เราจะคาดคะเนกระแสน้ำก่อนลงดำน้ำได้อย่างไร

กระแสน้ำ เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่นักดำน้ำอยากรู้ก่อนจะกระโดดลงไปในน้ำ หรือแม้แต่ลีดดำน้ำ (dive lead หรือ dive guide) ก็ควรต้องรู้ก่อนเพื่อที่จะวางแผนจุดเริ่มต้นและสิ้นสุดการดำน้ำแต่ละไดฟ์ ลีดดำน้ำที่รอบรู้และใส่ใจ จะมีความสามารถในการสังเกตสภาพแวดล้อมและทิศทางของกระแสน้ำก่อนการลงดำน้ำได้เป็นอย่างดี นำไปสู่การวางแผนเส้นทางการดำน้ำได้ดี ซึ่งนอกจากจะมีผลต่อความเพลิดเพลินในการดำน้ำไดฟ์นั้นแล้ว ยังเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อเหตุการณ์ไม่คาดคิดใต้น้ำได้ เช่น การคลาดกันระหว่างลงสู่หมายดำน้ำแล้วต้องกลับมาลงใหม่ การพลัดหลงกันระหว่างดำน้ำ ซึ่งบางครั้งอาจนำไปสู่ความสูญเสียถึงชีวิตด้วย

วิธีการคาดคะเนกระแสน้ำมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน และก็แตกต่างกันไปตามจุดดำน้ำด้วย แต่ส่วนใหญ่ก็จะคล้ายๆ กันคือขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก 3-4 อย่าง เช่น น้ำขึ้นน้ำลง กระแสลมผิวน้ำ ลักษณะของพื้นที่ เป็นต้น (อ่านเพิ่มเติม “กระแสน้ำในทะเลเกิดขึ้นจากอะไรบ้าง“) ถ้าเรามีโอกาสได้ดำน้ำกับไดฟ์ลีดที่ดูกระแสน้ำเป็น ลองสังเกตดูครับว่า เขาใช้วิธีใดบ้างในการคาดคะเนกระแสน้ำที่จุดดำน้ำนั้นๆ

ดูตารางน้ำขึ้นน้ำลง ประกอบกับความรู้เรื่องจุดดำน้ำ

น้ำขึ้นน้ำลงเป็นปัจจัยสำคัญของกระแสน้ำในทะเลแทบทุกจุดทั่วโลก และปัจจุบันการคาดการณ์น้ำขึ้นน้ำลงของพื้นที่ต่างๆ ในโลกทำได้ค่อนข้างแม่นยำจากการเก็บข้อมูลของนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลมานานหลายสิบปี คาดการณ์ล่วงหน้าได้เป็นปีๆ เลยทีเดียว ดังนั้นการดูตารางน้ำขึ้นน้ำลงก่อนไปดำน้ำนับเป็นสิ่งที่นักดำน้ำทั่วไปสามารถทำได้ไม่ยาก หรืออย่างน้อยผู้จัดทริปก็ควรต้องรู้ก่อนออกทริปเพื่อกำหนดจุดดำน้ำได้อย่างเหมาะสมกับเวลาลงดำและทักษะของนักดำน้ำ

ตารา เกาะสีชัง (ชลบุรี) มกราคม 2562

ตารางน้ำขึ้นน้ำลงของจุดดำน้ำ (หรือถ้าไม่มีตรงเป๊ะ ก็ใช้จุดตรวจวัดใกล้เคียงได้ครับ) จะบอกเป็นความสูงของระดับน้ำในแต่ละช่วงเวลาของวัน ซึ่งช่วยบอกเป็นนัยแก่เราได้ว่า จะมีมวลน้ำเคลื่อนเข้า (น้ำขึ้น) หรือออก (น้ำลง) จากบริเวณนั้นมากน้อยเพียงใดในเวลาที่เรากำลังจะดำน้ำ (อ่านเพิ่มเติม “วิธีการดูตารางน้ำ”) เมื่อนำมาประกอบกับลักษณะของอ่าวและสภาพพื้นที่ใต้น้ำ ก็จะพอคาดคะเนได้ว่า กระแสใต้น้ำจะไหลไปในทิศทางใดและไหลแรงเพียงใด

