ดำน้ำลึก (Deep Diving) ยังไงดี

เทคนิคการดำน้ำลึก สำหรับดำน้ำลึกครั้งแรก และทุกๆ ครั้ง

คุณดำน้ำอย่างเพลิดเพลินที่กำแพงใต้น้ำแห่งหนึ่ง ข้างใต้ดูเหมือนว่าจะไม่มีพื้น ข้างกำแพงด้านที่ลึกลงไป มีปะการัง แส้ทะเล ฟองน้ำ สีสวยสดงดงามเต็มไปหมด คุณหายใจออก และเริ่มดำลงไปเรื่อยๆ ปรับแรงดันในโพรงอากาศเมื่อแรงกดดันของน้ำเพิ่มขึ้น ในขณะที่มาตรวัดความลึกมีตัวเลขที่เพิ่มขึ้นทุกที ใต้น้ำในความลึกนี้ สุ้มเสียงต่างๆ ก็เงียบสงบมากกว่าด้านบน การเคลื่อนไหวก็ทำได้จำกัดกว่าเนื่องจากแรงกดดันที่มากมาย ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดความรู้สึกสงบอย่างที่ไม่เคยนึกฝันมาก่อน ความท้าทายและความรื่นรมย์ของการดำน้ำลึกนี้เองที่ทำให้เห็นเด่นชัดว่าทำไม นักเรียนดำน้ำที่เพิ่งจบมาและถูกบอกไว้ว่าให้ดำน้ำได้ไม่เกิน 18 เมตร (60 ฟุต) นั้น บางครั้งเป็นเหมือนใบอนุญาตให้เฝ้าดูงานปาร์ตี้ที่หน้าประตู ไม่ให้เข้าไปด้านใน การดำน้ำลึกลงไปตั้งแต่ 18 เมตร (60 ฟุต) จนถึง 40 เมตร (130 ฟุต) นั้น นอกจากทำให้มีพื้นที่สำรวจเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าแล้ว ยังมีประสบการณ์อื่นๆ อีกมากมายที่ไม่สามารถพบได้ในน้ำตื้น เช่น ซากเรือจมทั้งหลายที่มีปลาตัวโตๆ ก็มักอยู่ในน้ำลึก สิ่งที่แน่นอนที่สุดก็คือ การดำน้ำลึกนั้นควรต้องมีการระมัดระวังที่ดี โรคเบนด์และการเมาไนโตรเจนมีโอกาสเกิดขึ้นได้มากกว่าภายใต้ความลึกที่เพิ่มขึ้น การขึ้นแบบฉุกเฉินก็จะมีอันตรายเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า แต่หากคุณได้รับการฝึกอย่างถูกต้อง มีอุปกรณ์ที่มีคุณภาพครบครัน การดำน้ำลึกก็จะปลอดภัยและตื่นเต้น

ก่อนจะเริ่มดำน้ำลึก

1 เรียนในขั้นสูง

ใต้น้ำลึกกว่า 18 เมตรนั้นความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ อาจจะทำให้เกิดปัญหาใหญ่โตขึ้นมาได้ ความผิดพลาดบางอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อดำน้ำตื้นนั้น ไม่สามารถให้มันเกิดขึ้นได้ขณะดำน้ำลึก การเรียนในชั้นเรียน Deep Diving หรือ Advanced Open Water Course จะสอนให้เกิดทักษะที่เฉพาะเจาะจง สำหรับการดำน้ำภายใต้ความลึกนี้ และสิ่งที่สำคัญ การเรียนระดับสูงจะเน้นหลักความปลอดภัยที่คุณได้เรียนในขั้นต้นมาแล้ว เพื่อคุณจะได้ทำทุกอย่างให้ถูกต้องในเวลาที่จำเป็นทุกๆ ครั้ง จุดหนึ่งที่น่าคิดคือการใช้เทคนิคการดำน้ำให้ปลอดภัยที่ได้เรียนมาในขั้นต้นแล้วนั้น มาสร้างให้เกิดเป็นนิสัยการดำน้ำของเราเอง

