เที่ยวเมือง Coron, เกาะ Coron, และเกาะ Busuanga

นักดำน้ำหลายคนอาจคุ้นเคยกับชื่อ Coron อยู่บ้างเพราะเป็น 1 ในแหล่งดำน้ำชื่อดังของฟิลิปปินส์ หลายคนอาจเข้าใจว่า Coron เป็นชื่อเกาะแล้วก็เลยสงสัยต่อไปว่า เมื่อมาดำน้ำจริงๆ กลับไม่ได้เฉียดเข้าไปใกล้เกาะ Coron เลยแม้แต่น้อย กลับได้ดำน้ำอยู่รอบๆ เกาะใหญ่อีกแห่งที่อยู่ติดกันมากกว่า

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า Coron นั้นเป็นทั้งชื่อของเกาะและชื่อของเมืองบนเกาะ Busuanga (ออกเสียงว่า บูซูอังกา หรือ บูซวงกา) ซึ่งดูแลไปถึงเกาะ Coron ด้วย การเดินทางมาที่นี่ก็ต้องบินมาลงที่สนามบินในเขตเมือง Coron (แม้จะอยู่บนเกาะ Busuanga ก็ตาม) ทำให้ชื่อ Coron เป็นที่รู้จักมากกว่าชื่อ Busuanga ในขณะที่จุดดำน้ำจะอยู่รอบๆ เกาะ Busuanga เป็นส่วนใหญ่ (เอ๊ะ หรือจะนับว่าอยู่ในอ่าว Coron ก็ได้เหมือนกันนะ)

ยิ่งเรียกชื่อ Coron เยอะๆ ก็ยิ่งงง เอาเป็นว่าถ้าจะไปเที่ยวตรงไหน ก็เรียกชื่อให้ครบนะ จะได้หาแผนที่เจอ หาทางไปได้ถูกต้อง ไม่หลงทาง

เขตเทศบาลเมือง Coron ครอบคลุมพื้นที่บนเกาะ Busuanga เกาะ Coron และเกาะใกล้เคียง

เกาะ เมือง และผู้คน

เกาะ Coron และเกาะ Busuanga ตั้งอยู่เหนือสุดของเขตจังหวัดปาลาวัน (Palawan) โดยเกาะ Busuanga แบ่งการปกครองย่อยออกเป็น 2 เมืองคือ เมือง Busuanga กินพื้นที่ 1 ใน 3 ทางตะวันตก และเมือง Coron กินพื้นที่ 2 ใน 3 ทางตะวันออกของเกาะรวมไปถึงเกาะ Coron ด้วย

พื้นที่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นป่าเขา ทุ่งนา และไร่ปศุสัตว์ ซึ่งเมื่อมองลงมาจากเครื่องบิน เราจะยังคงเห็นความเขียวขจีทั่วทั้งเกาะ มีเพียงหาดทรายชายเกาะที่มองเห็นเป็นแนวโค้งสีขาวสั้นบ้างยาวบ้างอยู่ทั่วไป แทบไม่เห็นบ้านเรือนของคนบนเกาะเลย นอกจากบริเวณตัวเมือง 2 แห่งที่จะเห็นบ้านเรือนตั้งอยู่ติดๆ กันเป็นกระจุกเท่านั้น ตัวเมืองทั้งสองนี้อยู่ห่างกันประมาณ 50 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2.5 ถึง 3 ชั่วโมง

ตัวเมือง Coron บนเกาะ Busuanga (โดย anne jimenez [CC BY 2.0 via Wikipedia.org &Flickr])
ในการสำรวจสำมะโนประชากร เมื่อปี ค.ศ. 2015 จำนวนประชากรบนเกาะ Busuanga มีเพียง 73,849 คนเท่านั้น ความหนาแน่นของประชากรเท่ากับ 131 คนต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร ช่วง 30 ปีก่อนขึ้นสหัสวรรษใหม่ การทำประมงที่นี่คึกคักมาก มาซบเซาลงในภายหลัง เนื่องจากการจับปลาอย่างผิดกฎหมาย โดยการใช้ระเบิดและสารพิษไซยาไนด์ (Cyanide) เพื่อให้จับปลาได้ครั้งละมาก ๆ

