การจัดการน้ำหนักตะกั่วและการลอยตัว เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญสำหรับการดำน้ำแบบฟรีไดฟ์ ที่นักดำน้ำควรทำความเข้าใจและเลือกให้เหมาะสม เพื่อที่จะช่วยให้การลอยตัวในน้ำของเรา มีประสิทธิภาพที่สุด ช่วยลดแรงลอยตัวได้อย่างพอดี ให้อยู่บนผิวน้ำได้ไม่เหนื่อยเกินไปและช่วยให้การลงสู่ความลึกหรือขึ้นสู่ที่ตื้นเป็นไปอย่างราบรื่น ซึ่งบางครั้งความยากลำบากในเรื่องนี้อาจนำไปสู่อันตรายถึงแก่ชีวิต
ระบบน้ำหนักเพื่อการดำฟรีไดฟ์ จะประกอบด้วย
- หลักพื้นฐานเกี่ยวกับการลอยตัว ความเข้าใจเกี่ยวกับการลอยตัวของร่างกายเรากับน้ำทะเล
- สิ่งที่ต้องพิจารณาเมื่อจะจัดระบบน้ำหนักของเรา
- วิธีเซ็ตน้ำหนักตะกั่วให้เหมาะสมกับการดำน้ำแต่ละแบบ
หลักพื้นฐานเกี่ยวกับการลอยตัว
การลอยตัว เป็นสภาพการจมหรือลอยของวัตถุภายในสิ่งแวดล้อมหนึ่งๆ อาจเป็นก๊าซหรือของเหลวก็ได้
วัตถุแต่ละชิ้นจะมีสภาพการลอยตัวแตกต่างกันไปตามคุณสมบัติของมัน และคุณสมบัติของสิ่งแวดล้อมที่มันเข้าไปอาศัยหรือแทนที่อยู่
สำหรับนักดำน้ำอย่างเรา วัตถุที่ว่านี้ ก็หมายถึง ตัวเรา พร้อมด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ที่เราพกติดตัวลงไปดำน้ำด้วย ส่วนสิ่งแวดล้อมที่ว่านั้น ก็มักจะหมายถึงน้ำจืดหรือน้ำทะเลนั่นเอง
หากเราอยู่เฉยๆ แล้วไม่จมลงไปเรื่อยๆ สู่ก้นทะเล แต่กลับลอยขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงผิวน้ำ ก็เรียกว่า เรามีสภาพการลอยตัวเป็นบวก และในทางกลับกัน หากอยู่เฉยๆ แล้วกลับจมลงไปเรื่อยๆ ก็เรียกว่า เรามีสภาพการลอยตัวเป็นลบ
สภาพการลอยตัวทั้งบวกและลบนี้ จะทำให้เราต้องหาวิธีแก้ไขเพื่อจะได้อยู่กลางน้ำได้อย่างสงบนิ่ง เคลื่อนที่ไปทิศทางต่างๆ ทำกิจกรรมได้อย่างใจต้องการ ไม่ต้องคอยสู้กับการลอยหรือจมที่มารบกวนเราอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นสภาพการลอยตัวที่เราต้องการ คือสภาพการลอยตัวที่เป็น 0 หรือเป็นกลาง พอดีกับน้ำรอบตัวเรา นั่นเอง
เมื่ออยู่ในน้ำทะเล ร่างกายมนุษย์ส่วนใหญ่จะมีการลอยตัวเป็นบวก ยิ่งเมื่อใส่เว็ทสูทเพิ่มเข้าไป ยิ่งทำให้เป็นบวกมากขึ้นไปอีก เราจึงต้องเอาตะกั่ว (ซึ่งมีการลอยตัวเป็นลบมากๆ) มาถ่วงเพิ่มให้การลอยตัวโดยรวมทั้งหมดของเราเป็นกลางกับน้ำทะเล
