Blood Cells with Air Bubbles and Physics Equations (as banner for article)

ความเป็นมาของทฤษฎีการลดความกดในการดำน้ำ (Dive Decompression Theory)

กว่าที่เราจะสามารถดำน้ำกันได้ด้วยความสนุกสนานและปลอดภัยอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ มีองค์ความรู้สำคัญที่สุด คือเรื่องของการหายใจด้วยอากาศที่มีความกดสูงต่อด้วยการลดความกดอากาศ (decompression) เมื่อขึ้นสู่ที่ตื้น ซึ่งความรู้เข้าใจเรื่องนี้อย่างถูกต้อง มีผลต่อสุขภาพและชีวิตของนักดำน้ำอย่างเราๆ ทุกคน

องค์ความรู้เรื่องนี้ได้รับการศึกษาค้นคว้ากันมาอย่างยาวนาน ต่อยอดกัน ผ่านผู้คน ทีมงาน (รวมถึงสัตว์ทดลอง) จำนวนมากมาย จนกลายมาเป็นตารางดำน้ำ (dive table) ที่ช่วยให้เราวางแผนการดำน้ำได้ง่ายขึ้น หรือไดฟ์คอมพิวเตอร์ที่ช่วยให้การดำน้ำทำได้สะดวกง่ายดายขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง

เรื่องนี้เริ่มศึกษากันมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ผู้คนหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้ มีใครบ้าง มาทำความรู้จักพวกเขากัน

Paul Bert (ค.ศ. 1833 – 1886)

พอล เบิร์ต เป็นผู้ที่เริ่มศึกษาผลกระทบของความกดอากาศต่อร่างกายของเรา ทั้งในด้านความกดสูงกว่าและต่ำกว่าบรรยากาศปกติ โดยเริ่มต้นจากความสนใจในผลของความกดอากาศต่ำที่มีต่อนักปีนเขาและนักเล่นบอลลูน ก่อนจะหันมาสนใจผลของความกดอากาศสูงที่มีต่อนักดำน้ำในเวลาต่อมา จนมีผลงานการวิจัยตีพิมพ์ออกมาชื่อ La pression barometrique (ค.ศ. 1878)

ในด้านหนึ่ง งานวิจัยของเขาสรุปว่า ความกดอากาศไม่ได้ส่งผลในด้านกายภาพ แต่ส่งผลทางด้านเคมี คือทำให้สัดส่วนของออกซิเจนในกระแสเลือดเปลี่ยนแปลงไป ถ้าออกซิเจนน้อยเกินไป ก็จะเกิดการขาดแคลนออกซิเจน หรือถ้ามากเกินไป ก็จะทำให้เกิดอาการออกซิเจนเป็นพิษ เขาแสดงให้เห็นว่า ถ้าได้รับออกซิเจนบริสุทธิ์ที่ความกดอากาศสูงมากอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้

ทุกวันนี้ อาการออกซิเจนเป็นพิษที่เกิดกับระบบประสาทส่วนกลาง (Central Nervous System: CNS) มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Paul Bert Effect

ในอีกด้านหนึ่ง เขาค้นพบผลกระทบของไนโตรเจนภายใต้ความกดสูง และความแตกต่างของอาการที่เกิดขึ้นระหว่างการลดความกดอย่างรวดเร็วกับการค่อยๆ ลดความกดอากาศ และเป็นผู้ชี้ว่าอาการนี้เกิดจากการฟอร์มตัวขึ้นของฟองก๊าซไนโตรเจนที่เกิดขึ้นในกระแสเลือดและเนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกายระหว่างการลดความกดอากาศ โดยก๊าซไนโตรเจนเหล่านี้ซึมซาบเข้าไปในกระแสเลือดและเนื้อเยื่อได้จากการได้รับก๊าซไนโตรเจนที่ความกดสูง ก่อนหน้านั้น

ข้อสรุปของงานวิจัยนี้คือ การลดความกดอย่างช้าๆ ในอัตราที่คงที่สม่ำเสมอ นอกจากจะช่วยให้ก๊าซไนโตรเจนมีเวลาได้ระบายตัวออกจากกระแสเลือด (ผ่านระบบการแลกเปลี่ยนก๊าญที่ปอด) ก่อนที่จะกลายเป็นฟองก๊าซแล้ว ยังช่วยให้มีเวลาระบายออกจากเนื้อเยื่อต่างๆ เข้าสู่กระแสเลือดอีกด้วย