2 รักษาอุปกรณ์ดำน้ำ

เร็กกุเลเตอร์ของคุณนั้นเป็นสิ่งสำคัญ มันได้รับการดูแลและซ่อมบำรุงภายในหกเดือนที่ผ่านมาหรือเปล่า หายใจได้สะดวกดีหรือไม่ ท่าทางมีโอกาสจะรั่วหรือ free flow หรือเปล่า มีฟองอากาศที่จุดเชื่อมต่อสายหรือไม่ เร็กฯ ทุกตัวจะมีประสิทธิภาพเสื่อมลงทุกทีที่ถูกทิ้งไว้บนหิ้งเป็นเวลานานๆ และการไม่ทำการซ่อมบำรุงก็เป็นสาเหตุหลักของเร็กฯ ที่ไม่มีประสิทธิภาพ ควรนำไปซ่อมบำรุงวันนี้เลยนะครับ นอกจากนั้น บีซีดีมีรอยรั่วหรือเปล่า ปุ่มกดเติมและปล่อยลมทำงานดีหรือไม่ มีการติดขัดและมีฟองอากาศรั่วออกมาให้เห็นหรือไม่ เช่นเดียวกันนะครับ คอมพิวเตอร์มีการดูแลรักษาดีแค่ไหน แบตเตอรรี่ใช้มานานหรือยัง มาตรวัดความลึกมีความเที่ยงตรงหรือเปล่า และนานแค่ไหนแล้วที่คุณไม่ได้เอาอุปกรณ์ดำน้ำของคุณออกมาจากถุงเก็บ ทำความสะอาด และตรวจสอบมัน จุดสำคัญคือ สิ่งเล็กน้อยที่แค่ทำให้รำคาญในความลึก 10 เมตร อาจจะเป็นปัญหาร้ายแรงที่ความลึกมากๆ ก็เป็นได้

3 ตั้งขีดจำกัด

การได้รับใบ certification ในการดำลึกไม่ได้เป็นบัตรอนุญาตให้ดำลึกเกินขีดจำกัดของการดำน้ำแบบ recreational นั่นคือความลึก 40 เมตร (130 ฟุต) ทุกๆ วัน ทุกๆ ไดฟ์ ก่อนจะดำน้ำ ให้ตั้งขีดจำกัดส่วนตัวของคุณขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่มีอยู่ (เช่น กระแสน้ำ การมองเห็น อุณหภูมิ ความห่างไกลจากความช่วยเหลือ) การดำน้ำครั้งอื่นๆ ในวันนั้น ( จำนวนไดฟ์ และความลึก ) และปัจจัยส่วนตัว (ประสบการณ์ สุขภาพ และความรู้สึกของเราเอง) ให้พยายามต่อต้านความอยากที่จะดำลึกกว่าที่เราต้องการเพราะคนอื่นเขาทำกัน

4 ตรวจสอบอุปกรณ์ สี่ครั้ง

คุณตรวจเอง บัดดี้ของคุณช่วยตรวจ และไดฟ์มาสเตอร์ตรวจอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นให้ทำการตรวจอุปกรณ์อีกครั้งบนผิวน้ำก่อนจะดำน้ำลงไป

5 อยู่กับที่ทำ Safety Stop

ควรมีถังอากาศเต็มพร้อมทั้งเร็กฯ ห้อยไว้ที่ความลึก 5 เมตรเพื่อให้คุณสามารถทำ safety stop แม้ว่าอากาศจะเหลือน้อย หากมีคานห้อยไว้ตามขวางกับถังอากาศก็จะทำให้นักดำน้ำสามารถทำ safety stop ได้พร้อมๆ กันหลายๆ คนโดยง่าย นอกจากนั้นน่าจะมีคลิปติดทุ่นตะกั่ว ในกรณีที่นักดำน้ำตัวลอยเพราะอากาศในถังมีน้อย

