ชื่อเกาะติเกา (Ticao Island) อาจยังใหม่ ไม่คุ้นหูในหมู่นักดำน้ำชาวไทยมากนัก และที่จริงก็ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักในหมู่นักดำน้ำทั่วโลกด้วย เพราะที่นี่มีผู้ให้บริการดำน้ำเพียง 2-3 ราย และมีรีสอร์ตดำน้ำเพียงแห่งเดียวเท่านั้น
เกาะติเกาเป็นเกาะเล็กๆ อยู่ใกล้กับปลายด้านใต้ของเกาะลูซอน (Luzon Island คือเกาะใหญ่อันเป็นที่ตั้งของกรุงมะนิลา เมืองหลวงของฟิลิปปินส์ โดยที่มะนิลาจะอยู่ค่อนไปทางเหนือของเกาะ)
เกาะนี้อยู่คั่นระหว่างเกาะใหญ่ 2 เกาะคือลูซอนและมาสบาเต (Masbate Island) และอยู่ตรงข้ามกับเมืองดอนโซล (Donsol) เมืองริมฝั่งทะเลของเกาะลูซอน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะที่เป็นจุดว่ายน้ำชมฉลามวาฬจำนวนมาก ทั้งที่อยู่อาศัยในพื้นที่นี้มานานแล้ว และที่อพยพผ่านมาเป็นประจำ การันตีว่ามาว่ายน้ำเล่นแถวนี้ต้องได้เจอกับยักษ์ใหญ่ใจดีอย่างน้อย 1-2 ตัวแน่นอน
นอกจากฉลามวาฬแล้ว จุดดำน้ำที่น่าสนใจใกล้เกาะติเกา คือ Manta Bowl ซึ่งเป็นจุด cleaning station ของกระเบนราหู (Manta Ray) แต่กระแสน้ำบริเวณนี้จะค่อนข้างแรง จึงเหมาะกับนักดำน้ำที่พอมีประสบการณ์การดำน้ำในกระแสมาแล้ว โดยทางผู้ให้บริการดำน้ำมักจะเตรียม reef hook ไว้ให้เผื่อต้องใช้งานด้วย ไม่ต้องมีมาเองก็ได้
ด้วยเหตุที่เกาะนี้คั่นอยู่ระหว่าง 2 เกาะใหญ่ แบ่งทางน้ำออกเป็น 2 ข้าง ด้านตะวันออกคือช่องแคบติเกา (Ticao Pass) ด้านตะวันตกคือช่องแคบมาสบาเต (Masbate Pass) มีมวลน้ำไหลผ่านปริมาณมาก ตลอดทั้งปี จึงทำให้เป็นแหล่งอาหารและแหล่งกำเนิดปะการังและสัตว์ทะเลมากมาย
โลกใต้น้ำรอบเกาะติเกา
บริเวณรอบเกาะติเกามีแนวปะการังที่ยังอุดมสมบูรณ์มาก มีกอปะการังอ่อนสีสันสดใสแน่นขนัด ปะการังดำ (black coral) มีอยู่บ้างประปราย ส่วนปะการังแข็งหลากหลายชนิดก็มีอยู่ทั่วไป ปลาการ์ตูนหลายสายพันธุ์เฝ้ากอดอกไม้ทะเลอย่างหวงถิ่น ทากปุ่มทากเปลือยมากมายเดินหาอาหารหรือหาคู่อยู่ทั้งตามพื้นทราย แนวปะการัง และตามกำแพงหิน ที่เยอะมากๆ ก็เป็นดาวขนนกหลากสีที่ดูจะมีจำนวนเกินสมดุลอยู่ไม่น้อยทีเดียว
บริเวณกลางน้ำเลยออกไปจากแนวปะการัง ฝูงปลากลางน้ำอย่างซาร์ดีน (sardine) และปลากะตัก (anchovy fish) นับหมื่นตัว โดนฝูงปลาทูน่าหรือปลากะมง (trevally) ว่ายไล่โฉบไปมา สะท้อนแสงสีเงินวิบวับ ได้ยินว่า ถ้านักดำน้ำพกดวงมาเยอะพอ อาจได้เจอฉลามหางยาว (thresher shark) ขึ้นมาไล่ล่าหาเหยื่อด้วยเหมือนกัน (แต่ถึงอย่างไร ฝูงซาร์ดีนที่นี่ ก็ยังไม่ใหญ่โตเวอร์วังอลังการเท่าฝูงซาร์ดีนที่ Moalboal หรอกนะ)
