ฟังก์ชันเสริมพิเศษของ BCD

BCD เป็นอุปกรณ์ช่วยควบคุมการลอยตัวของเรา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งในการดำน้ำ

แต่นอกจากการลอยตัวแล้ว ถ้าลองพิจารณากันดีๆ เราจะพบว่ายังมีฟังก์ชั่นอีกหลายอย่างที่ BCD ดีๆ ตัวหนึ่งจะให้เราได้ รวมทั้งบางฟีเจอร์เล็กๆ น้อยๆ ที่ซ่อนอยู่ในตัว BCD เองก็มีผลต่อความสะดวกสบายไปจนถึงความปลอดภัยในการดำน้ำด้วยเลยทีเดียว

ในบทความนี้ เราจะพาไปรู้จักกับฟังก์ชั่นพิเศษและฟีเจอร์เสริมต่างๆ ที่ BCD บางรุ่นได้เตรียมไว้ให้นักดำน้ำใช้งาน ซึ่งนักดำน้ำสามารถเลือกได้ว่า ตนเองชอบฟีเจอร์ใด และไปพิจารณาต่อได้ว่า คุ้มค่ากับราคาที่ต้องจ่ายเพิ่มหรือไม่ (สำหรับฟังก์ชั่นและฟีเจอร์พื้นฐาน สามารถอ่านได้ที่ “”)

Weight Integrated System

กระเป๋าใส่ตะกั่วไว้กับ BCD ช่วยให้เราไม่ต้องใส่เข็มขัดตะกั่วให้เมื่อยเอว และเข็มขัดตะกั่วที่เคลื่อนไปมาได้ง่าย ยังทำให้จุดศูนย์กลางมวลของร่างกายเราเคลื่อนไปมา ตัวของเราก็แกว่งไปแกว่งมาด้วย ทรงตัวในน้ำได้ยาก

โดยทั่วไประบบ weight integrated system มักจะมาในรูปของกระเป๋าเสริมด้านหน้าของ BCD แบบแจ็คเกต และมีระบบปลดทิ้งอย่างรวดเร็วตามมาตรฐานความปลอดภัยในการดำน้ำ อาจรองรับจำนวนตะกั่วแตกต่างกันไปตามขนาดของ BCD ด้วย เช่น ไซส์เล็กอาจใส่ตะกั่วได้ข้างละ 2 -3 ก้อน ไซส์ใหญ่อาจใส่ตะกั่วได้ข้างละ 3-4 ก้อน (คูณ 2 เข้าไปจะได้เป็นตะกั่วทั้งหมดที่ใส่ได้ต่อคน) ซึ่งนักดำน้ำที่ต้องการตะกั่วมากกว่านี้ ก็ต้องคาดเข็มขัดเพิ่มเอา

การที่ตะกั่วมาอยู่ด้านหน้าทั้งหมด เมื่อนักดำน้ำอยู่ในท่านอน (ซึ่งเป็นท่าที่เหมาะสมในการดำน้ำ) ก็จะช่วยให้จุดศูนย์ถ่วงอยู่ต่ำ รักษา streamline ของการดำน้ำได้ง่ายด้วย (แต่ถ้าจะให้ perfect ต้องดูเรื่อง Trim Weight เพิ่มเติมด้านล่างนี้)

จุดอ่อนของระบบน้ำหนักแบบนี้คือ

  • เมื่อจะขึ้นจากน้ำสู่เรือ ไม่สามารถถอดส่งให้ลูกเรือรับไปก่อนได้ นักดำน้ำต้องแบกขึ้นเรือเอง หรือถ้าส่งขึ้นเรือเล็ก (ดิงกี้) ก็จะมีน้ำหนักมากหน่อย ควรแจ้งลูกเรือที่จะดึงชุดขึ้นจากน้ำให้ทราบก่อน
  • ถ้าใส่ซองตะกั่วเข้ากับ BCD ไม่แน่น ไม่เข้าล็อค อาจเสี่ยงที่จะทำหลุดใต้น้ำได้ (ถ้านักดำน้ำทำความเข้าใจและทดลองใช้งานก่อนลงน้ำ หรือมีทักษะการดำน้ำพอประมาณ ไม่ขยับตัวมาก ก็ไม่ค่อยเกิดปัญหานี้)

ปัจจุบัน BCD รุ่นใหม่ๆ หลายรุ่นจะมาพร้อมกระเป๋าใส่ตะกั่วน้ำหนักแบบนี้ ซึ่งได้รับความนิยมในหมู่นักดำน้ำมากขึ้นเรื่อยๆ

Trim Weight Pocket

กระเป๋าใส่ตะกั่วติดด้านข้างแทงก์ หรือด้านหลังของ BCD ซึ่งมักจะสามารถปรับระดับความสูงได้ เพื่อให้เราจัดตำแหน่งให้เหมาะสมกับจุดศูนย์กลางมวลของเราได้ด้วย

