โรคหอบหืดกับการดำน้ำ

การดำน้ำลึกเป็นกิจกรรมที่ไม่สามารถหายใจในสภาพแวดล้อมและวิธีการตามปกติได้ ต้องอาศัยเครื่องช่วยจ่ายอากาศให้เรา ผู้ป่วยจากโรคหอบหืดหลายคนที่สนใจการดำน้ำลึก แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะอันตรายกับตัวเองถึงชีวิตหรือไม่ หากเกิดอาการหอบหืดระหว่างอยู่ใต้น้ำ รวมถึงครูสอนดำน้ำเองก็ไม่แน่ใจว่า หากสอนหรือพาผู้ป่วยโรคหอบหืดไปดำน้ำ จะปลอดภัยหรือไม่ หรือมีข้อควรระวังหรือมาตรการป้องกันอย่างไรได้บ้างหรือไม่

วันนี้เรามีบทความจาก DAN.org มาฝากกัน

โรคหอบหืดกับการดำน้ำ

โรคหอบหืดเป็นโรคที่มีลักษณะการตีบของท่อหายใจ (หลอดลม) เพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ ซึ่งการการตอบสนองจะไม่คงที่ และปอดอาจทำงานแย่ลงอย่างฉับพลันทำให้เกิดอาการของโรคได้ อาการจะเกิดขึ้นเมื่อถูกกระตุ้นโดยละอองเกสรดอกไม้ สารก่อภูมิแพ้ อากาศเย็น สารก่อความระคายเคืองในอากาศ หวัด หรือไข้หวัดใหญ่

โรคหอบหืดกับการดำน้ำเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันในหมู่นักดำน้ำมานาน ในอดีตคนที่เป็นโรคหอบหืดจะต้องหลีกเลี่ยงการดำน้ำ แล้วโรคหอบหืดส่งผลต่อการดำน้ำได้อย่างไร และไม่ควรดำน้ำจริงหรือ

อาการที่อาจเกิดขึ้นจากการดำน้ำ

การตีบของหลอดลมส่งผลกระทบดังนี้

  • ปริมาณอากาศที่สามารถเคลื่อนเข้าและออกจากปอดลดลง ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการออกกำลังลดลงด้วย โดยเฉพาะในนักดำน้ำที่ถูกลดความสามารถในการหายใจเนื่องมาจากความต้านทานของอุปกรณ์ช่วยหายใจจากความลึกที่เพิ่มขึ้น
  • การตีบของหลอดลมจะทำให้อากาศค้างอยู่ในปอด เมื่อขึ้นสู่ที่ตื้น อากาศที่ค้างอยู่จะขยายตัวเร็วเกินกว่าจะระบายออกผ่านทางเดินหายใจแคบๆ ปอดอาจฉีกและเกิดภาวะฟองอากาศอุดตันในหลอดเลือดแดง (arterial gas embolism) หรือปอดรั่ว (pneumothorax)

นักดำน้ำที่เป็นโรคหอบหืดไม่เพียงจะมีความเสี่ยงจากอากาศอุดตันเท่านั้น แต่ความสามารถในการออกแรงยังลดลงด้วย แม้การหยุดพักหายใจขณะอยู่บนบกจะเป็นเรื่องง่าย แต่เมื่ออยู่ใต้น้ำอาจทำได้ยาก

สมาคมการเวชศาสตร์ใต้น้ำแห่งแปซิฟิกใต้ (SPUMS) ระบุว่าการดำน้ำอาจทำให้เกิดอาการของโรคหอบหืด ผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะหายใจติดขัด ตื่นตระหนก และจมน้ำได้

การจัดการกับโรคหอบหืด

โรคหอบหืดแบ่งเป็น 4 กลุ่มตามความรุนแรง ได้แก่

  • ไม่สม่ำเสมอ (Mild Intermittent Asthma) มีอาการนานๆ ครั้ง ช่วงที่มีอาการ สั้นกว่า 1 ครั้ง/สัปดาห์ หรือมีอาการกลางคืนน้อยกว่า 2 ครั้ง/เดือน
  • รุนแรงน้อย (Mild Persistent Asthma) มีอาการมากกว่า 1 ครั้ง/สัปดาห์ หรือมีอาการกลางคืนมากกว่า 2 ครั้ง/เดือน
  • รุนแรงปานกลาง (Moderate Persistent Asthma) มีอาการเกือบทุกวัน หรือมีอาการกลางคืนมากกว่า 2 ครั้ง/สัปดาห์
  • รุนแรงมาก (Severe Persistent Asthma) มีอาการตลอดเวลา

