แม้ปลิงทะเลจะไม่ได้มีสีสันแฟนตาซีเหมือนทากทะเล ไม่ได้น่ารักเหมือนม้าน้ำ ไม่ได้ยิ่งใหญ่เหมือนฉลามวาฬ แต่เป็นแค่ก้อนนิ่มๆ ที่นักดำน้ำมักมองข้าม… แต่ถ้าหากได้ลองอ่านเรื่องราวของมันทั้ง 11 ข้อนี้ รับรองว่าคุณจะมองปลิงทะเลไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป !
1. พวกมันมีรูก้นอเนกประสงค์
นอกจากรูก้นของปลิงทะเลจะมีไว้ขับถ่ายแล้ว มันยังใช้รูนั้นหายใจด้วย !
ปลิงทะเลไม่มีปอด แต่มันจะมีหลอดลมที่แตกแขนงเหมือนต้นไม้ ทำหน้าที่กระจายออกซิเจนไปทั่วตัว โดยมันจะ ดูดน้ำเข้าทางรูก้น เพื่อส่งต่อไปยังแขนงหลอดลม
แต่ไม่ใช่แค่นั้น นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่าปลิงทะเลสายพันธุ์หนึ่งที่ชื่อ Parastichopus californicus ใช้รูก้นเป็น ‘ปากที่สอง’ ด้วย!
เนื่องจากปลิงทะเลจะกินแพลงก์ตอนและอนุภาคสารอินทรีย์เล็กๆ จึงมีนักวิจัยกลุ่มหนึ่งสงสัยว่า ในเมื่อมันสูบน้ำเข้าผ่านทางรูก้นแล้ว เป็นไปได้มั้ยที่มันจะกินแพลงก์ตอนที่ปนเข้ามาด้วย
พวกเขาจึงทดลองโดยการใช้สาหร่ายที่ผสมสารกัมมันตรังสีใส่ในน้ำ (คล้ายๆ กับการฉีดสีเวลาเราตรวจ MRI) ซึ่งผลปรากฏว่า นอกจากปลิงทะเลชนิดนี้จะกินผ่านทางปากปกติแล้ว มันยังกินผ่านทางน้ำที่เข้าในรูก้น โดยภายในแขนงหลอดลมของมันมีส่วนที่ทำหน้าที่ดูดซึมอาหารอยู่ด้วย
แม้จะศึกษาในปลิงทะเลแค่ชนิดเดียว แต่นักวิจัยก็คาดว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ปลิงทะเลชนิดอื่นๆ จะใช้รูก้นเป็นปากที่สองเช่นเดียวกัน
2. ปลาบางชนิดอาศัยรูก้นของปลิงทะเลเป็นบ้าน
ในปี 1975 มีนักดำน้ำคนหนึ่งจับปลิงทะเลขนาด 40 เซนติเมตรตัวหนึ่งขึ้นมา เอาใส่ในถังน้ำ แล้วไปไว้ในห้องเย็น ปรากฏว่าพอกลับไปดูอีกครั้ง เขาเห็นปลาเล็กๆ ว่ายออกมาจากรูก้นปลิงทะเล… ผ่านไปสิบชั่วโมง มีปลาออกมาจากก้นปลิงทะเลทั้งหมด 14 ตัว โดยมีตัวหนึ่งยังไม่ยอมออกมานี่คือปลาที่ชื่อ Pearlfish พวกมันมีหลายชนิด บางชนิดใช้ชีวิตอิสระ บางชนิดก็อาศัยร่างกายสัตว์อื่นๆ เป็นบ้าน ในขณะที่บางชนิดก็เป็นปรสิตกินอวัยวะสืบพันธุ์เจ้าบ้านจากภายใน
เจ้าปลาชนิดนี้ จะอาศัยจังหวะที่ปลิงทะเลหายใจ แล้วดอดเข้ารูก้นของปลิง โดยพวกมันจะมีเมือกเคลือบลำตัวเพื่อป้องกันสารพิษที่ปลิงทะเลผลิต
3. ใช้อวัยวะภายในเป็นอาวุธ
ปลิงทะเลมีอาวุธชีวภาพ… ในยามที่เธอเจอผู้ล่าโจมตี เธอจะพ่นเส้นใยเหนียวๆ ที่เรียกว่า ท่อคูเวียร์ (cuvierian tubules) ออกจากรูก้น (รูนี้อีกแล้ว) ซึ่งจะไปติดพันผู้ล่าอีรุงตุงนัง แถมบางทีก็มีพิษ ทำให้ปลิงทะเลมีเวลาหนีหรือหลบซ่อนตัว นอกจากนั้น ปลิงทะเลบางชนิดยังสามารถพ่นอวัยวะภายในอื่นๆ เช่น แขนงหลอดลม อวัยวะสืบพันธุ์ออกมาด้วย และมันก็สามารถมีชีวิตอยู่โดยปราศจากอวัยวะภายในได้นานเป็นสัปดาห์4. สร้างอวัยวะภายในกลับขึ้นมาใหม่ได้
เมื่อปลิงทะเลพ่นอวัยวะภายในออกไปแล้ว พวกมันสามารถสร้างอวัยวะเหล่านั้นกลับขึ้นมาใหม่ได้ จะช้าเร็วก็ขึ้นกับสายพันธุ์ แต่ทีเด็ดคือปลิงทะเลที่ชื่อ Leptosynapta crassipatina ซึ่งนักวิจัยพบว่า เมื่อมันถูกตัดมาแค่แผ่นเนื้อเยื่อ ที่ประกอบด้วยบางส่วนของวงแหวนประสาท ปาก และแผ่นวงแหวนหินปูนรอบปาก มันก็สามารถเติบโตจนกลายเป็นปลิงทะเลทั้งตัวได้ !!!
