เรื่อง “Check dive? สำคัญไฉน?”
ผมเคยได้ยินคำนี้มานานแล้ว เวลาไป liveaboard แล้วจะได้ยินคำนี้ ด้วยความที่ยังเป็นนักดำน้ำมือใหม่ ก็ดำไปตามปกติทุกครั้ง ไม่ได้มีอะไรแปลกจากไดฟ์ต่อๆ ไปที่จะดำ
พอดำมานานๆ เริ่มเห็นประโยชน์ของเช็คไดฟ์ หลังๆ มาผมเริ่ม เช็คตามคำว่าเช็คไดฟ์จริงๆ
ผมเล่าให้ฟังครับว่าผมเช็คอะไรในเช็คไดฟ์
ผมแบ่งเป็น 3 บริเวณนะครับ
1. ที่ผิวน้ำ
แรกสุดผมจะเช็คน้ำหนักตะกั่ว ส่วนใหญ่ไดฟ์แรก ผมมักจะเช็คว่าน้ำหนักพอไหม ยิ่งถ้าเปลี่ยนใช้ wetsuit ตัวใหม่หรือ BCD ตัวใหม่มา แต่ละรุ่นมีค่าลอยตัวต่างกัน ถึงจะเป็นรุ่นเดียวกันใหม่หรือเก่าก็ลอยจมต่างกัน
นักดำน้ำที่มีอุปกรณ์เป็นของตัวเอง และใช้งานเป็นประจำ จึงเป็นข้อได้เปรียบกว่าน้องๆ มือใหม่ที่เพิ่งดำ ยังไม่ได้ลงทุนซื้ออุปกรณ์ของตัวเอง เพราะแต่ละครั้งที่เช่า ก็ต้องมาไล่เช็คเรื่องแบบนี้ทุกๆ ครั้ง วิธีที่เรามักจะใช้คือ
ใส่น้ำหนักให้เยอะเข้าไว้ก่อนเพื่อให้จมได้ดี
พอเล่าถึงตรงนี้ ผมนึกขึ้นได้ถึงคำว่า “ใส่น้ำหนักเยอะมันหนัก ต้องแบกน้ำหนัก” ทำไมถึงพูดแบบนี้ ก็น้ำหนักใต้น้ำมันไม่มีเพราะเราปรับการลอยตัวให้เป็นกลางแล้วนี่ เดี๋ยวผมมาเขียนเรื่องนี้ให้อ่านอีกในบทความหน้า
ต่อไปผมก็จะเช็คว่า BCD ที่ใส่อยู่มันกดหน้าเราคว่ำไหม เวลามันอยู่ที่ผิวน้ำ ที่ทำเพราะเป็นนิสัยส่วนตัว จากประสบการณ์ตัวเอง ถ้ากดหน้าเราคว่ำ ก็ควรปรับให้ไม่กด เพราะตอนดำเสร็จ ขึ้นมารอดิงกี้มารับ ต้องลอยคออยู่นาน ควรปรับให้เรียบร้อยก่อนจะลงไปซะเลย
และสุดท้ายผมจะสำรวจดูว่า ตอนลงมาจากเรือไม่ว่าจะกระโดดหรือแบ็คโรลลงมา อุปกรณ์ที่ติดตัวอยู่ครบไหม อะไรหลุดบ้าง อะไรตกลงไปตอนกระโดดบ้าง เช่น สาย inflator ถูกรัดไว้ตรงบ่าเรียบร้อยไหม เข็มขัดหรือซองตะกั่วหลุดไหม
2. ตอนที่เริ่มลงไปที่ 5 เมตรแรก
ในไดฟ์แรกนี้ผมมักจะไม่ลงเร็ว พอเคลียร์หูลงมา ก็จะมาแถวๆ 3 – 5 เมตร ผมจะเริ่มเช็ค regulator มีอะไรผิดปกติไหม mouthpiece ฉีกขาดไหม น้ำเข้าไหมเวลาหายใจเข้า เช็คทั้ง reg และ oct เลยนะครับ จริงๆ ก็เช็คที่ผิวน้ำได้ถ้ามีเวลา แต่ถ้ากระโดดลงคนสุดท้าย ก็มาเช็คแถวๆ นี้
ตอนเราลง เราจะรู้แล้วว่าน้ำหนักที่ใส่หนักไปไหม เพราะถ้าปล่อยลมยังไม่ทันหมดแต่เรากลับรูดลงมาเลย แบบนั้นก็หนักเกินไป แต่หนักแบบนี้อาจเหมาะสำหรับดำไดฟ์ไซท์ที่ต้องการลงเร็วๆ เช่น กองหินใต้น้ำในวันที่กระแสแรงๆ
3. ระหว่างดำที่ความลึกตามแผน
ผมจะเช็คสายรัดเอวว่ากระชับไหม อย่าให้แน่นไปนะครับ เดี๋ยวหายใจไม่ทั่วท้องอึดอัด เอาแค่กระชับ ไม่ดำแล้วแท็งค์โยกไปโยกมา
เก็บอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ให้ลากพื้น โดยเฉพาะ เกจวัดความดัน และ octopus น้องๆ มือใหม่มักจะมี pointer ลงไปด้วย ก็เอามาคลิปไว้ที่สายบ่านะครับจะได้ไม่ลากพื้น แล้วเอาไว้ชี้แบบไม่ต้องโดนวัตถุนะครับ ไม่ได้เอาไปปัก กด เขี่ยนะครับ
ลองตีฟินว่ากระชับพอดีไหม หลวมหรือแน่นไปไหม ถ้าไม่พอดีขึ้นไปบนเรือค่อยแก้ไขก่อนลงไดฟ์ต่อไป
การตีฟินมันหนักเบาเกินไปไหม อันนี้ถ้าเป็นอุปกรณ์เช่าคงเลือกไม่ได้
ต่อไปก็ดูกล้อง ถ้าน้องๆ มีกล้อง ดูว่าที่ความลึกขนาดนี้มีการรั่วไหม
สุดท้ายดูเพื่อนๆ ในกลุ่มว่าดำยังไง
ดูบัดดี้ว่าดำอยู่ตรงไหนเราก็ไปอยู่ใกล้ๆ ดูเพื่อนในกลุ่มว่าดำยังไงบ้างให้รู้เป็นแนวทาง แต่ถ้าเป็นไดฟ์หลีด เรื่องนี้คือเรื่องสำคัญเรื่องนึงของการเช็คไดฟ์เพราะเขาจะสังเกตทักษะของลูกทีมแต่ละคน ต้องคอย take care นักดำน้ำเพราะเป็นหน้าที่ของเขา
แต่เราในฐานะนักท่องเที่ยว เราดูแค่คนนี้ดำยังไง เราจะได้ไม่โดนฟินเค้าเตะหน้ากากหลุด หรือโดนมือที่แหวกว่ายอยู่เกี่ยว reg กระเด็นหลุดออกจากปาก 555
ทั้งหมดที่เล่ามานี่ เล่าจากที่ตัวเองทำ อาจมีบางท่านทำมากกว่าหรือน้อยกว่าก็ไม่ได้มีอะไรผิดหรือถูก ท่านไหนจะเพิ่มเติมเชิญแชร์ประสบการณ์ไว้ในคอมเม้นต์ได้เลยครับ
บทความจาก Facebook: Keng Krob