เดือนนี้ จะไปเที่ยวทะเลที่ไหนได้บ้าง จำเป็นต้องดูจากลมมรสุมประจำฤดู ซึ่งถ้าหากเราจำได้ ก็จะช่วยให้เราคิดได้ง่ายเลย ว่าตอนนี้เกาะไหนจะโดนลมมรสุมบ้าง แต่ส่วนใหญ่นานๆ จะเที่ยวซักทีนึง ถึงตอนนั้นก็คงลืมกันไปแล้วแน่ๆ ผมเลยทำสรุปรายเดือนไว้ให้ ด้วยรูปด้านล่างนี้ครับ
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลนี้ เป็นการคาดการณ์ตามฤดูปกติเท่านั้น บางปีอากาศแปรปรวนก็ยากจะคาดเดา รวมถึงอากาศช่วงต้นเดือนและปลายเดือน ในช่วงรอยต่อฤดู สภาพอากาศก็ย่อมแตกต่างกันด้วย
หากใครอยากศึกษาให้เข้าใจถึงที่มาที่ไปให้มากขึ้น สามารถอ่านเพิ่มเติมจากเนื้อหาด้านล่างได้นะครับ
เราจะรู้ได้อย่างไร ว่าเดือนนี้จะมีสภาพอากาศเป็นอย่างไร
หากคุณได้ฟังพยากรณ์อากาศ จากกรมอุตุนิยมวิทยา และได้เคยอ่าน Tips & Tricks หรือมีความเข้าใจ เรื่องลมมรสุม พายุหมุน และร่องความกดอากาศต่ำ จะทำให้คุณสามารถคาดการณ์ สภาพอากาศของแต่ละพื้นที่ของไทย ได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น และยังช่วยวางแผนการเดินทาง และการเตรียมตัวท่องเที่ยว ได้เป็นอย่างดี
แต่เพื่อให้ง่ายขึ้น เราจึงได้สรุปสภาพอากาศในแต่ละเดือน และสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเล ให้คุณสามารถเลือกไปได้ในเดือนต่างๆ ได้ง่ายยิ่งขึ้น แต่ก่อนอื่นต้องอธิบายถึงตัวย่อกันซักนิดครับ
ลมมรสุม ตอ./น. หมายถึง ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นลมที่พัดมาจากประเทศจีน พาอากาศแห้งและเย็น ลงมาปกคลุมตอนเหนือ ถึงตอนกลาง ของประเทศไทย แล้วหอบเอาความชื้นในอ่าวไทย ไปตกในแถบภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย
ลมมรสุม ตต./ต. หมายถึง ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เป็นลมที่พัดจากมหาสมุทรอินเดียเข้าสู่ประเทศไทย โดยหอบเอาความชื้นจากทะเล มาปะทะแนวเขา เกิดเป็นฝนตกชุกในแถบภาคใต้ฝั่งอันดามัน
เดือนมกราคม
เดือนนี้มีลมมรสุม ตอ./น. พัดจากประเทศจีนลงมา ก่อให้เกิดความหนาวเย็นในพื้นที่ตอนบนของไทย ส่วนการท่องเที่ยวทางทะเล ไม่ได้รับผลกระทบใดๆ สำหรับทะเลอันดามัน ก็ไม่มีลมมรสุม ตต./ต. ฝั่งทะเลค่อนข้างสงบ สถานที่ท่องเที่ยวที่เหมาะสำหรับเดือนมกราคม คือ อันดามันเหนือ (หมู่เกาะสิมิลัน เกาะบอน เกาะตาชัย หมู่เกาะสุรินทร์ กองหินริเชลิว) อันดามันใต้ (ภูเก็ต พีพี ทะเลกระบี่ ทะเลตรัง ลงไปถึงหมู่เกาะตะรุเตา) สำหรับฝั่งอ่าวไทย ถือเป็นช่วงที่ดีมาก สำหรับการดำน้ำที่ พัทยา สัตหีบ แสมสาร เกาะช้าง ส่วนเกาะเต่า และทะเลชุมพร ก็สามารถเริ่มไปได้ตั้งแต่ช่วงนี้
เดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม
เป็นช่วงที่ลมมรสุม ตอ./น. ที่พัดมาจากประเทศจีนเริ่มน้อยลง เป็นเดือนที่สามารถท่องเที่ยวทางทะเลได้ทุกพื้นที่ของประเทศไทย ทั้งฝั่งอ่าวไทย อันดามันเหนือ และอันดามันใต้ สถานที่ที่เหมาะสมที่สุด สำหรับฝั่ง อันดามัน คือ สิมิลัน – สุรินทร์ หินแดง หินม่วง พีพี ทะเลกระบี่ ทะเลตรัง เช่น เกาะไหง เกาะมุก เกาะกระดาน เกาะรอก หมู่เกาะห้า ตะรุเตา เหลาเหลียง อาดัง ราวี หลีเป๊ะ เกาะไข่ ฝั่งอ่าวไทย ได้แก่ เกาะเต่า เกาะนางยวน เกาะพะงัน เกาะสมุย หมู่เกาะอ่างทอง พัทยา สัตหีบ แสมสาร เกาะเสม็ด เกาะช้าง เกาะกูด เรียกได้ว่าทั่วทุกที่ของทะเลไทยเลยทีเดียว
เดือนเมษายน
เดือนนี้จะมีพายุพัดจากอ่าวเบงกอล เข้ามาทางภาคใต้ตอนบนในช่วงกลางเดือน และมาเป็นช่วงๆ ไม่สม่ำเสมอ ทำให้มีลมแรงและคลื่นสูงในบางวันบริเวณ หมู่เกาะสิมิลัน และหมู่เกาะสุรินทร์ ส่วนอันดามันตอนใต้ไม่ค่อยได้รับอิทธิพลจากลมนี้ ทะเลอันดามันใต้ ตั้งแต่ ภูเก็ต พีพี หินแดง หินม่วง หมู่เกาะในทะเลตรัง ลงไปถึงหมู่เกาะตะรุเตา จึงเป็นบริเวณที่น่าเที่ยวมากที่สุด ส่วนฝั่งอ่าวไทย จะเริ่มมีร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านทางอ่าวไทยตอนล่าง ทำให้มีฝนตกประปราย และมีคลื่นลมในทะเลบ้าง แต่ไม่มีผลกระทบกับการท่องเที่ยวบริเวณ เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า ทะเลชุมพร หรือ ทะเลช่วงบน เช่น พัทยา สัตหีบ แสมสาร เกาะเสม็ด เกาะช้าง และเกาะกูด
เดือนพฤษภาคม
เดือนนี้เริ่มมีลมมรสุม ตต./ต. พัดเข้ามาทางฝั่งทะเลอันดามัน ในช่วงต้นเดือน – กลางเดือน ยังพอดำน้ำ หรือท่องเที่ยวทางหมู่เกาะสิมิลัน และหมู่เกาะตะรุเตาได้บ้าง แต่อาจเจอคลื่นสูงบ้างในบางวัน ส่วนร่องความกดอากาศต่ำ ที่ก่อให้เกิดพายุหมุนเขตร้อนในทะเลจีนใต้ ซึ่งได้พาดผ่านทางตอนใต้ ของประเทศไทย ตั้งแต่เดือนเม.ย. จะเคลื่อนตัวสูงขึ้นมาถึงเวียดนาม และเกิดลมพายุพัดเข้าฝั่งทางเวียดนาม และลาว ทำให้มีฝนตกทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย แต่ไม่มีผลกระทบต่อ อ่าวไทย ทั้งตอนบน และตอนกลาง ทำให้ยังไปเที่ยวทะเลในฝั่งนี้ได้ เช่น เกาะเสม็ด เกาะช้าง เกาะกูด เกาะเต่า เกาะนางยวน และทะเลชุมพร ก็จัดอยู่ในเกณฑ์ดี รวมไปถึงกองหินโลซิน ที่จังหวัดนราธิวาส
เดือนมิถุนายน – กรกฎาคม
ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม จะมีลมมรสุม ตต./ต. พัดเข้าทางฝั่งทะเลอันดามัน ในระหว่างนี้ จึงควรงดท่องเที่ยวในทะเลแถบนี้ ส่วนร่องความกดอากาศต่ำ ซึ่งเป็นแนวของพายุหมุนเขตร้อน จะเคลื่อนตัวขึ้นไปยังตอนใต้ของประเทศจีน ทำให้ช่วงกลางเดือน มิ.ย. – ต้นก.ค. มีฝนตกในประเทศไทยเพียงเล็กน้อย ซึ่งเราเรียกช่วงนี้ว่า “ฝนทิ้งช่วง” พื้นที่ที่เหมาะกับการท่องเที่ยวคือ พื้นที่ทั้งหมดของอ่าวไทย ทั้งตอนบน ตอนกลาง และตอนล่าง โดยอาจจะมีคลื่นลมบ้างบางวัน แต่อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่เป็นอันตราย สำหรับอันดามันเหนือ ควรงดเว้นการท่องเที่ยว ส่วนอันดามันใต้ เช่น พีพี หินแดง หินม่วง เกาะห้า ทะเลตรัง ก็ยังพอเดินทางท่องเที่ยวได้ แต่อาจต้องลุ้นกันว่า วันนี้จะมีลมพายุพัดเข้ามาหรือไม่
เดือนสิงหาคม – กันยายน
ลมมรสุม ตต./ต. ยังคงมีอิทธิพลกับทะเลอันดามันอยู่ ส่วนร่องความกดอากาศต่ำก็เริ่มเคลื่อนตัวจากประเทศจีนตอนใต้ ลงมายังภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ทำให้ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีลมกรรโชกแรง และฝนตกอย่างต่อเนื่อง ทะเลที่เหมาะสำหรับเดินทางท่องเที่ยวในช่วงนี้คือ เกาะเต่า เกาะนางยวน เกาะสมุย หมู่เกาะอ่างทอง ลงไปถึงกองหินโลซิน ส่วนอ่าวไทยตอนบน พัทยา สัตหีบ แสมสาร อาจมีลมแรง และคลื่นสูงในบางวัน สำหรับอันดามันใต้ ยังคงเป็นเหมือนเดือน มิ.ย. – ก.ค.
เดือนตุลาคม
ลมมรสุม ตต./ต. เริ่มอ่อนกำลังลง แต่ยังคงมีอยู่บ้าง เดือนนี้ถือเป็นเดือนแรกของการเปิดฤดูกาลท่องเที่ยวอันดามัน โดยสามารถเริ่มไปได้ทางอันดามันใต้ก่อน ส่วนอันดามันเหนือ ให้รออีกซักนิด เดือนพ.ย. ถึงจะเริ่มดี ทะเลมีคลื่นประมาณ 1 เมตร สำหรับนักดำน้ำมือใหม่ อาจจะรออีกซักนิด เพราะการขึ้นลงเรือจะลำบากพอสมควร แต่ไม่เป็นปัญหา สำหรับนักดำน้ำที่มีประสบการณ์ ส่วนพายุหมุนเขตร้อนทางฝั่งตะวันออกของไทย จะเริ่มเคลื่อนตัวลงมายังอ่าวไทยตอนกลาง ทำให้มีลมแรง และฝนตกในอ่าวไทยตอนล่างบริเวณ เกาะเต่า เกาะนางยวน และเกาะสมุย และกองหินโลซิน ควรงดเว้นการไปเที่ยว ส่วนอ่าวไทยตอนบน ได้รับผลกระทบบ้างเล็กน้อย
เดือนพฤศจิกายน