5. ข..ข…ข…แข็งแกร่ง!!
ในกรณีที่เส้นใยเหนียวๆ ไม่สามารถหยุดยั้งผู้ล่า ก็ไม่ได้แปลว่าผู้ล่าจะกินมันได้ง่ายๆ เพราะปลิงทะเลมีการเชื่อมต่อของเส้นใยกล้ามเนื้อแบบพิเศษ ซึ่งทำงานร่วมกับเอนไซม์ ทำให้มันควบคุมร่างให้แข็งทื่อได้ภายในพริบตา ผู้ล่ากัดไม่ขาดจ้า
6. ทำตัวเหลวเป็นลอดช่องก็ได้
ในขณะที่มันทำตัวแข็งทื่อได้ แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามที่มันต้องการหนีผ่านช่องหรือรูแคบๆ มันก็สามารถเปลี่ยนร่างเข้าสู่โหมดนิ่ม จนไหลผ่านรูหรือช่องแคบได้
7. เมื่อไม่มีอาหาร ก็กินตัวเองนั่นล่ะ
ในยามที่ข้าวยากหมากแพง อาหารไม่พอกิน แทนที่จะอดตาย พวกมันกลับเริ่มย่อยตัวเองอย่างช้าๆ ทำให้ร่างกายของมันค่อยๆ เล็กลง หรือในยามที่น้ำทะเลมีสภาวะไม่เหมาะสม เช่น น้ำเสีย หรืออุณหภูมิน้ำสูงหรือต่ำเกินไป ปลิงทะเลบางชนิดจะขับอวัยวะภายในออกมาเพื่อลดกระบวนการเมตาโบซึลึม จนกระทั่งสิ่งแวดล้อมอยู่ในภาวะเหมาะสม มันก็จะสร้างอวัยวะภายในกลับมาอีกครั้ง
8. เป็นแม่บ้านแห่งพื้นทะเล
ปลิงทะเลกินอาหารโดยกลืนทรายลงกระเพาะ แล้วดูดซึมสารอาหารจำพวกเศษซากอินทรีย์ รวมถึงแบคทีเรียเข้าร่างกาย จากนั้นก็ถ่ายมูลที่เป็นทรายกลับออกมา ด้วยเหตุนี้มันจึงช่วยทำให้พื้นทะเลสะอาด เหมือนแม่บ้านที่คอยดูดฝุ่น จากการศึกษาพบว่า ปลิงดำ Holothuria atra ขนาดหนึ่งไม้บรรทัด 1 ตัว สามารถกินตะกอนทรายและขับถ่ายออกมาได้ถึง 70 กิโลกรัมน้ำหนักแห้งต่อปี
นอกจากนั้น มันยังทำหน้าที่เหมือนไส้เดือนบนบก นั่นคือพลิกกลับตะกอน เพิ่มความพรุนให้พื้นทะเล ทำให้ออกซิเจนซึมผ่านได้ดี มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ประเทศฟิจิ ซึ่งเปรียบเทียบพื้นที่ที่มีปลิงทะเลหนาแน่นกับพื้นที่ที่ไม่มีปลิงทะเล พวกเขาพบว่า พื้นที่ที่มีปลิงมีระดับออกซิเจนในตะกอนเยอะกว่า แถมออกซิเจนก็ซึมลงไปได้ลึกกว่าอย่างชัดเจนด้วย
9. ช่วยบรรเทาปัญหาทะเลเป็นกรด
ทุกวันนี้ ทะเลทั่วโลกประสบปัญหาความเป็นกรดที่เพิ่มขึ้น จากคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศที่ละลายสู่น้ำ จนเกิดกรดคาร์บอนิก ซึ่งสิ่งนี้ส่งผลกระทบต่อทั้งปะการังและกุ้งหอยปูปลานานาชนิด แต่ในบริเวณที่มีปลิงทะเล ปัญหานี้จะน้อยกว่าที่อื่น เพราะมูลที่ปลิงทะเลขับถ่ายออกมามีฤทธิ์เป็นด่าง แถมมีแคลเซียมคาร์บอเนตที่เป็นวัตถุดิบตั้งต้น-ของปะการังที่ใช้ในการเติบโตด้วย
นอกจากนั้น ยังมีนักวิจัยทดลองใช้ปลิงทะเลปรับปรุงคุณภาพพื้นที่บ่อเลี้ยงกุ้ง ซึ่งพบว่าทำให้ดินมีความเป็นกรดลดลง
