สายอากาศแบรนด์ Miflex เป็นสายส่งอากาศแบบหุ้มด้วยสายถัก มีความอ่อนตัวมากกว่าสายหุ้มด้วยยางแบบที่ใช้กันแต่ก่อน ช่วยลดความเมื่อยล้าบริเวณปากและกราม ให้ความสบายในการขยับดึงสายต่างๆ มากขึ้น จึงเป็นที่นิยมกันมากขึ้นในปัจจุบัน
เราได้สรุปข้อควรรู้ต่างๆ เกี่ยวกับสาย Miflex มาให้ศึกษากัน เพื่อจะได้ใช้งานกันได้อย่างเหมาะสม ปลอดภัย รวมถึงดูแลบำรุงรักษาให้ใช้งานกันได้ยาวๆ ด้วย ดังนี้
การติดตั้งสายเข้ากับเร็กกูเลเตอร์
- ศึกษาคู่มือของอุปกรณ์ที่จะต่อกับสายเสมอ
- ควรเลือกสายที่มีความแข็งแรง มีขนาดที่เหมาะกับการใช้งาน หากมีข้อสงสัยหรือความกังวลเกี่ยวกับการติดตั้ง การใช้งาน หรือประสิทธิภาพของสาย Miflex โปรดหยุดใช้งานทันทีและติดต่อ Miflex ที่ www.miflex.com หรือร้านดำน้ำในพื้นที่
- ติดตั้งสายแรงดันต่ำเข้ากับช่องจ่ายแรงดันต่ำของ 1st stage เท่านั้น เพื่อป้องกันการบาดเจ็บและความเสียหายที่จะเกิดขึ้น
- อย่าขันสายเข้ากับข้อต่อแน่นเกินไป แรงบิดสูงสุดในการขันอยู่ที่ 5Nm (5 นิวตันเมตร เท่ากับการออกแรงประมาณ 4-5 กิโลกรัม เมื่อใช้ประแจยาวประมาณ 10-12 ซ.ม.)
- การติดตั้งสายต้องอาศัยความรู้ เครื่องมือ และประสบการณ์เฉพาะด้าน ความถนัดหรือการใช้เครื่องมือทั่วไปอาจไม่สามารถติดตั้งสายได้อย่างเหมาะสม และอาจสร้างความเสียหายให้กับอุปกรณ์และข้อต่อได้ ควรเปลี่ยนและติดตั้งสายโดยช่างเทคนิคที่ผ่านการฝึกอบรมและผ่านการรับรองเท่านั้น ติดต่อได้ที่ร้านดำน้ำและ/หรือศูนย์บริการในพื้นที่
- ไม่ควรนำสายที่ถูกเปลี่ยนแล้วไปใช้ซ้ำอีก ควรตัดเป็นชิ้นและทิ้งทันที
ข้อปฏิบัติและข้อควรระวังในการใช้งาน
- สาย Miflex เป็นสายประสิทธิภาพสูง ซึ่งมีน้ำหนักเบาและยืดหยุ่นกว่าสายทั่วไป (ทำนองเดียวกับที่คาร์บอนไฟเบอร์มีข้อได้เปรียบมากกว่าเหล็ก คาร์บอนไฟเบอร์จะแสดงประสิทธิภาพที่แตกต่างกันออกไป มีการดูแลรักษาและการใช้งานที่แตกต่างจากเหล็ก) ขณะเดียวกัน การใช้งานอย่างระมัดระวังและการตรวจสอบก็เป็นสิ่งสำคัญในการใช้งานสาย Miflex ให้มีความปลอดภัย
- ไม่ควรยึดสายในลักษณะที่อาจงอหรือพับในตำแหน่งเดิมตลอดเวลา (เช่น การทำให้เกิด “hinge effect”) การที่สายหักงอที่จุดเดิมซ้ำๆ จะทำให้อายุการใช้งานสั้นลง
- ไม่ควรงอสายมากเกินไป หรือพับสายกลับเข้าหาตัวสายเอง หากสายยาวเกินไปควรม้วนสายและยึดด้วยท่อยางที่ตัดเป็นวง (เช่น ยางในของจักรยาน) ทั้งนี้ รัศมีการโค้งงอไม่ควรต่ำกว่า 3.5 เท่าของเส้นผ่านศูนย์กลางภายนอกของสาย ตัวอย่างเช่น หากเส้นผ่านศูนย์กลางภายนอกของสายคือ 12 mm รัศมีการโค้งงอต่ำสุด (วัดจากด้านในของท่อ) คือ 42 mm
- หากสายมีร่องรอยความเสียหายแม้เพียงเล็กน้อย ให้เปลี่ยนสายใหม่ทันที เพราะสายที่ชำรุดหรือเสื่อมสภาพอาจเกิดปัญหาอย่างฉับพลันโดยไม่มีสัญญาณเตือนใดๆ ส่งผลให้อากาศรั่ว และควรพกสายสำรองไว้เสมอ
- ไม่ควรปล่อยให้สายห้อยโดยมีเร็กกูเลเตอร์ติดอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไม่มีอากาศแรงดันสูงอยู่ภายในสาย ควรยึดสายติดกับ BCD ของด้วยตะขอหรือสายรัด ให้สามารถขยับได้พอประมาณ โดยยึดกับเร็กกูเลเตอร์โดยตรง หรือบริเวณใกล้กับข้อต่อของสาย