สำหรับนักดำน้ำฟรีไดฟ์แล้ว สภาพการลอยตัวที่เป็นกลาง จะเปลี่ยนไปตามแต่ความลึกด้วย ด้วยสาเหตุหลักคือ เมื่ออยู่ที่ความลึกต่างๆ กัน ปอดของเราจะมีปริมาตรไม่เท่ากัน ตามแต่ความกดอากาศที่ความลึกนั้น ดังนั้นการตัดสินใจเลือกน้ำหนักตะกั่วเพื่อทำให้การลอยตัวของเราเป็นกลางในแต่ละไดฟ์ จึงขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และความลึกที่เราจะดำน้ำลงไปด้วย
หากใครสนใจอยากรู้เรื่องการลอยตัวให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น จะได้รู้ว่า การลอยตัวนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร จะคำนวณหรือคาดคะเนขนาดได้อย่างไร หรือมีปัจจัยอะไรอีกบ้างมั้ยที่มีผลต่อการดำน้ำ คลิกอ่านหัวข้อ หลักพื้นฐานเกี่ยวกับการลอยตัว เพื่อการดำน้ำ ได้เลย
สิ่งที่ต้องพิจารณาเมื่อจะจัดระบบน้ำหนัก
องค์ประกอบของร่างกาย (Body Composition)
น้ำหนักตัวอาจเป็นส่วนหนี่งที่สามารถประมาณการเลือกใส่น้ำหนักได้ แต่สิ่งที่ควรคำนึงมากกว่านั้น คือ องค์ประกอบของร่างกายของเราต่างหาก ที่จะมีผลต่อการลอยตัวมากกว่าน้ำหนักตัว เนื่องจากกล้ามเนื้อและกระดูกของคนเราจะมีแรงลอยตัวเป็นลบ ส่วนไขมันในร่างกายของเรามีแรงลอยตัวเป็นบวก เพราะฉะนั้นคนที่มีไขมันมากกว่า จึงมีแรงลอยตัวเป็นบวกมากกว่า ทำให้ต้องใช้น้ำหนักตะกั่วที่มากขึ้น
ความหนาของเว็ทสูท (Wetsuit Stiffness)
ในปัจุบันนี้ เว็ทสูทส่วนมากล้วนทำมาจากผ้า Neoprene ซึ่งมีความหนาของผ้าให้เลือกใช้ตั้งแต่ 0.5 – 9 มิลลิเมตร เนื่องจากลักษณะของผ้า Neoprene จะมีลักษณะเหมือนฟองน้ำที่มีช่องว่างอยู่ด้านใน ทำให้ในชุดเว็ทสูทของเรามีอากาศบางส่วนอยู่ภายใน และเมื่อชุดยิ่งมีความหนามากเท่าไหร่ ก็จะทำให้ชุดมีแรงลอยตัวเป็นบวกมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น ความหนาของเว็ทสูทจึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราต้องคำนึงถึงในการคาดคะเนน้ำหนักตะกั่วที่จะใช้งาน
สภาพน้ำ (Water Conditions)
เนื่องจากความหนาแน่นของน้ำเค็มและน้ำจืดมีความแตกต่างกัน โดยน้ำเค็มมีความหนาแน่นอยู่ที่ประมาณ 1.03 กิโลกรัม/ลิตร น้ำจืดมีความหนาแน่นอยู่ที่ 1 กิโลกรัม/ลิตร
เมื่อน้ำทะเลมีความหนาแน่นมากกว่า สร้างแรงยกต่อร่างกายเราได้มากกว่า การลอยตัวของเราในน้ำทะเลจึงมากกว่าในน้ำจืด หากเราใช้น้ำหนักตะกั่วในการดำน้ำทะเลมาใช้ในการดำน้ำจืด ความลึกที่ทำให้การลอยตัวของเราเป็นกลางก็จะเปลี่ยนไปด้วย
แม้แต่ในประเภทน้ำเค็มด้วยกันนั้น ในแต่ละแหล่งน้ำหรือแต่ละภูมิภาคของโลก ความหนาแน่นก็ยังมีความแตกต่างกันได้