การจัดตำแหน่งที่ว่านี้ อาจไม่ตายตัวแม้กับนักดำน้ำคนเดียวกัน เพราะบางไดฟ์ที่ถือกล้องดำน้ำชุดใหญ่ลงไปด้วย ทำให้ส่วนหัวมีสภาพการลอยตัวเป็นลบมาก ก็ควรจัดตำแหน่งตะกั่วมาด้านเอวมากขึ้น ส่วนไดฟ์ที่ไม่ได้ถือกล้องลงไป อาจต้องย้ายตำแหน่งขึ้นไปทางด้านหัวมากขึ้น

trim weight ยังมีประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ อีกอย่างหนึ่ง คือ ส่วนใหญ่จะอยู่ในตำแหน่งที่ซ่อนอยู่ในซอกข้างถังอากาศหรือ BCD ทำให้ไม่ขวางการไหลของน้ำ ช่วยลดแรงด้านทานน้ำระหว่างดำน้ำได้ด้วย

Aqualung Soul i3 - Trim Weight Pocket
Aqualung Soul i3 – Trim Weight Pocket
Scubapro Hydros Pro - Trim Weight Pocket
Scubapro Hydros Pro – Trim Weight Pocket

จุดอ่อนของการใส่ตะกั่วน้ำหนักแบบนี้คือ ส่วนใหญ่มักจะไม่สามารถปลดทิ้งได้เมื่อต้องการ (ซึ่งก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะในสถานการณ์ฉุกเฉินส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องทิ้งตะกั่วน้ำหนัก เพราะตะกั่วเพียง 2-4 ก.ก. ที่ใส่อยู่ด้านหลังนี้ไม่ได้หนักมากเลยเมื่อเทียบกับน้ำหนักร่างกายกับถังอากาศที่แบกอยู่ และกำลังขาของเราสามารถพาขึ้นได้อย่างสบาย อันที่จริงตะกั่วเหล่านี้จะช่วยให้เราไม่ขึ้นสู่ผิวน้ำเร็วเกินไปด้วย)

ระบบ trim weight จะมีให้ใน BCD บางรุ่น เช่น Aqualung Soul, Aqualung Axiom และใน BCD แบบ back buoyancy ก็ต้องใช้ระบบน้ำหนักแบบนี้เป็นหลัก เพราะไม่ค่อยมีพื้นที่ใส่ของด้านหน้ามากนัก

BCD 2 ชั้น

โดยทั่วไป BCD จะทำมาเป็นชิ้นเดียวหุ้มรอบตัวเราเลย แต่บางรุ่นที่ทำแยกเป็น 2 ชั้น มีถุงลมอยู่ชั้นนอกและอีกชั้นที่อยู่ติดกับตัวนักดำน้ำ รัด และล็อคไว้ด้วยแถบรอบเอวตามปกติ

เมื่อแยกเป็น 2 ชิ้นแบบนี้แล้ว เมื่อเราเติมลม ปล่อยลม หรือเมื่อตัวนักดำน้ำกลิ้งไปมา ชิ้นที่ติดอยู่กับตัวนักดำน้ำก็จะไม่ขยับตามไปด้วย ช่วยให้รู้สึกกระชับอยู่กับตัว

แถบผ้าหรือยางยืดช่วยดึงถุงลมให้แฟบ

เมื่อเราปล่อยลมออกจาก BCD แรงดันน้ำภายนอกจะค่อยๆ บีบให้ถุงลมแฟบลงด้วย แต่ถ้าอยากให้แฟบลงได้เร็วขึ้น ก็เพิ่มแถบผ้ายืดหรือสายบันจี้ (bungee) เข้าไปช่วยก็ได้ ซึ่งนอกจากช่วยให้แฟบลงได้เร็วแล้ว ยังช่วยดึงให้ถุงลมห่อตัวเล็กลง ช่วยให้ลู่น้ำมากขึ้นด้วย

ฟีเจอร์แบบนี้ มีใน BCD บางรุ่นเช่น Scubapro Hydros Pro, Aqualung Soul, Aqualung Axiom และ Dive1

Scubapro Hydros Pro - Bungee for Air Outflow
Scubapro Hydros Pro – Bungee for Air Outflow

ผ้าฟลีซหรือกำมะหยี่บุรอบคอ BCD

ฟีเจอร์เล็กๆ น้อยๆ ที่หลายคนเมื่อได้ใช้แล้วถึงกับติดใจ ไม่อยากใช้ BCD ทั่วไปอีกเลย เพราะความรู้สึกนุ่มสบาย ไม่บาดคอ ใครที่เคยโดนขอบ BCD ตรงรอบๆ คอบาดเป็นแผลแสบแดง ยิ่งแสบจากแสงแดดแล้วไปแสบจากการโดนเสียดสีอีกที คงทราบดี

ฟีเจอร์แบบนี้ นานๆ ทีจะเห็นผลิตออกมาจำหน่ายใน BCD บางรุ่น เช่น Aqualung Soul, Aqualung Axiom

