หลังจากทำการเตรียมตัวพร้อมทั้งอธิบายเรื่องความปลอดภัยต่างๆ พอสมควร ครูก็ให้ลงน้ำตรงชายหาดนั่นเลยครับ ก่อนลงครูก็ไปจัดสถานที่โดยการเอาเชือกยาวประมาณ 25 เมตรไปขึงไว้ใต้น้ำ โดยมีทุ่นตะกั่วถ่วงให้เชือกอยู่ใต้น้ำ อีกด้านหนึ่งจะมีเชือกและทุ่นลอยให้จับ ช่วงแรกเราก็ทำการเรียนกันตรงทุ่นลอยนั่นแหละครับ
บทเรียนบทแรกเป็นการทำ Static Apnea คือ หัดกลั้นหายใจใต้น้ำนั่นแหละครับ เคยทำมาซะมากแล้ว หารู้ไม่ว่าที่เคยทำนั้นไม่ถูกต้องก็เลยทำได้น้อย ครูก็มีเคล็ดลับหลายอย่างที่ได้สอนให้เรียนรู้และจะได้นำไปฝึกต่อได้
เคล็ดต่างๆ ก็มีดังนี้ครับ
อันดับแรก ต้องยืดเหยียดท่อยูสเตเชี่ยนซะก่อนเพื่อให้มันยืดตัวและกล้ามเนื้อลำคอผ่อนคลาย จากนั้นต้องยืดเหยียดกล้ามเนื้ออื่นๆ เพื่อให้เกิดความผ่อนคลายทุกส่วน การผ่อนคลายนั้น เป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากไม่ผ่อนคลายแล้ว เราจะใช้ออกซิเจนที่มีอยู่อึกเดียวในปอดมากขึ้น ทำให้กลั้นหายใจได้น้อยลง
อันที่จริง ผมก็หัดเทคนิคการผ่อนคลายมาเยอะแล้วนะครับ แต่เทียบไม่ได้กับการผ่อนคลายในน้ำนี่เลย กลายเป็นเรื่องเรียนรู้ใหม่ ทั้งๆ ที่ผมก็เคยทำหน้าที่ฝึกนักกีฬาให้ผ่อนคลายมาเกือบสิบปี แปลกดีเหมือนกัน นี่ก็เป็นความรู้จากการเรียนฟรีไดวิ่งที่สามารถนำมาใช้กับงานอาชีพได้ทันทีเลย
Static Apnea นี่ ก่อนจะเริ่มดำน้ำก็ต้องหายใจให้ออกซิเจนเข้าไปเต็มที่ซะก่อน ด้วยการหายใจสามขั้น คือ ขั้นแรก หายใจด้วยกระบังลม ทำท้องป่องนั่นแหละครับ ปกติคนทั่วไปจะหายใจด้วยปอดหรืออกอย่างเดียว ไม่ได้ขยายกระบังลม ทำให้อากาศเข้าไปได้น้อยกว่า การหายใจเพื่อเตรียมพร้อมนี่จะต้องขยายพื้นที่ด้านล่างของปอด ต้องขยายกระบังลมด้วยการผ่อนคลายท้อง ช่วงเริ่มหายใจครับ พุงจะป่องออกมามากทีเดียว ขั้นที่สองคือ หายใจด้วยปอดหรือหน้าอกตามปกติ และขั้นสุดท้าย ให้แบะไหล่ออกจากกันเพื่อเพิ่มพื้นที่ปอดด้านบน จากนั้นก็ทำการ pack เพื่อให้อากาศเข้าไปมากกว่าเดิมอีก ทำท่าเหมือนปลาทองในตู้น่ะครับ อ้างับ อ้างับ จนอากาศเข้าไปไม่ได้แล้ว
จากนั้น ให้ค้างไว้สองสามวินาที จึงผ่อนลมหายใจออกช้าๆ โดยมีหลักอยู่ว่า หายใจเข้าเท่าไร ให้ใช้เวลาหายใจออกเป็นสองเท่า