เพราะฉะนั้นแล้ว การตรวจสอบน้ำหนักในการวอร์มไดฟ์แรกจึงเป็นวิธีที่ดีในการตรวจสอบความถูกต้องของน้ำหนักของเรา
เทคนิค (Technique)
เทคนิคเป็นเรื่องที่หลายๆ คนอาจมองข้าม โดยเฉพาะนักดำน้ำมือใหม่ที่มักจะรู้สึกว่า ไม่ว่าจะพยายามลงยังไงตัวก็ยังลอยอยู่ดี และส่วนใหญ่มักจะแก้ปัญหานี้ด้วยการใส่ตะกั่วเพิ่มเข้าไป
แต่ถ้าเรามีเทคนิคการดำที่ดีเช่น ในการดำ Constant Weight หากเรามีเทคนิค duck dive และ streamline ที่ถูกต้อง การที่ตัวเราลู่น้ำได้ดีก็จะช่วยให้ลงไปสู่ความลึกได้ง่ายขึ้น หรือแม้กระทั่งการดำ Dynamic การทำ streamline ในตำแหน่งที่ถูกต้องก็จะช่วยไม่ให้ตัวเราลอยขึ้นมาอยู่บนผิวน้ำได้ง่ายขึ้น เป็นต้น เทคนิคต่างๆเหล่านี้จะช่วยให้การดำฟรีไดฟ์ของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น และจะเป็นผลดีมากกว่าการเพิ่มน้ำหนักตะกั่วที่มากเกินไป
วิธีเซ็ตน้ำหนักตะกั่ว (How to Set Up Your Weight)
สำหรับวิธีการตรวจสอบและเซ็ตน้ำหนักที่นิยมกันมากที่สุด คือการหาจุดลอยตัวเป็นกลาง (neutral bouyancy) โดยปกติแล้ว นักกีฬา freedive หรือ นักดำน้ำ freedive จะเลือกเซ็ต neutral bouyancy ที่ระยะ 1 ใน 3 ของความลึกที่ต้องการดำ หรืออย่างน้อยไม่ต่ำกว่า -10 เมตร
วิธีการคือ ใส่น้ำหนักอย่างคร่าวๆ แล้วดำลงไปที่ความลึก -10 เมตร จากนั้นกลับตัวตั้งขึ้น ใช้มือกำเชือกหลวมๆแล้วสังเกตที่จุดมาร์กความลึกที่เชือกหรือไดฟ์คอมพิวเตอร์ให้ความลึกของเราอยู่คงที่ที่ -10 เมตร เมื่อตัวเราไม่จมลงหรือไม่ลอยขึ้นก็แสดงว่าการลอยตัวนั้นเป็นกลาง
ในการเช็ค neutral bouyancy แนะนำให้ทำในวันที่ Training เพื่อจะใช้เชือกเป็น reference ในการตรวจสอบ
แต่สำหรับมือใหม่ หรือใครที่ยังไม่สามารถลงไปเซ็ต neutral bouyancy ที่ -10 เมตรได้ ก็ยังมีอีกวิธีง่ายๆ คือวิธีการเช็คบนผิวน้ำ (Surface Buoyancy Check) โดยให้ใส่น้ำหนักด้วยการประมาณอย่างคร่าวๆ จากนั้นยื่นแขนข้างหนึ่งไปด้านข้างและวางไว้บนบุย ส่วนแขนอีกข้างให้อยู่แนบลำตัว ตั้งตัวตรง หยุดตีฟิน แล้วหายใจออก จากนั้นให้สังเกตระดับน้ำให้อยู่ระหว่างริมฝีปากล่างและคาง หากระดับน้ำอยู่คงที่ ก็เป็นอันว่าน้ำหนักที่เรากำลังใช้อยู่นั้นเหมาะสมกับการดำของเรา แต่ถ้าระดับน้ำยังอยู่เหนือริมฝีปาก ก็ควรลดน้ำหนักลง และถ้าระดับน้ำอยู่ต่ำกว่าคางก็ควรเพิ่มน้ำหนักเข้าไป จะมากหรือน้อยขึ้นกับว่าระดับน้ำอยู่ห่างจากจุดอ้างอิงเหล่านี้แค่ไหน