เมื่อดำลงไป

6 อยู่กับบัดดี้

หากมาตรวัดของคุณเสียไป คุณอาจจะต้องใช้อันสำรองของบัดดี้ และเป็นความคิดที่ดีอยู่แล้วว่าเราควรทำการเปรียบเทียบมาตรวัดว่าแม่นยำหรือไม่ นอกจากนั้น บางเวลาคุณอาจจะต้องใช้อากาศของบัดดี้เช่นกัน อย่าละเลยการสื่อสารก่อนลงดำน้ำ ให้ตกลงกันว่าจะใช้สัญญาณอย่างไร ให้บัดดี้ของเรารู้ว่าแหล่งอากาศสำรองของเราอยู่ตรงไหนอย่างไรและใช้งานอย่างไร ในทางกลับกัน เราก็ต้องรู้จักแหล่งอากาศสำรองของบัดดี้ด้วย นอกจากนั้น คุณควรตกลงกันว่า จะดำลึกแค่ไหน ดำกันนานเท่าไร และการหยุดเวลาดำขึ้นมาจะทำอย่างไร หากทั้งคู่ใช้ตารางดำน้ำ ทั้งคู่ควรทำการคำนวณและได้คำตอบที่เหมือนๆ กัน มีนักดำน้ำจำนวนมากละเลยการรักษาบัดดี้ แต่ให้จำไว้ว่า ไม่ใช่เพียงแต่ตัวเราที่เสี่ยง บัดดี้ของเราก็ต้องมาเสี่ยงไปด้วย และมันเป็นความรับผิดชอบ เป็นหน้าที่ของเรา ที่จะต้องอยู่เวลาที่บัดดี้ต้องการเรา

7 ใช้เชือก สายในการดำ

ควรใช้เชือก reference line ทุกครั้งในการดำน้ำลึก เพราะมันจะช่วยให้คู่บัดดี้อยู่ด้วยกันได้ และเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นในการควบคุมอัตราการขึ้น กำแพงใต้น้ำหรือเนินใต้น้ำก็สามารถใช้แทนเชือกได้เช่นกัน

8 ตรวจสอบอากาศบ่อยๆ

คุณคงทราบดีว่าเราใช้อากาศเปลืองกว่าเมื่ออยู่ลึก ยิ่งบวกกับสิ่งแปลกใหม่และความตื่นเต้นด้วย คุณจะแปลกใจอย่างมากที่เวลาผ่านไปรวดเร็วเหลือเกิน ควรตรวจมาตรวัดอากาศบ่อยๆ ควรขึ้นมาโดยมีอากาศสำรอง อย่างน้อย 500 psi นั่นคือเริ่มขึ้นเมื่ออากาศเหลือประมาณ 1000-1500 psi ขึ้นอยู่กับความลึกและเวลาที่ใช้ในความลึกนั้น

9 ควบคุมการจมลอย

คุณจะจมลงอย่างรวดเร็วเมื่อลงไปลึกมากกว่าเดิม ใต้ความลึกกว่า 18 เมตร เวทสูทของคุณจะมีการรัดตัว ถูกบีบให้บางลงจากแรงกดดันของน้ำที่ทำต่อฟองอากาศในเวทสูท ทำให้การลอยตัวของเวทสูทที่ใส่มีน้อยลง หากคุณไม่สำรวจตรวจตรามาตรวัดความลึกอย่างสม่ำเสมอแล้ว คุณอาจจะลงไปลึกเกินความลึกที่วางแผนไว้ก็ได้ คุณจำเป็นที่จะต้องเติมลมเข้าไปใน BCD เพื่อรักษาความสมดุลเอาไว้ในที่ลึก

ทั้งหมดนี้หมายความว่า อัตราความเร็วในการขึ้นของคุณจะเพิ่มขึ้นเมื่ออากาศขยายตัวใน BCD ขณะที่คุณขึ้นมาจากที่ลึกสู่ที่ตื้น ให้ปล่อยลมออกจากบีซีดีก่อนหน้าที่ตัวจะลอย ความเสี่ยงจากการเป็นโรคเบนด์นั้นไม่ได้เกิดจากความลึกอย่างเดียว แต่เกิดจากการขึ้นมาจากความลึกเสียเป็นส่วนมาก

10 หายใจให้ลึกและช้า

เป็นสิ่งสำคัญในการดำน้ำลึก ที่ซึ่งอากาศมีความหนาแน่นสูง และไม่ผ่านเร็กกุเลเตอร์ ท่อทางเดินหายใจ และปอดของคุณโดยง่ายนัก การหายใจลึกทำให้การแลกเปลี่ยนออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์สมบูรณ์ขึ้น ยิ่งลงไปลึกเท่าไร การหายใจลึกๆ ช้าๆ ก็จะทำให้การหายใจมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากหายใจเร็วจะทำให้เหนื่อยและต้องใช้อากาศมากขึ้น