ทำอย่างนี้จนรู้สึกว่าได้รับออกซิเจนเพียงพอแล้ว จึงเริ่มก้มหน้า ลอยตัวท่าคว่ำหน้าที่ผิวน้ำครับ
ตอนนี้แหละครับ จะเป็นช่วงที่ทรมาน และหากทนไม่ไหว มีอาการเกร็งหรือไม่ผ่อนคลายนิดเดียว ก็จะทนกลั้นหายใจอยู่ไม่ไหว แต่หากปล่อยให้ผ่อนคลายได้ ซึ่งครูบอกว่า ยิ่งอยากหายใจต้องยิ่งผ่อนคลาย ก็จะอยู่ได้นานกว่าเดิม
ผ่อนคลายแล้ว ต้องเอาใจออกจากเรื่องการหายใจด้วยนะครับ เทคนิคของใครของมัน ครูสอนให้ใช้วิธี Imagery Relaxation ซึ่งผมลองทำดูแล้ว ไม่ได้ผลมาก คงเป็นเพราะตัวเองไม่เหมาะกับเทคนิคนี้ ที่รู้เพราะเคยฝึกเทคนิคผ่อนคลายมาเกือบทุกอย่างที่มีในโลกนี้เป็นเวลาหลายปีแล้วน่ะครับ ตอนดำน้ำแบบนี้ ผมเลยใช้วิธีฟังเสียงหัวใจตัวเอง ก็เพลินดีนะครับ มันจะเต้นช้าลง ช้าลง ไปเรื่อยๆ แต่ไม่หยุดซะทีนะครับ
ใช้เทคนิคนี้ จากการกลั้นหายใจได้ประมาณนาทีกับอีกนิดเดียว ตอนนี้ได้สองนาทีกว่าๆ แล้ว เห็นครูบอกว่ายิ่งฝึกมากก็จะยิ่งได้นานขึ้นเรื่อยๆ เคล็ดอยู่ที่ว่า ต้องผ่อนคลายให้ได้เต็มที่นั่นเองครับ
ครูก็ทำการทดสอบว่าเราผ่อนคลายหรือไม่ ด้วยการยกแขนยกขา แล้วปล่อยทิ้งลงมา ดูว่าเรามีแรงต้านหรือเปล่า หรืออาจจะผลัก กด ตัวเรา ว่าเราเกร็งขืนแรงที่กระทำหรือไม่ คนที่ถูกทดสอบก็จะรู้ตัว และหันไปผ่อนคลายส่วนที่เกร็งนั่นเองครับ
การฝึกแบบนี้ต้องมีบัดดี้คอยดูแลความปลอดภัย และจับเวลาให้นะครับ การดูแลความปลอดภัยก็จะมีการ “คลิก” คือ การบีบนิ้วมือของคนที่ดำเป็นระยะ หากมีการ “คลิก” ตอบ ก็หมายความว่านักดำน้ำยังมีสติดีอยู่ หากไม่คลิกตอบ ให้คลิกอีกครั้ง ซึ่งหากไม่ได้รับการตอบสนองอีก ให้ดึงนักดำน้ำขึ้นมาจากน้ำได้เลย
ที่ต้องทำอย่างนี้ เพราะเคยมีบางคนกลั้นจนหมดสติจมน้ำตายไปเลยก็มีครับ อันที่จริงคนที่หมดสติน่ะ ช่วงแรกไม่เป็นไรหรอกครับ ต้องถึงช่วงที่ร่างกายเริ่มทำงานโดยอัตโนมัติ จากการที่กระบังลมหดตัว ทำให้ปากหรือจมูกสูดลมเข้าไป ซึ่งในขณะนั้น หากปากหรือจมูกอยู่ใต้น้ำแล้ว ก็รับประกันได้ว่าจมน้ำแน่นอนครับ
จากนั้นจึงไปเริ่มฝึก Dynamic Apnea ครับ
