Porpita porpita - dmcrth

รู้จัก “แมงกะพรุนแว่นตาพระอินทร์” สิ่งมีชีวิตปริศนาแห่งท้องทะเล

นักท่องเที่ยวที่เดินตามชายหาดอาจเคยพบเห็นสิ่งมีชีวิตรูปร่างกลมแบน สีฟ้าสดใส ลอยอยู่บนผิวน้ำ สิ่งนั้นคือ “แมงกะพรุนแว่นตาพระอินทร์” หรือที่เรียกกันอีกชื่อว่า “กระดุมสีฟ้า” แม้จะดูน่ารักแปลกตา แต่จริง ๆ แล้วมีความลับซ่อนอยู่มากกว่าที่เห็น ตั้งแต่โครงสร้างที่ไม่ใช่แมงกะพรุนแท้ๆ ไปจนถึงหนวดพิษที่สัมผัสแล้วอาจแสบผิวได้

ในบทความนี้ เราจะพาคุณไปรู้จักกับแมงกะพรุนแว่นตาพระอินทร์กัน

ไม่ใช่แมงกะพรุนแท้ แต่ทำไมจึงถูกเรียกว่าแมงกะพรุน?

แมงกะพรุนแว่นตาพระอินทร์ หรือกระดุมสีฟ้า (Blue button) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Porpita porpita
จัดอยู่ในไฟลัม Cninaria คลาส Hydrozoa แฟมิลี่ Porpitidae

แม้จะถูกเรียกว่า “แมงกะพรุนแว่นตาพระอินทร์” แต่จริง ๆ แล้วสิ่งมีชีวิตนี้ ไม่ใช่แมงกะพรุนแท้ เพราะมันไม่ได้อยู่ในคลาส Scyphozoa ที่เป็นกลุ่มของแมงกะพรุนจริงๆ แต่จัดอยู่ในคลาส Hydrozoa ซึ่งมีโครงสร้างแตกต่างกัน

ด้วยลำตัวที่แบน มีหนวดพริ้วๆ ทำให้ดูคล้ายแมงกะพรุนขนาดเล็กลอยน้ำ อีกทั้งพฤติกรรมการลอยตัวตามกระแสน้ำก็ดูคล้ายกับแมงกะพรุนมาก คนทั่วไปจึงเรียกตามลักษณะภายนอกเพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ

รูปร่างเป็นอย่างไร?

รูปร่างประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก

  • ส่วนลำตัว มีลักษณะแบน แข็ง สีฟ้าหรือน้ำเงินอมเขียว มีแก๊สอยู่ตรงกลางช่วยให้ลอยน้ำ
  • ส่วนหนวด (Hydroids) คล้ายหนวดแมงกะพรุน มีสีฟ้าสว่างถึงเหลือง ประกอบด้วย เซลล์เข็มพิษ (Nematocyst) ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการแสบหรือระคายเคืองหากสัมผัส ด้านล่างของลำตัว มีปากสำหรับดักจับอาหารและขับถ่ายของเสีย

มีการดำรงชีวิตอย่างไร?

แมงกะพรุนแว่นตาพระอินทร์มักอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ล่องลอยตามกระแสน้ำในทะเล เปิดปากด้านล่างเพื่อจับอาหารอย่างแพลงก์ตอน ไข่สัตว์น้ำ และปลาขนาดเล็ก

การสืบพันธุ์

มีทั้งเพศผู้และเพศเมียในตัวเดียวกัน (Hermaphrodite) เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ จะปล่อยไข่และสเปิร์มลงในน้ำเพื่อผสมภายนอก ทำให้เกิดตัวอ่อนจำนวนมาก

จะพบมันได้ที่ไหน?

พบได้ทั่วไปในเขตร้อนของมหาสมุทรแปซิฟิก แอตแลนติก และมหาสมุทรอินเดีย

ในประเทศไทย พบได้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน โดยเฉพาะช่วงมรสุมที่มีคลื่นลมแรง

อ่าวไทย

พบในพื้นที่จังหวัดตราดในเดือนมีนาคม จังหวัดจันทบุรีพบในเดือนกุมภาพันธ์ จังหวัดชุมพรพบในเดือนธันวาคม จังหวัดสุราษฏร์ธานีพบในเดือนพฤศจิกายน จังหวัดนครศรีธรรมราชพบช่วงต้นลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และจังหวัดสงขลาพบตลอดช่วงลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ (พย.–เมย.)

ทะเลอันดามัน

พบในพื้นที่จังหวัดพังงาช่วงต้นและกลางลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และจังหวัดภูเก็ตพบช่วงต้นและกลางลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้

เมื่อปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 มีการพบแมงกะพรุนแว่นตาพระอินทร์จำนวนมากถูกพัดเกยหาดอ่าวทุ่งซาง จ.ชุมพร ระยะทาง 280 เมตร พบมากถึง 2,252 ตัวต่อตารางเมตร ขนาดลำตัวประมาณ 0.6–2.0 ซม.

มีอันตรายหรือไม่?

โดยทั่วไป แมงกะพรุนแว่นตาพระอินทร์ไม่มีพิษร้ายแรง แต่หากผู้สัมผัสมีอาการแพ้ อาจรู้สึกแสบ ร้อน หรือระคายเคือง ให้ปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยใช้น้ำส้มสายชู (ความเข้มข้น 4–6%) ราดบริเวณที่สัมผัสอย่างน้อย 30 วินาที หากอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว

แมงกะพรุนแว่นตาพระอินทร์อาจดูเหมือนสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่ไร้พิษภัย แต่กลับซ่อนความน่าทึ่งของวิวัฒนาการไว้ ทั้งรูปร่าง สีสัน การดำรงชีวิตแบบลอยไปตามกระแสน้ำ และระบบสืบพันธุ์อันชาญฉลาด สำหรับนักท่องเที่ยวหรือผู้รักธรรมชาติ การรู้จักและเข้าใจสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ อาจทำให้เราชื่นชมธรรมชาติได้ลึกซึ้งขึ้น

อ้างอิงจาก:
สาระน่ารู้ ทช.: แมงกะพรุนแว่นตาพระอินทร์
คลังความรู้ ทช.: แมงกะพรุนกลุ่ม Hydrozoa