Pixabay - Physalia physali - Leeshypooh

รู้จัก “แมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส” นักล่าพิษแรงที่สุดในโลก

ในช่วงมรสุม เราอาจมีโอกาสพบเจอสิ่งมีชีวิตสีฟ้าสดใสรูปทรงเหมือนลูกโป่งลอยน้ำริมหาด สิ่งนั้นอาจเป็น “แมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส” ด้วยรูปลักษณ์สวยสะดุดตา หลายคนอาจเผลอเข้าไปใกล้หรือหยิบมาสัมผัส แต่รู้หรือไม่ว่า หนวดของมันเต็มไปด้วยเซลล์พิษที่อันตรายถึงชีวิต จนมันได้ชื่อว่าเป็น แมงกะพรุนไฟที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลก

ในบทความนี้ เราจะพาคุณไปรู้จักกับแมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกสให้มากขึ้น

ชื่อนี้มีที่มา

แมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Physalia physali จัดอยู่ในไฟลัม Cnidaria คลาส Hydrozoa แฟมิลี่ Physaliidae แม้จะถูกเรียกว่าเป็นแมงกะพรุน แต่เป็นสัตว์คนละชั้นกับแมงกะพรุนแท้ทั่วไป

ชื่อ “หมวกโปรตุเกส” มาจากรูปร่างที่คล้ายหมวกของทหารเรือโปรตุเกสในศตวรรษที่ 18 หรือคล้ายใบเรือของเรือรบยุคล่าอาณานิคมที่เรียกว่า Man of war ทำให้มีอีกชื่อว่า “แมงกะพรุนไฟเรือรบโปรตุเกส” หรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า Portuguese Man o’ War

รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร?

  • ลําตัวเป็นสีชมพูม่วง น้ำเงิน หรือเขียว ยาวประมาณ 25 – 30 เซนติเมตร
  • รูปร่างของร่มแมงกะพรุนมีลักษณะคล้ายเรือใบ หรือลูกโป่งลอยน้ำ บริเวณปากยื่นยาวออกมาจากร่างกาย
  • หนวดของมันยาวได้ถึง 30 เมตร เต็มไปด้วยเซลล์พิษ (Nematocyst) ที่สามารถทำลายเซลล์ประสาทและกล้ามเนื้อของเหยื่อ

พิษร้ายแรงแค่ไหน?

พิษจากหนวดของแมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส มีฤทธิ์ทำลายผิวหนัง ระบบประสาท และระบบไหลเวียนโลหิต เมื่อสัมผัสพิษอาจทำให้เกิดอาการรุนแรง เช่น

  • แสบร้อนอย่างรุนแรง คล้ายโดนไฟลวก
  • ปวดกล้ามเนื้อ แน่นหน้าอก หายใจลำบาก
  • ในบางรายอาจถึงขั้นหัวใจล้มเหลวและเสียชีวิต

และแม้จะมีพิษร้ายแรง แต่มันก็ยังตกเป็นอาหารของทากทะเลหรือทากเปลือยบางชนิด โดยที่เข็มพิษของแมงกะพรุนไม่สามารถทำอันตรายทากทะเลได้

ถ้าสัมผัสโดนพิษต้องทำอย่างไร?

ถ้าถูกสัมผัสหรือพันด้วยหนวดของแมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส ต้องรีบทำตามขั้นตอนต่อไปนี้

  1. อย่าใช้มือเปล่าสัมผัสหนวดเด็ดขาด ให้ใช้วัสดุแข็ง (เช่น บัตรแข็ง ไม้ หรือพลาสติก) เขี่ยหนวดออก
  2. ล้างด้วยน้ำทะเลเท่านั้น ห้ามใช้น้ำจืด และ ห้ามใช้น้ำส้มสายชู เพราะจะยิ่งกระตุ้นให้พิษทำงานมากขึ้น
  3. รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที หากมีอาการรุนแรง

แม้ว่าปกติจะพบแมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกสในทะเลเปิดแถบต่างประเทศ เช่น มหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ มหาสมุทรแปซิฟิก อินเดีย และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แมงกะพรุนชนิดนี้ได้ถูกพัดพาเข้ามาเกยชายฝั่งไทยหลายครั้ง ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน โดยเฉพาะช่วงฤดูมรสุม

ดังนั้น การทำความรู้จักและเข้าใจสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ ไม่ว่าจะเป็น รูปร่างหน้าตา พิษ และวิธีปฐมพยาบาลอย่างถูกต้องจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้เราและคนรอบข้างปลอดภัยจากอันตรายที่ร้ายแรงของมัน