ปัญหาที่หลายๆท่านน่าจะเคยเจอ เวลาไปเล่นน้ำทะเลตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ … หรือจะเป็นการดำน้ำก็ตาม คือ อาการผื่นคันตามผิวหนัง ในขณะที่อยู่ในน้ำ หรือขึ้นจากน้ำไม่นาน … ชาวบ้านทั่วไปมักเรียกและเข้าใจว่า เป็นการคันจาก “แตนทะเล” ……. จริงๆ แล้วมันมีสาเหตุจากอะไร และมีวิธีการรักษาอย่างไร … วันนี้จะมาคุยกันเรื่องนี้นะครับ
สาเหตุ
Sea bather’s eruption หรือแตนทะเลของคนไทยนั้น … สาเหตุหลักๆ นั้นมักจะมาจากการสัมผัสกับตัวอ่อนของสิ่งมีชีวิตในทะเล พวก Cerenterate เช่น ตัวอ่อนของ Anemone, ตัวอ่อนของแมงกะพรุนซึ่งมีขนาดเล็กมาก แต่มี Nematocyte หรือเข็มพิษ ที่ทำให้เกิดอาการคันแสบร้อนได้คล้ายกับเวลาโดนแมงกะพรุน ……. ในกรณีที่คนไทยเราเรียกว่า “แตนทะเล” นั้น ……. อาจจะทำให้สับสนกับคำว่า “Sea Wasp” ของทางตะวันตก ที่หมายถึง แมงกะพรุนชนิด Chironex fleckeri ซึ่งจัดอยู่ในพวกแมงกระพรุนกล่อง (Box jellyfish) ที่มีพิษรุนแรง และพบว่ามีถิ่นอาศัยแถบออสเตรเลีย ฟิลลิปปินส์ ญี่ปุ่น …… ส่วนในบ้านเรานั้น ไม่ได้เป็นถิ่นอาศัยตามธรรมชาติครับ ถ้าจะมีการพบหรือรายงานการพบเจอ น่าจะเป็นการมาตามกระแสน้ำโดยบังเอิญมากกว่า … แต่ในหัวข้อที่จะพูดถึงนี้ต้องการจะอธิบายว่า “แตนทะเล” ของคนไทย เป็นคนละเรื่องกับ Sea Wasp ของฝรั่งเค้านะครับ
อาการ
ในขณะที่ลงเล่นน้ำ หากใส่เสื้อผ้า หรือ wet suit ตัวอ่อนของ Cerenterate ที่ว่าจะเข้ามาติดอยู่ใต้เสื้อผ้า หรือ wet suit … ติดอยู่ตามผิวหนังหรือเส้นผม … อาจจะเกิดอาการคันขึ้นระหว่างอยู่ในน้ำเลย โดยมักเกิดในบริเวณที่เสื้อผ้าที่สวมใส่ไม่ได้ปกคลุม หรืออาจจะเกิดเมื่อขึ้นจากน้ำแล้วมีการไหลของน้ำออกจากเสื้อผ้า หรือ wet suit ทำให้มีช่องว่างระหว่างร่างกายกับชุดที่สวมใส่ลดลง ตัวอ่อนเหล่านั้นจึงสัมผัสกับผิวหนังมากขึ้น ประกอบกับอาจจะมีแรงบีบมากขึ้น … มีการถูไถบริเวณเสื้อผ้า รวมถึงชำระล้างร่างกายด้วยน้ำจืด … จะเป็นการทำให้ Nematocyte ปลดปล่อยเข็มพิษออกมามากขึ้น … ทำให้อาการแสบคันตามร่างกายและผิวหนังนั้นมีมากขึ้น ซึ่งในกรณีนี้มักมีอาการคันภายใต้ชุดที่สวมใส่อยู่ อาการคันและผื่นมักเกิดตามหน้าอก ข้อพับแขน ขาหนีบ เป็นต้น อย่างที่กล่าวข้างต้นว่า อาจจะรู้สึกเริ่มคันตั้งแต่อยู่ในน้ำ และคันมากขึ้นเมื่อขึ้นจากน้ำหรืออาบน้ำจืด อาการคันและผื่นอาจอยู่ต่อเนื่องยาวนานได้เป็นสัปดาห์ ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนมีความไวต่อการแพ้มากน้อยแค่ไหน …….. และ อาการคันมักจะปรากฏบริเวณน้ำตื้นๆ หรือใกล้ๆ ผิวน้ำ
การดูแลรักษา
หากคิดว่า ตัวเองมีอาการคันจากการโดนตัวอ่อนของสัตว์ทะเลข้างต้น … ให้ถอดเสื้อผ้า, wet suit ที่สวมใส่ แล้วชำระล้างร่างกายด้วยน้ำทะเล (ที่คิดว่าไม่มีตัวอ่อนเหล่านั้นอยู่) ห้ามขัดถูบริเวณที่มีอาการคัน รวมถึงอย่าใช้ผ้าเช็ดตัว เช็ดหรือถูบริเวณนั้นๆ ด้วย ให้ใช้น้ำส้มสายชูผสมน้ำให้เจือจาง อาบหรือชำระล้างบริเวณที่คัน หลังจากนั้นอาจใช้ TA lotion ทาบริเวณนั้นต่อ วันละสองถึงสามครั้ง การทานยาแก้แพ้กลุ่ม Antihistamine ก็อาจจะช่วยในการลดอาการผื่นคันลงได้เช่นกัน … แต่หากอาการรุนแรงมากกว่านี้ เช่น มีไข้ตัวร้อน หน้าตาบวม หายใจติดขัด แนะนำให้รีบนำส่งโรงพยาบาลจะดีที่สุดครับ
สำหรับสาเหตุผื่นคันอื่นๆ ในการลงเล่นน้ำทะเลนั้น ก็อาจจะเกิดได้จากการโดนกัดโดยสัตว์กลุ่ม Crustacean เล็กๆ หรือปรสิตในทะเลได้เช่นกัน … แต่สาเหตุที่พบบ่อยนั้นมาจากสัตว์กลุ่มที่ผมยกตัวอย่างมาข้างต้น … ก็นำข้อมูลมาแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ นักดำน้ำไว้ป้องกันและรักษาเบื้องต้นครับ … ไปทะเลคราวหน้าจะได้ดูแลรักษาได้อย่างถูกวิธีครับ
เขียนโดย | หมอเอ๋ |
---|---|
เผยแพร่ครั้งแรก | 28 มี.ค. 2555 |
แอดมินขอเสริมว่า นอกจากการแก้ไขอาการที่เกิดขึ้นแล้ว ด้วยน้ำส้มสายชู หญ้าทะเล หรือยาแก้แพ้แล้ว เรายังมีครีมที่ช่วยป้องกันพิษตั้งแต่ตอนโดนพิษแตนทะเลหรือแมงกะพรุนด้วยนะ ชื่อว่า Safe Sea เป็นครีมกันแดดในตัวด้วย ช่วยให้เมื่อสัมผัสถูกตัวหรือเข็มพิษของพวกเค้า เข็มพิษก็จะไม่ทำงานเลย ไม่ต้องมาแก้ไขอาการในภายหลัง ซึ่งบางครั้งอาจแก้กลับมาได้ไม่เหมือนเดิมหรือมีค่าใช้จ่ายสูงกว่ามากด้วย แวะไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ AntiJellyfish.com เลยจ้า