Balloon Burst by a Child

ภาวะเนื้อเยื่อของปอดฉีกขาดจากการลดความกดบรรยากาศ และฟองอากาศอุดตันหลอดเลือดสมอง

ชื่อแบบไม่แปลเป็นไทยของภาวะเนื้อเยื่อของปอดฉีกขาดก็คือ Lung Over-Inflation Syndrome, Pulmonary Barotrauma (PBT), Lung Burst … ส่วนฟองอากาศอุดตันหลอดเลือดสมองนั้นมาจาก Cerebral Arterial Gas Embolism (CAGE) ครับ …

ที่ต้องพูดถึงสองเรื่องนี้ด้วยกันเพราะ … เค้ามักจะมาคู่กันเสมอ … ถ้ามีอาการผิดปกติที่การหายใจ หายใจลำบาก จุกแน่น เจ็บเวลาหายใจ มีอาการเขียว ขาดอากาศ ต้องไปเช็คอาการทางสมองด้วย และถ้ามีอาการทางสมอง ต้องระวังเรื่องการบาดเจ็บที่ปอดด้วยเสมอเช่นกัน ทุกครั้ง …

จะอธิบายกลไกการเกิดแบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ก็ต้องอาศัยกฏของก็าซของบอยล์ คือ … “ความกดบรรยากาศ ผกผันกับปริมาตรของก็าซ” … ความดันสูงขึ้น ปริมาตรลดลง ความดันลดลง ปริมาตรขยายใหญ่ขึ้น ……. ถ้าจะมาเทียบกับการหายใจใต้น้ำ ตราบใดที่เรามีการหายใจเข้าออกปกติ ก็จะไม่เป็นปัญหา ที่ต้องระวังเป็นพิเศษเรื่องการหายใจคือเมื่อมีการเปลี่ยนความลึกไปในจุดที่ตื้นขึ้น … หากเราหายใจออกไม่ทันหรือไม่เพียงพอที่จะระบายปริมาตรของอากาศในปอดที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากการลดความกดบรรยากาศ ก็จะนำไปสู่การฉีกขาดของถุงลมในปอดได้ … ยิ่งหากเป็นการกลั้นหายใจในขณะเปลี่ยนความลึกไปในที่ๆ ตื้นมากขึ้น หรือในขณะขึ้นสู่ผิวน้ำ นอกจากถุงลมในปอดจะแตกแล้ว อาจทำให้เยื่อหุ้มปอดฉีกขาดอันจะนำไปสู่ภาวะที่เลวร้ายกว่าคือ ภาวะลมรั่วในช่องอก หรือ Pneumothorax ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้หากเกิดในที่ที่ห่างไกลความช่วยเหลือจากแพทย์และพยาบาล ……..และเมื่อมีการฉีกขาดของถุงลมในปอด อาจมีการฉีกขาดของเส้นเลือดฝอยที่ห่อหุ้มถุงลมนั้นๆ เป็นเหตุให้ฟองอากาศไหลกลับเข้าหัวใจห้องซ้ายและวิ่งไปสู่สมองได้ …… โรคทั้งสองอย่างนี้จึงมักจะมาคู่กันเสมอครับ

Mechanism of pulmonary barotrauma in a diver breathing compressed gas and ascending while holding his breath. From Vann et al. with permission (394).
Mechanism of pulmonary barotrauma in a diver breathing compressed gas and ascending while holding his breath. From Vann et al. with permission (394).

ปัจจัยที่เป็นความเสี่ยงที่ให้เกิด PBT แบ่งเป็นดังนี้ครับ

ปัจจัยนำที่ทำให้เกิด PBT

1. การหายใจออกที่ไม่เพียงพอ หรือไม่เหมาะสม ในขณะขึ้นสู่ผิวน้ำหรือเปลี่ยนความลึกไปยังที่ตื้น

2. อาการตกใจแบบ panic ทำให้ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้

3. อุปกรณ์ที่มีปัญหาขัดข้องระหว่างอยู่ใต้น้ำ

4. นักดำน้ำที่มีประสบการณ์ และความชำนาญน้อย เผอเรอหรือลืมขั้นตอนขึ้นสู่ผิวน้ำที่ถูกวิธี

ปัจจัยที่เร่งให้เกิด PBT

การเจ็บป่วยที่เป็นอยู่ หรือซ่อนอยู่ของนักดำน้ำ เช่น

1. asthma หรือหอบหืด ที่ยังเป็นๆ หายๆ และจำเป็นต้องใช้ยาพ่นเพื่อรักษาอาการอยู่เสมอ