การรักษาโรคหอบหืดสัมพันธ์กับความรุนแรงและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการดำน้ำ จากการพิจารณาของผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมแพทย์เวชศาสตร์ใต้น้ำและเวชศาสตร์ความดันบรรยากาศสูง (Undersea and Hyperbaric Medical Society หรือ UHMS) นักดำน้ำที่เป็นโรคหอบหืดใน 3 กลุ่มแรก อาจได้รับอนุญาตให้ดำน้ำได้ หากควบคุมโรคหอบหืดได้ดี และรักษาให้ผลการทดสอบสมรรถภาพปอดเป็นปกติ โดยเฉพาะหลังการออกกำลังกาย ผู้ที่เป็นโรคหอบหืดก็อาจดำน้ำได้อย่างปลอดภัย

คำแนะนำในการดำน้ำ

สำหรับนักดำน้ำ

  • แต่ละประเทศมีแนวทางที่แตกต่างกันว่าผู้ที่เป็นโรคหอบหืดสามารถดำน้ำได้หรือไม่
    ในอังกฤษ ผู้ที่ควบคุมโรคหอบหืดได้ดีสามารถดำน้ำได้ หากไม่จำเป็นต้องใช้ยาขยายหลอดลมภายใน 48 ชั่วโมง และไม่มีอาการของหอบหืดหลังจากการออกกำลังกาย หรือจากอารมณ์
    ในออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเทศที่เคร่งครัดเรื่องนี้มากที่สุด นักดำน้ำทุกคนจะต้องผ่านการทดสอบสมรรถภาพปอด (spirometry) เพื่อวินิจฉัยโรคหอบหืดก่อนที่จะได้รับการรับรอง
  • นักดำน้ำที่เป็นโรคหอบหืดควรได้รับทั้งการตรวจสมรรถภาพปอดและทดสอบการออกกำลังกายเพื่อประเมินความรุนแรงของอาการ โดยมีแพทย์ที่มีความรู้ด้านการดำน้ำและการรักษาโรคหอบหืดให้คำแนะนำ
  • เตรียมเครื่องช่วยหายใจไว้ให้พร้อมใช้งานบนเรือ และแจ้งกับผู้ดูแลการดำน้ำให้ทราบถึงภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

สำหรับผู้ดูแลการดำน้ำ

  • นักดำน้ำที่เป็นโรคหอบหืดควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และระบุได้ว่าสามารถควบคุมอาการได้โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน
  • ให้นักดำน้ำเตรียมเครื่องช่วยหายใจไว้ให้พร้อมใช้งานบนเรือเสมอเมื่อเกิดอาการขึ้น

สำหรับแพทย์

  • ตรวจสมรรถภาพปอดและทดสอบการออกกำลังกายของนักดำน้ำให้แน่ชัด เพื่อประเมินความรุนแรงของโรค
  • เมื่อทำการประเมินนักดำน้ำ ให้ถามคำถามเหล่านี้: โรคหอบหืดรุนแรงน้อยหรือไม่? การรักษาเพียงพอที่จะป้องกันอาการกำเริบขณะอยู่ใต้น้ำหรือบนผิวน้ำหรือไม่?
  • หากแผนการรักษาทำให้ผลการทดสอบสมรรถภาพปอดเป็นปกติโดยเฉพาะหลังการออกกำลังกาย นักดำน้ำอาจสามารถออกแรงมากพอที่ต้องใช้ในการดำน้ำได้
  • แพทย์ที่มีความรู้ทั้งด้านการดำน้ำและการรักษาโรคหอบหืดจะสามารถให้คำแนะนำผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมที่สุด

เรื่องจาก DAN.org: Asthma and Diving