ปัจจุบัน การท่องเที่ยวกลายเป็นอุตสาหกรรมหลักของเกาะ Busuanga และเกาะ Coron เมื่อชายหาดที่สวยงามและสงบเงียบห่างไกลผู้คน ใต้น้ำมีหญ้าทะเลเป็นแหล่งอาหารสำคัญของพะยูน เรือรบนับสิบลำที่จมอยู่ก้นทะเลตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งกลายมาเป็นจุดดำน้ำ และแหล่งท่องเที่ยวในธรรมชาติมากมายของที่นั่นได้เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก จากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส์แทรเวลเลอร์ เมื่อปี ค.ศ. 2007 ที่ยกให้เกาะ Coron เป็น 1 ใน 10 อันดับแรกของจุดดำน้ำลึกที่ดีที่สุดในโลก จนใคร ๆ ก็อยากมาเยือน

วางแผนเดินทางเที่ยว Coron – Busuanga

ช่วงเวลาที่เหมาะแก่การไปเที่ยวมากที่สุด คือ ช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งอยู่ในช่วงปลายฤดูหนาวและเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อน จึงเป็นช่วงที่ไม่ค่อยมีฝนและมรสุม

การเดินทางไปยังเกาะ Busuanga ใช้เวลาประมาณ 1 ชม. โดยเที่ยวบินภายในประเทศ ให้บริการโดย ฟิลิปปินส์แอร์ไลน์ หรือ เซบูแปซิฟิก จากกรุงมะนิลาหรือมหานครเซบูไปยัง สนามบินฟรานซิสโก บี เรเยส (Francisco B. Reyes Airport) (USU) ซึ่งเทศบาลเมือง Busuanga ใช้ร่วมกันกับเทศบาลเมือง Coron

Francisco B. Reyes Airport, Busuanga Island, Coron, Palawan (โดย ArthurNielsen via Wikipedia.org & Flickr [CC BY 2.0])
สนามบิน Francisco B. Reyes (โดย FreedomDIVE.com [CC BY 4.0])
เดิมนั้นสนามบินชื่อว่า Busuanga แต่ในช่วงปลายปี ค.ศ. 2008 ได้เปลี่ยนไปตั้งตามชื่อของอดีตนายกเทศมนตรีของเทศบาลเมือง Coron ซึ่งเป็นผู้บริจาคที่ดินสร้างอาคารของสนามบินแทน ตัวอาคารผู้โดยสารทั้งส่วนที่รอรับกระเป๋าและนั่งรอขึ้นเครื่องจะไม่มีเครื่องปรับอากาศ นอกจากในห้องรับรองวีไอพี (ซึ่งเครื่องปรับอากาศก็เสียเป็นประจำเช่นกัน)

ห้อง VIP Lounge ที่สนามบิน Francisco B. Reyes (โดย FreedomDIVE.com [CC BY 4.0])
แต่ถ้าคุณอยากฆ่าเวลาที่มีเหลือเฟือ ก็สามารถเลือกนั่งเรือเฟอร์รี่ข้ามคืนจากกรุงมะนิลาไปลงที่ท่าเรือเมือง Coron ได้ มีบริการจากบริษัท 2Go Travel เขาจัดให้ 1 เที่ยว ทุกวันศุกร์ ค่าโดยสารประมาณ 1,500 – 2,800 เปโซ ใช้เวลาเดินทางทั้งสิ้น 11 ชั่วโมง