อิทธิพลของลมมรสุม ตต./ต. หมดไปแล้ว แต่อาจยังมีลมอยู่บ้างบางวันหรือบางเวลา ซึ่งทำให้เกิดคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนพายุหมุนเขตร้อน ยังคงมีผลต่ออ่าวไทยตอนล่างอยู่ ในช่วงนี้จะมีลมมรสุม ตอ./น. เริ่มพัดจากจีนลงมาไทย นำมาเพียงความหนาวเย็นเล็กน้อยเท่านั้น ลมยังไม่มีกำลังแรงมาก ไม่มีผลกระทบกับการท่องเที่ยวทางทะเล (ยกเว้นในบางปีที่อาการแปรปรวน) พื้นที่ที่เหมาะแก่การท่องเที่ยวในเดือนนี้ได้แก่ ทะเลอันดามันทั้งเหนือ และใต้ อ่าวไทยตอนบน บริเวณ พัทยา สัตหีบ แสมสาร เกาะเสม็ด เกาะช้าง เกาะกูด ส่วนอ่าวไทยตอนกลาง และตอนล่าง บริเวณ เกาะเต่า เกาะนางยวน เกาะสมุย และกองหินโลซิน ยังต้องชะลอการท่องเที่ยวไปก่อน
เดือนธันวาคม
พายุหมุนเขตร้อนที่มาจากทะเลจีนใต้ เริ่มอ่อนกำลังลง ลมมรสุม ตอ./น. ยังคงมีผลกับการท่องเที่ยวทางทะเล ทางฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง – ล่างอยู่บ้าง ทำให้ในเดือนนี้ สามารถไปเที่ยวทะเลได้เกือบทุกพื้นที่ของประเทศไทย ยกเว้นอ่าวไทยตอนกลาง และตอนล่าง
สรุปเวลาที่เหมาะสมสำหรับแต่ละพื้นที่
- อันดามันเหนือ ประกอบด้วย หมู่เกาะสิมิลัน เกาะบอน เกาะตาชัย หมู่เกาะสุรินทร์ และกองหินริเชลิว ช่วงที่สามารถไปได้ คือ พ.ย. – เม.ย.
- อันดามันใต้ ประกอบด้วยหมู่เกาะต่างๆ ตั้งแต่ภูเก็ตลงไปถึงตะรุเตา เช่น เกาะราชา เกาะพีพี ทะเลกระบี่ ทะเลตรัง หมู่เกาะห้า หินแดงหินม่วง เกาะรอก เกาะอาดัง-ราวี เกาะหลีเป๊ะ ช่วงที่สามารถไปได้ คือ ต.ค. – พ.ค.
- อ่าวไทยตอนบน 1 ประกอบด้วย พัทยา และสัตหีบ สามารถไปได้ตลอดทั้งปี โดยอาจจะมีคลื่นลมเป็นบางวัน ในช่วงฤดูฝน
- อ่าวไทยตอนบน 2 ประกอบด้วย เกาะเสม็ด เกาะทะลุ เกาะมันนอก หินเพิง เกาะช้าง เกาะกูด เกาะหมาก หากไปเที่ยวพักผ่อนบนเกาะ สามารถไปได้ตลอดทั้งปี แต่หากต้องการไปดำน้ำดูปะการัง นั่งเรือแบบไม่เจอคลื่นแนะนำให้ไปช่วง พ.ย. – เม.ย. เพราะทะเลบริเวณนี้ได้รับอิทธิพลจากลม ตต./ต. ที่ข้ามมาจากฝั่งอันดามันเต็มๆ ครับ
- อ่าวไทยตอนกลาง – ล่าง ประกอบด้วย ทะเลชุมพร เกาะง่ามน้อย เกาะง่ามใหญ่ หินหลักง่าม เกาะเต่า เกาะสมุย ลงไปถึงกองหินโลซิน ช่วงที่เหมาะที่สุดคือ ม.ค. – ก.ย.
อย่างไรก็ตาม นอกจากการเปลี่ยนแปลง ของอากาศตามฤดูกาลแล้ว ปรากฎการณ์เอลนีโญ และลานีญา ก็ยังมีผลกระทบต่อสภาพอากาศ ของประเทศไทยด้วย ทำให้สภาพอากาศในแต่ละปีเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นจึงควรติดตามข่าวสาร จากกรมอุตุนิยมวิทยา อย่างใกล้ชิดทุกครั้ง ก่อนที่จะวางแผนเดินทางท่องเที่ยว เพื่อให้คุณได้มีความสุข สนุกสนาน กับวันหยุดพักผ่อนของคุณ และครอบครัว
ท่านที่ต้องการทราบข้อมูลพยากรณ์อากาศล่วงหน้า เกี่ยวกับคลื่นลมในทะเลบริเวณที่ต้องการจะไปเที่ยว สามารถเข้าไปดูได้ที่หน้า พยากรณ์อากาศล่วงหน้า