แอลกอฮอล์กับการดำน้ำ (Alcohol & Diving)

เป็นที่ทราบกันดีครับว่าคนส่วนใหญ่ที่มาดำน้ำก็เพื่อเป็นการผ่อนคลายหยุดพักจากการทำงานหรือหยุดพักร้อน จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าบางคนอาจจะมีการดื่มสุราเมรัยหรือของมึนเมากันบ้าง ในคืนก่อนที่จะมาดำน้ำ หรือแม้กระทั่งระหว่างดำน้ำ บางทีเราเห็นชาวต่างชาติหลายคนทำอย่างนี้ โดยเฉพาะถ้ามาเที่ยวกันเป็นกลุ่มใหญ่ มาฉลองเทศกาลพระจันทร์เต็มดวง (Full-moon Party) ตามเกาะหลายๆแห่งในประเทศไทย ดื่มค็อคเทลจากถังใส่น้ำแข็ง และไปดำน้ำชมปะการังในวันถัดไป บางคนอาจอยากถามเขาว่าเขารู้สึกอย่างไรเวลาที่เขาแฮ้งค์ (hangover) บางคนอาจสงสัยต่อไปอีกว่าแล้วการดื่มแอลกอฮอล์มันมีผลอย่างไรต่อการดำน้ำ อันนี้เรามาสรุปข้อเท็จจริงดังนี้ครับ

ผมบอกตามตรงเลยครับว่า แอลกอฮอล์นั้นมันไม่ได้มีผลดีต่อร่างกายเราเลย ศีลข้อที่ห้าก็ระบุห้ามไว้เช่นนั้น กฏหมายในการขับรถเราก็มีบังคับใช้ ในการดำน้ำก็เช่นกัน คอเหล้าจะคิดว่าดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้สถานการณ์อะไรที่แย่นั้นดีขึ้น แต่จริงๆแล้วมันทำให้คุณรู้สึกผิดน้อยลงมากกว่า อันนี้อาจจะเป็นจากประสบการณ์ส่วนตัวของผมตอนที่ยังเป็นนักเรียนด้วยส่วนหนึ่ง

บางคนคิดว่า ดื่มเบียร์นิดหน่อยก่อนดำน้ำ ถ้าไม่เมาก็ไม่เป็นไรน่า ผมขอบอกเลยว่ามันไม่จริงแน่นอน แอลกอฮอล์นั้นเข้าไปในกระแสเลือดได้อย่างรวดเร็วนับเป็นหน่วยนาที แม้กระทั่งว่าเพียงได้ลิ้มลองผ่านทางเยี่อช่องปาก (Buccal mucosa) ก็ดูดซึมเข้าไปได้ส่วนหนึ่งแล้ว (< 3% ของทั้งหมด) แอลกอฮอล์โดยส่วนใหญ่จะดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดที่ลำไส้เล็ก (85%) และที่กระเพาะอาหาร (12%) จะลัดกลไกการย่อยหรือกรองอาหารอื่นๆ bypass ลำไส้ได้ในปริมาณหนึ่ง ซึ่งมันจะผ่านขึ้นไปตามกระแสเลือดถึงเส้นประสาทในสมอง ทำให้สมรรถภาพในการคิด การคำนวณระยะ การกำหนดเป้าหมาย หรือความสามารถในการควบคุมอุปกรณ์ หรือการสื่อสารต่อเพื่อนที่ดำน้ำ ลดลงอย่างเห็นได้ชัด คนที่ดื่มเหล้านั้นส่วนมากจะประมาณผลเสียที่เกิดขึ้นต่ำกว่าความเป็นจริงเสมอ ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วในงานวิจัยหลายครั้ง งานวิจัยที่โดดเด่น โดย Perrine et al1 นักวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์เคยให้นักประดาน้ำกลุ่มหนึ่งทดลองดื่มแอลกอฮอล์ไนปริมาณต่างๆกัน และเจาะเลือดวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเพื่อเปรียบเทียบ ให้นักประดาน้ำทดสอบหลายทักษะทั้งด้านการควบคุมร่างกายตนเอง การคำนวณทางคณิตศาสตร์ และด้านการสื่อสาร จากนั้นให้นักประดาน้ำคนนั้นประเมินผลเอง ผลงานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าโดยเฉลี่ยนักประดาน้ำมีทักษะที่แย่ลงในทุกๆ ด้าน เมื่อมีแอลกอฮอล์ในเลือดที่สูงขึ้น และสมรรถภาพที่ลดลงนี้จะมีผลยาวนาน แม้กระทั่งหลังจากระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเป็นศูนย์ไปแล้วอีกหลายๆ ชั่วโมง ที่แย่ไปกว่านั้น เขาก็ประเมินผลความแย่นั้นต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งตรงนี้อาจจะทำให้ทุกคนรู้สึกวิตกกังวล

แอลกอฮอล์ยังทำให้เกิดการขาดน้ำ (Dehydration) เพราะมันเป็นสารที่ไปกระตุ้นให้ไตกรองของเสียมากขึ้น ทำให้ผลิตปัสสาวะในปริมาณมากขึ้น (Diuretic) อันนี้เรารู้ดีว่าจะทำให้ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคน้ำหนีบ (Decompression Syndrome, DCS) มีมากขึ้น ยิ่งถ้าดื่มเหล้าในขณะที่มีอาการแฮงค์ (hangover) ด้วยแล้ว คนที่ดำน้ำจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเมาไนโตรเจน (Nitrogen Narcosis) มากขึ้น และอาจมีผลให้จมน้ำหรือมีผลถึงซีวิตได้ มีรายงานลักษณะนี้ที่ตีพิมพ์ออกมาอยู่เรื่อยๆ เช่นโดย Michalodimitrakis et al2