ที่สนามบินจะไม่มีแท็กซี่หรือสามล้อ (ที่เป็นมอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง) รอให้บริการ มีเพียงรถตู้ที่จะวิ่งจากสนามบินไปยังเขตเทศบาลเมือง Coron ซึ่งสามารถจอดส่งคุณยังโรงแรมที่คุณพักได้ หากคุณมาเป็นกลุ่มใหญ่ ก็สามารถเหมารถตู้ได้ในราคา 1,500 เปโซ และเนื่องจากพื้นที่โดยรอบสนามบินเป็นไร่ปศุสัตว์ รถที่ออกจากสนามบินอาจจะติดขัดเล็กน้อย หากไปเจอชาวบ้านกำลังต้อนฝูงวัวให้เดินไปตามถนน

ถนนหนทางบนเกาะมีถนนสายหลักเพียงสายเดียวที่เป็นถนนซีเมนต์หรือราดยาง ส่วนถนนซอยน้อยใหญ่นอกตัวเมืองยังคงเป็นถนนลูกรัง ตัดผ่านเนินเขาและทุ่งนาของชาวบ้าน มีหลุมบ่อเป็นระยะๆ การเดินทางบนเกาะจึงไปกันอย่างไม่เร่งรีบ เรื่องร้านสะดวกซื้อไม่ต้องพูดถึง นอกตัวเมืองไปแล้วจะมีแต่กระต๊อบเล็กๆ ของชาวบ้าน ที่มีของขายเล็กๆ น้อยๆ ไม่กี่อย่างเท่านั้น นักท่องเที่ยวจึงควรเตรียมของใช้มาให้ครบถ้วน เพราะบางทีเราอาจไม่ได้ผ่านเข้าตัวเมือง Coron เลยก็ได้ ออกจากสนามบินแล้วก็เข้ารีสอร์ตทันที โดยเฉพาะหากเราพักทางเหนือของเกาะ ที่พักจะอยู่ใกล้สนามบินมากกว่าตัวเมืองที่อยู่ลงไปทางใต้

วิวข้างทางบนเกาะ Busuanga (โดย FreedomDIVE.com [CC BY-SA 4.0])
สำหรับการเดินทางในเมือง จะมีเพียงสามล้อที่คุณจะว่าจ้างออกไปหาที่กินข้าวนอกที่พักได้เท่านั้น ไม่มีรถสาธารณะชนิดอื่นให้บริการ และกรุณาเตรียมเงินสดไว้ใช้จ่ายบนเกาะ อย่ารอมาแลกเงินที่สนามบินที่นี่ เพราะอัตราแลกเปลี่ยนไม่ค่อยดีนัก และตู้ ATM ก็มักจะโดนกดจนเงินหมดตู้

ดำน้ำลึกที่ Coron – Busuanga

ที่นี่เป็นจุดหมายปลายทางของการดำน้ำเรือจมที่มีนักดำน้ำมาเยือนมากที่สุดแห่งหนึ่งในฟิลิปปินส์ จุดดำน้ำเรือจมในบริเวณนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในอ่าว Coron ทางใต้ของเกาะ Busuanga ท่ามกลางเกาะเล็กเกาะน้อยที่อยู่ระหว่างเกาะ Busuanga กับเกาะ Culion มีเพียง 1 จุดเท่านั้นที่อยู่นอกชายฝั่งของเกาะ Coron และอีก 1 จุดที่อยู่ทางเหนือของเกาะ Busuanga เป็นที่รู้จักกันในชื่อ Coron Wrecks หรือหมู่เรือจม Coron

ซากเรือที่อับปางเหล่านี้เป็นของกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่น ในการยกพลขึ้นบกที่เลย์เต (Invasion of Leyte) สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งแอบอยู่ตามเกาะแก่งต่าง ๆ แต่ถูกเครื่องบินสอดแนมจากกองกำลังเฉพาะกิจ 38 (Task Force 38) ของสหรัฐอเมริกาตรวจจับได้ในวันที่ 24 กันยายน ปี ค.ศ. 1944 และเข้าโจมตีหลังจากนั้นไม่นาน ทำให้จักรวรรดิญี่ปุ่นต้องสูญเสียเรือมากกว่า 20 ลำ ซากเรือส่วนใหญ่จะทอดตัวอยู่ในระดับความลึกที่นักดำน้ำสามารถดำลงไปได้ คือระหว่าง 10 เมตร ถึง 40 เมตร โดยเฉลี่ยอยู่ที่ความลึกระดับ 25-30 เมตร

