมณ์ประมาณนั้น ข้างในไม่ได้อึดอัดอะไร เป็นห้องสี่เหลี่ยม มีโทรทัศน์ให้ดูด้วย จริงๆ ห้องนั้นสามารถเข้าได้ 8 – 10 คน แต่ช่วงนั้นไม่มีเคสคนไข้ มีเราคนเดียว เจ้าหน้าที่เข็นเตียงมาให้เรานอนแบบสบายๆ  ในห้อง chamber จะมีเรากับพี่เจ้าหน้าที่ 1 คน คอยดูแลเราจนจบการรักษา

ก่อนจะเริ่มการรักษา คุณหมอได้เข้ามาอธิบายให้ฟังว่าต้องทำตัวอย่างไรบ้างระหว่างอยู่ในห้อง chamber

คุณหมอแจ้งว่า เหมือนเราได้กลับไปดำน้ำอีกครั้ง แต่ตัวไม่เปียก ให้เราเคลียร์หูด้วย ระหว่างที่ไต่ระดับความลึก และภายในห้องมันจะมีแรงดันเท่ากับเวลาที่เราดำน้ำที่ 60 ฟุต หมอบอกไม่ต้องกังวลให้หายใจปกติ เหมือนเราหายใจอยู่ใต้น้ำ จะหายใจทางปากหรือจากจมูกก็ได้ และแนะนำว่าห้ามหลับเพราะถ้าหลับเราจะหายใจเบา แล้วจะได้รับออกซิเจนระหว่างการรักษาลดลง ระหว่างรักษาถ้ามีอาการหรือมีอะไรที่ไม่โอเคให้ยกมือ คุณหมอจะคอยดูเราจากข้างนอก พออธิบายเสร็จคุณหมอก็เดินออกไป แล้วประตูห้อง chamber ก็ปิดลง

ลำดับการรักษาระหว่างที่อยู่ในห้อง Hyperbaric Chamber (เท่าที่จำความได้นะคะ)

  • เริ่มปรับความดันบรรยากาศ ค่อยๆ ไต่ระดับลงไปจนถึงความดันบรรยากาศที่ 60 ฟุต (18 เมตร) ช่วงเวลาที่ไต่ระดับลงไปน่าจะประมาณ 5 นาที ระหว่างที่ไต่ระดับความลึกลงไป เราต้องคอยเคลียร์หูด้วยนะคะ
    เมื่อถึงระดับความลึกที่ 60 ฟุตแล้ว ให้ใส่ mask เพื่อรับออกซิเจนบริสุทธิ์ ประมาณ 20 นาที
    เมื่อครบ 20 นาที จะได้พักเบรค 5 นาที เพื่อถอด mask และสอบถามอาการว่ามีอาการอย่างไรบ้าง เช่น อาการมึนหัวดีขึ้นมั้ย อาการชาที่มือและแขนดีขึ้นมั้ย การทรงตัวสามารถเดินได้มั้ย โดยที่ทำแบบนี้ประมาณ 3 รอบ
  •  เมื่อเรารับออกซิเจนบริสุทธิ์ที่ความดันบรรยากาศ 60 ฟุตแล้ว ใส่ mask ต่อ คราวนี้จะเป็นการไต่ระดับขึ้นไปที่ 30 ฟุต ระยะเวลาที่ไต่ระดับขึ้นไปที่ 30 ฟุต ประมาณ 30 นาที ความเร็ว 1 ฟุต / 1 นาที
    พอถึงระดับที่ 30 ฟุต ก็หยุดการขึ้นไต่ระดับค้างไว้เป็นเวลา 30 นาที
    พอครบ 30 นาที ก็พักเบรค 15 นาที ถอด mask สามารถเข้าห้องน้ำได้ แล้วก็ประเมินอาการ เรารู้สึกว่าอาการชาที่มือและแขนดีขึ้น แต่ยังไม่หายไป
  • พักเบรคครบ 15 นาทีแล้ว ใส่ mask เพื่อรับออกซิเจนบริสุทธิ์ภายใต้ความดันบรรยากาศที่ 30 ฟุต อีก 2 ชั่วโมง ( ไม่น่าละทำไมให้เบรค 15 นาที เพราะนอนยาวนี่เอง 😂)
  • เมื่อผ่านไปครบแล้ว 2 ชั่วโมง ก็จะเป็นการไต่ระดับขึ้นไปจาก 30 ฟุต เหมือนไต่ระดับขึ้นสู่ผิวน้ำ โดยไต่ระดับขึ้นไปอย่างช้าๆ เป็นเวลา 1 ชั่วโมง ก็จะจบการรักษาใน chamber แล้ว เย้ๆๆๆ ระหว่างไต่ระดับขึ้นไปสวม mask เพื่อรับออกซิเจนบริสุทธิ์เหมือนเดิม ตอนไต่ระดับขึ้นเหมือนมีลมออกมาจากหูดังปี๊ดๆๆๆ 😅