สำหรับวิธีการตรวจสอบน้ำหนักในการดำแบบ Dynamic หรือการว่ายแนวระนาบ มีวิธีคือใส่น้ำหนักอย่างคร่าวๆ แล้วหายใจเข้าแบบ Full Breath (Final Breath) จากนั้นให้ดำลง เหยียดตัวตรง ตีฟินสักระยะนึง แล้วปล่อยตัวให้ลอยนิ่งๆ ถ้าตัวเรายังคงลอยขึ้นสู่ผิวน้ำ แสดงว่าเรากำลังใช้น้ำหนักที่น้อยเกินไป หรือถ้าหากตัวเราจมลงก็ควรลดน้ำหนักลง (ในการเซ็ตน้ำหนักเพื่อการดำแบบ Dynamic นี้ ไม่ควรให้การลอยตัวของเราอยู่ติดพื้นเกินไปหรือลอยขึ้นใกล้ผิวน้ำมากเกินไป)
ในการประมาณน้ำหนักโดยคร่าวๆ ก็มีตัวช่วยที่จะคำนวณน้ำหนักตามความหนาของเว็ทสูทที่เราใส่ ให้สำหรับใครที่ยังไม่ทราบว่าควรใช้น้ำหนักตะกั่วประมาณเท่าไหร่ สามารถคลิกดูตามลิงก์ด้านล่างนี้ได้เลย
Wetsuit Thickness Weight Calculator
ข้อควรระวัง (Caution)
- การใส่เข็มขัดตะกั่ว (weight belt) เป็นเรื่องควรระมัดระวังสำหรับนักดำน้ำ freedive มือใหม่ วิธีใส่เข็มขัดที่ถูกต้อง คือ เข็มขัดควรที่จะอยู่ตรงสะโพกหรือกระดูกเชิงกราน จะช่วยให้เข็มขัดตะกั่วล๊อคไม่ให้ขยับเวลาดำแนวดื่ง เพื่อไม่ให้เข็มขัดหลุดหรือลงมากระแทกส่วนอื่นๆได้
- เมื่อใส่น้ำหนักตะกั่วแบบเข็มขัด ควรจะเฉลี่ยน้ำหนักก้อนตะกั่วแต่ละข้างให้ดี ยกตัวอย่างเช่น หากเราต้องใช้น้ำหนักตะกั่วอยู่ที่ 1.5 Kg. ไม่ควรใส่น้ำหนักตะกั่วในเข็มขัดข้างนึง 1 Kg. อีกข้าง 0.5 Kg. เพราะจะทำให้เราเสียการสมดุล ควรใช้น้ำหนักตะกั่วก้อนละ 0.5 Kg. 3 ก้อน แล้วใส่บริเวณด้านข้าง และตรงกลางด้านหลัง
- การใช้น้ำหนักที่มากเกินไป (over weight) จะทำให้เราต้องออกแรงมากกว่าเดิมในระหว่างทางที่ขึ้นจากความลึก มีโอกาสเกิดอาการหมดสติและไม่สามารถลอยขึ้นสู่ผิวน้ำได้ และเนื่องจากระยะความลึกที่เสี่ยงต่อการเกิดอาการหมดสติในน้ำตื้น (Shallow Water Blackout) จะอยู่ที่ -10 เมตรถึงผิวน้ำ การเซตการลอยตัวเป็นกลางที่ระยะ -10 เมตร จึงเป็นระยะที่ช่วยป้องกันการจมน้ำหากเกิดกรณีฉุกเฉินเมื่อเราหมดสติในน้ำตื้น (เพราะที่ตื้นกว่าจุดนี้ การลอยตัวของเราจะเป็นบวก พาเราลอยกลับขึ้นสู่ผิวน้ำได้)
คำแนะนำ (Suggestion)
การดำในแต่ละครั้ง แต่ละวัน หรือแต่ละสถานที่ อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างเล็กน้อย ทั้งสภาพน้ำ สภาพร่างกาย องค์ประกอบของร่างกาย รวมถึงการเปลี่ยนอุปกรณ์หรือเว็ทสูท การตรวจสอบน้ำหนักทุกครั้งก็จะทำให้การดำในแต่ละวันมีประสิทธิภาพไปด้วย สามารถทำเป็นประจำได้ในไดฟ์แรกของการ warm-up โดยทำการตรวจสอบน้ำหนักของเราไปในตัวด้วย
