อากาศสำรอง (Gas Reserve)

ไม่ทราบว่าเพื่อนๆ นักดำน้ำเคยเจอเหตุการณ์ที่ต้องแชร์อากาศ หรือเคยเห็นคนแชร์อากาศเพื่อขึ้นสู่ผิวน้ำหรือไม่?

จากประสบการณ์การดำน้ำเป็นเวลา 8 ปี จำนวน 1000 ไดฟ์+ ฉันเคยมีประสบการณ์เรื่องแชร์อากาศจาก buddy หรือให้ teammate แชร์อากาศ รวมถึงให้คนที่อากาศหมด แชร์อากาศของ buddy ฉันขึ้น เพราะฉันมีอากาศไม่พอที่จะให้คนที่อากาศน้อย แชร์อากาศขึ้นสู่ผิวน้ำ สิ่งที่น่าประทับใจคือ buddy ฉันไม่เคยต้องแชร์อากาศของฉันหรือคนอื่นขึ้นเลย

เมื่อมานั่งวิเคราะห์จากประสบการณ์ตัวเอง ฉันบอกได้ว่า ฉันเป็นนักดำน้ำที่ไม่ดีนัก เหตุที่ต้องพูดแบบนี้เพราะ ฉันประมาท ฉันละเลยกฎของความปลอดภัย วันนี้ ฉันมานั่งคิดว่า หาก buddy ฉันเกิดเหตุฉุกเฉินที่ต้องการอากาศจากฉัน เช่น Regulator Free Flow กะทันหันที่ความลึก 30 เมตร ฉันเคยเผื่ออากาศไว้หรือไม่? คำตอบที่น่ากลัวของฉันคือ ฉันคงไม่มีอากาศเหลือพอ เพราะฉันใช้อากาศมากกว่า buddy ของฉัน ฉะนั้น หากเกิดปัญหากับ buddy ตอนปลายไดฟ์ ฉันรู้เลยว่า อากาศที่เหลืออยู่ในถังอากาศของฉันจะไม่สามารถที่จะพาตัวฉันเองและ buddy ขึ้นสู่ผิวน้ำอย่างช้าๆ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิด Decompression Sickness ได้เลย

อากาศสำรอง สำคัญขนาดไหน

สำคัญขนาดที่ว่า หากจำเป็นต้องใช้แล้วไม่มีให้ใช้ สิ่งเดียวที่ทำได้ คือ ขึ้นสู่ผิวน้ำ

คำถามต่อมาคือ เมื่อไม่มีอากาศ เราจะขึ้นสู่ผิวน้ำอย่างรวดเร็ว หรือ อย่างช้าๆ ตามกฎของการดำน้ำ? และ ผลของการขึ้นสู่ผิวน้ำเร็ว คือ เราอาจเสี่ยงต่อการเป็น Decompression Sickness ได้

อากาศสำรองนั้นยังจำเป็นสำหรับการขึ้นเรือในขณะที่มีคลื่นสูงบนผิวน้ำ ด้วยว่าวิธีขึ้นเรือในขณะที่มีคลื่นสูง คือ การคาบ regulator ไว้ด้วย เพราะอาจเกิดเหตุการณ์ที่เราพลัดหล่นจากบันไดเมื่อไม่สามารถยึดเกาะบันไดเรือได้อย่างมั่นคง หรือหากเราจมลงไปพร้อมบันไดเมื่อคลื่นโยนตัว เราก็จะยังมีอากาศให้หายใจได้อยู่

แต่หากเราไม่มีอากาศสำรองให้ใช้ระหว่างนั้น ในขณะที่ถูกดึงให้จมลงไปพร้อมบันไดนั้น เรามีโอกาสสูงที่จะสำลักน้ำก่อนขึ้นเรือ

อากาศสำรอง เก็บไว้ให้ใคร

คงไม่ต้องบอกว่า คนแรกที่เราเก็บไว้ให้ คือ ตัวเอง เก็บไว้เพื่อที่จะขึ้นสู่ผิวน้ำได้อย่างปลอดภัย เก็บไว้สำหรับว่ายน้ำกลับเรือ หรือไว้สำหรับขึ้นเรือ

