อยู่บ้าน ลดขยะ ลดภาระให้ทะเล ♻️

ในช่วงเวลาที่ทุกคนต้องทำงานและกักตัวอยู่ที่บ้านเพื่อช่วยชาติหยุดการแพร่เชื้อไวรัสโคโรน่า หลายๆคนก็สรรหากิจกรรมมาทำแก้เบื่อ บ้างก็ปลูกต้นไม้ บ้างก็เล่น TikTok บ้างก็ทำอาหาร แต่สำหรับคนที่ไม่มีทักษะเรื่องงานครัวอย่างแอดมินเองก็มักจะเรียกใช้บริการ Food Delivery วนๆไป นานวันเข้าก็เริ่มรู้สึกว่านอกจากน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นแล้ว ขยะที่บ้านเราก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษรายงานว่า ในปี 2561 ประเทศไทยมีปริมาณขยะสูงถึง 28 ล้านตันปี ในขณะที่ความสามารถในการจัดเก็บขยะทั้งหมดรองรับได้เพียง 70% เท่านั้น ดังนั้นจึงมีขยะตกค้างอยู่ในที่ต่างๆจำนวนมาก โดยเฉพาะในท่อระบายน้ำ ซึ่งปลายทางของท่อระบายน้ำเหล่านี้ก็คือทะเลนั่นเอง จากข้อมูลของสำนักการระบายน้ำกทม.ระบุว่า เพียงแค่หน้าสถานีอุโมงค์ระบายน้ำพระราม 9 จุดเดียว ก็สามารถเก็บขยะที่มาจากท่อระบายน้ำได้มากถึงวันละ 1 ตัน โดยเฉพาะในสถานการณ์วิกฤติ COVID-19 ระบาดเช่นนี้ พบว่ามีปริมาณขยะจากบรรจุภัณฑ์ในกระบวนการ Delivery เพิ่มสูงกว่าในภาวะปกติถึง 15% เลยทีเดียว (ข้อมูลระหว่าง ม.ค.-มี.ค.63) นี่ยังไม่รวมถึงขยะติดเชื้อที่จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ประกอบกับข้อมูลจากเพจ Thon Thamrongnawasawat  ของอาจารย์ธรณ์ที่ให้ข้อมูลว่า “ขยะทะเล 80% มาจากแผ่นดินผ่านแม่น้ำลำคลอง ไม่ได้เกิดจากกิจกรรมในทะเล” ยิ่งทำให้อดคิดไม่ได้ว่ากล่องข้าวในมือที่เราสร้างขึ้นทุกวันจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของขยะทะเลในวันพรุ่งนี้หรือไม่

วันนี้แอดมินจึงอยากชวนทุกคนมาทำกิจกรรมใหม่ในช่วงกักตัวด้วยกัน นั่นคือ “การลดและคัดแยกขยะ” เพื่อที่อย่างน้อยเราได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดขยะในทะเล ซึ่งใครๆก็สามารถทำได้ง่ายๆ หรือบางทีอาจจะสร้างรายได้จากขยะอีกด้วยนะ