ดำน้ำกับพะยูน

นอกจากเรือจมแล้ว นักดำน้ำยังรู้จัก Coron ในฐานะเป็นจุดดำน้ำที่เรามีโอกาสได้พบกับพะยูนประจำถิ่น ซึ่งบริเวณรอบเกาะ Busuanga นี้เป็นแหล่งหญ้าทะเลชั้นดี มีพะยูนอยู่ราว 30 ถึง 50 ตัวอาศัยอยู่ และหนึ่งในนั้นคือเจ้าอะบัน (Aban) พะยูนตัวเดียวที่อยู่ประจำบริเวณอ่าวด้านเหนือของเกาะ Calauit (เป็นเกาะที่อยู่ติดกับเกาะ Busuanga ทางตะวันตกเฉียงเหนือสุดของเกาะ) ใครมาว่ายน้ำหรือดำน้ำเล่นแถวนี้ ต้องได้เจอกับเจ้าอะบันแน่นอน หรือถ้าโชคดีอาจได้เจอพะยูนตัวอื่นว่ายผ่านมาด้วยก็ได้

ที่จริงแล้วการมาดำน้ำที่นี่ ไม่ต้องวัดดวงว่าจะได้เจอกับพะยูนหรือไม่ เพราะที่นี่เป็นพื้นที่อนุรักษ์ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่คอยมองหา เจ้าอะบัน และจัดกลุ่มนักท่องเที่ยวและนักดำน้ำให้ได้พบกับพะยูนอย่างที่ไม่รบกวนกันจนเกินไป ช่วยรักษาการท่องเที่ยวแบบนี้ไว้ให้ยั่งยืนยาวนาน ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ ซึ่งก็คือชาวพื้นเมืองของเกาะนี่เอง จะคอยสอดส่องดูแลความเป็นไปให้พะยูนและสัตว์ทะเลแถวนี้อย่างดี ไม่ให้มีการลักลอบทำประมงขนาดใหญ่ (ส่วนประมงพื้นบ้าน ทำเพื่อเลี้ยงชีวิตตัวเอง อนุญาตให้ทำได้) และค่าธรรมเนียมการดำน้ำที่นี่ก็ไม่ได้นำส่งส่วนกลาง แต่ถูกใช้เพื่อดูแลรักษาพื้นที่นี้โดยตรงเลย

Barracuda Lake

นอกจากการดำน้ำดูปะการัง พะยูน และเรือจมรอบเกาะ Busuanga แล้ว คุณสามารถเลือกไปเที่ยวบรรดาเกาะเล็กเกาะน้อยที่เรียงรายอยู่ทางตะวันตกของเกาะ Busuanga อาทิ เกาะ Maltatayoc เกาะ Pamalican และเกาะ South Cay หรือเกาะ Pagbinit เป็นต้น เกาะเหล่านี้มีหาดทรายที่ขาวบริสุทธิ์เหมือนผงแป้งเหมาะกับการถ่ายภาพ และอีกหนึ่งสถานที่ที่เราอยากแนะนำ คือ ทะเลสาบบาราคูดา (Barracuda Lake) ที่อยู่บนเกาะ Coron

ที่มาของชื่อทะเลสาบ Barracuda ก็อาจทำให้หลายคนสงสัย ว่าในทะเลสาบแห่งนี้จะมีปลาสาก หรือบาราคูดา อาศัยอยู่จริงหรือ ตอบได้เลยว่า จริง! เพราะมีนักดำน้ำได้เจอะเจอกันมาแล้ว และว่ากันว่าเจ้าบาราคูดาที่อยู่ในทะเลสาบแห่งนี้มีความยาวถึง 1.5 เมตรเลยทีเดียว แต่อย่าไปคาดหวังว่ามันจะว่ายน้ำมาเซย์ฮัลโหลกับคุณง่าย ๆ นะ เพราะไม่ค่อยมีรายงานว่านักท่องเที่ยวเจอมันเท่าไร

