กระแสน้ำย้อนกลับ (Rip Current)

กระแสน้ำย้อนกลับ หรือที่เรามักได้ยินชื่อเรียกทับศัพท์ว่า rip current เป็นกระแสน้ำรุนแรงที่เกิดขึ้นช่วงสั้นตามชายหาด จากการที่คลื่นทะเลซัดเข้าหาฝั่ง แล้วเมื่อมวลน้ำเหล่านั้นจะไหลลงทะเล กลับเจอสิ่งกีดขวาง เช่นโขดหินหรือสันทรายขวางอยู่ (โดยเฉพาะสันทรายใต้น้ำซึ่งมองเห็นได้ยากจากผิวน้ำ) ก็จะไหลรวมกันผ่านช่องแคบๆ ระหว่างสิ่งกีดขวางเหล่านั้นกลับลงทะเลไปด้วยความเร็วสูงกว่าตอนที่คลื่นซัดเข้ามา

ในบ้านเรา มีชื่อเรียกกระแสน้ำแบบนี้ว่า คลื่นทะเลดูด หรือ คลื่นดูด ซึ่งไม่ใช่คลื่นหรือกระแสน้ำที่ดูดลงใต้ทะเล แต่เป็นกระแสน้ำที่ไหลลงทะเลอย่างรวดเร็ว ซึ่งสำหรับคนคนที่ติดอยู่ในกระแสน้ำ ไม่เข้าใจกลไกหรือกำลังตื่นตกใจ พยายามว่ายทวนน้ำเพื่อจะเข้าฝั่งอย่างเต็มกำลัง ในที่สุดก็จะหมดแรง หรือเหนื่อยหอบจนสำลักน้ำ แล้วจมลงใต้น้ำเสียชีวิต

Rip Current in Animation

กระแสน้ำแบบนี้เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตส่วนใหญ่ของนักท่องเที่ยวเล่นน้ำทะเลชายหาดในหลายประเทศทั่วโลก!

และเนื่องจากสันทรายใต้น้ำย่อมเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามแต่คลื่นที่ซัดเข้ามาหาฝั่ง รวมทั้งหากเป็นคลื่นลูกเล็กๆ เบาๆ ซัดเข้ามาก็อาจไม่เกิดเป็นกระแสน้ำรุนแรงเมื่อไหลกลับออกไปก็ได้ การเกิด rip current จึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำนายตำแหน่งและความรุนแรงล่วงหน้าได้ มีเพียงสถิติของชายหาดบางแห่งที่อาจเกิดขึ้นได้บ่อย เนื่องจากสภาพภูมิประเทศบางอย่าง เช่น หาดแม่รำพึง จ. ระยอง ซึ่งมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ

วิธีการสังเกตตำแหน่งที่เกิด Rip Current

  • สังเกตสีของน้ำทะเล ซึ่งจะขุ่นขาวกว่าบริเวณอื่น เนื่องจากกระแสน้ำ rip current มักจะพาเอาตะกอนใต้น้ำฟุ้งขึ้นมาและไหลตามกระแสน้ำลงไปด้วย
  • สังเกตแนวน้ำที่ไหลวนปั่นป่วนอยู่ปลายกระแสน้ำ ซึ่งมักเป็นรูปล้ายดอกเห็ด ยื่นจากชายฝั่งลงไปในทะเล ซึ่งถ้ามีขนาดใหญ่หรือระยะทางไกล ก็แสดงว่ามีกำลังมาก
  • สังเกตเศษสิ่งของที่ลอยออกจากชายหาดหรือฟองคลื่นที่ไหลกลับลงทะเล เป็นแนวตั้งฉากกับหน้าคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่ง ซึ่งก็คือแนวของกระแสน้ำ
  • สังเกตหน้าคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่ง ถูกตัดแหว่งเป็นร่องๆ เนื่องจากกระแส rip current ไหลสวนทางตัดกับคลื่นที่ซัดเข้ามา แนวที่คลื่นถูกตัดก็คือแนวของกระแสน้ำ

วิธีการป้องกันอันตรายจาก Rip Current

  • ก่อนลงเล่นน้ำที่ชายหาดใดก็ตาม ลองมองหาเจ้าหน้าที่หรือยามชายฝั่ง (coast guard) เพื่อสอบถามสถานการณ์ของ rip current ในบริเวณนั้น รวมถึงสภาพคลื่นลมในขณะนั้นด้วย หรือสังเกตธงเตือนภัยสีแดงที่มีปักอยู่ริมชายหาดเพื่อเตือน
  • สังเกตคลื่นและน้ำทะเลว่ามีจุดใดมีลักษณะคล้ายกับที่เล่าไปในหัวข้อก่อนหน้านี้หรือไม่ ถ้ามี ก็ไม่ควรเล่นน้ำใกล้บริเวณนั้น ถ้าสภาพอากาศไม่ดี มีคลื่นลูกใหญ่ๆ เข้ามาบ่อยๆ ก็ไม่ควรลงเล่นน้ำ (ยกเว้น ถ้าคุณเป็นนักโต้คลื่น หรือทำกิจกรรมกับคลื่นขนาดใหญ่ มีความรู้เข้าใจในคลื่นและทะเลเป็นอย่างดี)

วิธีแก้ไขสถานการณ์เมื่อเข้าไปอยู่ใน Rip Current

  1. ตั้งสติ ไม่ต้องว่ายทวนกระแสน้ำ ไม่ต้องกลัวว่าน้ำจะซัดไปไกล เพราะยิ่งห่างจากฝั่งไปเรื่อยๆ กระแสน้ำจะเบาลงจนหายไปในที่สุด
  2. พยายามลอยตัวให้ศีรษะอยู่เหนือน้ำ หายใจได้
  3. มองหาทิศทางของชายฝั่ง แล้วว่ายน้ำขนานกับชายฝั่งไปก่อน จนกระทั่งพ้นจากแนวกระแส rip current แล้วค่อยว่ายกลับเข้าหาฝั่ง หรือให้คลื่นพาเรากลับเข้าฝั่ง
  4. ถ้าว่ายน้ำไม่ได้ หรือไม่มีแรงว่ายน้ำ ก็ประคองตัวให้อยู่เหนือน้ำไว้ และโบกมือขอความช่วยเหลือ

การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ

  • ถ้าไม่แน่ใจว่า ตนเองเข้าใจและทราบวิธีการช่วยเหลือ อย่าว่ายน้ำลงไปช่วยเด็ดขาด
  • หากมีสิ่งของที่ลอยน้ำได้ เช่น ห่วงยาง เสื้อชูชีพ ให้โยนลงไปตามกระแสน้ำ เพื่อให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น
  • รีบแจ้งเจ้าหน้าที่กู้ภัยหรือยามชายฝั่งที่มีทักษะและอุปกรณ์ช่วยเหลือ

สนใจดูคลิปวิดีโอที่อธิบายเรื่องราวทั้งหมดนี้อย่างเห็นภาพชัดเจนได้ที่ https://oceanservice.noaa.gov/facts/ripcurrent.html

ความรู้ความเข้าใจในกลไกของธรรมชาติ คือสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราท่องเที่ยวหาความเบิกบานสบายใจได้ โดยไม่ต้องเสี่ยงภัยกลายเป็นความโศกเศร้าแทน และแม้ต้องตกอยู่ในสถานการณ์คับขันอันตรายก็สามารถแก้ไขได้อย่างปลอดภัย

แหล่งข้อมูล