เวลาที่เราไปดำน้ำ สิ่งหนึ่งที่จะทำให้เราสนุกกับการดำน้ำมากขึ้นคือการดูปลาต่างๆ ในแต่ละครั้งที่เราลงไปดำน้ำ และทุกคนก็คงเคยมีคำถามว่า “ปลาที่เราเห็นคือปลาอะไร ?” ยิ่งไม่ได้ถ่ายรูปมาด้วยนั้นยิ่งหาในหนังสือปลายากไปกันใหญ่ วันนี้ TECREW มีเทคนิคง่ายๆ มานำเสนอ คือการสังเกตปลาจากรูปร่าง เพื่อให้เราสามารถขึ้นมาค้นหาในหนังสือปลาได้ง่ายมากขึ้น โดยจะกล่าวถึงรูปทรงที่นักดำน้ำพบเจอบ่อยๆ เป็นหลัก
รูปทรงแบนข้าง (Compressiform)
เป็นรูปทรงที่พบได้ในปลาส่วนใหญ่ โดยรูปทรงของปลานั้นจะแบนทางด้านข้างซ้าย – ขวา เช่น ปลาหูช้าง ปลาสินสมุทร ปลาพระอาทิตย์ ฯลฯ
รูปทรงแบนบน – ล่าง (Depressiform)
เป็นรูปทรงปลาที่จะแบนในลักษณะบน – ล่าง สามารถพบได้ในบางชนิด เช่น ปลากระเบนต่างๆ Manta ray ปลาลิ้นหมา ฯลฯ
รูปทรงกระสวย (Fusiform)
ถ้าให้นึกภาพได้ง่ายๆ ก็คือรูปร่างคล้าย “ลูกรักบี้” ลักษณะลำตัวจะกลมยาว ปลายส่วนหัวแหลม คอดหางเล็ก ยกตัวอย่างเช่น ปลาฉลามบางชนิด ปลาทูน่า ปลาสาก
รูปทรงกลม (Globiform)
ถ้าให้นึกภาพได้ง่ายๆ ก็คือรูปร่างคล้าย “ลูกบอล” ลักษณะลำตัวจะกลม ยกตัวอย่างเช่น ปลาปักเป้าหน้าหมา ปลาปักเป้าหนามทุเรียน
รูปทรงยาว (Anguilliform)
ถ้าให้นึกภาพได้ง่ายๆ ก็คือรูปร่างคล้าย “งู” ลักษณะลำตัวจะกลมยาวมาก ยกตัวอย่างเช่น ปลาไหลมอเรย์ ปลาไหลริบบิ้น
รูปทรงกระบอก (Sagittiform)
ถ้าให้นึกภาพได้ง่ายๆ ก็คือรูปร่างคล้าย “กระบอกน้ำดื่ม” ลักษณะลำตัวจะกลมยาว ยกตัวอย่างเช่น Lizard fish
__________________________
พอเราเริ่มจดจำลักษณะรูปร่างลำตัวปลาได้ก็จะสามารถขึ้นมาหาชนิดปลาในหนังสือ หรืออธิบายให้เพื่อนๆ ฟังได้ง่ายมากขึ้นนั่นเอง แล้วการดำน้ำของเราจะสนุกขึ้นอีกเยอะเลย
บทความจาก Facebook: Tecrew