คนที่สอง คือ เราต้องเก็บไว้สำหรับ buddy หรือ teammate ในกรณีนี้ คนที่สองหมายถึง 2 คน คือ การสำรองอากาศให้ทั้งตัวเราและ buddy ให้ขึ้นสู่ผิวน้ำและสามารถทำ Safety Stop ได้อย่างเพียงพอ

ฉันขอนำข้อคิดที่ดีข้อหนึ่งที่ฉันได้จากที่ได้ไปเรียน Course GUE-Fundamentals มาเป็นแนวทางในการนำเสนอในเรื่อง ปริมาณอากาศสำรองน้อยที่สุดที่ควรจะมี อนึ่ง หากใครอยากรู้เพิ่มเติมเรื่องของสถาบันฯ GUE (Global Underwater Explorers) สามารถเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่ www.gue.com

ต้องเก็บไว้แค่ไหนถึงเรียกว่าพอ (ดี)

การคำนวณหาปริมาณอากาศสำรองน้อยที่สุดที่ควรจะมีนั้น จะต้องปรับตามหัวข้อต่อไปนี้

  1. ความสามารถของนักดำน้ำ
  2. ระดับการดำน้ำและการฝึกฝนของนักดำน้ำ
  3. สถานที่ที่จะดำน้ำ
  4. อุปกรณ์ที่ใช้
  5. ห้ามใช้ปริมาณอากาศสำรองต่ำกว่า 40 bar

คำถาม

เมื่อเราวางแผนการดำน้ำที่มีความลึกสูงสุดคือ 30 เมตร ถามว่า เราจะต้องเหลือหรือเผื่ออากาศไว้เท่าไหร่สำหรับการทำ Safety Stop หรือ Decompression Stop และขึ้นสู่ผิวน้ำ?

สำหรับฉัน ฉันตอบได้ทันทีทันใดเลยว่า 50 bar เพราะจากประสบการณ์ที่ดำน้ำมา และจากที่เคยเรียนมา ได้มีสอนไว้ว่า หากอากาศเหลือ 50 bar หรือ 500 psi ให้ขึ้น

คำถามเพิ่มเติม

แล้วหากต้องแชร์อากาศขึ้นสู่ผิวน้ำกับ buddy จากความลึก 30 เมตร เราจะต้องเหลือ หรือ เผื่ออากาศไว้เท่าไหร่ สำหรับการ ทำ Safety Stop หรือ Decompression Stop สำหรับ 2 คน เพื่อจะขึ้นสู่ผิวน้ำ

ไม่รู้ว่า มีใครตอบคำถามนี้ได้หรือไม่ แต่ฉันตอบไม่ได้

การคำนวณ

ลองมานั่งคำนวณกันดูว่า ที่ 30 เมตรขึ้นสู่ผิวน้ำโดยมี buddy แชร์อากาศด้วย เราจะใช้อากาศเท่าไหร่

(หมายเหตุว่า การคำนวณนี้ลองทำขึ้นมาเพื่อเป็นแนวทางในการคิด เพื่อให้มีการตระหนักถึงความสำคัญ เป็นเครื่องมือในการคิด ไม่ใช่เป็นตารางฝึกหรือตารางการดำน้ำที่ต้องทำ

ความลึก (เมตร)เวลา (นาที)
0 – – –ที่ผิวน้ำ
3 – – –1 นาที ใช้เพื่อขึ้นสู่ผิวน้ำ
6 – – –3 นาที Safety Stop
9 – – –1 นาที
12 – – –1 นาที
15 – – –1 นาที ascend rate จาก 21 เมตรถึง 15 เมตรและ
+ 1 นาที 
Deep Stop (ที่ครี่งหนึ่งของความลึกสูงสุด)
18 – – –
21 – – –1 นาที ascend rate จาก 30 เมตรถึง 21 เมตร (9 เมตร/นาที
= อัตราความเร็วมาตรฐานในการขึ้นสู่ผิวน้ำของไดฟ์คอมพิวเตอร์)
. . .
30 – – –

