เรื่องของ “พะยูน” ตำนานนางเงือกแห่งท้องทะเล

หากใครเคยไปเที่ยวที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน จ.จันทบุรี อาจแปลกใจไม่น้อยที่ได้เจอกับรูปปั้นพะยูนตั้งโชว์ไว้อย่างเงียบเหงาในมุมหนึ่งภายในเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนของศูนย์ศึกษาฯ เนื่องจากครั้งหนึ่งในอดีต บริเวณนี้เคยเป็นแหล่งหญ้าทะเลอันอุดมสมบูรณ์และเป็นที่อยู่อาศัยชั้นดีของพะยูนมากมาย ดังข้อมูลการสำรวจย้อนหลังไป 60 ปีก่อนระบุว่ามีรายงานการพบเห็นพะยูนมากกว่า 40 ตัวที่อ่าวคุ้งกระเบน และเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว ยังเคยพบพะยูนฝูงใหญ่กว่า 20 ตัวหากินในบริเวณปากน้ำประแส จ.ระยอง อีกด้วย ดังจะเห็นได้จากการตั้งชื่อ “หาดพยูน” ไว้เป็นที่รำลึกถึงสถานที่อันเป็นที่กล่าวขานกันในอดีตว่าเคยมีพะยูนอาศัยจำนวนไม่น้อยในจ.ระยอง แต่ในเวลาต่อมา สภาพแวดล้อมชายฝั่งทะเลเริ่มถูกคุกคามด้วยกิจกรรมที่เพิ่มขึ้นของมนุษย์อย่างรวดเร็ว ทำให้จำนวนพะยูนเริ่มลดน้อยถอยลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมนุษย์มีความเชื่อผิดๆในการนำเขี้ยวพะยูนไปทำเครื่องรางของขลัง นำกระดูกไปยาโป๊ว นำน้ำตาพะยูนไปทำยาเสน่ห์ ทำให้มีการลักลอบล่าพะยูนเป็นจำนวนมาก แม้ว่าพะยูนจะถูกเลือกให้เป็นสัตว์ป่าสงวนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 ก็ตาม แต่พวกเค้าก็ยังถูกไล่ล่าจนเกือบสูญพันธุ์ไปจากทะเลไทย โดยเฉพาะทะเลในฟากฝั่งตะวันออก ที่มีบันทึกว่าพะยูนได้สูญหายไปจากน่านน้ำย่านนี้มาเป็นเวลานานปลายปีแล้ว

อนุสรณ์ “หมูดุด เจ้าแห่งคุ้งกระเบน” ในศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน จ.จันทบุรี

จนเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 63 ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ในช่วงสถานการณ์ปิดเมืองในวิกฤติการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 มีผู้พบเห็นพะยูนแม่ลูก รวม 2 ตัว เข้ามาหากินบริเวณหน้าหาดสวนสน เกาะเสม็ด ใกล้เขื่อนกันคลื่นท่าเรือบ้านเพ จ.ระยอง จึงนับได้ว่าเป็นข่าวดีให้คนไทยได้ชื่นหัวใจในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าเช่นนี้ บ้างก็กล่าวว่า อาจเป็นเพราะการหยุด Lockdown ทำให้กิจกรรมทางทะเลของมนุษย์ลดน้อยลง พะยูนจึงกล้าเข้ามาเล็มหาหญ้าทะเลกินใกล้พื้นที่ชายฝั่งมากขึ้น อย่างไรก็ตามในโอกาสดีเช่นนี้แอดมินจึงขอรวบรวมข้อมูลของพะยูนมานำเสนอเพื่อให้เพื่อนๆได้รู้จักพวกเค้ากันมากขึ้นนะคะ

ภาพพะยูนจาก FB : ทิ้ง บ้านเพ เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 63 ที่ชายหาดสวนสน จ.ระยอง

