การขึ้นสู่ผิวน้ำอย่างปลอดภัย

การขึ้นสู่ผิวน้ำ เมื่อเราจะจบการดำน้ำในแต่ละไดฟ์นั้น เป็นเรื่องที่สำคัญมาก อาจจะเรียกได้ว่า เป็นเรื่องสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งในการดำน้ำก็ว่าได้ เนื่องจากอันตรายที่หากจะมีจากการดำน้ำ มักจะเกิดขึ้นขณะขึ้นจากความลึกสู่ความตื้นมากกว่า อย่างไรก็ดี อันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากการขึ้นสู่ผิวน้ำนั้นหลีกเลี่ยงได้โดยง่าย หากนักดำน้ำมีความระมัดระวังและทำตามขั้นตอนของความปลอดภัยทุกครั้ง

ปัญหาที่มักจะพบอยู่บ่อยๆ ก็คือ นักดำน้ำทราบขั้นตอนในการขึ้นสู่ผิวน้ำอย่างปลอดภัยเป็นอย่างดี แต่อาจจะไม่สนใจที่จะทำตามขั้นตอนนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อดำน้ำจนเกิดความชำนาญแล้ว จะข้ามขั้นตอนของความปลอดภัยกันหลายอย่างด้วยกัน

สำหรับขั้นตอนในการขึ้นสู่ผิวน้ำที่ปลอดภัย ในความเห็นของผมน่าจะมีดังนี้ครับ

  1. ตกลงและให้สัญญาณกับบัดดี้ของเรา เนื่องจากว่าการพลัดหลงกับบัดดี้มักจะเกิดขึ้นโดยง่ายและเกิดขึ้นบ่อยๆ ขณะดำลงและดำขึ้น จึงควรให้สัญญาณกับบัดดี้ว่าจะเริ่มดำลงหรือจะเริ่มขึ้นสู่ผิวน้ำ และหากดำน้ำไปเป็นกลุ่มก็ควรให้สัญญาณกับไดฟ์มาสเตอร์หรือผู้นำกลุ่มด้วยจะยิ่งดีขึ้น
  2. ตรวจสอบเวลาในการดำน้ำ เนื่องจากมีหลายครั้งที่นักดำน้ำขึ้นมาสู่ผิวน้ำขึ้นมาบนเรือแล้ว ลืมตรวจสอบเวลาในการดำน้ำ (bottom time) และทำให้ยากต่อการวางแผนการดำน้ำ ครั้งต่อไป การตรวจสอบด้วยการดูนาฬิกาหรือเครื่องมือจับเวลาใต้น้ำ ก่อนที่จะเริ่มขึ้นมาสู่ผิวน้ำจะเป็นวิธีการที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเราทำจนเป็นนิสัย การขึ้นสู่ผิวน้ำจะยิ่งสะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้น หากเราสามารถหาสิ่งที่จะใช้ช่วยในการขึ้น เช่น เชือกสมอ เชือกทุ่น ผนังหน้าผา กำแพงใต้น้ำ ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชือกนั้นจะช่วยให้เราสามารถควบคุมอัตราความเร็วในการขึ้นได้เป็นอย่างดี หากเราไม่มีเครื่องช่วยเหล่านี้ เราก็ควรที่จะให้ความสนใจกับอุปกรณ์ของเรา เช่น มาตรวัดความลึกและนาฬิกา เพื่อจะควบคุมอัตราความเร็วในการขึ้น นอกจากนั้น เราต้องคอยระวังกระแสน้ำ ควรสังเกตฟองอากาศ ควรสังเกตบัดดี้ของเรา ในขณะเดียวกันด้วย
  3. ควรเตรียมพร้อมก่อนที่จะเริ่มขึ้น นักดำน้ำควรจับท่อ low pressure inflater ชูขึ้นไว้ก่อนที่จะเริ่มขึ้น ที่ให้จับท่อไว้ไม่ใช่ให้เติมลมเพื่อช่วยในการขึ้นนะครับ การเติมลมเพื่อช่วยให้ขึ้นได้ง่ายขึ้นนั้น ควรจะหลีกเลี่ยงโดยเด็ดขาด เนื่องจากหากไม่ชำนาญหรือหากไม่ได้รับการฝึกฝนอย่างดีพอแล้ว จะทำให้เราขึ้นสู่ผิวน้ำด้วยความเร็วสูงเกินไป เนื่องจากการขยายตัวของอากาศในเสื้อ BCD ของเรา การจับท่อเอาไว้นั้นเพื่อจะได้คอยปล่อยลมออกจาก BCD เมื่อรู้สึกว่าอากาศขยายตัวและทำให้อัตราความเร็วของเราเพิ่มขึ้นนั่นเองครับ ในขณะเดียวกัน เราชูท่อปล่อยอากาศเอาไว้ในมือซ้าย มือขวาของเราก็ควรที่จะยกชูขึ้น เหนือศีรษะไว้ด้วย เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้ศีรษะของเราไปกระแทกกับอะไร ขณะที่ขึ้น จริงอยู่ครับ ถึงแม้ว่าเราจะเงยหน้าในขั้นตอนต่อไปของการขึ้นอย่างปลอดภัย แต่การชูมือไว้เป็นนิสัยนั้นจะยิ่งทำให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น เนื่องจากบางครั้งเราอาจมองไม่เห็นสิ่งที่อยู่เหนือศีรษะหรือบางครั้งเราก้มลงไปดูอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นต้องคอยสังเกต เช่น นาฬิกา มาตรวัดความลึก หรือ Dive Computer
  4. ก่อนจะเริ่มขึ้นสู่ผิวน้ำ การเตรียมพร้อมมีอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญ คือการเงยหน้าและหมุนไปรอบๆ เพื่อจะดูว่ามีอะไรขวางทางเราอยู่หรือไม่ ขณะที่เราจะเริ่มว่ายขึ้นสู่ความตื้น หากไม่เงยหน้าและไม่หมุนตัวดูให้ดี เราอาจว่ายขึ้นไปชนกับสิ่งต่างๆ ที่อยู่เหนือตัวเราขึ้นไป บางครั้งอาจเกิดการบาดเจ็บขึ้นก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไปชนเอาสัตว์ทะเลที่มีพิษ เช่น แมงกะพรุน
  5. จากนั้นก็เริ่มการว่ายน้ำขึ้นสู่ผิวน้ำ จะต้องช้า ยิ่งช้าเท่าไรยิ่งดี จากเอกสารหลายฉบับที่ค้นคว้ามา ก็พบว่า มีการแนะนำให้ขึ้นด้วยความเร็วไม่เกิน 18 เมตร (60 ฟิต) ต่อนาที และยิ่งไปกว่านั้น หลายแหล่งแนะนำว่าควรขึ้นให้ช้ากว่านั้นอีก คือควรเป็น 9 เมตร (30 ฟิต) ต่อนาที ซึ่งความเร็วขนาดนี้ ช้ามากๆ ช้ากว่าที่เราขึ้นตามฟองอากาศที่เราหายใจออกมากนักครับ

