Diving-with-dinghy-002

ขึ้นลงดิงกี้อย่างไรให้ปลอดภัย

สุดสัปดาห์ที่แล้วผมไป liveaboard อันดามันเหนือมา
เป็นการออกทริปครั้งแรกหลังจากอุทยานประกาศใช้กติกาใหม่

บทความนี้ผมจะเขียนจากประสบการณ์ ในทริปที่ผ่านมา (12 – 17 มค.)

ครั้งนี้ผมไปกับ ครูก้อย Scuba Moment เป็นทริปที่ดีมากๆ ผมแฮปปี้กับ staff ของไดฟ์เซ็นเตอร์ ของเรือ Koon 9 และ เพื่อนๆ ในทริปมาก

และผมมีเรื่องที่น่าสนใจจะมาเล่าให้นักดำน้ำมือใหม่แบบผมฟัง เริ่มจาก…….

“ดิงกี้ เครื่องมือใหม่ของอุทยาน”

พอขึ้นเรือได้ เราก็จะพบสิ่งเปลี่ยนไปอย่างหนึ่งคือ อุทยานออกกฎเพื่อรักษาแนวปะการัง และต้องการให้ใช้เรือดิงกี้ไปรับส่งนักดำน้ำที่จุดดำน้ำ แบบที่เรียกว่า ต้องขึ้นเรือดิงกี้ไปกลับจากเรือถึงจุดดำน้ำ ลากนักดำน้ำที่ผิวน้ำก็ไม่ได้ แปลกนะแต่ไม่สงสัยก็ได้ งดเรื่องดราม่า 555

ด้วยความที่หลังผมไม่ค่อยดี ผมก็เป็นห่วงว่าจะขึ้นดิงกี้จากน้ำได้ยังไง?

เขามีบันไดให้ขึ้นครับ ทำขึ้นมาเพื่อการนี้เลย บันไดขึ้นดิงกี้ขึ้นง่าย ยิ่งเรือที่ผมไป ดิงกี้ใหญ่มาก แต่ด้วยความที่กลุ่มผมอายุเยอะแล้ว ครูยิม ไดฟ์หลีดของเราแนะนำให้เราถอด BCD ในน้ำก่อนขึ้นเรือ

ไดฟ์แรกผมรู้สึกเกรงใจ แล้วกลัวว่าจะช้า และสร้างความลำบากให้ลูกเรือ แต่ไดฟ์หลีดลูกเรือก็ยังแนะนำให้ถอดออกก่อนขึ้นจากน้ำ เรื่องนี้ต้องขอบคุณไดฟ์หลีดและลูกเรือจริงๆ ที่เห็นแก่สวัสดิภาพของนักดำน้ำและสังขารของผม 555

พอไดฟ์ต่อๆ มา ผมทำตาม ถอดที่ผิวน้ำแบบนี้ก็สบายซิครับ แต่ๆๆๆๆ ลองฟังเรื่องนี้ดู

“ข้อควรระวังของการถอด BCD ที่ผิวน้ำ”

ผมดำน้ำมาพอสมควร และไม่เคยตื่นเต้นกับการกระโดดลงทะเลตัวเปล่า แต่ผมก็ไม่ได้ชอบมากนัก

ขณะที่เราถอด BCD ออกนั้น ปากของเราที่คาบ regulator อยู่มักจะลืมคายออก 555 ยิ่งคนที่ไม่ชอบพกสน็อกเกอร์ไปด้วย ยิ่งต้องสนใจ ดูลู่ทางการหายใจให้ดี เพราะถ้าคลื่นสูง น้องๆ จะได้กินน้ำเค็ม ก่อนได้กินน้ำหวานบนเรือ 5555

และพอถอด BCD เราต้องว่ายมาที่บันไดและถอดฟิน ตอนนี้แหละครับต้องระวัง บางคนชอบเอาหน้ามุดน้ำไปถอด บางคนชอบถอดตอนว่ายไปถึงบันไดโดยคาบ reg

ตอนนี้น้องไม่มี reg แล้วนะ สน็อกเกอร์ก็ไม่มี ถ้าจะก้มหน้าอย่าลืมตัวนะครับ ต้องระวังจะสำลักน้ำเอาง่ายๆ

“สกิลที่ต้องเริ่มใช้”

Back Roll Entry ที่เราเรียกกันสั้นๆ ว่า back roll เราลงจากดิงกี้ด้วยท่านี้ ต้องใช้ทุกไดฟ์ แค่ทริปเดียวลงกันเป็นสิบๆ ไดฟ์ ไม่ชำนาญก็ไม่รู้จะว่ายังไง ผมมีข้อสังเกต กับข้อควรระวังแบบนี้ครับ

  1. ครูหรือไดฟ์หลีดจะกำหนดลำดับการลง เราก็ทำตามเขาบอก
  2. เก็บฟินที่เท้าตัวเองให้ชิดๆ ไว้ เพราะอาจไปฟาดหน้าฟาดไหล่เพื่อนที่นั่งข้างๆ ได้ 555
  3. ถ้ามีกล้องและจะต้องเข้าไปรับกล้อง อย่าเพิ่งเข้าไปรับกล้องจากคนบนเรือ ให้เพื่อนนักดำน้ำลงให้ครบก่อน เพราะตอนที่คนข้างบนลง เค้ามองว่าเคลียร์แล้วลง ถ้าเราว่ายเข้าไปรับกล้องตอนนั้นจะอันตรายมาก
  4. ตอน back roll ลง พยายามอย่าม้วนตัวมากเกินจำเป็น หรืออยู่ใต้น้ำนานเกินจำเป็น รีบขึ้นมาตีขาหนีเรือ เพราะวันที่คลื่นแรง เรืออาจจะถูกพัดมาทับเราได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อยู่ท้ายเรือใกล้ใบพัด บริเวณนั้นควรต้อง ให้ไดฟ์หลีดหรือคนที่มีประสบการณ์หน่อยนั่ง
    มีครั้งนึงเกิดเหตุการณ์นี้กับผม เพราะลงพร้อมกัน 3 คน ผมนั่งท้ายสุด ไม่รู้ทำไมเรือปัดมาทับผม ตอนแรกนึกว่าคนทับแต่พอมองไปใต้น้ำเห็นใบพัด (ไม่ได้ติดเครื่อง) แต่ผมดันตัวออกมาได้
    หลังจากนั้น ผมสังเกตเห็นไดฟ์หลีดของผม ไปนั่งท้ายเรือตำแหน่งนั้นตลอดเลย เพื่อเซฟพวกผม หรือไม่ก็จะต้องลงก่อนลูกทีม

น้องๆ มือใหม่ควรระวังนะครับ ในทะเลไม่ใช่ถิ่นของเรา ทำตามคำแนะนำของ ครูดำน้ำ ไดฟ์หลีด ให้ดี เราจะปลอดภัยและมีความสุขกับการดำน้ำ

บทความน่าจะยาวไปแล้ว เดี๋ยวครั้งหน้าจะมาเขียน เรื่องบนเรือ liveaboard มีวิชาถ่ายรูปสอนให้ฟรี ถ้าไปกับครูถูกคน 5555

ปล. เอาคลิปเต่าที่ชอบถ่ายรูป บ้ากล้อง มาให้ดู 555

บทความจาก Facebook: Keng Krob