ภาษีหัก ณ ที่จ่าย (Withholding Tax) ชื่อเรียกภาษี แต่ตัวจริงไม่ใช่ภาษี

ภาษีอีกตัวหนึ่งซึ่งหลายคนยังเข้าใจผิด และหลายธุรกิจก็พยายามเลี่ยงไม่ยอมจ่าย ถึงขั้นที่ว่า ผู้ให้บริการบางรายต้องระบุไว้ในสัญญาว่า ผู้ใช้บริการต้องเป็นผู้จ่ายภาษีส่วนนี้ให้ด้วย ทั้งที่จริงๆ แล้ว จะบอกว่ามันไม่ใช่ภาษีเลยก็ได้ นั่นก็คือ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย (Withholding Tax) ครับ

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คืออะไร

ถ้ากล่าวตามนิยามที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากรเลยนะครับ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คือ การจัดเก็บภาษีเงินได้ล่วงหน้า ณ ตอนที่ได้รับเงินรายได้นั้น โดยรัฐกำหนดให้ผู้ที่จ่ายเงินมีหน้าที่จัดเก็บจากผู้รับเงิน โดยหักออกมาจากยอดเงินที่กำลังจะจ่าย แล้วนำส่งรัฐเป็นรายเดือน … โดยที่ขั้นตอนการจ่ายภาษีเงินได้ตามปกติ จะให้ผู้มีเงินได้เป็นผู้คำนวณจากรายได้รวมทั้งปีและนำส่งเป็นรายปี

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย จึงไม่ใช่ภาษีประเภทพิเศษที่ทำให้เราต้องเสียภาษีเพิ่มมากขึ้นแต่อย่างใด เพียงแต่กำหนดให้ผู้จ่ายเงินเป็นผู้หักเอาไว้เพื่อนำส่งรัฐ (เพราะถ้าให้ผู้รับเงินเป็นผู้จ่าย อาจแอบหลีกเลี่ยงและไม่ยอมแจ้งไม่ยอมจ่ายกัน)

อัตราภาษีที่จะหักไว้จะแตกต่างกันไปตามประเภทของรายได้ เช่น ถ้าเป็นรายได้จากการให้บริการทั่วไปก็หักเอาไว้ 3% ถ้าเป็นรายได้จากค่าเช่าก็หักเอาไว้ 5% เป็นต้น ภาษีจากดอกเบี้ยธนาคารที่เพิ่งจะเป็นที่สนใจกัน นั่นก็คือภาษีหัก ณ ที่จ่ายนี่ล่ะครับ

สมมติว่า เรากำลังจะรับเงินค่าบริการจัดนำเที่ยว 20,000 บาทจากบริษัทผู้ใช้บริการ บริษัทนั้นจะมีหน้าที่หักเงินเราไว้ 3% เท่ากับ 600 บาท จ่ายให้แก่เราเพียง 19,400 บาท แล้วเขาจะนำเงิน 600 บาทที่หักไว้นั้น ส่งแก่สรรพากรในเดือนถัดไป

แล้วทำไมจึงไม่ถือว่า สิ่งนี้คือภาษี

เมื่อถืงสิ้นปี เราต้องนำรายได้และค่าใช้จ่ายรวมทั้งปีของเรามาคำนวณยอดภาษีเงินได้ (income tax) ที่ต้องจ่ายให้แก่รัฐ เช่นเดียวกันกับทุกคนที่มีรายได้ ไม่ว่าบุคคลธรรมดา ห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทฯ และเงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย ที่เราถูกหักไว้ระหว่างปีนั้น จะนำมาใช้เป็นเครดิตภาษีของเรา ว่าเราได้จ่ายภาษีไปแล้วเท่านี้นะ หักลบออกไปแล้ว ยังขาดอีกเท่าไหร่ก็จ่ายเพิ่มไป ถ้าจ่ายเกินไปกว่าที่คำนวณได้ ก็ขอคืนได้ตามจำนวนที่จ่ายเกินไป

