การฟอกขาวของปะการัง (Coral Bleaching)

ปะการังฟอกขาว ไม่ใช่ปะการังที่ตายแล้ว แต่เป็นปะการังที่อยู่ในภาวะวิกฤติ เนื่องจากสภาพแวดล้อมไม่ปกติ มีความเสี่ยงที่จะตายหากภาวะนั้นคงอยู่ต่อไปเป็นเวลานาน แต่ปะการังสามารถกลับมามีชีวิตปกติได้ เมื่อสภาพแวดล้อมนั้นกลับมาเป็นปกติ

ปะการังที่ตายแล้ว จะสังเกตได้จากการมีสาหร่ายและตะกอนมาเกาะบริเวณที่เคยมีปะการังอยู่

ปะการังที่ตายแล้ว ก็ยังมีประโยชน์ในการเป็นที่ยึดเกาะของตัวอ่อนใหม่ ที่ลอยมาตามน้ำ ได้ลงมาเกาะและใช้เป็นที่อยู่อาศัย เจริญเติบโต และขยายพันธุ์ต่อไป

ปะการังคืออะไร

ปะการังเป็นสัตว์ในไฟลัมไนดาเรีย (Cnidaria) มีลักษณะเด่นคือหนวดที่เรียงรายอยู่รอบปากมีจำนวน 6 เส้น หรือทวีคูณของ 6 ปะการังที่กล่าวถึงในที่นี้จะหมายถึงปะการังกลุ่มที่สามารถสร้างโครงร่างแข็ง ซึ่งเป็นสารประกอบหินปูนขึ้นเป็นฐานรองรับเนื้อเยื่ออันอ่อนนุ่ม ปะการังมีส่วนประกอบสำคัญ 2 ส่วน คือ โครงร่างแข็ง (skeleton) ซึ่งเป็นสารประเภทหินปูนเกิดจากการสร้างของตัวปะการัง และส่วนที่เป็นเนื้อเยื่อซึ่งเรียกว่าโพลิป (polyp) ประกอบด้วยปากซึ่งเป็นช่องเปิดเข้าไปในช่องว่างภายในลำตัว มีหนวดเรียงกันเป็นวงโดยรอบ ปะการังแต่ละก้อนจะประกอบด้วยโพลิปจำนวนมากอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม โดยเนื้อเยื่อ ของแต่ละโพลิปเชื่อมโยงถึงกันหมด เรียกว่าโคโลนี (colony) แต่มีบางชนิดที่อยู่เดี่ยวๆ (solitary) คือทั้งก้อนมีอยู่เพียงโพลิปเดียว เช่น ปะการังเห็ด

ลักษณะโครงสร้างของปะการัง

ปะการังกินอาหารโดยใช้หนวดจับสัตว์เล็กๆ ที่ล่องลอยอยู่ในน้ำส่งเข้าปากซึ่งอยู่ตรงกลาง นอกจากนี้ ปะการังยังได้รับสารอาหารจากสาหร่ายเซลล์เดียว ซึ่งมีชื่อเรียกโดยทั่วไปว่า ซูแซนเทลลี่ (Zooxanthellae) สาหร่ายชนิดนี้อยู่ในเนื้อเยื่อของปะการัง โดยสาหร่ายจะอาศัยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งธาตุอาหารต่างๆ ที่ได้จากกระบวนการเมตาโบลิซึมของปะการังในการเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนเซลล์ ขณะเดียวกันปะการังจะได้รับก๊าซออกซิเจนและสารอาหารที่เป็นผลผลิตจากการสังเคราะห์แสงของสาหร่าย การอยู่ร่วมกันของปะการังและซูแซนเทลลี่ทำให้กระบวนการสร้างหินปูนของปะการังเกิดได้เร็วขึ้น ดังนั้นซูแซนเทลลี่จึงมีบทบาทอย่างยิ่งต่อตัวปะการัง และการสร้างแนวปะการัง โดยปะการังชนิดที่มีซูแซนเทลลี่อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อซึ่งอยู่ในระดับความลึกที่แสงส่องถึง จะมีอัตราการสะสมหินปูนรวดเร็วและก่อตัวเป็นแนวปะการังได้ (Hermatypic coral) ส่วนปะการังชนิดที่มีซูแซนเทลลี่อยู่น้อยหรือไม่มีเลย ซึ่งอยู่ได้ในน้ำระดับลึกและมีอุณหภูมิต่ำจะมีการสร้างหินปูนได้ช้า จึงไม่สามารถสร้างเป็นแนวปะการังได้ (Ahermatypic coral)