หลังจากออกมาจากห้อง Hyperbaric Chamber

คือดีใจมากกกกกกกกกกกก 😂

คุณหมอตรวจประเมินอาการอีกครั้ง ทำ test ต่างๆ เหมือนกับตอนแรกก่อนที่จะได้รับการรักษา ผลประเมินทำ test ออกมาได้คะแนนเต็ม คุณหมอบอกว่าผลการรักษาตอบสนองดี อาการชาที่มือและแขนหายไปแล้ว แต่ยังมีปวดๆ อยู่ อาการบ้านหมุน มึนหัวดีขึ้น แต่ยังไม่หายไป คุณหมอบอกว่าวันนี้ให้กลับไปพักผ่อนที่บ้าน แล้วเจอกันอีกทีนึงคือวันถัดไปตอน 9 โมงเช้า เพื่อประเมินอาการอีกครั้ง ว่าจะต้องได้เข้า chamber อีกหรือไม่

hyperbaric chamber - 001
บรรยากาศด้านนอกห้อง Hyperbaric Chamber (รูปภาพจาก facebook ศูนย์เวชศาสตร์ความดันบรรยากาศสูง)

วันถัดมาเข้าพบคุณหมอเพื่อประเมินผลการรักษา

อาการของเราโดยรวมดีขึ้นเยอะ และคุณหมอก็ให้ทำ test ระบบประสาท กับ test การทรงตัว ก็ถือว่าผ่านแล้ว ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง แต่เรายังมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่อิ่ม ยังรู้สึกบ้านหมุนอยู่เลย ความดันยังสูงอยู่เลย แล้วก็มีอาการเพิ่มเติมมาคือปวดหู เหมือนคนหูอื้อ

คุณหมอแจกแจงให้เราฟังว่า อาการที่หลงเหลืออยู่ ที่แน่นหน้าอก หายใจไม่อิ่ม น่าจะเป็นเพราะเราเครียด พอเครียดมันจะมีแก๊สออกมาเยอะจากกะเพาะอาการตีขึ้นมา ทำให้ไม่รู้สึกจุกแน่นที่หน้าอก หมอเลยให้ยาลดกรดมาทาน

ส่วนอาการบ้านหมุน มึนหัว และมีอาการปวดหูร่วมด้วย คุณหมอวิเคราะห์ว่า ไม่น่าจะเกี่ยวกับเนื่องกันแล้วกับ DCS หมอประเมินว่าไม่ต้องเข้าไปใน chamber แต่จะส่งต่อให้หมอหูที่เชี่ยวชาญ เราก็ไปที่แผนกหมอหู ก็ได้ test การได้ยินของเสียง คลื่นเสียง ผล test ออกมาปกติ แต่คุณหมอเอากล้องส่องไปที่หู หูแดงและมีฟองอากาศค้างอยู่ข้างในหูชั้นกลาง ทำให้เสียการทรงตัวได้ด้วย และทำให้มึนหัวอยู่ คุณหมอบอกว่าไม่ต้องกังวล เดี๋ยวทานยาก็หายแล้ว อาจจะต้องใช้เวลารักษา 😅