โดยส่วนมาก คนที่แชร์อากาศกันขึ้น จะมีการใช้อากาศมากกว่าปกติเป็นธรรมดา เพราะ ต้องอยู่ภายใต้ความเครียดที่ว่า จะขึ้นสู่ผิวน้ำทันหรือไม่ จะอยู่ในท่าไหน จะลอยขึ้นหรือไม่ คนที่แชร์อากาศไม่สามารถอยู่นิ่งๆ ได้ แข้งขาพันกัน และ ฯลฯ

ฉะนั้น จากสถิติ คนที่อยู่ในความเครียดจะใช้อากาศประมาณ 30 ลิตรต่อนาที (มีกรณีที่ใช้มากกว่า และ น้อยกว่า) แต่ค่ากลางที่เราจะใช้สำหรับการคำนวณในครั้งนี้ เราตั้งสมมติฐานโดยใช้ค่ากลางที่ 30 ลิตรต่อนาทีที่ผิวน้ำ

ในเมื่อเราใช้อากาศ 30 ลิตรต่อนาทีที่ผิวน้ำ ที่ความลึกมากขึ้นเราจะใช้อากาศมากขึ้น
จากตัวอย่างการคำนวณนี้ เราใช้ความลึกเฉลี่ย (0-30 เมตร) คือ 15 เมตรหรือ 2.5 ATA
ฉะนั้น ปริมาณอากาศที่นักดำน้ำ 1 คนต้องใช้ต่อนาทีที่ความลึกเฉลี่ย 15 เมตร = 30 ลิตร x 2.5 ATA = 75 ลิตร/นาที

ลองดูเวลาที่ขึ้นสู่ผิวน้ำ สำหรับ 1 คน (จากตารางข้างบน เมื่อรวมเวลาทั้งหมดแล้ว) = 9 นาที … สำหรับ 2 คนจึง = 9 x 2 = 18 นาที

ดังนั้น ปริมาณอากาศที่ต้องใช้ = การบริโภคอากาศที่ 75 ลิตร/นาที เป็นเวลา 18 นาที สำหรับ 2 คนเพื่อขึ้นสู่ผิวน้ำ = 75 x 18 = 1,350 ลิตร

คำนวณ 1,350 ลิตรเป็น bar สำหรับถังอากาศ 12 ลิตรที่เราใช้ = 112.50 bar

จากการคำนวณนี้ เราจะเห็นได้ว่า ปริมาณอากาศที่นักดำน้ำสองคนต้องใช้เพื่อขึ้นสู่ผิวน้ำคือ 112.50 bar

ถามว่า หากเราไปดำน้ำเรือหลวงคราม หรือ เรือหลวงกูดที่จมอยู่ที่ความลึก 30 เมตร เราเหลืออากาศเท่าไหร่ ก่อนที่เราจะทำการขึ้น?

แนวทางที่ฉันคิดว่า ฉันจะนำมาใช้ต่อจากนี้ไปคือ
0-18 เมตร – ปริมาณอากาศสำรองที่เก็บไว้คือ  50 bar
18-30 เมตร – ปริมาณอากาศสำรองที่เก็บไว้คือ 100 bar

ฉันไม่ใช้ 112.50 bar เพราะอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า การคำนวณนี้เพื่อให้เห็นตัวเลขที่จะเป็นแนวทาง และในความเป็นจริง เราคงไม่ได้อยู่ในระดับ 30 เมตรนานมาก เนื่องจาก NDL limit และที่สำคัญ คือ 100 bar นั้นจำง่ายกว่าเยอะ

