บุหรี่กับการดำน้ำ ความตายที่อาจไม่ต้องผ่อนส่ง

2 เดือนที่แล้วผมเขียนบทความเรื่องแอลกอฮอล์กับการดำน้ำ แล้วก็ติดเรื่องบุหรี่ไว้กับเพื่อนนักดำน้ำท่านนึง วันนี้โดนทวง 555

ถ้าจะพูดถึงการสูบบุหรี่บนเรือที่กำลังพานักดำน้ำออกทะเล เราจะนึกถึงอะไร? เราจะนึกถึงว่าคนที่สูบบุหรี่จะรู้จักมารยาทของการสูบบุหรี่บนเรือ (Scuba) ไหม? และจะรู้ไหมว่าที่ไหนสูบได้ที่ไหนไม่ควรสูบ และจะรู้ไหมว่าต้องดูทิศทางลมด้วยนะเวลาจะจุดบุหรี่สักตัว หรือเวลาเค้าอัดอากาศเข้าถังเราไม่ควรไปสูบแถวๆ ปลายท่อลมเข้า

แต่บทความนี้ไม่ได้จะมาคุยเรื่องพวกนี้ครับ เราจะมาดูเรื่องที่อันตรายที่เกิดขึ้นกับผู้สูบบุหรี่ก่อนการดำน้ำ
(ซึ่งเมื่อก่อนผมเคยทำ 5555)

ในบุหรี่มีสารที่จะสร้างปัญหาให้กับระบบร่างกายของเราขณะดำน้ำอยู่ 3 ตัวครับ (เท่าที่ความรู้ผมจะสรุปได้นะครับ คุณหมออาจจะให้มากกว่าที่ผมบอก) 3 ตัวที่ว่านั้นก็คือ

  • นิโคติน
  • คาร์บอนมอนอกไซด์
  • ควัน ซึ่งอาจประกอบด้วยน้ำมันดิน ไอน้ำ หรืออะไรก็ได้ครับแล้วแต่ ที่จะสร้างความระคายเคืองให้กับหลอดลมของเรา

ในบทความนี้เราจะไม่พูดถึงการเป็นมะเร็ง การเป็นโรคถุงลมโป่งพอง ที่สิงห์อมควันผ่อนส่งกันอยู่นะครับ

เราจะพูดถึงผลของสารทั้ง 3 ตัว ที่จะเกิดขึ้นกับเราในฐานะนักดำน้ำ

ตัวแรกคือ เจ้านิโคติน

เป็นตัวที่จะทำให้หัวใจเราเต้นแรง หลอดเลือดหดตัว ซึ่งมันมีผลต่อระบบไหลเวียนของเลือดและการสูบฉีดเลือด ซึ่งเมื่อถูกกระตุ้นแบบนี้จะก่อให้เกิดภาวะที่ทำให้ร่างกายมีความเครียดสูง เขาว่ากันว่าเมื่อภาวะแบบนี้หัวใจจะทำงานหนักและอาจทำให้เกิดหัวใจวายได้ง่าย นักดำน้ำทราบกันโดยทั่วไปว่า การเตรียมตัวในการดำน้ำต้องพักผ่อนร่างกายให้เต็มที่ ไม่เครียด ไม่กังวลใจ ทำใจให้สงบ และพยายามควบคุมอาการตกใจขณะอยู่ใต้น้ำ

แต่สารนิโคติน มีผลไปทำให้ร่างกายเราเกิดความเครียดมากขึ้น เลือดสูบฉีดแรงขึ้น นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า
ทำไม DAN ถึง แนะนำให้เรางดสูบบุหรี่ 12 ชั่วโมงก่อนการดำน้ำ

ตัวต่อไปคือ คาร์บอนมอนนอกไซด์ (CO)

ตัวนี้ คือตัวที่จะไปเกาะกับฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงแทนออกซิเจน อย่างที่เรารู้กันดีครับว่า คาร์บอนมอนอกไซด์สามารถเกาะกับเม็ดเลือดแดงได้ดีกว่าออกซิเจน

ดีกว่าขนาดไหน?