การเมาไนโตรเจน หรือชาวต่างชาติเรียกสั้นๆ ว่า “Narced” จริงๆแล้วไม่มีใครรู้กลไกว่าทำไมแอลกอฮอล์มันทำให้เกิดความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แต่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าแอลกอฮอล์ จะมี Metabolic pathway (โดยผ่านทางตับ) ที่ร่วมกับ Nitrogen ในการที่ร่างกายจะพยายามกำจัดมันออกไป งานวิจัยในเรื่องนี้ทำได้ยาก เพราะว่า ผลลัพธ์ของการเมาไนโตรเจนหรือการเมาสุรามันค่อนข้างจะเหมือนกันทีเดียว คนไทยถึงเรียกว่า การ”เมา”ไนโตรเจน เพราะบางทีแยกแยะไม่ออกว่ามันเกิดจากไนโตรเจนหรือแอลกอฮอล์ ซึ่งการทดลองทางจิตวิทยาโดย Hobbs3 ได้พิสูจน์เรื่องนี้แล้ว บางครั้งเขาเรียก Nitrogen Narcosis ว่า The Martini Effect คือทุกๆ 1 ATM pressure หรือ 33 ฟุต (10 เมตร) จะเหมือนกับดื่มค็อคเทลมาร์ตินี่ 1 แก้ว

ส่วนคนที่ถามว่า แล้วจะทำให้อาการแฮงค์หายไปได้เร็วที่สุดอย่างไร ผมเองก็ลองมาหมดแล้ว ตั้งแต่ ดื่มไข่ดิบ จนถึงซอสพริกศรีราชา แต่วิธีแก้อาการแฮงค์ที่ดีที่สุดคงหนีไม่พ้น ดื่มน้ำเปล่าเยอะๆ และ รอให้เวลาผ่านไป ให้ร่างกายเรากำจัดแอลกอฮอล์ออกไปเอง และแม้โดยการคาดการณ์ตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เราอาจจะพอบอกได้ว่า เราจะกินเบียร์ได้ไม่เกินเท่าไหร่ ภายในกี่ชั่วโมง แต่อย่าลืมว่า คนเรานั้นย่อยแอลกอฮอล์ได้ในอัตราที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น เพศ, อายุ, เชื้อชาติ, ส่วนสูง, น้ำหนัก, ยีนส์หรือกรรมพันธุ์, อาหารที่รับประทานร่วมด้วย, โรคประจำตัว, ยาประจำตัวที่ทาน และอื่นๆ อีกมาก จากเหตุผลที่ว่าข้างต้น จึงมี guideline ในเรื่องแอลกอฮอล์กับการดำน้ำ (Alcohol and Diving) มากมาย แล้วแต่ว่าเป็นของประเทศไหน ขององค์กรไหน ซึ่งก็มีคำแนะนำต่างกันทั้งในเรื่องปริมาณและเวลา ทั้งนี้ไม่มีอันไหนถูกหรือผิด (มีงานวิจัยอ้างอิงทั้งนั้น แต่มันเป็นอะไรที่ไม่ตายตัว)

โดยพื้นฐานแล้ว ผู้ชายไทยอายุประมาณ 20-45 ปี ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บและไม่ทานยาใดๆ ฟิตและออกกำลังกายสม่ำเสมอ ดื่มเบียร์ไทย 1-2 กระป๋อง ภายในเวลา 1-2 ชั่วโมง ระหว่างอาหารเย็น หลังจากการดำครั้งสุดท้ายของวัน โดยไม่มีอาการเมาหรืออาเจียน แล้วนอนหลับเป็นเวลา 8 ชั่วโมง ก็ไม่น่าจะมีปัญหากับการดำน้ำในวันรุ่งขึ้น

หวังว่าบทความของผมจะเตือนสติท่านผู้อ่านได้นะครับว่า ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ก่อนดำน้ำเลยจะดีที่สุด

นพ. ปฤชพนธ์ โตวรานนท์
Dr. Preechapon (Pleayo) Tovaranonte
Hyperbaric & Diving Medicine, Aviation Medicine Specialist
Designated Diving Doctor (DDD), Ministry of Business, Innovation, & Employment (NZ)
Grade 1 Civil Aviation Medical Examiner (NZ)

Footnotes

  1. Perrine MW, Mundt JC, Weiner RI. When alcohol and water don’t mix: diving under the influence. J Stud Alcohol. 1994 Sep;55(5):517-24. URL: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/7990461
  2. Michalodimitrakis E, Patsalis A. J Forensic Sci. 1987 Jul;32(4):1095-7.Nitrogen narcosis and alcohol consumption–a scuba diving fatality. URL: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/3612064
  3. Hobbs M. Undersea Hyperb Med. 2008 May-Jun;35(3):175-84. Subjective and behavioural responses to nitrogen narcosis and alcohol. URL: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/18619113