สปลิตฟิน (Split Fins) กับฟินธรรมดา (Paddle Fins) ใช้แบบไหนดี?

คำถามที่ร้านดำน้ำหรือครูสอนดำน้ำมักจะได้รับอยู่บ่อยๆ เกี่ยวกับฟินใบแยกหรือสปลิตฟิน (Split Fins) กับฟินใบเต็มแบบธรรมดาก็คือ แบบไหนดีกว่ากัน แบบไหนน่าใช้กว่ากัน แต่คำตอบสำหรับคำถามนี้ อาจไม่สามารถตอบแบบฟันธงได้

เราได้รวบรวมคำตอบจากร้านดำน้ำและเว็บไซต์หลายแห่ง สรุปออกมาให้แล้วที่นี่

ฟินใบแยกหรือสปลิตฟิน (Split Fins)

สปลิตฟินถือกำเนิดขึ้นโดยการออกแบบของ Nature’s Wing เมื่อราวปลายทศวรรษ 1990 ก่อนจะขายสิทธิ์การนำไปผลิตให้แก่ผู้ผลิตอุปกรณ์ดำน้ำต่างๆ เช่น Apollo และ Tusa จากญี่ปุ่น, Aeris, Atomic Aquatics, AquaLung, Oceanic, ScubaPro และ Sherwood จากสหรัฐอเมริกา, Mares จากอิตาลี และอีกหลายรายในปัจจุบัน

จุดเด่น

  • ประสิทธิภาพสูง ใช้แรงน้อยในการตีฟิน (ข้อมูลจากผู้ออกแบบ)
  • ลดความอ่อนล้า ไม่เหนื่อยมาก ลดโอกาสเกิดตะคริว
  • ประหยัดอากาศที่ใช้ในการดำน้ำ
  • ใช้กับการดำผิวน้ำ (snorkeling) ได้ง่าย
  • แม้ตีฟินแบบจักรยาน (ซึ่งถือว่าเป็นท่าที่ประสิทธิภาพไม่ดี) ก็ยังได้ผลดีกว่าฟินแบบธรรมดา
  • แม้ตีใกล้พื้น ก็ไม่ค่อยทำให้ทรายฟุ้งกระจาย

จุดด้อย

  • ไม่เหมาะกับการสู้กระแสน้ำแรง เมื่อต้องตีฟินถี่มากๆ
  • ใช้กับท่าตีฟินแบบอื่น เช่น ท่ากบ หรือใช้กับการหมุนตัว หรือถอยหลังได้ไม่ค่อยดี
  • ถ้าเป็นฟินที่ค่อนข้างแข็งหรือยาว จะไม่เหมาะกับการดำผิวน้ำ (snorkeling)

ฟินใบเต็ม (Paddle Fins)

เกิดขึ้นมาไล่เลี่ยกับการดำน้ำด้วยอุปกรณ์แบบสคูบ้าเลยทีเดียว คือตั้งแต่ราวปลายทศวรรษ 1930 แล้ว และหลังจากถอดแบบมาจากตีนเป็ดหรือตีนกบแล้ว ก็แทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบแต่อย่างใด มีเพียงการปรับเปลี่ยนวัสดุให้มีความยืดหยุ่นและน้ำหนักเบาขึ้น กับเพิ่มส่วนประกอบเล็กๆ น้อยๆ ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น (เช่น เพิ่มรูหรือทางผ่านน้ำตรงโคนใบ, เพิ่มจุดหมุน (pivot) ให้ฟินหักงอได้มากขึ้น หรือเพิ่มโครงสร้างที่จะทำให้เกิดโพรงน้ำ (Channel Thrust) มากขึ้น เป็นต้น)

จุดเด่น

  • ใช้กับการตีฟินได้กับทุกท่าทาง ทั้งท่าสับขาแบบปกติ (flutter kick) ท่ากบ (frog kick) ท่าโลมา (dolphin kick)
  • ใช้ได้กับทุกสถานการณ์ เช่น การดำน้ำทั่วไป ดำน้ำถ่ายรูป (ที่อาจต้องตีฟินถอยหลัง)
  • ใช้สู้กับกระแสน้ำแรงได้ดี เพราะส่งแรงออกไปได้เต็มที่ในแต่ละรอบ
  • ดีสำหรับการช่วยเหลือและกู้ภัย สามารถลากนักดำน้ำหรือสิ่งของต่างๆ ในน้ำได้ดี
  • มีแบบสั้นที่เหมาะใช้กับบางสถานการณ์ เช่น ดำน้ำในถ้ำ ที่แคบ หรือเรือจม (ปัจจุบันก็มีสปลิตฟินแบบสั้นเช่นกัน)

จุดด้อย

  • ใช้แรงมากกว่าสปลิตฟิน โดยเฉพาะแบบที่ฟินแข็งหรือหนัก อาจทำให้เป็นตะคริวได้ง่ายสำหรับผู้ที่มีกล้ามเนื้ออ่อนกำลังมาก

ใครที่อยากรู้ให้ลึกขึ้นว่าเหตุใดฟินใบแยกจึงมีผลแตกต่างจากฟินใบเต็มธรรมดาๆ อย่างนี้ ลองอ่านได้ที่ Split Fins ทำงานอย่างไร ใช้งานอย่างไร

ซึ่งต้องพิสูจน์

อย่างไรก็ตาม นักดำน้ำที่พอมีความรู้ด้านฟิสิกส์หลายท่าน ก็ยังตั้งข้อสังเกตกันอยู่ว่า ยังไม่เห็นความเป็นไปได้ว่าความแตกต่างของความดันระหว่าง 2 หน้านั้นจะสร้างแรงได้มากพอ หรือแรงที่เกิดจากสปลิตฟินนั้นน่าจะทำให้เกิดแรงในทิศทางต้านการเคลื่อนที่มากกว่า ใครสนใจประเด็นนี้ลองอ่านกระทู้ที่ ScubaBoard.com และงานวิจัยเกี่ยวฟินแต่ละแบบ ตามลิงค์ด้านล่างนี้ได้เลย

แหล่งข้อมูล

เขียนโดยScuba Outlet
เผยแพร่ครั้งแรก4 ก.ค. 2561
ปรับปรุงล่าสุด17 พ.ค. 2564