ตีนกบแบบใบแยก หรือสปลิตฟิน (Split Fins) นับว่าเป็นฟินยุคใหม่เมื่อเทียบกับฟินใบเต็มแบบธรรมดา (Paddle Fins) ที่ใช้กันมานานควบคู่กับประวัติศาสตร์การดำน้ำในโลกแล้ว สปลิตฟินมาพร้อมกับรอยแยกตรงกลางใบที่ผู้ออกแบบเสนอว่าจะช่วยให้ประสิทธิภาพของฟินสูงกว่าฟินธรรมดา ออกแรงน้อยกว่าก็ได้แรงผลักทัดเทียมกัน ผลดีต่อนักดำน้ำคือ เกิดความเมื่อยล้าน้อยกว่า และประหยัดอากาศในการดำน้ำมากขึ้น ทำให้เป็นที่สนใจในหมู่นักดำน้ำมากขึ้น
การทำงานของสปลิตฟิน
สปลิตฟินหรือฟินแฉกทำงานโดยอาศัยความแตกต่างของความดันระหว่าง 2 หน้าของใบฟิน ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเราตีฟินและใบฟินเคลื่อนผ่านน้ำไป เหมือนใบพัดเครื่องยนต์เรือที่หมุนไปแล้วทำให้เรือเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ ยิ่งใบฟินเคลื่อนผ่านน้ำด้วยความเร็วมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้เกิดความต่างของความดันมากยิ่งขึ้นและทำให้เคลื่อนที่ไปได้เร็วมากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ รอยแยกตรงกลางใบฟินยังทำให้มวลน้ำไหลผ่านไปโดยไม่สร้างแรงเสียดทานที่ใบฟินด้วย ช่วยประหยัดแรงที่เราต้องใช้ในการตีฟินลงไปได้อีกส่วนหนึ่ง (ในกรณีฟินธรรมดา น้ำจะต้องไหลผ่านหน้าใบฟินทั้งใบออกไปทางปลายใบฟิน เกิดเป็นแรงลากกับใบฟิน)
วิธีการใช้งานสปลิตฟิน
สปลิตฟินอาศัยการเคลื่อนที่ของใบฟินผ่านน้ำอย่างรวดเร็วเป็นตัวสร้างแรงผลัก ดังนั้น นักดำน้ำที่ใช้สปลิตฟินจะต้องตีฟินเร็วๆ และถี่ๆ วาดขาในช่วงแคบๆ จึงจะให้ผลลัพธ์ที่ดี
สำหรับผู้ที่เคยใช้สปลิตฟิน จะพบว่าแรงที่ต้องใช้ในการตีฟินนั้นน้อยมาก ผู้ใช้จะรู้สึกเบาและแทบไม่เชื่อว่าฟินแบบนี้ทำงานได้ทัดเทียมฟินแบบธรรมดา จนกว่าจะเอานาฬิกาจับเวลาและสายวัดระยะทางมาลองวัดกันจริงๆ เหมาะกับผู้ที่มีกำลังขาไม่มาก เป็นตะคริวง่าย หรือถนัดกับการตีฟินถี่ๆ วาดขาแคบๆ อย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตาม เมื่อต้องอยู่ในกระแสน้ำแรง นักดำน้ำที่ใช้สปลิตฟินมักจะพบว่า ไม่สามารถวาดขาได้ถี่มากพอที่จะสร้างแรงสู้กับกระแสน้ำได้ (ติดข้อจำกัดด้านความสามารถของร่างกาย)
นอกจากเรื่องการทำงานของสปลิตฟินแล้ว ยังมีจุดเด่นจุดด้อยเมื่อเปรียบเทียบกับฟินธรรมดาอีกหลายประการ ลองอ่านต่อได้ที่ “สปลิตฟิน (Split Fins) กับฟินธรรมดา (Paddle Fins) ใช้แบบไหนดี?”
ข้อมูลอ้างอิง
- การทำงานของฟินแฉก (Split Fins); FreedomDIVE.com
- Dive Fins: Open Heel SplitFin from Atomic Aquatics; AtomicAquatics.com
- Split-Fin Technology; Split-Fins.com
เขียนโดย | Scuba Outlet |
เผยแพร่ครั้งแรก | 4 ก.ค. 2561 |
ปรับปรุงล่าสุด | 17 พ.ค. 2564 |