มองคลื่น รู้จักคลื่น อยู่กับคลื่นในทะเลได้อย่างสบายใจ

เกลียวคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่งครั้งแล้วครั้งเล่า นับเป็นสิ่งเพลินใจอย่างหนึ่งที่ใครหลายคนนั่งมองได้ทั้งวันไม่รู้เบื่อ แต่ในบางเวลายามที่ลมแรง ทะเลปั่นป่วน คลื่นที่แตกฝอยเป็นฟองขาว ซัดเข้าหาฝั่งลูกแล้วลูกเล่า ก็ให้ความรู้สึกน่าครั่นคร้ามได้มากมายไม่แพ้กัน

ทะเลไม่เคยหลับ … และเราก็คงนึกภาพไม่ออกเหมือนกัน ถ้าวันใดทะเลจะเรียบกริ๊บ เหมือนน้ำในสระว่ายน้ำวันไร้ลม

รักจะเที่ยวทะเลแล้ว ถ้าพอรู้เรื่องคลื่นในทะเลไว้บ้าง เราก็จะอยู่กับทะเลได้อย่างมีความสุข

คลื่นบนผิวน้ำเกิดจากแหล่งที่มาหลากหลาย

คลื่นในทะเลที่เราเห็นอยู่ทั่วไปเป็นระลอกน้อยใหญ่ พาตัวเราโยกคลอนเมื่อเคลื่อนผ่าน หรือแตกเป็นฟองฝอยเมื่อยอดคลื่นโดนลมแรงตีกระจายนั้น เป็นคลื่นที่เกิดขึ้นจากคลื่นจำนวนมากมายมารวมตัวกัน

ตัวจริงของคลื่น คือพลังงานที่ถูกส่งผ่านไปกับน้ำทะเล มวลน้ำทะเลมิได้เคลื่อนไปกับคลื่นด้วย เพียงแต่เคลื่อนที่ขึ้นลงซ้ายขวาไปรอบๆ ตำแหน่งเดิมของตัวเองเท่านั้น ถ้าลองสังเกตเรือหรือตัวเราที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ จะพบว่า แม้มีคลื่นเคลื่อนผ่านตัวเราไปมากมายหลายระลอกก็ตาม ตำแหน่งของเราก็ยังคงอยู่ที่เดิมหรืออาจขยับตามคลื่นไปบ้างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

คลื่น เริ่มต้นที่ไหน

ต้นทางของคลื่นขนาดเล็กและขนาดกลางถึงใหญ่ เริ่มมาจาก ลม คลื่นขนาดใหญ่มากๆ เริ่มต้นจากแหล่งพลังงานอย่างอื่น

ลมเบาๆ เล็กๆ ที่พัดกระทบผิวน้ำ เกิดเป็นคลื่นพริ้วๆ เล็กจิ๋วหลิวอยู่บนผิวน้ำทะเล เรียกว่า คลื่นพริ้ว หรือ ripple … คลื่นแบบนี้ มีคาบเป็นหน่วยวินาที เกิดขึ้นเพียงเสี้ยววินาทีแล้วก็จางหายไป

คลื่นพริ้ว (Ripples) บนผิวน้ำ

คลื่นลม (Wind Wave) ที่เกิดจากลมแรงในพื้นที่

ลมขนาดกลางๆ หรือขนาดใหญ่ พัดเป็นเวลานานพอดันมวลน้ำเคลื่อนขึ้นลงเกิดเป็นคลื่นสูงหลักสิบเซนติเมตรหรืออาจสูงได้ถึง 20-30 เมตรเลยก็ได้ เรียกว่า wind wave ซึ่งหมายถึงคลื่นที่เกิดจากลมโดยตรง เกิดขึ้นเพราะลมในพื้นที่เดียวกัน คลื่นแบบนี้มีคาบการเคลื่อนที่ประมาณ 1-9 วินาที ระยะห่างของคลื่นแต่ละลูกเริ่มตั้งแต่ไม่กี่เซนติเมตรถึงเป็นร้อยเมตร

คลื่น Swell จากทะเลไกล

สำหรับ wind wave ที่มีพลังงานสูง อาจเคลื่อนที่ไปได้ไกลเป็นร้อยๆ ถึงเป็นหมื่นกิโลเมตร (เกินครึ่งโลก) เรียกว่า swell

คลื่นแบบนี้ช่วงแรกเริ่มถือกำเนิดเป็น wind wave แต่เมื่อเคลื่อนไกลออกไป คลื่นเล็กคลื่นน้อยที่แปรปรวนได้แทรกแซงหักล้างกันจนหมดพลังงาน เหลือแต่คลื่นที่มีความถี่และความยาวคลื่นเดียวกันรวมตัวกันเข้าเป็นชุดๆ เราจะเห็นเป็นริ้วแนวระลอกคลื่นที่สม่ำเสมอ