หลังจากพบคุณหมอทั้ง 2 แผนก หมอได้ให้คำแนะนำมาว่า

  • งดดำน้ำ 1 – 2 เดือน แม้แต่จะมุดน้ำในสระน้ำก็อย่าเพิ่งไปหาทำ 😆
  • งดขึ้นเครื่องบิน 72 ชั่วโมง
  • คุณหมอนัดตรวจอีกครั้งประมาณเดือนหน้า เพื่อประเมินว่าสามารถกลับไปดำน้ำได้อีกมั้ย (ภาวนาว่าขอให้ได้ 🤭)
  • ดื่มน้ำเยอะๆ ไม่ต้องเครียดหรือกังวล ตอนนี้คนไข้ปลอดภัยแล้ว ถ้ามีไนโตรเจน bubble หลงเหลืออยู่มันจะค่อยๆ สลายไปเอง โดยที่มันจะสลายไปเองจากที่เราหายใจปกตินี่แหละ ให้ร่างกาย recovery

หมอวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้ป่วยเป็น DCS สำหรับเคสเรานะ

  • วันที่ 3 ของการดำน้ำ shoot ขึ้นผิวน้ำ โดยไม่ได้ทำ safety stop
  • วันที่ 5 เนื่องจากดำน้ำมาแล้วหลาย dive ติดต่อกัน เกิดอาการอ่อนเพลียสะสม แล้ววันนั้นมาเจอคลื่นแรง เมาเรือ กินน้ำน้อย ลงเรือก็ตีฟินพร้อมกับกระแสน้ำที่แรง ออกแรงเยอะนั่นเอง ทำให้เราใช้อากาศเยอะ ก็จะได้รับก๊าซไนโตรเจนเข้าสู่ร่างกายเยอะเหมือนกัน

ค่าใช้จ่ายในการรักษา

  • การรักษาโรคที่เกิดจากการดำน้ำ ต้องเข้ารักษาด้วย Hyperbaric Chamber อย่างเดียวนะคะ เป็นวิธีการรักษาเดียวที่ได้ผล
  • สำหรับการเข้า chamber ทางโรงพยาบาลคิดเป็นรายชั่วโมง ชั่วโมงละ 18,000 บาท
  • เราเข้า chamber 6 ชั่วโมง ก็ 108,000 บาท แต่เราใช้สิทธิประกันสังคมนะคะ ถือว่าโชคดีมากๆ ที่ประกันสังคมรองรับสิทธิการรักษา
  • ประกันดำน้ำสำคัญมากนะคะ เพราะถ้าไม่มีประกัน ค่ารักษาราคาค่อนข้างสูงเลยค่ะ บางเคสไม่ได้เข้าแค่ chamber แค่รอบเดียวนะคะ อ่านเจอเคสนึงหมดค่ารักษาไปเกือบล้าน 😩

ใครที่อ่านจนจบ ที่ชื่นชอบการดำน้ำและมีโอกาสได้ไปดำน้ำ ถ้ามีอาการแปลกๆ ให้นึกถึงโรคที่เกิดจากการดำน้ำเลยนะคะ แจ้งบัดดี้ ครู ไดฟ์หลีด ให้ทราบ หรือรีบเข้าพบหมอเพื่อประเมินอาการและรักษานะคะ

ยืนยันว่าการดำน้ำแบบ scuba เป็นการดำน้ำที่ปลอดภัย ถ้าเราปฎิบัติตามกฎดำน้ำอย่างเคร่งครัด แต่ขอให้คำถึงสภาพร่างกายของตัวเองด้วยนะคะ ว่าพร้อมสำหรับที่จะลงไปใต้น้ำหรือไม่ ตัวเราเองเป็นคนรู้ดีที่สุดค่ะ แล้วก็ enjoy & take care in underwater นะคะ ใต้ทะเลมีอะไรให้น่าค้นหาอีกเยอะ เราเป็นคนนึงที่หวังว่าหลังจากพบคุณหมอครั้งหน้า ว่าสามารถกลับไปดำน้ำได้อีก เพราะเราอยากเจอฉลามวาฬ แล้วก็เจ้าตัวนูดี้เยอะๆ ❤️❤️❤️

บทความจาก Facebook: Nonthawan Nb