- ระหว่างเก็บสายหรือเคลื่อนย้ายสาย มีโอกาสที่สายจะเกิดความเสียหายได้จากหลายปัจจัย ไม่ควรใช้สายในการยกหรือแขวนถังอากาศ ก่อนการดำน้ำทุกครั้งควรตรวจสอบอาการชำรุดหรือเสื่อมสภาพของสายอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะบริเวณใกล้กับข้อต่อ หากสายชำรุดแม้เพียงเล็กน้อย ให้เปลี่ยนสายใหม่ทันที
- เก็บสายให้ห่างจากแหล่งความร้อน
- หลีกเลี่ยงการกระแทกสาย
- หลีกเลี่ยงไม่ให้ถังอากาศไปทับที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของสาย
- อย่าให้ทราย น้ำ หรือสิ่งแปลกปลอมเข้าไปภายในสาย
- สายถูกออกแบบให้ใช้กับก๊าซผสมไนโตรเจน/ออกซิเจน ที่มีสัดส่วนออกซิเจนไม่เกิน 40% การใช้ก๊าซผสมที่มีออกซิเจนมากกว่านี้หรือมีการเพิ่มสารอื่นๆ อาจเป็นสาเหตุให้เกิดการกัดกร่อน เสื่อมสภาพ ส่งผลต่ออายุการใช้งาน หรือเกิดการทำงานผิดพลาดได้
- ไม่ควรดำน้ำโดยที่ไม่ผ่านหลักสูตรจากสถาบันดำน้ำที่ผ่านการรับรอง
การดูแลและบำรุงรักษา
- เพื่อเป็นการไล่น้ำและสิ่งปนเปื้อนออกจากสายทั้งหมด หลังจากดำน้ำเสร็จแต่ละครั้ง ให้ล้างเร็กกูเลเตอร์ด้วยน้ำสะอาด เมื่อทุกส่วนแห้งแล้วให้ต่อ 1st stage กับถังอากาศและกด 2nd stage ไล่อากาศซ้ำๆ กดไล่ลม BCD และวาล์วของ dry suit ที่เชื่อมเข้ากับสายแล้ว
- สาย Miflex จำเป็นต้องมีการตรวจสอบความเสียหาย การสึกหรอและฉีกขาดเป็นประจำ และแม้ว่าสายจะทนทานต่อการเสียดสีและมีอายุการใช้งานยาวนานกว่าสายแบบเดิม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เสื่อมสภาพลง การดูแลและตรวจสอบอย่างระมัดระวังเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำใช้สายดำน้ำได้อย่างปลอดภัย
- มองหาร่องรอยความเสียหายหรือคราบที่สะสมบริเวณข้อต่อ โดยเฉพาะบริเวณสายเติมลม BCD หากการขยับสายมีการติดขัด ให้ทำความสะอาดสายตามคำแนะนำ และหากยังไม่ดีขึ้น ควรเปลี่ยนสายใหม่
- หากไม่แน่ใจว่าสายโดนหินบาด ถูกทำให้บิดงอ หรือถูกแรงกระทำอื่นๆ หรือไม่ในระหว่างการดำน้ำ หลังจากสิ้นสุดการดำน้ำทุกครั้ง ควรตรวจสอบความเสียหายของสายอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะบริเวณใกล้กับข้อต่อ
- หากสายมีการครูดที่ผิวชั้นนอก โดยเฉพาะเมื่อใช้ดำน้ำในถ้ำซึ่งสายอาจเสียดสีกับพื้นผิวที่แหลมคมหรือขรุขระ แนะนำให้ทำการให้เปลี่ยนสายใหม่
- หากเส้นใยสายรุ่ยมากกว่า 6 เส้นในบริเวณเดียวกัน ให้ทำการเปลี่ยนสายใหม่ จากการออกแบบของสาย อาจไม่ได้มีอากาศรั่วในทันที แต่ก็มีร่องรอยของการสึกหรอ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาในอนาคตได้ ดังนั้นควรลดความเสี่ยงโดยการเปลี่ยนสายใหม่เสมอ
- หากมีความเสียหายหรือมีคราบสะสมมากเกินไปบนข้อต่อของสาย ให้ทำการเปลี่ยนสายใหม่
- ห้ามตัดสาย Miflex และเชื่อมข้อต่อใดๆ เข้าไปอีก เพราะสายอาจเกิดปัญหาการใช้งานได้
- หลีกเลี่ยงการใช้สารทำความสะอาดที่มีความรุนแรงกับสาย ให้ใช้สบู่อ่อน และน้ำอุ่นทำความสะอาดสาย
- แนะนำให้เปลี่ยนสายทุก 5 ปี
การทำความสะอาด
สาย Miflex จำเป็นต้องมีการตรวจสอบและบำรุงรักษาเป็นประจำตามรอบระยะเวลาที่เหมาะสม เช่นเดียวกับอุปกรณ์ดำน้ำอื่นๆ หลังการดำน้ำแต่ละครั้งควรทำความสะอาดเพื่อให้แน่ใจว่าสายยังอยู่ในสภาพดี และสามารถตรวจสอบได้เป็นประจำ