ทั้งนี้ ต้องเข้าใจด้วยครับว่า ระดับน้ำที่อ่านได้จากตารางน้ำของคนละพื้นที่ แม้จะเป็นตัวเลขเดียวกัน ก็มิได้หมายความว่ากระแสน้ำจะแรงใกล้เคียงกัน ตัวอย่างเช่น น้ำขึ้น 20 ซม. ต่อ 1 ชม. ที่ทะเลแสมสาร จะทำให้เกิดกระแสน้ำที่แรงกว่า น้ำขึ้นในอัตราเดียวกันที่สิมิลัน มากครับ และแน่นอนว่าทิศทางของกระแสน้ำก็แตกต่างกันไปตามลักษณะอ่าว ดังนั้น แม้จะอ่านตารางน้ำเป็นแล้ว แต่ก็ต้องรู้ลักษณะพื้นที่จุดดำน้ำประกอบด้วย

ดูวัตถุหรือฟองอากาศที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ

วิธีต่อมา หากไปอยู่ที่จุดดำน้ำแล้ว จะเช็คเพื่อความชัวร์อีกทีว่าตรงกับตารางน้ำที่ดูมาก่อนมั้ย (หรือถ้าไม่ได้ดูตารางน้ำมาก่อน ก็มาดูของจริงกันหน้างานนี่ล่ะ) สามารถทำได้โดยดูวัตถุที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ อาจเป็นเศษใบไม้หรือฟองอากาศ (ถ้าไม่มีก็สร้างฟองอากาศขึ้นเองเลยก็ได้) แล้วสังเกตทิศทางและความเร็วที่วัตถุเหล่านั้นลอยเคลื่อนไป ก็พอจะคาดคะเนความเร็วกระแสน้ำได้

ทั้งนี้ ต้องเข้าใจด้วยครับว่า

  1. กระแสน้ำจริงๆ จะไหลเร็วกว่าวัตถุที่ถูกกระแสน้ำพัดพาไป อีกพอสมควร
  2. กระแสน้ำที่ใต้น้ำ อาจมีทิศทางแตกต่างออกไปอีกเนื่องจากสภาพแวดล้อมใต้น้ำ เช่น หากเป็นร่องน้ำหรือช่องหิน กระแสน้ำก็จะไหลไปตามแนวช่องเหล่านั้น
  3. วิธีนี้ใช้ไม่ได้กับกรณีที่มีลมแรง จนกระทั่งกระแสน้ำที่ผิวน้ำเป็นไปตามทิศทางลมมากกว่าจะเป็นไปตามกระแสน้ำจริงด้านล่าง

หมายเหตุ: บางท่านอาจคิดว่า เราดูจากแนวทิศทางที่เรือลอยลำอยู่ได้หรือไม่ ก็ต้องบอกว่า พอดูได้หากลมค่อนข้างสงบ แต่ถ้ามีลมพอประมาณ เรือจะหันทิศเข้าหาลม ทอดตัวตามแนวกระแสลมมากกว่าแนวกระแสน้ำครับ (ทิศผลลัพธ์จะเป็นผลรวมของแรงลมและแรงน้ำประกอบกัน โดยขึ้นกับพื้นที่รับลมและรับน้ำของเรือด้วย)

กรณีที่ลมผิวน้ำแรง กระแสน้ำจะมีทิศทางเบนจากทิศทางลม

ในกรณีที่กระแสลมเหนือผิวน้ำมีกำลังค่อนข้างแรงและเกิดขึ้นต่อเนื่องมาพักใหญ่ กระแสน้ำที่เราเห็นบนผิวน้ำจะได้รับอิทธิพลจากกระแสลม โดยมีทิศทางเบนไปจากทิศลมประมาณ 45 องศาและเบนมากขึ้นเรื่อยๆ ตามความลึก ถ้าเป็นซีกโลกเหนือ กระแสน้ำจะเบนขวาเมื่อเทียบกับทิศทางลม และถ้าเป็นซีกโลกใต้ กระแสน้ำจะเบนซ้าย ส่วนความแรงของกระแสน้ำแบบนี้จะลดลงเรื่อยๆ ตามความลึก (กระแสน้ำที่เกิดจากกระแสลมนี้เรียกว่า Ekman Current)

ถ้าเป็นวันที่มีกระแสน้ำแรงจากน้ำขึ้นน้ำลง หรือหากจุดดำน้ำมีร่องน้ำหรือแนวหินขวางอยู่ ทิศทางและขนาดของกระแสใต้น้ำจะเท่ากับผลรวมขององค์ประกอบทั้งหมดรวมกัน

