กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ประกาศคุมเข้มผู้ประกอบการท่องเที่ยวดำน้ำ ลดผลกระทบต่อแนวปะการัง

ดร. ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้กล่าวถึงช่วงหลายปีที่ผ่านมา กิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่แนวปะการังที่มีความสวยงาม ซึ่งผู้ประกอบการหลายรายละเลยการควบคุมดูแลนักท่องเที่ยว ปล่อยให้ดำน้ำโดยไม่มีการอบรมหรือแนะนำวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง ขาดเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญดูแล ทำให้นักท่องเที่ยวมาสัมผัส เหยียบย่ำ หรือใช้ตีนกบโดยไม่รู้วิธี มีการให้อาหารปลา และทิ้งขยะในทะเล รวมถึงผู้ประกอบการที่จัดกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ เคลื่อนย้ายปะการัง สัตว์น้ำ หรือสิ่งมีชีวิตใดๆ มาให้นักท่องเที่ยวดู ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อแนวปะการังมาอย่างต่อเนื่อง

เพื่ออนุรักษ์แนวปะการังให้ยั่งยืน ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงมอบหมายให้ ทช. จัดทำ “มาตรการคุ้มครองทรัพยากรปะการังจากกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ” ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้

อัตราส่วนผู้ควบคุมต่อนักท่องเที่ยว แบ่งตามประเภทการดำน้ำ

  • ดำน้ำลึก (Scuba): 1 ต่อ 4 คน
  • ดำน้ำตื้น (Snorkel) และ Freediving: 1 ต่อ 20 คน
  • ทดลองเรียนดำน้ำ (Try Dive): 1 ต่อ 2 คน
  • เรียนและสอบดำน้ำลึก: 1 ต่อ 4 คน (ต้องฝึกบนพื้นทรายเท่านั้น)

ข้อปฏิบัติที่สำคัญ

การดำน้ำลึก (Scuba)

  • ห้ามนำกล้องลงไปถ่ายภาพใต้น้ำ ยกเว้นมีผู้ที่ผ่านหลักสูตรดำน้ำลึกระดับเทียบเท่า Advanced หรือมีประสบการณ์ดำน้ำ 40 ไดฟ์ขึ้นไป
  • ห้ามครูและนักเรียนถ่ายภาพใต้น้ำ (ยกเว้นการเรียนตามหลักสูตรถ่ายภาพใต้น้ำ) ถ้าต้องการถ่ายภาพในการเรียนจะต้องมีบุคคลทำหน้าที่ถ่ายภาพโดยเฉพาะ เพราะหากไม่เชี่ยวชาญในการดำน้ำจะทำให้ปะการังเกิดความเสียหาย

การดำน้ำตื้น (Snorkel)

  • หากดำน้ำตื้นในบริเวณแนวปะการัง ระดับน้ำจะต้องสูงไม่น้อยกว่า 2 เมตร จากยอดปะการัง
  • หากมีการใช้ตีนกบ ผู้ควบคุมต้องแจ้งวิธีการใช้ตีนกบไม่ให้กระทบต่อปะการัง
  • ต้องใส่ชูชีพทุกครั้ง เว้นแต่ผ่านหลักสูตรการดำน้ำลึกหรือหลักสูตรการดำน้ำอิสระมาแล้ว

ข้อห้ามในการดำน้ำบริเวณแนวปะการัง

  1. ห้ามผู้ควบคุมเคลื่อนย้ายสิ่งมีชีวิตใดๆ มาให้นักท่องเที่ยวดู
  2. ห้ามเตะ หรือสัมผัสปะการัง สัตว์น้ำ หรือสิ่งมีชีวิตใดๆ
  3. ห้ามทำตะกอนตกใส่ปะการัง หรือทำให้ปะการังได้รับความเสียหาย
  4. ห้ามให้อาหารปลาหรือสัตว์น้ำ
  5. ห้ามทิ้งขยะลงทะเล
  6. ห้ามประกอบกิจกรรมท่องเที่ยวแบบเดินใต้ทะเล หรือ Sea Walker หรือกิจกรรมที่มีลักษณะเป็นการเคลื่อนที่บนพื้นทะเล

การกำหนดโทษ

ผู้ฝ่าฝืนมาตรการนี้ มีโทษตามมาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ. ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 ซึ่งมีโทษคือ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ กรม ทช. อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการออกบัตรให้กับผู้ควบคุมการท่องเที่ยวที่ผ่านการอบรมแล้วกว่า 1,900 คน

ที่มา เพจ: กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ประกาศฉบับเต็ม เรื่อง มาตรการคุ้มครองทรัพยากรปะการังจากกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