Diving & Vertigo

เวียนศีรษะ บ้านหมุน (Vertigo) ขณะอยู่ใต้น้ำ

หากใครเคยมีประสบการณ์ เวียนศีรษะชนิดบ้านหมุน ทรงตัวไม่ได้ คลื่นไส้อาเจียน มาก่อน จะรู้ว่า อาการนั้นน่ากลัวและทรมานแค่ไหน

แล้ว … หากอาการนั้นเกิดขึ้นในขณะอยู่ใต้น้ำล่ะ … คงไม่มีใครอยากให้เกิดแน่ เราลองมาดูสาเหตุและวิธีการป้องกันกันนะครับ

อาการ vertigo นั้นมีหลายสาเหตุ แต่ที่จะกล่าวถึงในที่นี้จะกล่าวถึงในกรณีที่เกี่ยวข้องกับ การกระตุ้นระบบประสาทของหูชั้นใน และนำไปสู่สาเหตุของ vertigo นะครับ … ซึ่งผมจะขอกล่าวถึงแค่ประเภทที่พบบ่อยๆ ก่อนนะครับ

Carolic Vertigo

มีสาเหตุมาจากการกระตุ้น vestibular organ ที่อยู่ในหูชั้นใน โดยการที่ท่าทางของการดำน้ำ บวกกับการที่มีน้ำเย็น ( หรืออุ่น ) ไหลเข้าไปสัมผัสกับเยื่อแก้วหู แล้วส่งแรงกระตุ้นไปยังหูชั้นในสองข้างไม่เท่ากัน ….. ท่าทางการดำที่มักทำให้เกิด vertigo แบบนี้ คือท่าที่ดำน้ำในท่าปักศีรษะลงเป็นมุม 30 องศา …. อวัยวะในหูชั้นกลางที่เรียกว่า Horizontal Semicircular Canal ที่ปกติจะอยู่ในแนวราบ … จะกลายมาอยู่ในแนวตั้ง เมื่อบวกกับการที่มีน้ำเย็น (หรืออุ่นกว่าปกติ ) ไหลเข้าหูสองข้างไม่เท่ากัน ก็อาจจะทำให้เกิดอาการเหมือนถูกจับเหวี่ยง หรือหมุนไปมา ทรงตัวไม่ได้ คลื่นไส้อาเจียน ส่วนสาเหตุที่ทำให้น้ำไหลเข้าหูสองข้างไม่เท่ากันนั้น มักมีสาเหตุมาจากการที่มีขี้หูอุดตันในรูหู (ส่วนใหญ่เกิดจากการใช้ไม้พันสำลีปั่นหู), การใช้ ear plug อุดหูในขณะดำน้ำ, การสวม hood ที่ทำให้มีการ block การไหลของน้ำเข้าหูสองข้างไม่เท่ากัน นอกจากนี้ การติดเชื้อของหูชั้นนอก (จากรูหูถึงเยื่อแก้วหู) การมีฟองอากาศค้างในรูหูข้างใดข้างหนึ่ง ต่างก็เป็นสาเหตุที่ทำให้มีการไหลของน้ำเข้าไปในหูสองข้างไม่เท่ากัน และอุณหภูมิที่ต่างกัน บวกกับท่าดำดังกล่าว จึงทำให้เกิด vertigo ครับ

Caloric Vertigo from Diving Position

การแก้ไข

ปรับท่าการดำให้อยู่ในท่าตั้งตรง เหมือนยืนตรง จะช่วยลดอาการดังกล่าวได้ จากนั้นค่อยๆ ขึ้นสู่ผิวน้ำช้าๆ ครับ

การป้องกัน

  1. พยายามอย่าทำการดำในท่าปักหัวลง (เช่นการไต่ลงตามเชือกทุ่นหรือสมอโดยเอาศีรษะนำ)
  2. อย่าใช้ไม้พันสำลีไชเข้าไปปั่นในรูหู การใช้ไม้พันสำลีที่ถูกต้องคือใช้เช็ดทำความสะอาดที่ปากทางของรูหูครับ หากไชเข้าไป เท่ากับเป็นการดันขี้หูเข้าไปอัดแน่นกับเยื่อแก้วหู จะส่งผลทำให้น้ำไหลเข้าในหูไม่เท่ากัน เมื่อหูสองข้างมีอุณหภูมิต่างกัน ก็จะนำไปสู่ vertigo
  3. ไม่ควรใช้ ear pulg อุดหูในการดำน้ำ
  4. หากมีการติดเชื้อที่หูชั้นนอกหรือชั้นกลาง ควรรักษาให้หายก่อนการไปดำน้ำ
เขียนโดยหมอเอ๋
เผยแพร่ครั้งแรก27 ธ.ค. 2554