อุณหภูมิน้ำที่นี่อยู่ระหว่าง 25-27 °C และบางจังหวะก็มีลงไป 22-24 °C ได้บ้าง เพราะที่นี่เป็นช่องทางน้ำจากมหาสมุทรไหลผ่านเข้าออกด้วย
Manta Bowl แหล่งฉลามวาฬและแมนต้าเรย์ของฟิลิปปินส์
กลางท้องน้ำ Ticao Pass ห่างจากเกาะประมาณ 7 ก.ม. มีเกาะใต้ทะเล (shoal) ที่ยอดกองอยู่ที่ความลึกประมาณ 12-25 เมตร โดยมีฐานอยู่ที่ก้นทะเลลึกประมาณ 200 เมตร
ช่องแคบ Ticao Pass เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีแพลงก์ตอนอุดมสมบูรณ์ที่สุดของท้องทะเลฟิลิปปินส์ จากกระแสน้ำที่ไหล่ผ่านบริเวณนี้พาเอาสารอาหารมาหล่อเลี้ยงแพลงก์ตอน ซึ่งไปเป็นอาหารให้กับสัตว์ใหญ่อีกทีหนึ่ง ที่ยอดกอง Manta Bowl แห่งนี้จึงเป็นแหล่งอาหารและบริการทำความสะอาดให้กับฉลามวาฬและแมนต้าเรย์ รวมไปถึงโลมา วาฬ ฉลามครีบขาว ฉลามหัวค้อน และฉลามหางยาวด้วย
LAMAVE องค์กรวิจัยสัตว์ทะเลขนาดใหญ่ที่เก็บข้อมูลที่จุดดำน้ำนี้มานานแล้ว พบว่า จากจำนวนแมนต้าเรย์ 450 ตัวที่บันทึกได้ในน่านน้ำฟิลิปปินส์ มีถึง 280 ตัวที่พบที่นี่ และ จากจำนวนฉลามวาฬ 1,600 ตัวในฟิลิปปินส์ มีถึง 250 ตัวที่ถูกพบเห็นที่จุดดำน้ำนี้
San Miguel และ Great Wall of Ticao
ทางตอนเหนือของเกาะติเกา มีเกาะเล็กๆ อีก 2-3 เกาะ เกาะเหนือสุดชื่อเกาะ San Miguel (ชื่อเหมือนเบียร์ชื่อดังของฟิลิปปินส์เลยนะ) มีจุดดำน้ำ Bobby’s Wall 1 และ 2 มีภูมิประเทศใต้น้ำเป็นโขดหินเว้าแหว่งกว้างใหญ่ มีโพรงถ้ำขนาดกลางและเล็กกระจายทั่วไป ให้นักดำน้ำใหม่ได้ทดลองดำเข้าไปพอให้ตื่นเต้นเล็กน้อย และยังมีเวิ้งหินขนาดใหญ่มากมายช่วยบังกระแสน้ำ มีเวลาให้เราได้พักหลบกระแสน้ำ ส่องหาทากสีสันสดใสที่เดินหาอาหารอยู่ในบริเวณนั้นด้วย ที่นี่จึงเป็นการดำน้ำหลากหลายรูปแบบทั้ง reef dive, wall dive, cavern dive และเริ่มต้น/สิ้นสุดบริเวณหาดทราย ภายในไดฟ์เดียวกัน
