ดำน้ำที่ Coron – Busuanga

ชื่อ Coron อาจยังเป็นที่รู้จักไม่มากนักในหมู่นักดำน้ำชาวไทย แม้จะมีทริปนักดำน้ำไทยไปดำน้ำที่นั่นแทบทุกปี แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นจำนวนมากมายเท่ากับแหล่งดำน้ำชื่อดังอย่าง สิปาดัน บาหลี หรือโคโมโด … ข้อมูลของแหล่งท่องเที่ยวและดำน้ำลึกที่ Coron จึงยังมีให้อ่านกันไม่มากนัก ยิ่งถ้าพูดถึงชื่อเกาะ Busuanga ก็ไม่ต้องคิดเลยว่าจะมีสักกี่คนรู้จักหรือเคยได้ยิน

ทั้งการเดินทางที่ไม่สะดวกสบายมากนัก แถมค่าใช้จ่ายทั้งที่พัก อาหาร และการดำน้ำ ก็อาจถือว่าสูงเมื่อเทียบกับจุดดำน้ำชื่อดังจุดอื่นๆ (เพราะรีสอร์ตดำน้ำหลายแห่งที่นั่น มีราคาจัดอยู่ในระดับ 5 ดาวเลยทีเดียว) แต่ถ้าใครกำลังมองหาแหล่งดำน้ำที่จะมอบประสบการณ์แปลกใหม่กว่าทุกที่ที่เคยไป รับรองได้ว่า Coron จะเป็นอีกชื่อหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในลิสต์นั้นแน่นอน

Coron Municipality in Busuanga Island

Coron ที่เราพูดถึงกัน ส่วนใหญ่หมายถึงเมืองหลักบนเกาะ Busuanga อันเป็นเกาะที่แวดล้อมไปด้วยแหล่งดำน้ำที่มีความแตกต่างไม่เหมือนใคร นับตั้งแต่ เรือจมญี่ปุ่นนับสิบลำสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีประวัติความเป็นมาน่าสนใจ การดำน้ำกับพะยูนที่คุ้นเคยกับคนเป็นอย่างดี และการดำน้ำในทะเลสาบที่มีทั้งชั้น themocline และ halocline ในที่เดียวกัน

นอกจากนี้ Coron ก็ยังเป็นชื่อของเกาะเล็กๆ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะ Busuanga และเป็นชื่อของอ่าวที่อยู่ระหว่างเกาะ Busuanga, เกาะ Coron และเกาะ Culion ด้วย

ด้วยเหตุที่ชื่อ Coron ปรากฏอยู่ทั่วไปในพื้นที่นี้ ทั้งยังเป็นชื่อเขตเมืองที่ตั้งของสนามบินด้วย จึงเป็นชื่อที่นักดำน้ำจะคุ้นหูคุ้นตามากกว่า แม้ว่าที่จริงแล้วจุดดำน้ำเกือบทั้งหมดในย่านนี้จะอยู่รอบเกาะ Busuanga ก็ตาม

ดำน้ำเรือจมรอบเกาะ Busuanga

ที่นี่ได้รับการขนานนามว่า Capital of Wreck Diving in the Philippines เป็นจุดหมายปลายทางของการดำน้ำเรือจมที่มีนักดำน้ำมาเยือนมากที่สุดแห่งหนึ่งในฟิลิปปินส์ และยังเคยติด 1 ใน 10 จุดดำน้ำที่ดีที่สุดของโลก ในนิตยสาร Forbes Travel Magazine เลยทีเดียว

จุดดำน้ำเรือจมในบริเวณนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ท่ามกลางเกาะเล็กเกาะน้อยระหว่างเกาะ Busuanga กับเกาะ Culion มีเพียง 1 จุดเท่านั้นที่อยู่นอกชายฝั่งของเกาะ Coron และอีก 1 จุดที่อยู่ทางเหนือของเกาะ Busuanga เป็นแหล่งดำน้ำที่รู้จักกันในชื่อ Coron Wrecks หรือหมู่เรือจม Coron

Shipwrecks map at Busuanga Bay Lodge Divers (Photo by Zeny Pallugna)