คลื่นลม (Swell) หลายลูกกำลังเคลื่อนเข้าหาฝั่ง

การพบกันของคลื่นลม (Swell) จาก 2 ทิศทางที่ตั้งฉากกัน

คลื่นแบบ swell มีคาบประมาณ 9-15 วินาที ระยะห่างของคลื่นแต่ละลูกยาวเป็นร้อยหรือหลายร้อยเมตร ถ้าเจอคลื่นที่มีคาบมากกว่านี้ เช่น 15-30 วินาที จัดว่าเป็นคลื่น long swell (หรืออีกชื่อหนึ่งว่า forerunner)

คลื่น swell ลูกย่อมๆ เคลื่อนตัวเนิบๆ บ้านเราเรียกว่า “เดิ่ง” (เคยได้ยินไดฟ์มาสเตอร์คุยกับกัปตันเรือบ้างมั้ยครับ) … เดิ่งช่วยหอบเอาเม็ดทรายที่ตกทับถมจากสันดอนใต้น้ำขึ้นมาสร้างหาดทราย เพราะเมื่อเดิ่งเคลื่อนตัวเข้าหาหาดอย่างช้าๆ ขณะที่หาดแห้ง จะทำให้น้ำซึมลงได้ดี ไม่ชะทรายบนหาดไหลกลับลงสู่ทะเล

คลื่นแบบ swell นี้เดินทางไปโดยไม่ได้อาศัยลมที่แหล่งกำเนิดอีกต่อไป แต่อาศัยแรงโน้มถ่วงของโลกที่ผลักดันกันขึ้นลงส่งต่อพลังงานออกไป เคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ จนถึงชายฝั่ง บางส่วนอาจกระแทกเข้ากับโขดหินแตกกระจาย บ้างก็ซัดขึ้นสู่ชายหาดเป็นพรายฟองก่อนไหลกลับคืนสู่ทะเลอย่างไร้พลัง บ้างก็เข้าสู่แนวน้ำตื้น ยกตัวสูงขึ้นหลายเมตร แล้วล้มลงม้วนเป็นโพรงน้ำสร้างเครื่องเล่นหวาดเสียวให้นักเล่นกระดานโต้คลื่น (surf)

เราจะสังเกตได้ง่ายๆ ว่า swell ไม่ได้เกิดจากลมในท้องถิ่น แต่เดินทางมาจากที่ไกลๆ จริงๆ ก็ลองสังเกตทิศทางของละอองน้ำที่ปลิวจากยอดคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่งหรือกระแทกโขดหินดูก็ได้ว่า ไปในทิศทางเดียวกันหรือเปล่า

คลื่นใหญ่ จากแดนไกล ซัดเข้าหาฝั่ง ละอองน้ำที่ยอดคลื่นถูกลมตีย้อนทิศกับลูกคลื่น

คลื่นขนาดใหญ่

ส่วนต้นทางของคลื่นใหญ่มากๆ ใหญ่จนยากจะบอกได้จากภายนอกว่ามีคลื่นเคลื่อนผ่าน เช่น คลื่นสึนามิ (tsunami) ที่เกิดจากแผ่นดินไหวหรือแผ่นดินถล่มใต้น้ำ คลื่นแบบนี้เคลื่อนที่ได้เร็วมาก (200-800 กม./ชม.) แต่มีความสูงน้อยมากในน้ำลึก (ไม่กี่ซม.) จึงมองไม่เห็นด้วยตา จนเมื่อเข้าสู่ที่ตื้นอาจยกตัวสูงขึ้นเป็น 10-30 เมตร

น้ำขึ้นน้ำลง (Tide) ก็จัดเป็นคลื่นชนิดหนึ่งเช่นกัน แต่เกิดจากแรงดึงดูดของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ มีคาบการเคลื่อนตัว 12.4 ชั่วโมงและ 24.84 ชั่วโมง ตามคาบการโคจรของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์นั่นเอง แต่ละวันจึงสร้างคลื่นเพียง 1 หรือ 2 ลูกเท่านั้น

คลื่นอื่นๆ

นอกจากนี้ก็ยังมีคลื่นอีก 2-3 ชนิด ซึ่งอธิบายให้คนทั่วไปเข้าใจกันได้ยาก ขอปล่อยให้เป็นเรื่องของนักวิทยาศาสตร์เขาเรียนกันไป นักดำน้ำอย่างเรารู้จักคลื่น 2-3 อย่างข้างต้น และรู้วิธีดำน้ำอยู่กับคลื่นเหล่านี้อย่างสบายกายสบายใจก็พอแล้ว

วิธีปฏิบัติกับคลื่นแต่ละแบบ

สำหรับนักดำน้ำอย่างเรา มีโอกาสเจอคลื่นทั้งบนผิวน้ำและใต้น้ำ การรู้จักคลื่นทำให้เรารู้ว่า ถ้าอยากจะดำน้ำต่อไปอย่างสบายๆ เราควรปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้