  1. เลือกใช้หน้ากากอนามัยผ้า ที่สามารถซักใช้ซ้ำได้แทนการใช้หน้ากากแบบใช้แล้วทิ้ง นอกจากจะช่วยลดขยะแล้ว ยังลดค่าใช้จ่ายได้ด้วย
  2. หากเป็นไปได้ แจ้งผู้ให้บริการร้านอาหารเดลิเวอรี่ว่าไม่รับ ช้อน, ส้อม, หลอดพลาสติก หรือใช้ภาชนะส่วนตัวในการซื้ออาหารมาทานที่บ้าน
  3. กล่องเครื่องดื่มยูเอชที จากผลิตภัณฑ์จำพวก นม, นมเปรี้ยว, นมถั่วเหลือง, น้ำผลไม้, ชากาแฟ หรือเครื่องดื่มอื่นๆ สามารถนำไปบริจาคให้กับ ”โครงการหลังคาเขียว” เพื่อนำไปรีไซเคิลเป็นแผ่นหลังคาให้มูลนิธิเพื่อนพึ่ง(ภา)ยามยาก โดยมีบริการจุดรับบริจาคที่ บิ๊กซี (ตรวจสอบสาขาที่เข้าร่วมก่อนนะคะ) ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โครงการหลังคาเขียว
  4. แยกถุงหรือฟิล์มพลาสติก นำมารีไซเคิลกับ “โครงการวน” โดยทุกๆ 1 กิโลกรัมจะมีมูลค่า 5 บาท เพื่อนำไปต่อยอดบริจาคให้กับมูลนิธิด้านสิ่งแวดล้อม พลาสติกชนิดที่โครงการรับบริจาคหาได้รอบตัวเลยค่ะ ส่วนใหญ่เป็นพลาสติกประเภทที่ร้านรับซื้อของเก่าไม่รับทั้งนั้น สังเกตุง่ายๆจากพลาสติกชนิดที่ยืดได้ เช่น ถุงหิ้ว, พลาสติก wrap สินค้าแบบแพค, ถุงน้ำตาลหรือข้าวสาร, ถุงซิป, ห่อทิชชู่หรือผ้าอ้อมเด็ก, bubble กันกระแทก อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเพจ โครงการวนได้เลยค่ะ
  5. เศษอาหาร ผักผลไม้ เทส่วนที่เป็นของเหลวทิ้งไป ส่วนที่เป็นของแข็งเอามาทำปุ๋ยหมักปลูกผัก สมัยนี้เค้ามีถังหมักปุ๋ยจากครัวเรือนขายแล้วนะ มีหลายขนาดให้เลือกใช้ตามจำนวนคนในบ้าน วิธีใช้ก็ง่ายมากๆเลย เหมาะสำหรับสายเขียวที่ชอบปลูกผัก เพราะเราจะได้ปุ๋ยหมักไว้ใช้ด้วย ใครสนใจลองศึกษาเพิ่มเติมในเพจ ผัก Done Thailand ได้เลย
  6. แยกวัสดุรีไซเคิลขายร้านรับซื้อของเก่า นอกจากบ้านจะสะอาดแล้วยังได้เงินด้วยนะ ไปรื้อบ้านกันเลยว่ามีอะไรพอจะขายได้บ้าง
          • พลาสติกแข็ง พลาสติกใส (PET) พลาสติก (PE/PP) เช่น ถังน้ำ, กะละมัง, ลังผลไม้, เข่ง, เก้าอี้, ชิ้นส่วนรถยนต์ ขวดบรรจุภัณฑ์ต่างๆ (ขายได้ 3-6 บาท/กิโลกรัม)
          • เศษเหล็ก ทองแดง ทองเหลือง อลูมิเนียม ตะกั่ว เช่น โครงขาโต๊ะ, รางน้ำฝน, ราวตากผ้า, ชั้นวางของ, ตะแกรงพัดลม (ขายได้ 3-5 บาท/กิโลกรัม)
          • กระดาษ เช่น นิตยสาร, หนังสือพิมพ์, A4, แกนกระดาษสีน้ำตาล, กล่อง, แผงไข่ (ขายได้ 1-4 บาท/กิโลกรัม)
          • ขวดแก้ว เช่น ขวดเบียร์, ขวดน้ำหวาน, ขวดเหล้า และสารพัดแก้วต่างๆ (ขายได้ 1 บาท/กิโลกรัม)
  7. สำหรับเศษขยะอื่นๆที่ไม่สามารถแยกรีไซเคิลได้ เช่น ถุงแกง, ถุงขนม, หนังยาง, ถุงน้ำยาซักผ้า, ถุงบรรจุภัณฑ์อื่นๆ, กระดาษเคลือบมัน, แกนทิชชู่, กระดาษทิชชู่ (ที่ไม่ติดเชื้อ), ฟอยด์ห่ออาหาร, ขวดยาคูลท์, หลอดยาสีฟัน, แปรงสีฟัน, หลอดครีมต่างๆ, กระปุกเครื่องสำอางค์, เศษผ้าเก่าขาด, ถุงเท้า, รองเท้า, ชุดชั้นใน, กางเกงใน, กระสอบ, ถุงปุ๋ย, แก้วพลาสติก, แก้วกระดาษ, กล่องโฟม, กล่องอาหาร, ช้อนส้อมพลาสติก, หลอดพลาสติก ฯลฯ เยอะมาก เอาเป็นว่า ขยะอะไรก็ได้ที่สามารถตัดให้ขาดและเผาไฟได้ นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนในเตาเผาปูนซิเมนต์ ในกรณีเศษอาหารก็ไม่ต้องล้างให้เสียเวลา แค่เทเศษอาหารออก ตากแดดให้แห้งลดความชื้นเพื่อไม่ให้มีกลิ่นเหม็น รวบรวมส่งไปที่ บริษัทเอ็น15 เทคโนโลยี จำกัด

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แต่ก็ยังมีวัสดุบางชนิดที่ทางโครงการไม่รับนะคะ ต้องแยกออกมา เช่น พลาสติกพีวีซี, สายไฟ, แก้ว, กระเบื้อง, เหล็ก, หิน, ไม้, สังกะสี, หลอดไฟ, อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ และขยะติดเชื้อ

โดยเฉพาะ “ขยะติดเชื้อ” เช่น หน้ากากอนามัย, กระดาษชำระ, ถุงมือ ควรแยกทิ้งเป็นพิเศษ พับมัดให้ส่วนที่สัมผัสละอองฝอยอยู่ด้านใน ใส่ถุงที่มองเห็นได้จากภายนอก หรือเขียนป้ายบอกชัดเจน เพื่อป้องกันเการแพร่ชื้อไปสู่พนักงานเก็บขยะนะคะ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีใครตอบได้ว่าสถานการณ์โควิดนี้จะคลี่คลายลงเมื่อใด และเราจะได้ไปดำน้ำกันอีกเมื่อไหร่ แต่อย่างน้อยก็เป็นช่วงเวลาที่ธรรมชาติได้พักผ่อนจากกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งก็เป็นโอกาสดีที่พวกเราจะได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการใช้ชีวิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ครั้งหน้าที่เราได้กลับไปดำน้ำ จะได้ภูมิใจว่าฉันก็เป็นส่วนหนึ่งที่ได้มีส่วนร่วมในลดขยะทะเลด้วยคนหนึ่งเหมือนกัน

 

ข้อมูลอ้างอิง :

กรมควบคุมมลพิษ

โครงการวน

โครงการหลังคาเขียว

Facebook Fanpage : Environman

Facebook Fanpage : ผัก Done Thailand

Facebook Fanpage : บ้านของเก่า ส.รุ่งเรือง

Facebook Fanpage : บริษัทเอ็น15 เทคโนโลยี จำกัด

Facebook : อาจารย์ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

 

เขียนโดยรัตติยา แวนวน
เผยแพร่ครั้งแรก16 เม.ย. 2563