ตามข้อมูลทางการแพทย์บอกว่าดีกว่าถึง 220 – 260 เท่า และถ้าจำไม่ผิด ถังอากาศของเรา เราจะไม่ยอมให้มีคาร์บอนมอนอกไซด์เกิน 0.001% คาร์บอนมอนอกไซด์ซึ่งดูดซึมได้ดีกว่าออกซิเจนนั้น อาจเหลือตกค้างอยู่ในเนื้อเยื่อขณะที่เราดำน้ำได้ ถ้ามีตกค้างจนทำให้มีปริมาณมากขึ้น 20% จะทำให้เกิดอาการปวดหัว มึนศีรษะ ถ้ามีปริมาณมากถึง 50% ของค่าสูงสุดที่กำหนดให้ จะมีอาการ อาเจียนและชักได้

ในขณะเดียวกัน ร่างกายอาจได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ จนอาจเกิดอาการ ไฮพ๊อกเซีย (Hypoxia) ร่วมขึ้นได้
เรื่องนี้ต้องถามครูดำน้ำดูนะครับจะได้ได้คำตอบที่ละเอียดขึ้น

ตัวต่อไปก็ควัน

น้องบางคนอาจอ้างว่า พี่ครับผมสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่มีคาเฟอีน ไม่มีนิโคติน ไม่มีคาร์บอนมอนอกไซด์ มีแต่ควันของไอน้ำและกลิ่นหอมครับ (น้องทำเหมือนพี่เลย 555) ควันไอน้ำและกลิ่นหอม อาจจะทำให้ระคายคอและไอหรือทำให้คอแห้งสุดแล้วแต่ว่าจะมีผลกระทบกับแต่ละคนอย่างไร บางคนอาจไม่มีผลกระทบเลย ซึ่งถือว่าเป็นโชคดีไปสำหรับนักดำน้ำคนนั้น

แต่ถ้าควันนั้นทำให้ทางเดินหายใจระคายเคือง อย่างน้อยที่สุด การดำน้ำไดฟ์นั้น นักดำน้ำอาจจะต้องดำน้ำไปจิบน้ำทะเลไปพลาง ผมเคยมาแล้วครับ ผมเชื่อว่าเพื่อนๆ นักดำน้ำหลายคนก็เคยทำ 555

ครับ เท่าที่พอจะอธิบายได้ เกี่ยวกับการสูบบุหรี่กับการดำน้ำก็มีเพียงเท่านี้ ส่วนหากใครต้องการข้อมูลเพิ่มเติม อาจต้องปรึกษาครูดำน้ำของท่านนะครับ หรือไม่ก็ต้องถามคุณหมอที่เป็นนักดำน้ำ น่าอธิบายได้ชัดเจนและดียิ่งขึ้น สำหรับผมแค่ได้ยินเขาเล่ามา 5555

แต่มีเรื่องนึงอยากฝากนักดำน้ำที่สูบบุหรี่นะครับ ก้นบุหรี่ของท่านเป็นมลพิษทางทะเลสำหรับสัตว์ทะเล ควันของท่านเป็นมลพิษทางอากาศสำหรับเพื่อนนักดำน้ำในทริปนั้น สะเก็ดไฟที่ปลายบุหรี่ขณะเรือวิ่งลมพัดแรง อาจสร้างปัญหาให้กับอุปกรณ์ดำน้ำของเพื่อนๆ ได้

การจะสูบบุหรี่ตัวนึงบนเรือ อาจต้องคิดหลายเรื่องมากกว่าสูบในที่ที่จัดไว้ให้สูบตามห้างสรรพสินค้าหรือสนามบินนะครับ หวังว่าการผ่อนส่งของท่าน จะดำเนินไปอย่างเรียบร้อยและยาวนาน 555

บทความจาก Facebook: Keng Krob