  • เมื่ออยู่ที่ผิวน้ำ ถ้ายังไม่ได้จะไปไหน ไม่ต้องตีขาให้เหนื่อย เติมลมให้ยกตัวเราได้ แล้วปล่อยตัวลอยขึ้นลงไปกับคลื่นก็เพลินดีนะ ถ้าจะเคลื่อนที่ไปทางไหน พยายามตีฟินเพื่อส่งเราไปตามแนวราบ ส่วนแนวตั้งปล่อยให้ BCD เค้าจัดการกับคลื่นไปเอง การตีฟินเพื่อพยุงให้ตัวลอย ไม่ช่วยอะไร นอกจากเสียพลังงานเปล่าๆ แต่มือใหม่มักจะยังติดสัญชาตญาณเก่าอยู่มาก จึงเหนื่อยมากที่ผิวน้ำ รีบสร้างสัญชาตญาณใหม่ได้เมื่อไหร่ จะดำน้ำสบายขึ้นมาก
  • เมื่อต้องลงดำน้ำจากชายหาด การหาจังหวะสู้คลื่นออกไปและรีบใส่ตีนกบ ถือเป็นเรื่องยากทีเดียวสำหรับมือใหม่ แต่ถ้าสังเกตดีๆ จะพบว่า คลื่นที่ซัดเข้าชายหาด (ซึ่งก็คือคลื่นแบบ swell) จะมาเป็นจังหวะใกล้เคียงกัน และจะเข้ามาเป็นชุดๆ มีจังหวะที่คลื่นสูงๆ จะหายไปกลายเป็นคลื่นเตี้ยๆ เบาๆ ให้สังเกตระลอกคลื่นที่อยู่ไกลออกไปสัก 3-4 ระลอก ถ้าเห็นคลื่นเบาๆ กำลังเข้ามา ก็นับเวลาเตรียมตัวเดินลงน้ำได้เลย
  • ถ้ามีคลื่นแบบ swell อยู่ที่ผิวน้ำ เป็นไปได้อย่างยิ่งว่า ใต้น้ำก็จะมี surge พาเราแกว่งไกวไปมาด้วย เมื่อต้องดำน้ำใน surge แบบนี้ ไม่ต้องกังวลว่า คลื่นน้ำจะพาเราไปไกลจนกลับมาหากลุ่มไม่เจอ เพราะเรารู้แล้วว่า คลื่นจะพาเราเคลื่อนที่ไปและกลับมาอยู่จุดเดิมนั่นเอง แค่ประคองตัวไปเบาๆ ระวังไปขูดข่วนกับก้อนหินหรือปะการังรอบข้างก็พอ (ยกเว้นคลื่นขนาดใหญ่และรุนแรง เช่น สึนามิ ที่คาบของเขากินเวลาเป็นนาที และระยะทางของคลื่นยาวเป็นกิโลเมตร เค้าอาจพาเราไปได้ไกลเป็นสิบๆ เมตรได้ และเราอาจไปติดค้างอยู่ที่ไหนสักแห่งระหว่างทางได้ กรณีแบบนี้ ถ้าหาจุดยึดได้ ให้ยึดเกาะไว้เลยดีที่สุด)
  • ระหว่างดำน้ำ ลองสังเกตดูว่า surge ที่พาเราเข้าและออกจากแนวปะการังเป็นจังหวะๆ นั้นมีคาบประมาณกี่วินาที เราก็จะพอเดาที่มาของเค้าได้เหมือนกัน (ว่าแต่จะรู้ไปทำไมเนี่ย)
    หากใครเคยดำน้ำที่ Manta Point จุดดำน้ำขึ้นชื่อทางใต้ของเกาะ Penida ที่บาหลี อาจเคยได้พบ surge ลูกใหญ่ๆ พาเราเคลื่อนไปกลับได้ไกล 3-5 เมตรเลยทีเดียว คลื่นเหล่านี้เคลื่อนที่มาจากแดนไกล บ่งชี้ว่า เลยจากเกาะ Penida ลงไปทางใต้นั้น ไม่มีสิ่งกีดขวางกำบังคลื่นมากนัก และเราพึงระมัดระวังการไหลตามกระแสน้ำลงไปทางใต้ของเกาะ เพราะอาจเลยไปไกล และเรือตามหาได้ยากจริงๆ
  • สำหรับคลื่นแบบ swell ที่หลายคนไม่ชอบเลย เพราะพาเอาเมาคลื่นอยู่บ่อยๆ มีหลักฐานว่า ชาวโพลีเนเซีย เคยใช้ swell เป็นเครื่องมือนำทางในยามไม่มีสิ่งอื่นๆ ช่วยได้ เช่น ในคืนที่หมอกลงจัด เป็นต้น (แล้วจะรู้ไปทำไมหนอ)
  • คลื่นลมในท้องถิ่น (wind wave) และคลื่นลมแบบ swell ที่พัดเข้าสู่ชายหาดที่มีสันทรายอยู่ใต้น้ำ เมื่อคลื่นจะไหลกลับลงทะเล จะไหลผ่านช่องแคบๆ ที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นระหว่างสันทรายใต้น้ำ เกิดเป็น rip current ขึ้นได้ ถึงระวังการเล่นน้ำในบริเวณแบบนี้ และควรศึกษาวิธีแก้ปัญหาเมื่อต้องตกอยู่ในกระแสน้ำแบบนี้ (อันนี้ควรรู้ โดยเฉพาะคนที่ชอบเล่นน้ำชายหาด)
Rip Currents
แหล่งข้อมูล