สิ่งที่ควรระวังหรือไม่ควรทำ หลังการดำน้ำใหม่ๆ

นักดำน้ำอย่างเราคงจะได้เรียนรู้เรื่องสิ่งที่ควรทำ สิ่งที่ควรเช็คก่อนดำน้ำ และจดจำไว้ได้เป็นอย่างดี แต่เรื่องสิ่งที่ไม่ควรทำหลังดำน้ำ อาจเป็นสิ่งที่เราไม่ค่อยได้ยินใครพูดถึง เราจึงขอใช้โอกาสนี้ เล่าถึงสิ่งที่ไม่ควรทำ หรือควรหลีกเลี่ยงหลังดำน้ำ เพื่อความปลอดภัยของทุกคนกัน

การเดินทางโดยเครื่องบิน

เรื่องนี้คงเป็นเรื่องที่นักดำน้ำทุกคนรู้อยู่แล้ว เพราะทริปดำน้ำส่วนใหญ่มักจะเดินทางไปด้วยเครื่องบิน สิ่งที่ต้องนึกถึงคือ ‘เวลาพักน้ำ’ ตามกฎดังนี้

  • หากเราดำน้ำหนึ่งไดฟ์ เราควรพัก 12 ชั่วโมงก่อนขึ้นเครื่องบิน
  • หากเราดำน้ำหลายไดฟ์ในหนึ่งวันหรือดำน้ำหลายวัน ควรพักอย่างน้อย 18 ชั่วโมง
  • พักอย่างน้อย 24 ชั่วโมง หากเราติดดีคอม
  • หากไดฟ์คอมพิวเตอร์ที่เราใช้อยู่ แนะนำให้พักนานกว่านี้ ก็ควรปฏิบัติตาม

หากจำกฎหลายข้อแบบนี้ไม่ไหว อาจใช้กฎพื้นฐานก็ได้ คือ เราควรพัก 24 ชั่วโมงก่อนเดินทางโดยเครื่องบิน

เรื่องนี้แม้นักดำน้ำใหม่ซึ่งอาจยังไม่แม่นยำ ไม่ทันระวังมากนัก แต่ร้านดำน้ำหรือครูดำน้ำก็มักจะจัดและตรวจสอบแผนการเดินทางให้กับนักดำน้ำที่มาร่วมทริปอยู่แล้ว ที่ผ่านมาจึงแทบไม่พบเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับความผิดพลาดในเรื่องนี้

การปีนเขา การทำกิจกรรมบนที่สูง

เรื่องนี้มีเหตุผลเช่นเดียวกับการขึ้นเครื่องบิน คือเมื่อขึ้นที่สูงมากหลังการดำน้ำใหม่ๆ ก๊าซไนโตรเจนที่ยังหลงเหลืออยู่ในร่างกายของเรา อาจนำไปสู่ decompression sickness (DCS) ได้ แม้ที่ความสูงไม่เท่ากับระดับเพดานบินปกติของเครื่องบินโดยสารทั่วไปก็ตาม (ความสูงที่ใช้ในการวิจัยเรื่องนี้อยู่ที่ประมาณ 600-2,400 เมตร)

นอกจากการปีนเขาแล้ว กิจกรรมผจญภัยหลายประเภทก็มักจะจัดกันในที่สูง เช่น ไต่สะพานเชือกชมธรรมชาติ (canopy walk) บันจี้จัมพ์ (bungee jump) หรือ ซิปไลน์ (zipline) ดังนั้น หากคุณวางแผนท่องเที่ยว ทำกิจกรรมต่างๆ ภายหลังการดำน้ำ ควรอยู่ที่ระดับพื้นราบเดียวกับที่คุณเริ่มดำน้ำ สัก 18-24 ชั่วโมง ก่อนจะเริ่มขึ้นสู่ที่สูงเพื่อทำกิจกรรมอื่นๆ

การดื่มหนักหลังดำน้ำทันที

โดยปกติการดื่มเครื่องดื่มแลกอฮอล์พูดได้ว่าเป็นการเพิ่มสารพิษเข้าร่างกายอยู่แล้ว แต่สำหรับการดำน้ำแอลกอฮอล์ทำให้ร่างกายของเราสูญเสียน้ำมากขึ้น ซึ่งก็หมายความว่า กระบวนการขับไนโตรเจนออกจากร่างกายจะยิ่งล่าช้ามากขึ้นอีก และเพิ่มโอกาสที่จะทำให้เกิด DCS ได้ง่ายขึ้น

หลังดำน้ำ เราควรดื่มน้ำให้มาก และรอให้เวลาผ่านไปหลายชั่วโมง ก่อนที่จะเริ่มดื่มและปาร์ตี้กัน

การดำฟรีไดฟ์

เป็นที่ทราบกันดีว่า การดำฟรีไดฟ์ต้องมีการลงสู่ที่ลึกและขึ้นสู่ที่ตื้นในเวลาอันรวดเร็วมาก ดังนั้นหลังการดำน้ำลึกแบบ scuba แล้วควรงดการดำฟรีไดฟ์ต่อเนื่องทันที ด้วยกฎการพักน้ำแบบเดียวกับการงดเดินทางด้วยเครื่องบิน นั่นคือ