Weight System Equipments (อุปกรณ์น้ำหนักอื่นๆ)
เข็มขัดตะกั่ว (Weight Belt)
โดยทั่วไปการเลือกใช้เข็มขัดตะกั่วของการดำน้ำแบบฟรีไดฟ์จะเป็นเข็มขัดแบบยาง หรือซิลิโคน เนื่องจากวัสดุมีความยืดหยุ่น จึงง่ายต่อการดึงเข็มขัดลงไปที่อยู่ตำแหน่งที่ถูกต้องได้ (ตรงสะโพก หรือกระดูกเชิงกราน) เพื่อจะไม่ให้เข็มขัดรัดบริเวณหน้าท้องในตอนที่เราหายใจเข้า และเนื้อของยางหรือซิลิโคนนั้นมีความลื่นมากกว่าแบบผ้า หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน ต้องปลดเข็มขัดตะกั่วออกก็จะทำให้หลุดออกได้ง่ายขึ้น
หัวเข็มขัด (Buckle)
หัวเข็มขัดก็เป็นอีกชิ้นส่วนที่สำคัญ หัวเข็มขัดแบบปลดเร็ว (quick release) จะเป็นหัวเข็มขัดที่นักดำน้ำ ฟรีไดฟ์นิยมใช้กัน เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินที่ต้องปลดเข็มขัดออกอย่างรวดเร็ว แค่ใช้แรงดึง หัวเข็มขัดแบบปลดเร็วก็จะทำให้เข็มขัดหลุดออกได้ทันที
ตะกั่วคอ (Neck Weight)
เป็นน้ำหนักตะกั่วอีกแบบที่นิยมใช้ในการดำแนวราบ (Dynamic) เพราะจะช่วยให้ streamline ของเราอยู่ในท่าที่ถูกต้องได้ง่ายกว่าใช้เข็มขัดตะกั่ว เนื่องจากลักษณะในการดำเป็นแนวระนาบ และส่วนที่ทำให้ตัวเราลอยได้ง่ายที่สุดของร่างกายคือ บริเวณปอด (หน้าอก) ในการใส่น้ำหนักที่คอจึงทำให้น้ำหนักช่วยกดส่วนที่ลอยเพื่อปรับให้ streamline ของเราได้ดีที่สุด
และปัจุบันที่ก็มีนักกีฬาและนักดำน้ำฟรีไดฟ์หันมาใช้ Neck Weight ในการดำแนวดิ่ง (Constant Weight) เป็นจำนวนมากเช่นกัน เนื่องจากทุกวันนี้ Neck Weight ถูกพัฒนาจากผู้ผลิตหลากหลายแบรนด์ออกมาให้เราได้เลือกใช้ มีทั้งแบบผ้า และ แบบหุ้มยาง/ซิลิโคน ทั้งที่สามารถเลือกใส่น้ำหนักได้เอง และแบบสำเร็จในแต่ละน้ำหนักมาให้
นี่คือข้อมูลทั้งหมดของเรื่อง Weight System For Freediver ที่เราพยายามหาข้อมูลมาให้ทุกคนได้ศึกษาและลองนำไปปรับใช้ อย่างไรก็ตาม แต่ละวิธีเป็นเพียงแนวทางในการหาน้ำหนักของแต่ละบุคคลเท่านั้น เพราะทุกคนเองก็ต้องทดสอบและหาน้ำหนักด้วยตนเองเท่านั้นจึงจะเลือกใช้น้ำหนักที่เหมาะสมกับตัวเองที่สุดได้
และสำหรับใครที่ต้องการหาอุปกรณ์น้ำหนักต่างๆ สามารถสอบถามได้ที่ ร้าน Freediver Space ได้ ทางร้านมีอุปกรณ์น้ำหนักหลายรูปแบบให้ทุกคนทดลองได้เลย