พอดูครบทั้งกระบวนการแล้ว จะพบว่าตัวภาษีจริงๆ ที่เราต้องจ่ายคือ ภาษีเงินได้ตามปกตินั่นเอง ส่วนภาษีหัก ณ ที่จ่าย เป็นกระบวนการจัดเก็บภาษีเงินได้ โดยให้จัดเก็บตั้งแต่ตอนที่จะรับเงิน ไม่รอมารวบยอดคำนวณและเก็บเงินทีเดียวตอนสิ้นปี นั่นเอง

ชื่อเต็มของภาษีนี้คือ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

หมายเหตุ: นิยามของภาษีหัก ณ ที่จ่าย หรือ Withholding Tax ตามแบบฝรั่ง (อ้างอิง Wikipedia) จะเรียกว่า เป็นภาษีเงินได้ที่จัดเก็บโดยผู้จ่ายเงิน ณ ตอนที่จ่าย ซึ่งถ้านิยามอย่างนี้ก็ถือว่าเป็นภาษีได้เหมือนกัน แต่เป็นส่วนหนึ่งของภาษีเงินได้นั่นเอง ไม่ใช่ภาษีประเภทใหม่ที่แยกออกมาหรือเหมือนกับว่าต้องจ่ายภาษีมากกว่าภาษีเงินได้ตามปกติ

ใครบ้างมีหน้าที่เรียกเก็บและนำส่งภาษี

รัฐกำหนดให้ผู้จ่ายเงินได้ทุกคน ทั้งนิติบุคคล (สำหรับทุกประเภทเงินได้) และบุคคลธรรมดา (สำหรับเงินได้บางประเภทเท่านั้น) มีหน้าที่เรียกเก็บและนำส่งภาษีนี้ และหน้าที่นี้มีขึ้นทันทีโดยไม่ต้องมีการจดทะเบียนอะไร

ส่วนผู้ที่ถูกหักภาษีไว้ คือทุกคนที่ทำงานหรือให้บริการกับนิติบุคคล ซึ่งก็ไม่ได้มีแต่นิติบุคคลหรือคนทำงานฟรีแลนซ์เท่านั้น ที่จริงพนักงานกินเงินเดือนทั่วไปก็ถูกเรียกเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่ายแบบนี้ทุกเดือนเช่นเดียวกัน เพียงแต่วิธีคำนวณภาษีจะใช้วิธีคำนวณว่ายอดรวมเงินได้ทั้งปีจะเป็นเท่าไหร่ แล้วคำนวณภาษีจากยอดนั้นด้วยอัตราภาษีเงินได้จริงๆ ได้เลย ไม่ได้ใช้อัตราคงที่เหมือนรายได้ประเภทอื่น

ประเภทรายได้และอัตราภาษี มีอะไรบ้าง

ผมขอสรุปประเภทรายได้ที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายและอัตราภาษีที่ใช้บ่อยๆ นะครับ

  • ค่าเช่าทรัพย์สิน … หัก 5%
  • วิชาชีพอิสระ เช่น วิชากฎหมาย วิศวกรรม สถาปัตยกรรม บัญชี … หัก 3%
  • การรับจ้างทำของ เป็นตัวแทนขาย/นายหน้า หรือให้บริการต่างๆ … หัก 3%
  • ค่าโฆษณา … หัก 2%
  • การเป็นนักแสดงสาธารณะ … หัก 5%
  • เงินรางวัลจากการประกวด แข่งขัน หรือชิงโชค … หัก 5%
  • เงินรางวัลจากส่วนลดจากการส่งเสริมการขาย … หัก 3%
  • ค่าลิขสิทธิ์ … หัก 5%
  • ดอกเบี้ยเงินฝาก … หัก 15%
  • เงินปันผลจากหุ้นส่วนธุรกิจ … หัก 10%
  • ค่าขนส่ง … หัก 1% … แต่สำหรับไปรษณีย์ไทย ไม่ต้องหักเพราะเป็นองค์กรที่ได้รับยกเว้น

ส่วนการซื้อขายสินค้า มีเฉพาะการขายพืชผลการเกษตรบางชนิดเท่านั้น ส่วนใหญ่ไม่มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด

อัตราหักภาษี ณ ที่จ่ายมีรายละเอียดมากกว่านี้พอสมควร ใครสนใจแบบละเอียดสามารถอ่านได้จาก คู่มือการหักภาษี ณ ที่จ่าย (ไฟล์ PDF) จัดทำโดยกรมสรรพากร

จัดเก็บแบบนี้เพื่อประโยชน์อะไร

มีเหตุผลอยู่ 2 ประการ คือ

1. ประเทศต้องการเงินหมุนเวียนเพื่อใช้จ่าย จึงต้องมีวิธีจัดเก็บเงินภาษีเป็นระยะๆ จะรอจ่ายภาษีปลายปีเลยจะไม่ทันการณ์ และเมื่อรัฐใช้จ่ายเงินเหล่านี้ออกไปก็ช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศหมุนไปแล้วธุรกิจของเราทุกคนก็หมุนตามกันไปด้วย

2. ป้องกันคนเลี่ยงภาษี แจ้งรายได้ไม่ครบ หรือไม่ยอมแจ้งรายได้ของตัวเอง ก็เรียกเก็บไว้ก่อนตั้งแต่ตอนที่จะรับเงินเสียเลย โดยให้ผู้จ่ายเงินรายได้เป็นผู้หักเอาไว้

ทำไมบางคนจึงไม่ยอมถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย

  1. ความรู้สึก ความเข้าใจเรื่องภาษี … หากเราไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องภาษี ไม่เคยยื่นภาษีเงินได้ประจำปีเลย ได้แต่ทำงานรับเงินตามแต่ผู้ว่าจ้างจะบอกมา เราก็อาจจะรู้สึกว่าเราถูกหักเพิ่มตรงนั้นตรงนี้ ทั้งที่จริงๆ แล้วถ้ามีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ เราก็สามารถขอคืนภาษีส่วนนี้ได้ด้วย
  2. เมื่อขอคืนภาษี กรมสรรพากรจะเข้าไปตรวจสอบบัญชี … การขอตรวจสอบบัญชีเป็นสิ่งที่สรรพากรสามารถทำได้อยู่แล้ว แต่ปกติหากไม่มีเหตุอะไร สรรพากรก็คงไม่เสียเวลามาตรวจกันทุกคนทุกบริษัทหรอกครับ ทีนี้เมื่อเราต้องการขอคืนภาษี (ที่ถูกหักไว้เกินที่ต้องจ่ายจริงตอนสิ้นปี) ก็เป็นเหตุหนึ่งให้สรรพากรต้องเข้ามาตรวจสอบการลงบัญชีของเราว่าถูกต้องเรียบร้อย และมียอดภาษีจ่ายไว้เกินจริงๆ ควรที่จะคืนภาษีให้หรือไม่ ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม
    แต่ในทางปฏิบัติจริงๆ การเข้าตรวจของสรรพากรนั้นก็ย่อมต้องรบกวนเวลาทำงานปกติของธุรกิจบ้างไม่มากก็น้อย รวมถึงบางครั้งก็จับความผิดพลาดเล็กน้อยมาเป็นเหตุให้ไม่อาจขอคืนภาษีได้ในที่สุด (เป็นเรื่องยากมากที่จะทำงานใดได้ถูกต้อง 100%) ทำให้ธุรกิจส่วนใหญ่ยอมที่จะไม่ขอคืนเงินส่วนนี้ดีกว่าจะต้องเสียเวลาไปกับการตรวจสอบ … อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังนี้ หลายธุรกิจได้ทำบัญชีอย่างตรงไปตรงมาและครบถ้วน ถ้ามียอดหักภาษีไว้สูงกว่ายอดที่ต้องจ่ายจริงมาก ก็จะยื่นขอคืนภาษีกันจริงจังและพร้อมรับการตรวจสอบด้วย (เพราะมั่นใจในข้อมูลบัญชีของตัวเองมาก) ซึ่งส่วนใหญ่ก็สำเร็จเรียบร้อยดี
  3. เป็นธุรกิจที่แต่งบัญชีเพื่อเลี่ยงภาษีอยู่ … สำหรับธุรกิจที่บันทึกบัญชีไม่ตรงตามความจริงเพื่อให้มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ จนแทบจะไม่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว การถูกหัก ณ ที่จ่ายจะเป็นเรื่องใหญ่เพราะเป็นส่วนที่เรียกได้ว่า แทบจะหมดโอกาสขอคืนภาษีกันเลยทีเดียว ตามเหตุการณ์ในข้อก่อนหน้านี้ ธุรกิจที่ปกติแต่งบัญชีก็อาจไม่อยากเสียเงินส่วนนี้จึงไม่ยอมถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายโดยระบุไว้ในสัญญาตั้งแต่ต้นเลย