10. ทำให้นักวิจัยปวดหัว
หลายคนอาจคิดว่าการศึกษาปลิงทะเลเป็นเรื่องง่ายๆ เพราะพวกมันอยู่ที่พื้นทะเล เคลื่อนที่ช้า ไม่ได้บินไปบินมาหายากอย่างนก หรือว่ายน้ำหนีอย่างปลา แต่จริงๆ แล้วมันกลับเป็นตรงกันข้าม เพราะนักวิจัยพบความยากลำบากอย่างมากในการติดตามการเคลื่อนที่ของปลิงทะเล เพราะไม่ว่าจะติดแท็กหรืออุปกรณ์ติดตามไว้ที่ตัวปลิง มันจะสลัดหลุดออกเสมอ แม้แต่การใช้สีแต้มหรือทำเครื่องหมายลงบนผิวของมัน สุดท้ายสัญลักษณ์เหล่านั้นก็หายไป
แม้กระทั่งการศึกษาเรื่องพื้นฐานอย่างอัตราการเจริญเติบโตก็ไม่ง่าย เพราะในปลิงชนิดเดียวกัน อายุเท่ากัน ถ้าจับไปอยู่ในสภาะวะแวดล้อมที่ต่างกัน อัตราการเติบโตก็ต่างกัน… นี่ยังไม่นับกรณีที่มันอดอาหารแล้วร่างกายหดเล็กลงนะ
11. เป็นแรงบันดาลใจของนวัตกรรม และเป็นความหวังของการรักษาโรค
ด้วยความสามารถพิเศษในการทำตัวให้แข็งก็ได้ นิ่มก็ได้ของมัน จึงเป็นแรงบันดาลใจให้นักประดิษฐ์ออกแบบวัสดุแบบใหม่ที่มีคุณสมบัติพิเศษคือจะแข็งเมื่อแห้ง แต่จะอ่อนตัวเมื่อเปียกน้ำ ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์เป็นส่วนประกอบของอิเล็กโทรดฝังสมองของผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ซึ่งความอ่อนนิ่มเมื่ออยู่ในสมองจะช่วยลดปัญหาจากการอักเสบ นอกจากนั้น คุณสมบัตินี้ยังอาจพัฒนาเป็นเสื้อเกราะกันกระสุนในอนาคต ที่ใส่สบายยามปกติ แต่จะแข็งตัวทันทีเมื่อลูกกระสุนมา
ส่วนในทางยา ก็มีนักวิจัยพบว่าสารที่ผลิตจากปลิงทะเลสามารถหยุดการแพร่กระจายของมะเร็งตับอ่อน และทำให้เซลล์มะเร็งตายภายใน 5 นาที อีกทั้งสามารถฆ่ามะเร็งชนิดอื่นๆ ได้ด้วย ซึ่งสิ่งนี้ก็กำลังอยู่ภายใต้การวิจัยเพื่อพัฒนาเป็นตัวยาต่อไป
ข้อมูลอ้างอิง
- https://blog.nationalgeographic.org/2013/03/14/giant-sea-cucumber-eats-with-its-anus/
- https://www.nationalgeographic.com/science/phenomena/2016/05/10/how-this-fish-survives-in-a-sea-cucumbers-bum/
- http://echinoblog.blogspot.com/2012/01/sea-cucumber-evisceration-defense.html
- https://blog.nature.org/science/2018/12/12/the-bizzare-and-disturbing-life-of-sea-cucumber/
- https://dmcrth.dmcr.go.th/attachment/dw/download.php?WP=nKq4MUN4oGO3ZHkCoMOahKGtnJg4WaNkoGq3Z0jloH9axUF5nrO4MNo7o3Qo7o3Q
- https://www.newscientist.com/article/dn13420-floppy-when-wet-sea-cucumber-inspires-new-plastic/