กระแสน้ำที่มีทิศทางตามฤดูกาล

ในจุดดำน้ำบางแห่ง กระแสน้ำจะมีทิศทางแตกต่างกันตามฤดูกาล แต่มีทิศทางเดียวตลอดทั้งวัน ไม่ว่าจะเป็นน้ำขึ้นหรือน้ำลง เช่น ที่เกาะ Nusa Penida บาหลี แหล่งดำน้ำตามหาโมลาโมล่ากันนั้น กระแสน้ำได้รับอิทธิพลจากการไหลเวียนน้ำในมหาสมุทรเป็นหลัก ทำให้น้ำทะเลไหลไปในทิศทางเดียวกันในฤดูหนึ่งและกลับทิศในอีกฤดูหนึ่ง ส่วนความแรงของกระแสน้ำจะเปลี่ยนแปลงตามอิทธิพลของน้ำขึ้นน้ำลงด้วยเช่นกัน เพียงแต่ไม่ได้กลับทิศ

เอาความรู้มาทดลองใช้งานจริง

จบภาคทฤษฎีแล้ว มาทดลองใช้งานจริงกันดีกว่าครับ บอกได้เลยว่า กรณีส่วนใหญ่ก็ต้องใช้มากกว่า 1 วิธีประกอบกัน

สมมติว่า เสาร์อาทิตย์นี้เราจะไปดำน้ำกันที่แสมสาร มีทั้งนักเรียนไปสอบ Open Water และนักดำน้ำที่ตั้งใจจะลงเรือจมสุทธาทิพย์ ซึ่งอยู่กลางร่องน้ำพอดี ถ้าน้ำแรงจะดำเหนื่อยมาก ควรลงช่วงน้ำตาย (น้ำนิ่ง)

กราฟน้ำขึ้นน้ำลง สัตหีบ 07-08 มกราคม 2562 จากโปรแกรม WXTide 4.7

เมื่อดูจากตารางน้ำซึ่งคำนวณได้ล่วงหน้าอยู่แล้ว พบว่าน้ำขึ้นน้ำลงตามกราฟในรูปด้านล่างนี้ (น้ำขึ้นสูงสุด ประมาณ 7:16 น. และลงต่ำสุดตอน 23:16 น.) เป็นน้ำลงตลอดทั้งวัน มีช่วงน้ำเกือบนิ่ง หรือไหลอ่อนๆ คือช่วงเที่ยงครึ่ง และ 16:16 น. ประกอบกับความรู้ที่ว่า น้ำในอ่าวไทยมีทิศการไหลขึ้นลงตามแนวอ่าวในภาพใหญ่ คือ ไหลขึ้นไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และไหลลงทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ก็อาจวางแผนการดำน้ำได้ดังนี้

  • ช่วงเช้าออกเรือไปถึงจุดดำน้ำแรก 10-11 โมง อาจเป็นเกาะโรงโขนโรงหนัง พานักเรียนดำน้ำลงไปสอบก่อนได้ใกล้ๆ ตัวเกาะที่น้ำไม่ลึก มีกระแสน้ำอ่อนๆ
  • นักดำน้ำที่จะลงดำเรือจมสุทธาทิพย์ เตรียมตัวตอนใกล้ๆ เที่ยง และเริ่มลงน้ำช่วงเที่ยงกว่าๆ จะดำเรือจมฯ ได้สบายพอดี
  • ช่วงบ่าย ระหว่าง 15-16 น. กระแสน้ำยังคงไหลลงต่อ โดยแรงขึ้นกว่าตอนเที่ยงพอประมาณ ย้ายไปดำน้ำด้านหลังเกาะโรงโขนโรงหนัง ตัวเกาะจะบังกระแสน้ำให้ แต่ต้องไม่ออกไปห่างแนวเกาะมากนัก เพราะอาจเจอกระแสน้ำได้
  • ขากลับ เป็นช่วงน้ำนิ่งหรือไหลลงเล็กน้อยอีกรอบ เรือไม่ต้องทวนกระแสแรงก็คงกลับถึงฝั่งประมาณ 5 โมงเย็นพอดี

ไปถึงจุดดำน้ำแล้วเช็คกระแสที่ผิวน้ำอีกทีหนึ่งว่าตรงตามที่ตารางน้ำบอกหรือไม่ (ปกติก็ค่อนข้างตรง 90% ครับ) มีลมแรงจนทำให้กระแสน้ำเบี่ยงทิศไปตามลมหรือไม่? มากน้อยแค่ไหน? แล้วก็คาดการณ์กระแสใต้น้ำประกอบเข้าไป ส่วนกระแสน้ำประจำถิ่นหรือประจำฤดู แทบไม่มีผลกับจุดดำน้ำแถบนี้เลย เพราะอ่าวไทยมีลักษณะเป็นอ่าวมีแผ่นดินล้อม 3 ด้านและยังอยู่ห่างไกลจากมหาสมุทรใหญ่เป็นร้อยกิโลเมตรอีกด้วย

ใครมีเทคนิคอื่นๆ นำมาแลกเปลี่ยนกันบ้างนะครับ