ความจริงแล้ว ถ้าเป็นธุรกิจที่ทำบัญชีตามปกติ หากอยู่ได้และเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ย่อมมีกำไรและมียอดภาษีเงินได้ที่ต้องชำระอย่างแน่นอน และยอดภาษีที่ถูกหักไว้นี้ก็จะไม่มากกว่ายอดภาษีเงินได้ที่คำนวณตอนสิ้นปีหรอกครับ จึงไม่ต้องห่วงมากว่าจะจ่ายภาษีเกินไปและไม่สามารถขอคืนได้ (เนื่องจากเหตุข้อ 2. นี้) หรอกครับ

สรุป

ถ้าเข้าใจแล้วว่า ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ตามที่เล่ามาข้างต้นนี้แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องกังวลว่ามันเป็นภาษีอีกประเภทหนึ่งที่เราต้องจ่ายเพิ่มหรือเปล่า แค่ถูกหักไปก่อนแล้วนำมาคำนวณยอดภาษีจริงทีหลัง ขาดเหลือก็จ่ายเพิ่มหรือขอคืน สามารถทำธุรกิจกับคนอื่นๆ ได้อย่างที่ควรจะเป็น ไม่ต้องขอยกเว้นหรือให้ผู้ใช้บริการออกให้เราแทน

ก็จะเหลือเพียงแค่ว่า สำหรับธุรกิจที่เพิ่งดำเนินการกันไม่กี่ปี อาจยังไม่มีกำไรหรือมีกำไรไม่มากนัก (หรือแม้แต่ธุรกิจที่เปิดมานานแล้วแต่บางปีก็กำไรน้อยได้เหมือนกัน) จนไม่มียอดภาษีที่ต้องจ่ายเลย การถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้โดยไม่สามารถขอคืนจากสรรพากรได้ (เพราะจะวุ่นวายเรื่องการตรวจสอบบัญชี ซึ่งทั้งเสียเวลาและมีโอกาสที่จะไม่ได้คืนสูง เช่น ไม่มีใครจะทำได้ถูกต้อง 100%) แล้วภาษีนี้ก็จะกลายเป็นค่าใช้จ่ายจริงๆ ขึ้นมา เรื่องนี้ก็ต้องลองหาทางออกกันดูครับ

หากมีเจ้าหน้าที่สรรพากรคนใดได้อ่านเรื่องนี้แล้ว ได้เข้าใจว่าธุรกิจตั้งใหม่หลายราย โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจบริการซึ่งรายได้หลักถูกหัก ณ ที่จ่ายเอาไว้จำนวนมากระหว่างปี แล้วขอคืนได้ยากหรือไม่ได้ กลายเป็นเพิ่มภาระต้นทุนโดยไม่จำเป็นเลย ถ้าจะลองพิจารณาปรับวิธีการทำงานให้เหมาะสมกับสถานะของธุรกิจได้ด้วย (เงินภาษีที่สรรพากรเก็บไว้ได้ เทียบกับค่าใช้จ่ายที่ธุรกิจต้องเสีย หรือภาระงานต้นทุนเวลาในการรับการตรวจสอบมากเกินไป โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้น หากปรับใช้ให้ถูกทั้งกฎหมายและเหมาะทั้งสถานการณ์) ก็จะเป็นคุณประโยชน์ต่อส่วนรวมมากครับ

หากต้องการทราบรายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับการหักภาษี ณ ที่จ่าย ลองอ่านเพิ่มเติมจากลิงค์ด้านล่างนี้ครับ