โรคเบาหวานกับการดำน้ำ
คนที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน มีข้อควรระวังหรือกิจกรรมที่ต้องงดเว้นต่างๆ ซึ่งการดำน้ำ ก็เป็นหนึ่งในกิจกรรมเหล่านั้น อาการของโรคเบาหวานอาจส่งผลให้ผู้ป่วยหมดสติใต้น้ำ เสี่ยงที่จะเกิดอันตรายถึงชีวิต แล้วทุกคนที่เป็นโรคเบาหวานไม่ควรดำน้ำจริงหรือ มีผลต่อความปลอดภัยในการดำน้ำได้อย่างไร เราจะมาทำความรู้จักกับโรคนี้จากบทความของ DAN.org กัน
โรคเบาหวานคืออะไร
โรคเบาหวานเป็นโรคที่ร่างกายไม่สามารถผลิตหรือตอบสนองต่ออินซูลินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งอินซูลินเป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่รักษาสมดุลของน้ำตาลในเลือด คนที่มีสุขภาพดีจะรักษาระดับน้ำตาลในเลือดในช่วงแคบๆ ที่ 70 – 110 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (mg/dL) ของเลือด ส่วนผู้ที่เป็นโรคเบาหวานอาจมีระดับน้ำตาลในเลือดผันผวนมาก ปัญหาหลักคือระดับน้ำตาลในเลือดต่ำอาจทำให้หมดสติได้ และระดับน้ำตาลในเลือดสูงอาจส่งผลให้การไหลเวียนโลหิตและการมองเห็นลดลง
ในบทความนี้ได้แบ่งโรคเบาหวานออกเป็น 2 ประเภท
- ประเภท 1 หรือเบาหวานที่ต้องพึ่งอินซูลิน (Insulin-Requiring Diabetes Mellitus : IRDM) คือการที่ร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้
- ประเภท 2 เป็นการที่ร่างกายผลิตอินซูลินไม่เพียงพอ หรือเซลล์ของร่างกายไม่ตอบสนองต่ออินซูลิน หรือเบาหวานที่เริ่มมีอาการในวัยผู้ใหญ่
ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานโดยเฉพาะกลุ่ม IRDM มีความเสี่ยงสูงที่จะหมดสติกะทันหัน จึงถูกแนะนำให้งดเว้นจากกิจกรรมต่างๆ เช่น การดำน้ำลึก
การศึกษาของ DAN เกี่ยวกับระดับน้ำตาลในเลือดและการดำน้ำสันทนาการ
นักวิจัยของ DAN ศึกษาการตอบสนองของน้ำตาลในเลือดของนักดำน้ำเชิงสันทนาการวัยผู้ใหญ่ ที่เป็นเบาหวานกลุ่ม IRDM เปรียบเทียบกับนักดำน้ำที่ไม่เป็นโรคเบาหวานซึ่งเป็นกลุ่มควบคุม
ซึ่งเงื่อนไขของนักดำน้ำกลุ่ม IRDM ที่นักวิจัยนำมาศึกษามีดังนี้
- สามารถควบคุมอาการได้ในระดับปานกลาง ไม่มีภาวะแทรกซ้อนทุติยภูมิ และไม่ได้เข้ารับการรักษาเนื่องจากความผิดปกติของระดับน้ำตาลในเลือดในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
- ระดับน้ำตาลในเลือดต้องสูงกว่า 80 mg/dL ก่อนการดำน้ำแต่ละครั้ง นักดำน้ำต้องใช้อุปกรณ์วัดระดับน้ำตาลในเลือดแบบพกพาที่ใช้นิ้ว และบันทึกค่าก่อนและหลังการดำน้ำหลายครั้ง
- เป็นการดำน้ำเชิงสันทนาการที่มีความตึงเครียดเล็กน้อยถึงปานกลาง ในน่านน้ำเขตร้อนหรือกึ่งเขตร้อน เพราะความเครียดจะเพิ่มขึ้นสัมพันธ์กับความซับซ้อนของอุปกรณ์ ความรุนแรงของน้ำ ลักษณะการดำน้ำ หรือเหตุฉุกเฉิน ซึ่งอาจไปเพิ่มความผันผวนของระดับน้ำตาลในเลือดได้
ผลการศึกษา
ความผันผวนของระดับน้ำตาลในเลือดของนักดำน้ำกลุ่ม IRDM สูงกว่ากลุ่มควบคุม ไม่มีกลุ่มใดมีอาการหรือภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำระหว่างการดำน้ำหรือหลังดำน้ำในทันที
ร้อยละ 7 ของกลุ่ม IRDM ระดับน้ำตาลในเลือดหลังการดำน้ำลดลงต่ำกว่า 70 mg/dL (ต่ำสุดคือ 41 mg/dL) และร้อยละ 1 ของกลุ่มควบคุม ต่ำสุดคือ 56 mg/dL
แม้ว่านักดำน้ำกลุ่ม IRDM จะไม่ได้รายงานภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำก่อน ระหว่าง หรือหลังการดำน้ำทันที
แต่ก็ยังมีอาการต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำน้ำ เช่น คลื่นไส้ วิตกกังวล ตัวสั่น รู้สึกหนาว และปวดศีรษะ ซึ่งอาการเหล่านี้ก็มากพอที่จะปลุกนักดำน้ำให้ตื่นกลางดึกได้
ข้อสรุป
การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำตาลในเลือดของนักดำน้ำกลุ่ม IRDM อยู่ในช่วงตั้งแต่ 283 – 370 mg/dL ซึ่งถือว่ามีความผันผวนมากสำหรับนักดำน้ำที่มีประสบการณ์ในการควบคุมโรคเบาหวาน แม้จะควบคุมอย่างเข้มงวดก็ยังมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (hypoglycemia)
ระดับน้ำตาลในเลือดสูงอาจเพิ่มความเสี่ยงต่ออาการ decompression sickness หรือโรคจากการลดความกดอากาศ
อาการที่เกี่ยวข้องกับภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือน้ำตาลในเลือดสูงอาจเป็นสาเหตุของอาการอื่นๆ เช่น อุณหภูมิร่างกายต่ำ คลื่นไส้จากอาการเมาเรือ และอาการ decompression illness
โรคเบาหวานและความปลอดภัยในการดำน้ำ
- อาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำระดับรุนแรง ได้แก่ อาการชักและหมดสติ อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตหากอยู่ใต้น้ำ
- ไม่มีวิธีการที่น่าเชื่อถือในการพักขณะดำน้ำได้เหมือนกับตอนออกกำลังกายบนบก สภาวะต่างๆ ในการดำน้ำอาจเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันทำให้ต้องออกแรงมากขึ้น
- การควบคุมอาการของโรคทำได้ยากขึ้นในพื้นที่ห่างไกล
- โรคเบาหวานสามารถลุกลามได้ ซึ่งทำให้ความเสี่ยงขณะดำน้ำเพิ่มขึ้น