การฝึกไดนามิค ก็คือ การว่ายใต้น้ำให้ได้ไกลที่สุด ด้วยลมหายใจเพียงอึกเดียว เป็นประเภทหนึ่งของการแข่งขันฟรีไดวิ่งครับ ในประเภทไดนามิคนี้ ก็มีสามประเภทย่อยด้วยกัน คือ การดำโดยไม่ใช้ฟิน การใช้ไบฟิน (หรือฟินสองอันตามปกติที่เราใช้กัน แต่ฟินจะยาวกว่า) หรือโมโนฟิน (ฟินเดี่ยว ใส่เท้าทั้งสองข้างเข้าไป ฟินจะใหญ่มาก ดูคล้ายฟินของนางเงือกในเรื่องพระอภัยมณีครับ)
เห็นว่าสถิติโลกสำหรับการดำแบบนี้ เท้าเปล่าได้ 200 เมตร ส่วนใช้ฟิน (ทั้งสองแบบ) สองร้อยกว่าๆ กว่าเท่าไรจำไม่ได้ครับ
วิธีการหายใจ การเตรียมตัวก็เหมือนกันกับการดำแบบสแตติค เพียงแต่ต้องมุดลงด้วยท่า Duck Dive แล้วก็ว่ายไปให้ไกล เทคนิคที่สำคัญคือ การทำตัวให้ลู่น้ำมากที่สุด ตีฟินให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด จึงจะไปได้ไกลครับ
ผมมานั่งวิเคราะห์แล้วก็พบว่า การเรียนสแตติคกับไดนามิคนี่เอง ที่เป็นพื้นฐานสำคัญของการดำลงในที่ลึก และเป็นประโยชน์ที่นักดำน้ำแบบสกูบ้าพึงจะได้อีกด้วย คือ เราจะฝึกหายใจอย่างมีประสิทธิภาพที่สุดเท่าที่จะทำได้ ประการหนึ่ง ฝึกผ่อนคลายในน้ำ ปล่อยตัวให้กลมกลืนกับน้ำ อีกประการหนึ่ง และการฝึกทำตัวให้ลู่น้ำมากที่สุด อีกประการหนึ่ง เมื่อฝึกทั้งหมดนี้แล้ว จะพบว่า เราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กลมกลืน และมีความผูกพันกับน้ำกับทะเลมากขึ้นกว่าเดิม
กลับมาฝึกเพิ่มเติมภายหลัง ก็พบว่าเราพัฒนาเรื่องเหล่านี้ได้อีกครับ
ที่เกาะลันตาวันนั้น ผมก็ฝึกสแตติคกับไดนามิคทั้งวัน เรียนรู้การใช้เข็มขัดตะกั่วแบบฟรีไดวิ่ง ซึ่งไม่เหมือนกันกับที่เราใช้ตามปกติ คือ เข็มขัดตะกั่วฟรีไดวิ่งนี้จะต้องเป็นยางยืดหนาๆ รัดด้านบนของสะโพกให้แน่น เนื่องจากเวลาเราดำลงไปลึกๆ ตัวเราจะหดลง หากไม่ใช้เข็มขัดยางรัดให้แน่นแล้ว เข็มขัดจะเลื่อนไปมาได้ ทำให้เกิดผลเสีย และที่ต้องรัดสะโพก เพราะเราจำเป็นต้องให้ส่วนเอวและท้องไม่มีอะไรมารัด จะทำให้อึดอัดได้ครับ
นี่กำลังจะหายางทำเข็มขัดอยู่ เพื่อนๆ คนไหน ทราบที่ซื้อยางลักษณะคล้ายเข็มขัดตะกั่ว หนาสัก 2-3 มม. ช่วยบอกด้วยนะครับ
จากนั้น ก็กลับไปพักผ่อน เพื่อจะออกทะเลไปเกาะห้า ฝึกดำแบบ Constant Weight และ No Limits ต่อไปครับ
เขียนโดย | ดร. พิชิต เมืองนาโพธิ์ |
---|---|
เผยแพร่ครั้งแรก | 9 ก.ย. 2546 |