คุณอาจจะต้องเตรียมรองเท้าที่เหมาะสมสำหรับการปีนบันไดไม้เล็ก ๆ 150 ขั้นข้ามภูเขาหินปูนไปยังทะเลสาบ Barracuda กำลังคิดอยู่ใช่ไหมคะว่าคุ้มไหมที่ต้องบากบั่นไปขนาดนั้น แต่เรารับรองได้ว่าคุณจะหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง เมื่อได้ลงไปแหวกว่ายในทะเลสาบสีมรกต และด้วยระดับน้ำที่ค่อนข้างลึก (ลึกสุด 30 เมตร) ที่นี่จึงมีชื่อเสียงมากสำหรับนักดำน้ำฟรีไดฟ์และ scuba ที่จะได้ลงไปแหวกว่ายท่ามกลางน้ำใสสีมรกตกับกำแพงหินปูนเว้าแหว่งน่าตื่นตา (นั่นทำให้ทัวร์ส่วนใหญ่ไม่ค่อยแวะ)

สำหรับนักดำน้ำ คุณจะพบกับสิ่งที่น่าอัศจรรย์อีกอย่างหนึ่งคือ ความแตกต่างของอุณหภูมิในน้ำที่แยกเป็นชั้นอย่างเด่นชัด (เรียกว่า Thermocline) และแยกชั้นน้ำจืดและน้ำเค็มอย่างชัดเจน (เรียกว่า Halocline) นั่นคือ จากระดับผิวน้ำลงไปถึงความลึก 4 เมตร จะเป็นชั้นน้ำจืดที่อุณหภูมิปกติ ถัดจากนั้นจะเป็นน้ำเค็มที่อุณหภูมิปกติลงไปจนถึงความลึก 14 เมตร ส่วนที่ลึกไปกว่านั้นเป็นน้ำทะเล(น้ำเค็ม)ที่อุ่นมาก (38 องศาเซลเซียส) หรืออาจจะร้อนไปสำหรับบางคนจนทำให้รู้สึกไม่ค่อยสบายตัวได้ (อุณหภูมิสูงสุดถึง 42 องศาเซลเซียส)

ทะเลสาบ Barracuda นี้เป็นหนึ่งในสองทะเลสาบบนเกาะ Coron ที่อนุญาตให้คนทั่วไปเข้าไปท่องเที่ยวได้ เนื่องจากเกาะ Coron เป็นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าพื้นเมืองโบราณที่ชื่อ Tagbanua (ทักบานัว) มาหลายพันปี ชาวบ้านเชื่อว่าที่นั่นเป็นดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ โดยมีชนเผ่า Tagbanua เป็นผู้พิทักษ์ จึงต้องจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะไปเยือน การเดินทางไปที่ทะเลสาบแห่งนี้ใช้เวลานั่งเรือ (ที่รูปร่างเหมือนปู) ไปจากตัวเมือง Coron ประมาณ 15-20 นาที จุดขึ้นเรือจะอยู่ที่ Bayside Plaza (เบย์ไซด์ พลาซ่า)

เที่ยวทะเลสาบและลากูนบนเกาะ Coron

เราขอแถมอีก 2 จุดบนเกาะ Coron ที่นับว่าสวยงามไม่แพ้กัน แต่มีนักเดินทางไปเยือนมากกว่า เพราะเข้าถึงได้ง่ายกว่าทะเลสาบ Barracuda และสามารถดำน้ำตื้น (snorkeling) ได้ คือ