  • หากเราดำน้ำหนึ่งไดฟ์ เราควรพัก 12 ชั่วโมงก่อนดำฟรีไดฟ์
  • หากเราดำน้ำหลายไดฟ์ในหนึ่งวันหรือดำน้ำหลายวัน ควรพักอย่างน้อย 18 ชั่วโมง
  • พักอย่างน้อย 24 ชั่วโมง หากเราติดดีคอม
  • หากไดฟ์คอมพิวเตอร์ที่เราใช้อยู่ แนะนำให้พักนานกว่านี้ ก็ควรปฏิบัติตาม

การแช่น้ำร้อน น้ำอุ่น หรือซาวน่า

ตอนที่เรานอนแช่น้ำร้อนอย่างสบายใจ เราอาจไม่รู้เลยว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้น จะเพิ่มโอกาสที่จะเกิดฟองก๊าซไนโตรเจนขึ้นในร่างกายด้วย และแม้ความร้อนก็ช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิตด้วย ซึ่งน่าจะช่วยระบายก๊าซไนโตรเจนจากร่างกายได้เร็วขึ้น แต่ที่จริงแล้วความร้อนแบบนี้ส่งผลต่อผิวหนังและเนื้อเยื่อมากกว่าระบบไหลเวียนโลหิต จึงเพิ่มโอกาสการเกิด DCS มากกว่าจะช่วยลดโอกาส

หลังดำน้ำเราควรอาบน้ำอุณหภูมิปกติหรือน้ำอุ่นเล็กน้อยก็พอได้ แต่หากจะอาบน้ำร้อนจัดหรือแช่ตัวในอ่างน้ำอุ่นเป็นเวลานานๆ รวมถึงเข้าห้องซาวน่า ขอให้เป็นหลังจากดำน้ำไดฟ์สุดท้ายอย่างน้อย 12 ชั่วโมง

การนวด

หลังดำน้ำเราคงมีการปวดเมื่อย และการนวดคงเป็นความคิดที่ไม่เลว แต่จริงๆ แล้ว การนวดคือการบีบเค้นเพิ่มและคลายความกดดันกับกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อในร่างกายซึ่งยังคงซึมซับไนโตรเจนอยู่หลังการดำน้ำใหม่ๆ การกระทำดังกล่าวนี้อาจทำให้ฟองไนโตรเจนเล็กๆ ในร่างกายรวมตัวกันเป็นฟองใหญ่ขึ้นได้

ที่จริงแล้ว เรื่องที่เล่าไปนี้ เป็นเพียงข้อสันนิษฐานจากหลักการและเหตุผลที่น่าเชื่อถือเท่านั้น ยังไม่เคยมีเหตุการณ์ DCS ที่พบว่าการนวดเป็นสาเหตุโดยตรงหรือชัดเจน แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การดำน้ำก็แนะนำไปในทางเดียวกันว่า หลังการดำน้ำไม่ควรนวดร่างกายอย่างหนักหรือลงแรงมาก (เช่นการนวดแบบกดจุด รีดเส้น หรือ deep tissue massage) เพราะนอกจากข้อสันนิษฐานข้างต้นอาจเกิดขึ้นจริงแล้ว ความเจ็บปวดจากการนวดยังอาจทำให้การวินิจฉัย DCS ผิดพลาดได้ (หากมีอาการ DCS จริงๆ จากเหตุอื่น) และอาจให้การรักษาได้ไม่ทันท่วงที

การออกกำลังกาย

การออกกำลังกาย จะทำให้เราใช้/ขยับข้อต่อมาก ซึ่งมีโอกาสทำให้เกิดฟองอากาศในร่างกายได้ เพราะฉะนั้นควรรอสัก 2-3 ชั่วโมง หรือหนึ่งวัน ก่อนเริ่มออกกำลังกายแบบจริงจัง ในที่นี้หมายถึงการออกกำลังกายอย่างหนักหน่วงเท่านั้นนะ ส่วนการขยับร่ายกายหรือยืดเส้นยืดสายเบาๆ ตามกิจกรรมทั่วไปในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องที่ทำได้ตามปกติอยู่แล้ว

อย่าลืมบันทึกการดำน้ำและดูแลอุปกรณ์

ถึงจะเหนื่อยแค่ไหน ตอนที่เรานั่งพัก เราควรจด logbook ถึงข้อมูล เหตุการณ์ และอาการต่างๆ ที่เรามี เพื่อไดฟ์หน้า และเพื่อความปลอดภัยของเราเอง

อุปกรณ์ก็เป็นสิ่งสำคัญ หลังดำน้ำไดฟ์สุดท้ายของวัน ให้ล้างอุปกรณ์ด้วยน้ำเปล่าและตากในที่ร่ม เพื่อให้พร้อมใช้งานในไดฟ์ถัดไป และหลังกลับมาจากทริป ก็อย่างลืมแช่อุปกรณ์ในน้ำสักหน่อย หรือจะใช้น้ำยาแช่อุปกรณ์ด้วยก็ได้ ตามสะดวกเลย

แหล่งข้อมูล