อีกอย่าง ในการปฏิบัตินี่ ไม่ได้หมายถึงว่า เมื่อถึง 100 bar แล้ว ฉันจะขึ้นสู่ผิวน้ำทันที หากแต่ว่า เมื่อเข็มอากาศบอกว่า อากาศในถังเหลือ 100 bar ฉันคงขึ้นมาจากความลึก 30 เมตร ให้อยู่ในระดับ 18 เมตรหรือตื้นกว่า และหากถึง 50 bar ฉันจะค่อยๆ ไต่ระดับขึ้นสู่ผิวน้ำ

เพราะตอนนี้ฉันรู้แล้วว่า หาก buddy อากาศหมด หรือมีปัญหาต้องแชร์อากาศที่ 30 เมตร ฉันจะมีอากาศสำรองที่ 100 bar เสมอ ซึ่งจะเพียงพอที่จะพาเราทั้งคู่ขึ้นสู่ผิวน้ำโดยปลอดภัย

บทสรุป

ฉันเชื่อว่า นักดำน้ำทุกคนดำน้ำโดยมีเกณฑ์อากาศสำรองอยู่ที่ 50 bar หรือ 500 psi เพราะเราจะถูกสอน หรือถูก brief ก่อนดำน้ำเสมอว่า เมื่อถึง 50 bar หรือ 500 psi ให้ส่งสัญญาณบอก dive leader เพื่อนำกลุ่มขึ้นสู่ผิวน้ำ หากแต่เมื่อเรามีประสบการณ์มากขึ้น  เราดำน้ำลึกขึ้น บางทีเราได้ปล่อยให้ตัวเองยอมรับเกณฑ์อากาศสำรองที่ต่ำกว่านี้ ในที่ที่ลึกกว่านี้ แทนที่มันควรจะเป็นในทิศทางตรงกันข้าม และเมื่อเราปล่อยให้ตัวเองยอมรับได้และไม่มีเหตุการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้น เรายิ่งจะลดปริมาณอากาศสำรองที่เก็บไว้ไปเรื่อยๆ จนเราประมาทจนเกิดเป็นนิสัย นั่นคือเราปล่อยให้ตัวเองขึ้นเรือโดยมีอากาศเหลืออยู่ในถังอากาศ 0 bar ถึง 40 bar เท่านั้น และสิ่งที่น่าเป็นห่วงต่อมาคือ เราอาจจะปล่อยปละละเลยจนกระทั่งอากาศเหลือ 0 bar ทั้งที่ยังอยู่ในความลึกหนึ่ง นั่นหมายถึงว่า เราคงต้องไปหาอากาศสำรองจากที่อื่น นั่นคือ buddy หรือนักดำน้ำคนอื่น และหาก buddy ของเราได้สร้างนิสัยเดียวกัน เราจะทำอย่างไร?

ฉะนั้น เพื่อความปลอดภัยทั้งตัวเองและ buddy นอกจากจะระวังให้ตัวเองมีอากาศใช้เพียงพอแล้ว ให้คิดเผื่ออากาศถึง buddy ด้วย อย่าประมาทโดยคิดไปเองว่า buddy จะมีอากาศสำรองไว้ให้เราใช้เสมอไป โดยเฉพาะในกรณีน้ำมีกระแสแรง

เราทุกคนคงไม่ต้องมานั่งคำนวณทุกครั้งสำหรับปริมาณอากาศที่เราต้องเก็บไว้ แต่หากจากบทความนี้ ฉันหวังว่านักดำน้ำทุกคนจะเริ่มตระหนักได้ว่า ยิ่งลึก ยิ่งต้องใช้อากาศมากขึ้น ยิ่งลึก ยิ่งต้องระวัง  และไม่ใช่แค่ระวังแต่เฉพาะตัวเอง ควรคำนึงถึง buddy ที่เราดำน้ำด้วย และนี่จะเป็นสิ่งหนึ่งที่บ่งบอกถึงการที่จะก้าวสู่การเป็นนักดำน้ำที่ดี และการดำน้ำที่ปลอดภัยมากขึ้น

เขียนโดยน้องTeen
เผยแพร่ครั้งแรก7 ก.ย. 2550