พะยูน หรือหมูน้ำ หรือวัวน้ำ (Dugong or Sea Cow) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่อาศัยอยู่ในทะเล ตัวอ้วนกลมเทอะทะคล้ายแมวน้ำ ผิวหนังหนามีสีเทาอมชมพู มีขนสั้นๆทั่วลำตัวและมีขนหนาบริเวณปาก ออกลูกเป็นตัวครั้งละ 1-2 ตัว กินพืชทะเลเป็นอาหาร หากินเป็นฝูงตามแนวหญ้าทะเลชายฝั่งหรืออาจพบเจอหากินแบบเดี่ยวก็ได้เช่นกัน มีครีบหน้า 2 ครีบที่พัฒนามาจากขาหน้า ไม่มีครีบหลัง ตัวเมียมีเต้านม 2 เต้าถัดลงมาจากครีบหน้า ตัวผู้เมื่อโตเต็มวัยจะมีเขี้ยวงอกพ้นริมฝีปากออกมา ตาและหูมีขนาดเล็ก ไม่มีใบหู มีหางแฉกคล้ายโลมา (ญาติสนิทในสกุลใกล้ชิดกันคือ Manatee จะมีหางกลม) พะยูนวัยเด็กจะกินนมแม่จนถึง 8 เดือน จากนั้นแม่พะยูนจะยังคงดูแลลูกจนถึงอายุ 2 ปีจึงจะแยกจากแม่ได้ พะยูนมีขนาดยาวสุดได้ถึง 3 เมตรและหนักได้ถึง 400 กิโลกรัม มีอายุยืนยาวถึง 70 ปี

พะยูนไม่ใช่ปลา เราจึงไม่เรียกพวกเค้าว่าปลาพะยูน แต่จะเรียกว่า “พะยูน” เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยในทะเลและหายใจด้วยปอด จึงต้องขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำทุกๆ 6 นาที แต่พะยูนสามารถกลั้นหายใจได้นานถึง 20 นาทีเลยทีเดียว ในบางครั้งพะยูนหายใจด้วยการ “ยืน” ด้วยหางและเอาหัวโผล่ขึ้นพ้นน้ำ ดังนั้นภัยคุกคามของพะยูนจึงมีมากมายที่บริเวณผิวน้ำนี่เอง เนื่องจากพวกเค้าต้องอาศัยอยู่ในบริเวณน้ำตื้นเพื่อให้สะดวกกับการดำรงชีพ จึงอาจเข้าไปติดเครื่องมือประมงหรือถูกเรือรบกวนถิ่นอาศัย หรือแหล่งหญ้าทะเลถูกทำลายจากมลพิษและขยะทะเล ทำให้จำนวนพะยูนลดน้อยลงทุกวัน

พะยูนเป็นสัตว์ป่าสงวนตามพรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และถูกจัดอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered : CR) ตามหลักการจัดทำ Red List of Threatened Species (IUCN Ver. 3.1:2001) ของสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN) นอกจากนี้ยังถูกจัดอยู่ในบัญชีรายชื่อหมายเลข 1 ลำดับที่ 86 ของอนุสัญญา CITES ซึ่งหมายถึงชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ห้ามค้าโดยเด็ดขาด เนื่องจากใกล้สูญพันธุ์ ยกเว้นเพื่อการศึกษาวิจัยและเพาะพันธุ์ ทั้งนี้จะต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของชนิดพันธุ์นั้นๆด้วย

ในบางพื้นที่อาจเรียกพะยูนในชื่ออื่นที่แตกต่างกันไป เช่น “ดูหยง” (แปลว่า หญิงสาวแห่งทะเล) นิยมเรียกกันในแถบภาคใต้ เพราะเคยเชื่อว่าพะยูนเป็นนางเงือก เนื่องจากเวลาที่แม่พะยูนให้นมลูกมักจะกอดลูกไว้กับอกตั้งฉากกับท้องทะเล ชาวเลมองเห็นแต่ไกลบางครั้งจะดูคล้ายหญิงสาวกำลังให้นมลูก หรือบ้างก็มองเห็นเป็นนางเงือกนั่นเอง หรือในภาคตะวันออกก็เรียกว่า “หมูดุด” จากลักษณะการกินหญ้าทะเลของพะยูน ที่คล้ายวัวเล็มหญ้าโดยจะใช้จมูกดุนหญ้าทะเลไปข้างหน้า ในอดีตเคยมีฝูงพะยูงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากบริเวณคุ้งกระเบน ดังปรากฏชื่อหมู่บ้านหมูดุดเพื่อเป็นอนุสรณ์ของการ (เคย) มีอยู่ของพะยูนในพื้นที่ จ.จันทบุรี