ซากเรือที่อับปางเหล่านี้เป็นของกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่น ในการยกพลขึ้นบกที่เลย์เต (Invasion of Leyte) สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งแอบอยู่ตามเกาะแก่งต่าง ๆ แต่ถูกเครื่องบินสอดแนมจากกองกำลังเฉพาะกิจ 38 (Task Force 38) ของสหรัฐอเมริกาตรวจจับได้ในวันที่ 24 กันยายน ปี ค.ศ. 1944 และเข้าโจมตีหลังจากนั้นไม่นาน ทำให้จักรวรรดิญี่ปุ่นต้องสูญเสียเรือมากกว่า 20 ลำ ซากเรือส่วนใหญ่จะทอดตัวอยู่ในระดับความลึกที่นักดำน้ำสามารถดำลงไปได้ คือระหว่าง 10 เมตร ถึง 40 เมตร โดยเฉลี่ยอยู่ที่ความลึกระดับ 25-30 เมตร

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดำน้ำเรือจมเหล่านี้ อ่านได้ที่ Dive Magazine: THE WRECKS OF CORON BAY

At Kyokusan Maru
Kyokusan Maru

ดำน้ำกับพะยูนที่เกาะ Calauit

Dugong “Aban” and a freediver

นอกจากเรือจมแล้ว นักดำน้ำยังรู้จัก Coron ในฐานะเป็นจุดดำน้ำที่เรามีโอกาสได้พบกับพะยูนประจำถิ่น ซึ่งบริเวณรอบเกาะ Busuanga นี้เป็นแหล่งหญ้าทะเลชั้นดี มีพะยูนอยู่ราว 30 ถึง 50 ตัวอาศัยอยู่ และหนึ่งในนั้นคือเจ้าอะบัน (Aban) พะยูนตัวเดียวที่อยู่ประจำบริเวณอ่าวด้านเหนือของเกาะ Calauit (เป็นเกาะที่อยู่ติดกับเกาะ Busuanga ทางตะวันตกเฉียงเหนือสุดของเกาะ) ใครมาว่ายน้ำหรือดำน้ำเล่นแถวนี้ ต้องได้เจอกับเจ้าอะบันแน่นอน หรือถ้าโชคดีอาจได้เจอพะยูนตัวอื่นว่ายผ่านมาด้วยก็ได้

พื้นที่ที่เราจะดำน้ำกับพะยูนนี้ได้รับการดูแลโดยเจ้าหน้าที่ (ซึ่งก็คือชาวบ้านในบริเวณนั้น) ที่จะคอยมองหาว่าเจ้าอะบันกำลังว่ายน้ำหรือกินหญ้าทะเลอยู่ตรงไหน และส่งสัญญาณมือบอกเจ้าหน้าที่ที่อีกคนบนเรือนักท่องเที่ยวแต่ละลำ ผลัดกันเข้าไปชมเจ้าอะบัน จำกัดจำนวนให้มีมนุษย์อยู่ใกล้ๆ เจ้าอะบันได้ไม่เกิน 5 คนในแต่ละรอบ ห่างไม่ต่ำกว่า 5 เมตร และให้ชมได้ประมาณ 20 นาทีต่อกลุ่มเท่านั้น เพื่อกระจายโอกาสกันและไม่รบกวนเจ้าอะบันจนเกินไป

ทั้งนี้ จะมีค่าธรรมเนียมเข้าดำน้ำกับเจ้าอะบันคนละ 600 เปโซ ซึ่งค่าธรรมเนียมนี้จะนำไปใช้เพื่อดูแลรักษาพื้นที่ในท้องถิ่นนั้นจริงๆ ไม่ต้องส่งเข้าส่วนกลางแต่อย่างใด ใครเคยอยากดำน้ำกับพะยูนโดยไม่ต้องวัดดวง ต้องหาโอกาสมาที่นี่ (ถ้าไม่โชคร้ายขนาดที่วันนั้นบังเอิญเจ้าอะบันออกไปเที่ยวไกลไปหน่อย ต้องได้เจอเจ้าอะบันแน่นอน) และการได้ดำน้ำกับพะยูน ก็เป็นประสบการณ์ที่น่าประทับใจมากทีเดียว

 