Aqualung Soul i3 - Soft Neck Collar
Aqualung Soul i3 – Soft Neck Collar

ระบบเติมลมแบบติดที่ตัว BCD

ปุ่มเติมลมเข้าและปล่อยลมออกจาก BCD หรือที่เราเรียกว่า BCD inflator โดยทั่วไปจะเป็นท่อยางต่อจากบริเวณบ่าซ้ายของ BCD พาดข้ามไหล่มายังด้านหน้า ซึ่งมักจะลอยไปลอยมาระหว่างดำน้ำ และต้องควานหาเมื่อต้องการใช้งาน รวมทั้งเมื่อจะปล่อยลมออก ต้องชูท่อให้สุดแขน เพื่อให้ท่ออากาศยืดสู่ด้านบน ไม่โค้งงอลงด้านล่างแล้วกักอากาศไว้ ปล่อยออกไปไม่ได้ ทำให้บ่อยครั้งนักดำน้ำใหม่ที่ไม่คุ้นเคย และดูไม่ทัน ไม่สามารถปล่อยอากาศออกไปได้

ผู้ผลิตบางรายจึงออกแบบระบบการเติมลม/ปล่อยลมแบบใหม่ โดยทำเป็นปุ่มขนาดพอดีมือ หรือเป็นก้านโยก ติดอยู่กับตัว BCD ด้านซ้าย ให้กลไกนั้นไปเปิดท่อลมเส้นเล็กๆ ที่เดินไว้ภายในตัว BCD ไปยังจุดปล่อยลมต่างๆ เช่นบริเวณหัวไหล่ และข้างเอว วาล์วตามจุดเหล่านั้นจะเปิดพร้อมกันทันที ดังนั้น ไม่ว่าเราจะอยู่ในท่าใด ตำแหน่งใดอยู่ด้านบน ลมภายใน BCD ก็จะมีทางออกสู่ภายนอกเสมอ ไม่ต้องห่วงว่าจะต้องเปลี่ยนท่ามาเป็นแนวตั้งแล้วจับท่อ inflator ชูให้สูงที่สุด

ความสะดวกสบายอีกประการหนึ่งคือ ไม่มีสาย inflator มาเกะกะด้านหน้าของเรา และสามารถเติมลมปล่อยลมในท่ากอดอกดำน้ำได้เลยด้วย

BCD รุ่นที่มีฟังก์ชั่นเติมลมปล่อยลมแบบนี้ ได้แก่ Mares รุ่นที่มีชื่อเสริมว่า Air Trim หรือ AT เช่น Dragon AT และ Aqualung รุ่นที่มีชื่อเสริมว่า i3 เช่น Soul i3 (สำหรับผู้หญิง) และ Axiom i3 (สำหรับผู้ชาย)

Mares Dragon AT - Air Trim and Weight Pocket Close-up
Mares Dragon AT – Air Trim and Weight Pocket Close-up
Aqualung Soul i3 - Inflator and Deflator Close-up
Aqualung Soul i3 – Inflator and Deflator Close-up

จุดอ่อนของระบบเติมลมแบบนี้ คือ

  • อาจทำให้น้ำหนักของตัว BCD เพิ่มขึ้นนิดหน่อย มีผลกับน้ำหนักอุปกรณ์ที่ต้องแบกเดินทางไปดำน้ำ แต่เมื่ออยู่ในน้ำ จะได้แรงยกของน้ำช่วยยกไว้ทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด
  • ไม่สามารถใช้สาธิตการใช้อุปกรณ์ดำน้ำได้ จึงไม่เหมาะจะใช้ในการเรียนการสอนดำน้ำ
  • อาจมีค่าใช้จ่ายในการถอดล้างหรือซ่อมแซม สูงกว่าระบบเติมลมแบบทั่วไป และควรให้ช่างที่เข้าใจระบบการทำงานจริงๆ เป็นผู้ดำเนิการ

BCD แบบนี้จะมีท่อเติมลมเส้นเล็กๆ เหน็บอยู่ที่ใดที่หนึ่ง เพื่อใช้เติมลมเข้า BCD ด้วยปาก (oral inflation) ซึ่งจำเป็นในกรณีฉุกเฉิน

Aqualung Soul i3 - Oral Inflator
Aqualung Soul i3 – Oral Inflator

 

สนใจ BCD แบบไหน แวะมาหรือทักถามได้ที่

FreedomDIVE.com
Tel: 095-875-5450
Line: @freedomdive หรือ QR Code
Facebook: FreedomDIVE
Google Map: FreedomDIVE

Scuba Outlet
Tel: 063-140-0428
Line: @scubaoutlet หรือ QR Code
Facebook: Scuba Outlet

หรือแวะมาที่ร้านได้ที่ อาคารมหาทุนพลาซ่า BTS เพลินจิต ทางออก #2
โวนร้านค้าชั้นล่างใต้อาคาร ฝั่งรถเข้า ตรงข้ามร้าน La Monita
นำทางโดย Google Maps