2. intrapulmonary fibrosis คือ การมีพังผืดที่ปอด ซึ่งอาจจะเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น เคยมีปอดติดเชื้อ, ปอดอักเสบ, วัณโรคปอด, หรือ เนื้อปอดบาดเจ็บจากอุบัติเหตุหรือการผ่าตัด

3. cysts, lung bleb คือถุงลมที่มีการพองตัวหรือก่อตัวแบบผิดปกติ แต่ไม่เคยมีอาการแสดงใดๆ อาจเป็นตั้งแต่กำเนิด ความผิดปกตินี้ อาจตรวจไม่พบด้วย x-ray ในท่าปกติทั่วไป และอาจจะต้องใช้การตรวจพิเศษเช่น CT, MRI มาช่วย

4. infection คือการติดเชื้อที่ปอดในขณะนั้น เช่นหลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ วัณโรคปอด จะทำให้มีสารคัดหลั่งและเสมหะออกมาอุดกั้นหลอดลมเล็กๆ เมื่อลดความกดบรรยากาศ อากาศที่โดนขังไว้ภายในไม่สามารถระบายปริมาตรที่เพิ่มขึ้นได้ จึงมีการแตกและฉีกขาดของเนื้อเยื่อปอด

5. pleural adhesions คือ การที่มีเนื้อปอดแฟบติดกันถาวร มักเป็นรอยแผลเป็นที่เกิดตามหลังการบาดเจ็บหรือติดเชื้อของเนื้อเยื่อของปอด … เมื่อเกิด adhesions จะทำให้ความยืดหยุ่นของเนื้อเยื่อบริเวณนั้น เสียไปและฉีกขาดได้ง่ายเมื่อมีการขยายตัว

6. previous pneumothorax ภาวะลมรั่วในช่องอกที่ไม่ว่าจะเป็นจากอุบัติเหตุ เช่นจากแรงกระแทก, การถูกยิง, ถูกแทง, การผ่าตัด … โดยเฉพาะ การเกิด pneumothorax ที่อยู่เฉยๆ ก็เกิดเอง หรือที่เรียกว่า spontaneous pneumothorax เพราะมักจะเกิดจาก bleb ที่ซ่อนอยู่ และพบว่าคนที่เป็นแล้วจะเกิดซ้ำได้ 20-50% โดยที่ 90% จะเกิดที่ปอดข้างเดิม และหากเป็นครั้งที่สองแล้ว โอกาศจะเกิดครั้งที่สามก็จะสูงขึ้นเป็น 60-80% ดังนั้น หากนักดำน้ำเคยมีภาวะดังกล่าว การไปดำน้ำจึงถือเป็นอันตรายที่อาจถึงขั้นเสียชีวิตเป็นอย่างยิ่ง

เราจะป้องกันโรคนี้ได้อย่างไรดี

ก็คงต้องเคร่งครัดต่อพื้นฐานความปลอดภัยในการดำน้ำทุกๆ ประการ … อาจต้องฝึกหัดเรื่องการปรับแรงลอยตัวที่เหมาะสม การขึ้นสู่ผิวน้ำที่ไม่เร็วจนเกินไป การหายใจออกให้เพียงพอและไม่กลั้นหายใจขณะขึ้นสู่ผิวน้ำหรือเปลี่ยนความลึกไปยังที่ตื้นกว่า การดำน้ำแล้วเช็คอุปกรณ์ก่อนและหลังการดำทุกครั้ง การตรวจเช็คอากาศใต้น้ำบ่อยๆ การดำน้ำที่ต้องมีระบบบัดดี้ทุกครัง การควบคุมสติในการแก้ไขปัญหาและข้อขัดข้องใต้น้ำ ฯลฯ

ส่วนหากมีอาการเจ็บป่วยใดๆ ของระบบทางเดินหายใจ หรือโรคปอดใดๆ ทั้งที่เคยเป็น กำลังเป็น หรือเพิ่งจะหาย ….. ก่อนไปดำน้ำควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ใต้น้ำก่อนทำการดำน้ำ หรือก่อนกลับไปทำการดำน้ำทุกครั้งครับ

หวังว่าข้อมูลเบื้องต้นเหล่านี้จะมีประโยชน์ในการระมัดระวังไม่ให้เกิดการบาดเจ็บของปอดจากการดำน้ำนะครับ

เขียนโดยหมอเอ๋
เผยแพร่ครั้งแรก13 ส.ค. 2554