วิธีจำแนกความแตกต่างระหว่าง ‘ฉลามเสือดาว’ และ ‘ฉลามกบ’ ระยะวัยอ่อน

การจำแนกสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลเป็นเรื่องละเอียดอ่อนจากปัจจัยหลายๆ อย่างที่อาจทำให้เกิดความสับสนของชนิดพันธุ์ และหนึ่งในนั้นคือ ฉลามกบ (Bambooshark; สกุล 𝘊𝘩𝘪𝘭𝘰𝘴𝘤𝘺𝘭𝘭𝘪𝘶𝘮) ที่มักจะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นฉลามเสือดาว (Indo-Pacific Leopard shark; 𝘚𝘵𝘦𝘨𝘰𝘴𝘵𝘰𝘮𝘢 𝘵𝘪𝘨𝘳𝘪𝘯𝘶𝘮) เนื่องจากฉลามทั้งสองชนิดพันธุ์ในระยะวัยอ่อนมีทั้งลวดลายและขนาดลำตัวที่คล้ายคลึงกัน

เราขอชวนทุกคนมาเรียนรู้วิธีการจำแนกความแตกต่างระหว่างฉลามทั้งสองชนิดพันธุ์นี้ในระยะวัยอ่อนเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์สูงสุดเพื่อการส่งข้อมูลภาพถ่ายในโครงการวิทยาศาสตร์พลเมืองของฉลามเสือดาวในประเทศไทย

เนื่องจากฉลามกบในสกุลนี้มีการกระจายพันธุ์ทั่วโลก 7 ชนิดพันธุ์ และมี 5 ชนิดพันธุ์ที่พบได้ในน่านน้ำไทย เราจึงขอยกตัวอย่างฉลามกบชนิดพันธุ์ที่พบเห็นบ่อยในน่านน้ำไทยนั่นคือ ฉลามกบแถบน้ำตาล (Brownbanded bambooshark; 𝘊𝘩𝘪𝘭𝘰𝘴𝘤𝘺𝘭𝘭𝘪𝘶𝘮 𝘱𝘶𝘯𝘤𝘵𝘢𝘵𝘶𝘮) เพื่อนำมาเปรียบเทียบความแตกต่างกับฉลามเสือดาว

รูปทรงของหัว :

รูปทรงหัวของฉลามเสือดาวจะมีลักษณะที่แบนและโค้งมน แต่รูปทรงหัวของฉลามกบแถบน้ำตาลจะมีลักษณะที่แหลมและเรียวยาว

ครีบหลังคู่ที่ 1 :

สันครีบหลังคู่ที่หนึ่งของฉลามเสือดาวจะเริ่มตั้งแต่ตำแหน่งครีบอกยาวไปถึงครีบท้อง แต่สันครีบหลังคู่ที่หนึ่งของฉลามกบแถบน้ำตาลจะอยู่ตำแหน่งเดียวกับครีบท้อง

ขนาดของครีบหลัง :

ครีบหลังทั้งคู่ของฉลามเสือดาวมีขนาดไม่เท่ากันอย่างชัดเจน โดยครีบหลังคู่ที่หนึ่งมีขนาดใหญ่กว่าครีบหลังคู่ที่สอง แต่ครีบหลังทั้งคู่ของฉลามกบแถบน้ำตาลมีขนาดใกล้เคียงกัน

สีและลายบนลำตัว :

ฉลามเสือดาวมีแถบสีครีมถึงเหลืองอ่อนพาดตามลายขวางบนลำตัวสีน้ำตาลเข้ม และมีจุดขนาดใหญ่สีเดียวกันกระจายประปรายทั่วทั้งลำตัวจนถึงหาง ลวดลายคล้ายม้าลาย
แต่ฉลามกบแถบน้ำตาลมีแถบหนาสีเข้มสลับขาวคาดตามลายขวาง และไม่มีจุด *ยกเว้นฉลามกบจุดขาว (Whitespotted bambooshark; 𝘊𝘩𝘪𝘭𝘰𝘴𝘤𝘺𝘭𝘭𝘪𝘶𝘮 𝘱𝘭𝘢𝘨𝘪𝘰𝘴𝘶𝘮) ที่พบจุดสีขาวและดำกระจายทั่วทั้งลำตัว

ปัจจุบัน ทั้งฉลามเสือดาวและฉลามกบมีสถานภาพเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ตามการประเมินของ IUCN Red List โดยฉลามเสือดาวมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (EN) และฉลามกบในสกุลนี้ (สกุล 𝘊𝘩𝘪𝘭𝘰𝘴𝘤𝘺𝘭𝘭𝘪𝘶𝘮) มีสถานภาพตั้งแต่ อาจมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ในอนาคต (NT) มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (VU) ไปจนถึงใกล้สูญพันธุ์ (EN) ดังนั้น การทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับฉลามทั้งสองชนิดพันธุ์จึงเป็นสิ่งสำคัญในการส่งเสริมการอนุรักษ์และการศึกษาวิจัยที่มีประสิทธิภาพต่อไป

บทความจาก Facebook: Spot the Leopard Shark – Thailand