Great Wall of Ticao เป็นแท่งหินขนาดใหญ่คล้ายเศษซากของกำแพงเมืองจีน ตั้งอยู่ตรงมุมของเกาะเล็กๆ แห่งหนึ่งทางฝั่งตะวันตกของเกาะติเกา แนวหินใต้ทะเลบริเวณนี้มีลักษณะเดียวกันกับแท่งหิน คือดิ่งตรงลึกลงไปถึงก้นทะเลเป็น 100 เมตร การดำน้ำจึงมีลักษณะเป็น wall dive ชมกำแพงปะการังอ่อน และกัลปังหาที่กระจายไปทั่วกำแพงหินที่ระดับความลึกแตกต่างกันไป บางแห่งมีเสียงทุ้มหนักๆ ดังมาเป็นจังหวะ เสียงเบาๆ เหมือนมาจากที่ไกลๆ แบบที่ไม่เคยได้ยินที่ไหนมาก่อน จนได้ขึ้นจากน้ำมาคุยกับไดฟ์ไกด์แล้วจึงได้รู้ว่า เป็นเสียงน้ำที่กระแทกผนังและสะท้อนอยู่ในถ้ำใต้น้ำในบริเวณนั้น
จุดดำน้ำทางใต้ของเกาะ ที่รอการสำรวจ
ทางตอนใต้ของเกาะติเกา ยังมีจุดดำน้ำอีกหลายแห่ง และยังรอการสำรวจเพิ่มเติมด้วย เพราะเป็นจุดที่อยู่ไกลจากรีสอร์ตดำน้ำ ยังไม่ค่อยมีนักดำน้ำได้ไปดำน้ำกันเท่าไรนัก ส่วนใหญ่มักเป็นนักดำน้ำที่ไปกับทริปแบบซาฟารีโดยล่องเรือจาก Puerto Galera – Ticao – Cebu กันแบบ 2-3 วันไปเลย
ชมน้ำตก Catandayagan ที่ตกลงทะเล
น้ำตก Catandayagan นับเป็น 1 ในน้ำตก 6 แห่งในเอเชีย และใน 35 แห่งทั่วโลก1 ที่ไหลตกลงสู่ทะเลโดยตรง ซึ่งทุกคนที่มาดำน้ำที่เกาะติเกา ต้องถือโอกาสแวะเวียนมาถ่ายรูปกับนำ้ตกแห่งนี้สักเล็กน้อย ใครจะโดดลงไปว่ายน้ำในทะเลหรือปีนขึ้นก้อนหินใต้น้ำตกก็ได้ เล่นน้ำตกกันสนุกไปเลย
บางคนอาจสงสัยว่า ใต้น้ำตกมีทิวทัศน์อย่างไร มีปะการังหรือสิ่งสวยงามอะไรให้ดูหรือไม่ ตอบให้ได้ว่า ไม่ค่อยมีอะไรให้ดูมากนัก เก็บอากาศไว้ไปดำน้ำที่ Great Wall of Ticao ดีกว่า (เป็นจุดดำน้ำระหว่างทางมาและกลับอยู่แล้ว)
ที่พักนักดำน้ำบนเกาะติเกา
บนเกาะติเกามีผู้ให้บริการรีสอร์ตดำน้ำเพียงรายเดียวคือ Ticao Island Resort ที่จะพาเราไปดำน้ำยังจุดต่างๆ รอบเกาะ และเนื่องจากรีสอร์ตนี้มีห้องพักไว้รองรับนักดำน้ำประมาณ 25-40 คน การดำน้ำที่เกาะติเกาจึงไม่แออัดคับคั่งเหมือนจุดดำน้ำชื่อดังอื่นๆ (ผู้ให้บริการดำ scuba ในบริเวณนี้มีอีกรายหนึ่งคือ Bicol Dive Center ซึ่งอยู่ที่ Donsol จุดดำน้ำชมฉลามวาฬบนเกาะลูซอน ต้องใช้เวลาเดินทางด้วยเรือบังกาประมาณ 2 ชั่วโมงจากฝั่งเพื่อมาดำน้ำที่เกาะติเกา)
รีสอร์ตแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณที่เป็นอ่าวหลบลม มีเนินเขา 3 ด้าน ทำให้ไม่ค่อยมีคลื่นสูงหรือกระแสน้ำแรง เล่นน้ำหน้าชายหาดได้ ลมเบาๆ บรรยากาศสบายๆ เลยจากชายหาดออกไปจนถึงปากอ่าว มีปะการังน้ำตื้นให้ว่ายน้ำเล่นชมปะการังได้
บริเวณปากอ่าวทั้ง 2 ข้างมีจุดดำน้ำแบบแนวปะการัง ไล่ระดับความลึกตั้งแต่ 5-8 เมตร ไปจนถึง 25-30 เมตร น้ำใส ปะการังอุดมสมบูรณ์ มีทากทะเล หมึก กุ้ง ปู และปลาตามแนวปะการังให้ดำน้ำชมได้อย่างเพลิดเพลิน
