ประเทศฟิลิปปินส์เป็นหมู่เกาะขนาดใหญ่ทั้งประเทศ มีเกาะจำนวนมากกว่า 7,000 เกาะ (บางแห่งว่ากว่า 7,100 เกาะ บางแห่งก็ว่ามากกว่า 7,600 เกาะ) แบ่งออกเป็น 3 ภาคหรือเขตการปกครองใหญ่ คือ
- ลูซอน (Luzon) คือพื้นที่เกาะลูซอน (Luzon island) และเกาะเล็กๆ ข้างเคียง เช่น เกาะมินโดโร (Mindoro island) เกาะรอมบลอน (Romblon island) เป็นต้น และรวมเอาหมู่เกาะ Palawan เข้าไว้ด้วย (ซึ่งบางคนก็แยกหมู่เกาะนี้ออกไปเป็นส่วนที่ 4 โดยตำแหน่งพื้นที่) เขตการปกครองนี้มีประชากรหนาแน่นที่สุด และเกาะลูซอนเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดของฟิลิปปินส์ รวมทั้งเป็นที่ตั้งของมะนิลา (Manila) เมืองหลวงของประเทศ
- วิซายาส (Visayas) คือพื้นที่ตอนกลางของประเทศ ประกอบด้วยเกาะขนาดกลาง ได้แก่ Panay, Samar, Leyte, Negros, Cebu, Bohol และเกาะขนาดเล็กอีกจำนวนมาก
- มินดาเนา (Mindanao) คือพื้นที่เกาะมินดาเนา (Mindanao island) และเกาะเล็กๆ ข้างเคียง เช่น เกาะ Camiguin เกาะซูลู (Sulu island) เป็นต้น เกาะมินดาเนาเป็นเกาะที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ
สภาพอากาศและฤดูกาล
ดูเผินๆ ประเทศฟิลิปปินส์อยู่ในแนวละติจูดใกล้เคียงกับไทยเรามาก จึงน่าจะมีฤดูกาลคล้ายคลึงกัน แต่เนื่องจากเป็นหมู่เกาะกลางทะเล ห่างจากแผ่นดินใหญ่ถึง 800 กม. จึงมีสภาพอากาศที่แตกต่างจากเรามาก
ประเทศฟิลิปปินส์มี 2 ฤดูใหญ่ๆ คือ ฤดูเปียก (ฤดูฝน – rainy season) กับ ฤดูแห้ง (ฤดูแล้ง – dry season) โดยที่ฤดูแล้งยังแบ่งย่อยเป็น แล้งเย็น (cool dry) กับ แล้งร้อน (hot dry) อีกด้วย ดูตารางด้านล่างนี้จะเข้าใจง่ายขึ้น
Months | Nov–Feb | Mar–May | Jun–Aug | Sep–Oct |
---|---|---|---|---|
Rainfall | DRY | WET | ||
Temperature | COOL | HOT | ||
Season | Cool Dry | Hot Dry | Rainy |
อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 26-29 องศาเซลเซียสตลอดทั้งปี
แต่ถ้ามาดูสภาพอากาศกันจริงๆ แล้ว แต่ละพื้นที่ของประเทศยังมีสภาพอากาศแตกต่างกันออกไปด้วย โดยแบ่งออกเป็นลักษณะด้วยกัน คือ
- Type Ⅰ – มี 2 ฤดูชัดเจน คือ แห้งในช่วงพฤศจิกายนถึงเมษายน และฝนตกในช่วงอื่นของปี
- Type Ⅱ – ไม่มีฤดูแล้ง แต่มีฝนตกหนักในช่วงพฤศจิกายน ถึง มกราคม อุณหภูมิไม่สูงมาก
- Type Ⅲ – ฤดูไม่ค่อยชัดเจน โดยจะค่อนข้างแห้งในช่วงพฤศจิกายนถึงเมษายน และมีฝนตกบ้างในช่วงอื่นของปี
- Type Ⅳ – ฝนตกมากบ้างน้อยบ้างตลอดทั้งปี แต่ฝนไม่ตกหนัก และไม่ร้อนจัดหรือเย็นจัด
ฟิลิปปินส์กับภูเขาไฟ
ประเทศฟิลิปปินส์เกิดขึ้นมาจากภูเขาไฟ เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่า วงแหวนแห่งไฟ (Ring of Fire) ซึ่งเป็นบริเวณรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกมาชนกัน และปัจจุบันก็มีภูเขาไฟที่ยังไม่ดับอยู่อีกหลายลูกกระจายอยู่ทั่วประเทศ