อัตราความเร็วในการขึ้นสู่ผิวน้ำนั้น มีบางที่แนะนำให้ใช้ความเร็ว 18 เมตรต่อนาทีเมื่ออยู่ที่ลึกเกิน 18 เมตร และเปลี่ยนมาใช้ความเร็ว 9 เมตรต่อนาทีเมื่อขึ้นมาตื้นกว่า 18 เมตร โดยมีเหตุผลรองรับที่ดี แต่คงไม่สามารถเอามาเขียนไว้ได้ในที่นี้ครับ เนื่องจากข้อความจะยาวเกินไป

ขณะที่เราว่ายขึ้นสู่ผิวน้ำนั้น ก็ควรที่จะเงยหน้าและมองไปรอบๆ อยู่อย่างสม่ำเสมอด้วยนะครับ ส่วนการหายใจของเรานั้น ก็ควรหายใจอย่างปกติที่เราดำน้ำกัน คือหายใจยาวๆ ลึกๆ และเน้นเรื่องการหายใจออกให้สมบูรณ์แบบมากหน่อยก็จะยิ่งดีครับ สิ่งสำคัญก็คือ ห้ามกลั้นหายใจโดยเด็ดขาดนะครับ

เมื่อเราขึ้นมาถึงความลึกที่ 5 เมตร (15 ฟิต) ก็เป็นการดีที่เราจะหยุดอยู่ที่ความลึกนั้นสักพักหนึ่ง การหยุดตรงนี้มีเหตุผลหลายประการครับ

  • ประการแรก คือเพื่อให้เราได้ระบายไนโตรเจนออกจากร่างกายของเรา เพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นไปกว่าการขึ้นสู่ผิวน้ำโดยตรง หรือที่เรียกกันจนชินปากว่าการทำ Safety Stop นั่นเองครับ
  • ประการที่สอง คือเราจะได้ให้โอกาสให้ปอดของเราปรับแรงดันและลดความเสี่ยงในการเป็น Air Embolism ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเสี่ยงมากขณะที่ขึ้นมาช่วง 1 หรือ 2 เมตรสุดท้าย
  • ประการที่สาม คือการผ่อนคลายจากความเครียดในการระวังขณะที่เราขึ้นมา และเราจะได้สังเกตบัดดี้ของเราว่าเรียบร้อยดีหรือเปล่า
  • ประการที่สี่ คือเราจะได้สังเกตว่ามีเรือหรือสิ่งกีดขวางอื่นๆ ที่จะขวางทางของเรา ขณะที่เราจะขึ้นสู่ผิวน้ำหรือไม่