เมื่อทำความสะอาดสายและข้อต่อเพื่อลดการสะสมของตะกรัน ควรใช้สารขจัดตะกรันที่มีกรดซิตริกเป็นหลัก เช่นเดียวกับข้อต่อทองเหลืองทั้งหลาย ที่อาจเกิดการสะสมของตะกรันเล็กน้อยในช่วงเวลาหนึ่งได้ และควรเอาตะกรันออกอย่างระมัดระวังเพื่อป้องกันความเสียหาย
ไม่ควรใช้สารขจัดตะกรันที่มีกรดฟอสฟอริกเป็นส่วนประกอบ เพราะอาจสร้างความเสียหายให้กับผิวชั้นนอกของสาย
รายละเอียดเกี่ยวกับการขจัดตะกรันของสาย Miflex
- ทนต่อ Dekalin® ที่อุณหภูมิห้อง
- ทนต่อการขจัดตะกรัน (อิงจาก (10% ของน้ำหนัก) กรดฟอร์มิก อะซิติก ซิตริก) ที่อุณหภูมิห้อง
- ความต้านทานต่อการขจัดตะกรันมีข้อจำกัด (อิงจาก (10% ของน้ำหนัก) กรดฟอร์มิก อะซิติก และกรดซิตริก) ที่อุณหภูมิ 50°C (การสัมผัสกับตัวกลางเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดความเสียหายอย่างถาวร)
- ทนต่อการขจัดตะกรัน (อิงจาก (10% ของน้ำหนัก) กับโซเดียม ไฮโดรเจน ซัลเฟต) ที่อุณหภูมิห้อง
- ความต้านทานต่อการขจัดตะกรันมีข้อจำกัดต่อสารซักล้าง (<10% ของน้ำหนัก) ที่อุณหภูมิ 80°C (การสัมผัสกับตัวกลางเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดความเสียหายอย่างถาวร)
คำแนะนำในการตรวจสอบ
- สาย Miflex ได้รับการผลิตตามมาตรฐานสูงสุดเกินกว่าข้อกำหนด EN2501
- เครื่องหมายการค้า Miflex จะถูกพิมพ์ด้วยเลเซอร์ลงบนสายทุกเส้น เพื่อสร้างความมั่นใจในคุณภาพของผลิตภัณฑ์
- สาย Miflex ได้รับการจดสิทธิบัตรและถูกออกแบบมาเพื่อวัตถุประสงค์โดยเฉพาะ ในระหว่างกระบวนการผลิต สายทุกเส้นจะได้รับการทดสอบเพื่อให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นมีคุณภาพสูงสุด
- วัสดุของสายชั้นในเป็นโพลียูรีเธน (Polyurethane) ที่ทำจากโพลีอีเธอร์ (Polyether)
- วัสดุทั้งหมดได้รับการรับรองจาก RoHS2 ว่าไม่มีสารอันตรายในกระบวนการผลิต
- รับประกันด้วยความมุ่งมั่นของแบรนด์ในการรักษาคุณภาพให้เป็นที่ยอมรับ
ใครสนใจซื้อหรือชมสินค้าตัวจริง แวะไปที่ร้าน Scuba Outlet ได้เลย หรือ ทักไลน์ร้าน @scubaoutlet มาคุยกันก็ได้
ข้อมูลอ้างอิง
- Miflex Maintenance Tips
- เอกสารประกอบสินค้า
Footnotes
- EN250 เป็นมาตรฐานของกลุ่มประเทศยุโรปที่กำหนดคุณสมบัติขั้นต่ำของอุปกรณ์ช่วยหายใจใต้น้ำแบบใช้อากาศอัดวงจรเปิด (open-circuit ซึ่งก็คือแบบที่นักดำน้ำทั่วไปใช้กันนี่เอง) ทั้งส่วนประกอบหลักและย่อย เพื่อให้แน่ใจว่าอุปกรณ์จะทำงานอย่างปลอดภัยที่ความลึกสูงสุด 50 ม.
- RoHS (ย่อมาจาก Restriction of Hazardous Substances) เป็นมาตรฐานยุโรปที่จำกัดการใช้สารที่เป็นอันตรายในอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยในปัจจุบัน ได้กำหนดสารที่จำกัดปริมาณไว้ 6 ชนิด ได้แก่
1.ตะกั่ว (Pb)
2.ปรอท (Hg)
3.แคดเมียม (Cd)
4.เฮกซะวาเลนท์ (Cr-VI)
5.โพลีโบรมิเนต ไบเฟนนิลส์ (PBB)
6.โพลีโบรมิเนต ไดเฟนนิล อีเธอร์ (PBDE)แต่มีข้อยกเว้นสำหรับอุปกรณ์บางอย่าง ที่ไม่สามารถใช้สารอื่นๆ มาแทนที่ได้ เช่น หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ เป็นต้น