การฟอกขาวของปะการัง (coral bleaching) เกิดอย่างไร

ด้วยการอยู่ร่วมกันของปะการัง และสาหร่ายซูแซนเทลลี่นี้ เป็นการอยู่อาศัยแบบพึ่งพากัน และแยกขาดจากกันไม่ได้ ปะการังได้อาหารจากการสังเคราะห์แสงของสาหร่ายถึงกว่า 90% ส่วนสาหร่ายก็ได้อาหารจากการขับของเสีย และก๊าซ CO2 จากปะการัง แต่หากปะการังเกิดความเครียดขึ้น เช่น อุณหภูมิ ความเค็ม สารเคมี หรือตะกอนอยู่ในระดับที่ไม่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตของปะการัง สาหร่ายจะผลิตอนุมูลอิสระของออกซิเจน (free radical oxygen) ซึ่งเป็นพิษต่อเนื้อเยื่อของปะการังขึ้น ปะการังจึงขับเอาสาหร่ายชนิดนี้ออกจากเซลล์ เราจึงเห็นปะการังกลายเป็นสีขาว เนื่องจากสามารถมองผ่านตัวใส ๆ ของปะการังผ่านลงไปถึงโครงร่างหินปูนที่รองรับตัวปะการังอยู่ด้านล่าง

ปะการังฟอกขาวบางส่วน

ปะการังฟอกขาว ยังไม่ใช่ปะการังที่ตายแล้ว เพียงแต่เป็นปะการังที่ไม่มีสาหร่ายมาเกาะอยู่ที่ตัวปะการัง แต่หากอยู่ในสภาพนี้ไปนานๆ ปะการังก็จะตายในที่สุด แต่ถ้าสภาพแวดล้อมกลับมาเป็นปกติในเวลาไม่นานนัก สาหร่ายก็จะกลับเข้ามาอยู่ร่วมกับปะการังเหมือนเดิม และปะการังก็กลับมามีชีวิตอยู่ได้ ทั้งนี้ปะการังแต่ละชนิด จะมีความทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมแตกต่างกันไป ซึ่งจากการศึกษาพบว่าปะการังเขากวาง มีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอุณหภูมิมากกว่าปะการังชนิดอื่น

จากการศีกษาพบว่า ปะการังที่ฟอกขาวสามารถทนต่อสภาพที่อ่อนแอได้ประมาณ 1 เดือนครึ่ง หากอุณหภูมิน้ำลดลงสาหร่ายซูแซนเทลลี่สามารถกลับมาอยู่กับปะการัง ก็จะทำให้ปะการังฟื้นตัวและมีสีดังเดิม กระบวนการฟื้นตัวนี้สามารถเกิดขึ้นได้เร็วภายใน 2-3 เดือน เมื่ออุณหภูมิเข้าสู่ภาวะปกติ

แล้วปะการังจะตายไหม

หากสภาพแวดล้อมยังไม่เหมาะสมต่อไปเป็นระยะเวลานาน ปะการังบางชนิดจะเริ่มตายลง โดยเราสามารถสังเกตได้จากการมีสาหร่ายและตะกอนมาปกคลุมบนปะการัง ในกรณีเช่นนี้ การฟื้นตัวของปะการังก็ยังสามารถเป็นไปได้ แต่จะใช้เวลานานถึง 3-4 ปี

ถ้าปะการังตายไป มันจะฟื้นตัวได้อย่างไร

ซากของปะการังที่ตายแล้ว ยังมีประโยชน์ต่อการเกิดใหม่ของปะการัง เพราะซากนั้นสามารถเป็นที่อยู่ใหม่ให้กับตัวอ่อนของปะการังที่ลอยตามน้ำมาเกาะลงบนซากเดิม จากนั้นก็จะค่อยๆ เจริญเติบโตครอบคลุมปะการังเดิมต่อไป

ดังนั้น ไม่ว่าเราจะเห็นปะการังอยู่ในสภาวะใดก็ตาม เราจึงไม่ควรเก็บปะการังขึ้นมา โดยคิดว่าเราไม่ได้สร้างความเสียหายอะไร เพราะมันยังสามารถเป็นบ้านใหม่ให้กับตัวอ่อนปะการังใหม่ และสร้างความสมบูรณ์ให้กับระบบนิเวศบริเวณนั้นได้ต่อไป

 

ข้อมูลจากความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการฟอกขาวของปะการัง
นลินี ทองแถม และนิพนธ์ พงศ์สุวรรณ
เรียบเรียงโดยศุภเศรษฐ์ อารีประเสริฐกุล
เผยแพร่ครั้งแรก02 ก.ค. 2562