11 โบกมือลา

หากอุปกรณ์ต่างๆ เช่น กล้อง หลุดมือลงไปในที่ลึก อย่าพยายามตามลงไป คุณอาจจะไม่ดูมาตรวัดความลึกและอาจจะลงไปลึกเกินกว่าที่จะขึ้นมาได้โดยปลอดภัย นอกจากนั้น ความเหนื่อยเวลาไล่ตามอุปกรณ์ลงไป ก็อาจจะยิ่งเพิ่มโอกาสในการเป็นโรคต่างๆ หากคุณเห็นคุณค่าของกล้องมากกว่าชีวิตของคุณแล้ว คุณน่าจะเอากล้องทิ้งไว้ที่บ้านนะ

การขึ้นมา

12 ควบคุม ควบคุม และควบคุม

นักดำน้ำส่วนมากขึ้นมาเร็วกว่าที่ควรทำ แม้อาจไม่เป็นไรที่ความลึกมากๆ แต่เมื่อคุณขึ้นมาถึง 18 เมตรแล้ว ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบนด์จะเพิ่มขึ้นมากเลย นอกจากนั้น การขึ้นโดยไม่แซงฟองอากาศเล็กๆ นั้นก็ไม่ค่อยจะแม่นยำนัก ฟองส่วนมากจะขยายตัวและใหญ่ขึ้นและจะเร็วขึ้นด้วย จะตามฟองไหนไปก็ต้องดูให้ดีด้วยครับ การใช้คอมพิวเตอร์ที่มีมาตรวัดความเร็วในการขึ้น เป็นวิธีการที่ดีในการควบคุมอัตราการขึ้น หรือใช้วิธีการดูมาตรวัดความลึกกับนาฬิกา เพื่อจะได้ขึ้นมาด้วยอัตราระหว่าง 9-18 เมตรต่อนาที

13 ทำ Safety Stop

การหยุดที่ความลึก 5 เมตรเป็นเวลา 3 นาที นับเป็นมาตรฐานในการปฏิบัติและยิ่งเป็นสิ่งสำคัญเวลาดำน้ำลึก หากเรามีโอกาสที่จะระบายไนโตรเจนออกจากร่างกายก็จะเป็นการดี และลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเบนด์ได้ การไม่ทำ safety stop นั้นทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นเบนด์เพิ่มขึ้นมาก นอกจากนั้น การทำ safety stop ยังเป็นโอกาสที่จะได้ปรับการจมลอย ปรับอุปกรณ์ของเรา ก่อนที่จะขึ้นเรือ รวมทั้งจะได้คอยระวังเรือหรือใบจักรที่อยู่ด้านบนด้วย

เมื่อขึ้นมาบนผิวน้ำ

14 พักผ่อน

หลังจากการดำน้ำ ให้พักผ่อนให้มากที่สุด ให้คนที่ไม่ได้ดำน้ำทำงานหนักๆ เช่น ยกของ หรือดึงสมอ การออกแรงอาจทำให้เกิด microbubbles ฟองอากาศเล็กๆ ในกระแสเลือด และอาจมีผลกระทบต่อการระบายไนโตรเจนได้ นอกจากนั้น เมื่อขึ้นมาแล้วก็ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ อย่างน้อยสองสามชั่วโมง เนื่องจากผลของแอลกอฮอล์อาจจะกลบอาการของเบนด์ได้

15 ดำซ้ำด้วยความระมัดระวัง

ตรวจสอบเวลาในการพักน้ำและระวังเวลาในการดำน้ำอย่างสม่ำเสมอ ระวังเป็นพิเศษหากดำขึ้นลงบ่อยๆ การดำน้ำสั้นๆ บ่อยๆ อาจจะเสี่ยงมากกว่าการดำน้ำในเวลาเท่ากันแต่อยู่ที่ความลึกเดียว

เขียนโดยJohn Francis, http://www.scubadiving.com/training
แปลและเรียบเรียงโดยดร. พิชิต เมืองนาโพธิ์
เผยแพร่ครั้งแรกก่อน 23 ส.ค. 2550