การหยุดที่ความลึก 5 เมตรนี้ ควรหยุดอย่างน้อยสามนาที แต่หากว่าเราดำน้ำลึกมากหรือดำน้ำนานมาก หรือรู้สึกว่าเหนื่อยหรือหนาวกว่าการดำตามปกติของเราแล้ว ก็น่าจะเป็นการดีที่เราจะยืดเวลาในการหยุดที่ความลึกนี้ให้นานไปกว่านี้อีกครับ

ขณะที่เราหยุดอยู่ที่ 5 เมตร (15 ฟิต) นี้ หากเราอยู่กลางน้ำ ก็เป็นการดีที่เราจะใช้ทุ่นไส้กรอก (Safety Sausage) ยิงขึ้นไปสู่ผิวน้ำเพื่อให้คนข้างบน ไม่ว่าจะเป็นเรือของเราเองหรือเรือของคนอื่นๆ ได้เห็นว่า มีนักดำน้ำที่กำลังจะขึ้นอยู่บริเวณนี้ ทุ่นดังกล่าวนี้มักมีรูปทรงยาว เมื่อยิงขึ้นไปแล้วจะชูอยู่เหนือผิวน้ำประมาณ 1-1.50 เมตรและจะมีเชือกที่ยาวประมาณ 5 เมตรห้อยอยู่ใต้น้ำ เมื่อเรายิงขึ้นไปแล้วเราก็สามารถจับปลายเชือกไว้ และค่อยๆ ขึ้นมาตามเชือกของทุ่นไส้กรอกนี้ได้เลย อย่างไรก็ดี การใช้ทุ่นไส้กรอกนี้ควรมีการฝึกฝนให้เกิดความชำนาญในการใช้งานเสียก่อน ก่อนที่จะนำไปใช้จริง เพราะบางคน (รวมทั้งตัวผมเอง) ก็เคยยุ่งวุ่นวายหนักกับการใช้งานเจ้าทุ่นนี้มาแล้ว ใหม่ๆ จะรู้สึกเหมือนกับเป็นลิงทอดแหเชียวละครับ ก็เจ้าเชือกทุ่นที่ยาวประมาณ 5 เมตรนั่นแหละ พันแข้งพันขายุ่งไปหมด บางคนถูกทุ่นไส้กรอกดึงขึ้นสู่ผิวน้ำโดยไม่ตั้งใจก็มี แต่หากฝึกฝนแล้ว ก็จะสามารถใช้ได้โดยปลอดภัยครับ

เมื่อเราขึ้นมาสู่ผิวน้ำแล้ว ควรหันไปสังเกตสิ่งรอบๆ ตัว หน้ากากก็ควรให้ใส่ไว้บนใบหน้าก่อน เพราะอาจมีคลื่นซัดเข้าหน้าเราได้ ควรเปลี่ยนไปใช้สนอร์เกิ้ล หรือใช้เร็กฯ ต่อไปหากมีคลื่นสูง เราจะได้ไม่สำลักน้ำ เมื่อตั้งตัวได้แล้วก็ควรหันไปให้สัญญาณ OK กับคนบนเรือหรือคนบนฝั่งที่คอยสังเกตเราอยู่ครับ เวลาขึ้นจากน้ำก็ควรคอยอยู่ห่างๆ จากบันไดนะครับ หากขึ้นจากเรือ เพราะว่าบางครั้งคนที่ขึ้นไปก่อนเราอาจจะเสียหลักตกลงมาในน้ำอีก และหากเราไปรออยู่ใต้บันได โอกาสที่เราจะถูกทับ หรือถูกถังอากาศหล่นใส่ ก็มีมาก เดี๋ยวถังอากาศเขาแตกหักเสียหายไปจะต้องชดใช้กันเยอะครับ ถอดเข็มขัดตะกั่วส่งให้กับคนบนเรือ จับราวบันไดเอาไว้ให้ดีเวลาถอดฟิน รวบอุปกรณ์ไว้จะได้ไม่ไปพันกับบันได หรือสิ่งอื่นๆ เวลาขึ้น แล้วจึงค่อยๆ ปีนบันไดขึ้นมาอย่างระมัดระวังครับ

สรุปแล้วก็คือ 5 Points Ascend ของ PADI นั่นแหละครับ

  1. ให้สัญญาณ
  2. เช็คเวลา
  3. ชูท่อ low pressure inflator ชูมือ
  4. เงยหน้า หมุนไปรอบๆ
  5. ว่ายน้ำขึ้นช้าๆ
เขียนโดยดร. พิชิต เมืองนาโพธิ์
เผยแพร่ครั้งแรก3 ก.ค. 2546