ดำน้ำใน Barracuda Lake ที่เกาะ Coron

ทะเลสาบแห่งนี้ตั้งอยู่ภายในเกาะ Coron (แต่ก็ใกล้กับทะเลมาก) มีน้ำใสปิ๊งอยู่ด้านบน รอบข้างจะมองเห็นเป็นแนวผนังหินปูนที่ทอดตัวมาจากภูเขาด้านบนตรงดิ่งลงไปถึงก้นทะเลสาบเบื้องล่าง ชั้นน้ำในทะเลสาบแบ่งเป็น 3 ชั้น คือ ชั้นบนสุด ลึกประมาณ 4 เมตร เป็นน้ำจืดอุณหภูมิประมาณ 28 c ถัดจากนั้นลงไปถึงความลึกประมาณ 14 เมตรจะเป็นชั้นน้ำเค็มที่เริ่มอุ่นขึ้นนิดหน่อย ถัดจากนั้นลงไปจนถึงก้นทะเลสาบคือ thermocline อุณหภูมิสูงถึง 38 c

ก้นทะเลสาบที่ความลึกประมาณ 30 เมตร เป็นพื้นทรายที่เป็นตะกอนเบาๆ ซึ่งฟุ้งกระจายได้ง่าย จึงต้องระวังการตีฟินให้ดีมากๆ ลองดูคลิปวิดีโอขำๆ ที่มีนักดำน้ำเล่นสนุกกับพื้นทรายก้นทะเลสาบ Barracuda Lake นี้ได้

ในทะเลสาบแห่งนี้ แม้จะไม่ค่อยมีสัตว์อาศัยอยู่มากนัก แต่ก็ยังพอได้เห็นปลาบู่ (goby) ปู กุ้ง และปลาบางชนิดอาศัยอยู่ ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่า ทะเลสาบแห่งนี้ในอดีตเคยเชื่อมต่อถึงทะเลภายนอก ก่อนจะกลายเป็นทะเลสาบปิดอย่างในปัจจุบัน ส่วนปลาสากหรือ Barracuda อันเป็นที่มาของชื่อทะเลสาบนี้ ก็มีผู้พบเห็นอยู่บ้างแต่ไม่บ่อยนัก

นักท่องเที่ยวที่มาที่นี่ มีทั้งนักท่องเที่ยวทั่วไป และนักดำน้ำทั้งฟรีไดฟ์และสคูบ้า โดยเฉพาะนักดำน้ำฟรีไดฟ์จะชอบที่นี่มากเพราะให้บรรยากาศรอบข้างไม่เหมือนที่ใดในโลก น้ำก็ใสมาก ถ่ายรูปออกมาแล้วงดงามจริงๆ

Freediving at Barracuda Lake

การเดินทางมายัง Barracuda Lake นี้ต้องมาขึ้นเรือที่ท่าเรือทางใต้ของเมือง Coron (บนเกาะ Busuanga) นั่งเรือเพียง 15 นาทีก็ถึงท่าจอดเรือหน้าเกาะ Coron จากนั้นเดินขึ้นบันไดเพื่อข้ามเนินเล็กๆ อีก 20 นาทีเพื่อเข้าสู่ทะเลสาบ

 

ชมภาพการดำน้ำฟรีไดฟ์สวยๆ ใน Barracuda Lake และเรือจมต่างๆ ของ Coron ได้ที่

นอกจากประสบการณ์การดำน้ำที่แปลกใหม่มากมายข้างต้นแล้ว ทะเลฟิลิปปินส์ยังคงมีแนวปะการังที่อุดมสมบูรณ์ให้ชมในทุกที่ มีปลาฝูงใหญ่ที่ว่ายน้ำเล่นด้วยได้หน้าชายหาดของรีสอร์ต มีปลาและสัตว์ตัวจิ๋วให้ค้นหาและฝึกหัดถ่ายภาพแบบมาโคร รวมถึงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เต่าทะเลแห่งสำคัญของโลก เช่นเดียวกับจุดดำน้ำอื่นๆ ในฟิลิปปินส์ด้วยเช่นกัน

Coral Reefs around Busuanga Island
Coral Reefs around Busuanga Island
Turtle at Busuanga Island