  • ทะเลสาบคายังอัน (Kayangan Lake)
    ทะเลสาบ Kayangan เป็นทะเลสาบอีกแห่งที่เปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปสัมผัสธรรมชาติอันบริสุทธิ์ มันถูกซ่อนตัวอยู่ในหุบเขา และเราจะต้องขึ้นบันได 300 ขั้นข้ามเขาเข้าไปเช่นกัน เห็นจำนวนขั้นแล้วอย่าเพิ่งท้อ เพราะที่นี่เป็นบันไดปูนค่อนข้างกว้าง เดินง่ายกว่าที่ทะเลสาบ Barracuda ราวบันไดนั้นแข็งแรงพอให้ค่อย ๆ เดินสาวไป (ไม่ต้องรีบ เพราะแม้แต่หนุ่มร่างกำยำยังเหนื่อยหอบ มีหยุดพักเป็นระยะ ๆ) มีทางเดินไม้ยาวลัดเลาะไปรอบ ๆ ทะเลสาบสีเทอร์ควอยซ์ใสแจ๋ว ผู้คนต่างยกย่องว่าทะเลสาบ Kayangan นี้เป็นทะเลสาบที่สะอาดที่สุดในเอเชีย และนับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวหลักของเกาะ Coron ที่มีผู้ถ่ายรูปมากที่สุดแห่งหนึ่งในฟิลิปปินส์ คุณคงเดาได้นะว่ามันจะพลุกพล่านแค่ไหน เมื่อทัวร์ลงพร้อม ๆ กัน

    Kayangan Lake, Coron Island
  • ทะเลสาบแฝด (Twin Lagoons)
    Twin Lagoons คือทะเลสาบสองทะเลสาบที่เชื่อมต่อกัน เรือนำเที่ยวจะเข้าไปจอดในทะเลสาบ แล้วปล่อยนักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำ หากจะเข้าไปยังทะเลสาบอีกฝั่งหนึ่งนั้น ก็สามารถเลือกได้ ว่าจะพายเรือคายักหรือว่ายน้ำลอดผ่านอุโมงค์ที่เชื่อมต่อทะเลสาบทั้งสอง หรือปีนช่องเขาเล็ก ๆ ข้ามไป
    Twin Lagoons (by Sailko [CC BY 3.0])
    Twin Lagoons Entrance (by Sailko [CC BY 3.0])

การเดินทางไปยังทะเลสาบทั้งสองแห่ง และบรรยากาศที่นั่น เป็นอย่างไร ชมได้จากคลิปนี้เลย

ถ้าคุณอยากจะพักค้างที่เทศบาลเมือง Coron เพื่อจะไปเที่ยวบนเกาะ Coron เป็นหลัก ที่นั่นก็มีรีสอร์ตระดับ 5 ดาวให้เลือกมากมาย (แต่สิ่งอำนวยความสะดวกอาจจะเทียบเท่าประมาณ 4 ดาวของบ้านเรา) จากสนามบินใช้เวลาเดินทางมาที่ตัวเมือง Coron ประมาณ 30-45 นาที อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการคมนาคมยังไม่ค่อยสะดวกนัก หากต้องการท่องเที่ยวแบบเจาะลึกที่เมืองและ/หรือเกาะ Coron เราแนะนำให้คุณซื้อแพคเกจทัวร์ที่รวมทุกอย่าง ทั้งรถรับ-ส่ง ค่าไกด์ ค่าเข้าสถานที่/ขึ้นเกาะ หรือมีสน็อกเกิลให้ใช้ฟรี แต่ถ้าคุณมากันเป็นกลุ่มใหญ่ และมีอุปกรณ์ดำน้ำไปพร้อม การเช่าเหมารถและเรือ ก็เป็นทางเลือกที่ดี เพราะคุณจะสามารถเลือกออกเดินทางแต่เช้าไปยังสถานที่ต่าง ๆ เพื่อไม่ต้องไปผจญกับฝูงชนที่มาท่องเที่ยวในเวลาไล่เลี่ยกันได้ ซึ่งช่วงที่พีคที่สุดของเกาะ Coron จะอยู่ในราวเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม คุณจะไม่สามารถหาที่พักได้เลย หากไม่จองไปล่วงหน้า

ขอให้สนุกกับทริปของคุณนะคะ

แหล่งข้อมูล