ที่รีสอร์ตยังมีเรือคะยัค ให้นักดำน้ำพาลงทะเล พายเข้าไปชมป่าชายเลนตอนในของอ่าวได้ตลอดเวลา ไม่มีค่าเช่าด้วย
รอบๆ รีสอร์ตเป็นหมู่บ้านชาวประมงท้องถิ่นที่เราสามารถเดินเที่ยวชมวิธีชีวิต หรือแวะซื้ออาหารทะเล ปลาตากแห้งเป็นของฝากกลับบ้านได้ด้วย
ยามค่ำคืน หากสนใจให้ทางรีสอร์ตจัดทัวร์ชมฝูงหิ่งห้อยในป่าชายเลนใกล้ๆ หมู่บ้าน โดยจะจ้างชาวบ้านพายเรือบังกาลำเล็กๆ ที่นั่งเดี่ยว พาเราเข้าไปชมแบบเงียบๆ ถ้ามาในช่วงคืนเดือนมืด ดวงดาวเต็มฟ้าเป็นฉากหลังให้แสงหิ่งห้อยบนต้นไม้กะพริบกลมกลืนกันไป สวยอย่าบอกใครเชียว กิจกรรมนี้ยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับคนในท้องถิ่นอีกด้วย
การเดินทางไปยังเกาะติเกา
สามารถเดินทางโดยรถยนต์จากมะนิลาก็ได้ แต่จะใช้เวลานาน 10-12 ชั่วโมงเลยทีเดียว นักดำน้ำส่วนใหญ่จึงเดินทางด้วยเครื่องบินจากมะนิลาไปยังสนามบินนานาชาติบิคอล (Bicol International Airport) หรือสนามบินดารากา (Daraga รหัสสนามบินคือ DRP) โดยใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น สนามบินนี้เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อปี 2023 นี้เอง โดยมาแทนที่สนามบินเลกาซปิ (Legazpi Airport) ที่เคยให้บริการมาก่อนหน้า
ในระหว่างที่ยังมีเที่ยวบินจากนานาชาติตรงสู่บิคอลไม่มากนัก การเดินทางจากประเทศไทย เราต้องใช้เที่ยวบินจากมะนิลาไปพลางก่อน
จากสนามบินนานาชาติบิคอล โดยสารรถยนต์ประมาณ 1 ชั่วโมงไปยังท่าเรือ Pilar เพื่อขึ้นเรือเร็วของทางรีสอร์ตข้ามไปยังเกาะติเกา ใช้เวลาเพียง ชั่วโมง เรือก็มาถึงชายหาดหน้ารีสอร์ต มองเห็นที่พักอยู่บนสนามหญ้าหน้าชายหาดเลยทีเดียว
ถ้าเดินทางกันมาน้อยคน ต้องการบริการขนส่งสาธารณะซึ่งประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่า ก็อาจเลือกขึ้นเรือเฟอรี่จากท่าเรือ Pilar ข้ามไปยังเกาะติเกา ขึ้นฝั่งที่ท่าเรือ San Jacinto ก็ได้ ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง แล้วรถของทางรีสอร์ตจะมารับเราจากท่าเรือเข้าสู่รีสอร์ตต่อไป
เรือเฟอรี่ข้ามไปเกาะติเกามีวันละ 1 เที่ยวซึ่งอาจมีการปรับเวลาตามฤดูกาลหรือเหตุจำเป็นอื่นๆ ด้วย จึงต้องเช็คกับทางรีสอร์ตก่อนจองทริปด้วย
Footnotes
- เทียบกับข้อมูลรายชื่อทั้งหมดจาก Wikipedia