การแพร่กระจายของพะยูนในประเทศไทย

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 63 ที่ผ่านมา ก็ยังมีการพบพบฝูงพะยูนประมาณ 30 ตัว กำลังจับกลุ่มออกหากินหญ้าทะเลบริเวณแหลมจูโพย เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จังหวัดตรัง โดย คุณศุภพร เปรมปรีดิ์ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จังหวัดตรัง ได้เผยแพร่ภาพถ่ายการสำรวจมุมสูง ทำให้พวกเราได้เห็นภาพอันน่าตื่นตาตื่นใจของฝูงพะยูนกลุ่มใหญ่ ทำให้พวกเราได้มีโอกาสเห็นภาพการหากินของพะยูนไทยกันอย่างใกล้ชิดเลยทีเดียว

วีดีโอจาก FB : Prempree Spp เมื่อวันที่ 22 เม.ย.63 ณ แหลมจูโพย จ.ตรัง

จากการสำรวจของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในปี 2562 พบว่ามีจำนวนพะยูนในประเทศไทยทั้งหมด 261 ตัว โดยในอ่าวไทยพบเพียง 24 ตัวเท่านั้น (พบในทะเลภาคตะวันออก 20 ตัว และจังหวัดสุราษฏร์ธานี 4 ตัว) การพบเห็นพะยูนในครั้งนี้จึงถือเป็นสัญญาณดีของทะเลไทย ที่สะท้อนถึงดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของทะเลแถบภาคตะวันออก ทำให้เรายังพอมีความหวังว่าซักวันหนึ่งเราอาจได้เห็นพะยูนกลับมาชุกชุมเหมือนในอดีต อันที่จริงแล้วเราอาจเปลี่ยนวิกฤติ COVID-19 ครั้งนี้ให้เป็นโอกาสอันดีในการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์หายากก็เป็นได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรต้องกลับมาทบทวนนโยบายที่ต้องดำเนินการเพื่ออนุรักษ์พื้นที่หญ้าทะเลและคุ้มครองพื้นที่อาศัยสำหรับการดำรงชีวิตของพะยูนในอนาคต เพื่อมิให้เหลือเพียงรูปปั้นไว้ให้ลูกหลานดูอย่างที่ผ่านมา

ภาพถ่ายพะยูนกลุ่มใหญ่ นับได้ถึง 30 ตัวที่พบเมื่อวันที่ 22 เม.ย.63 ณ แหลมจูโพย จ.ตรัง

พะยูนตัวที่ 30 ที่พบเมื่อวันที่ 22 เม.ย.63 ณ แหลมจูโพย จ.ตรัง

สำหรับนักดำน้ำอย่างพวกเรา โอกาสที่จะได้ดำน้ำแล้วเจอพะยูนในธรรมชาติคงแทบจะเป็นไปไม่ได้ แต่ก็ยังมีจุดดำน้ำบางแห่งที่นักดำน้ำชาวไทยยอมลำบากข้ามน้ำข้ามทะเลไปเพื่อให้ได้เจอพะยูนตัวเป็นๆบ้างซักครั้งในชีวิต เช่น Coron ประเทศฟิลิปปินส์ หรือ Alor ประเทศอินโดนีเซีย เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าโลกของเราจะอยู่ในสถานการณ์ใด เราทุกคนล้วนมีหน้าที่สำคัญที่สุดในการดูแลรักษาบ้านของพะยูนให้น่าอยู่ เพื่อให้พวกเค้ากลับมาใช้ชีวิตในบ้านเก่าหลังเดิมร่วมกับพวกเราพร้อมหน้าพร้อมตากันในไม่ช้านี้ค่ะ ^^

ที่มา

  1. FB : ทิ้ง บ้านเพ
  2. FB : Prempree Spp
  3. ระบบฐานข้อมูลกลางและมาตรฐานข้อมูลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
  4. ฐานข้อมูลความรู้ทางทะเล (Marine Knowledge Hub)
  5. FB : ThonThamrongnawasawat
  6. รูปภาพประกอบจาก MGR Online
  7. รูปภาพประกอบจาก FB : สำนักอุทยานแห่งชาติ – National Parks of Thailand
  8. รูปภาพประกอบจาก Ty Photographer
เขียนโดยรัตติยา แวนวน
เผยแพร่ครั้งแรก7 พ.ค. 63