นอกจากนี้ เขายังเสนอแนะวิธีการแก้ไขอาการเจ็บป่วยจากการลดความกดอากาศ ด้วยการนำผู้ป่วยกลับเข้าสู่สภาพแวดล้อมที่มีความกดอากาศสูงอีกครั้ง แล้วค่อยๆ ลดความกดอากาศลงอย่างช้าๆ รวมถึงการให้ออกซิเจนบริสุทธิ์เสริมเข้าไปในกระบวนการดังกล่าว ก็จะช่วยให้อาการเจ็บป่วยนั้นหายได้เร็วขึ้นด้วย (โดยได้เห็นตัวอย่างจากการทดลองในสัตว์ทดลองของเขา)

จึงนับได้ว่า เขาเป็นผู้เสนอวิธีการรักษาแบบ Oxygen Recompression Therapy คนแรก แม้ว่าวิธีการนี้จะยังไม่ได้ถูกใช้งานจริงจนอีกหลายปีต่อมา

John Scott Haldane (ค.ศ. 1860-1936)
บิดาของทฤษฎีการลดความกดอากาศสมัยใหม่

นักสรีรวิทยาชาวสก็อตช์ ผู้ทำการทดลองเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เป็นคนแรก (เขาเป็นผู้ค้นพบว่า ระบบควบคุมการหายใจของมนุษยถูกกระตุ้นโดยปริมาณการเพิ่มขึ้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในร่างกาย ไม่ใช่ปริมาณการลดลงหรือขาดแคลนออกซิเจน)

ในปี ค.ศ. 1906 เขาได้รับการว่าจ้างจาก Royal Navy’s Deep Diving Committee ให้ดำเนินการวิจัยในหลากหลายด้านที่เกี่ยวกับการดำน้ำ และด้านหนึ่งที่สำคัญที่สุดคือการลดอาการเจ็บป่วยที่เรียกว่า ‘the bends‘ หรือ ‘caisson disease‘ (ซึ่งเริ่มเป็นที่รู้จักกันทั่วไปตั้งแต่ปี ค.ศ. 1871 แล้วจากกรณีการสร้าง Eads Bridge ที่ St. Louis และปี ค.ศ. 1872 กรณีการสร้าง Brooklyn Bridge ที่ New York City ด้วยเทคนิคการสร้างฐานรากใต้แม่น้ำ แบบเดียวกัน)

 

Photo of John Scott Haldane
Photo of John Scott Haldane

จากการทดลองและสังเกตอาการที่เกิดขึ้นในคนและสัตว์ทดลอง เขาได้สรุปและอธิบายทฤษฎีของเขาโดยใช้โมเดลเนื้อเยื่อสมมติ (theoretical tissue compartment) ที่มีความสามารถในการดูดซับและระบายก๊าซไนโตรเจนด้วยอัตราที่แตกต่างกัน โดยใช้ค่า halftime (ระยะเวลาที่เนื้อเยื่อจะอิ่มตัวด้วยก๊าซไนโตรเจน 50%) เป็นตัวบอกอัตรานั้น เขากำหนดเนื้อเยื่อสมมติไว้ 5 ชนิดตามค่า halftime ได้แก่ 5, 10, 20, 40 และ 75 นาที (เนื้อเยื่อสมมติเหล่านี้ ไม่ได้มีตัวอย่างหรือการเทียบเคียงกับเนื้อเยื่อจริงในอวัยวะของมนุษย์หรือสัตว์ทดลองแต่อย่างใด)

นอกจากนี้ เขายังกำหนดค่าสูงสุดที่เนื้อเยื่อจะดูดซับก๊าซไนโตรเจนความกดสูงไว้ได้ ก่อนจะแสดงอาการเจ็บป่วย (decompression sickness) ของร่างกายด้วย

ผลลัพธ์จากโมเดลนี้คือตารางการดำน้ำ (dive table) ที่ใช้วางแผนการดำน้ำได้ และอัตราการขึ้นสู่ผิวน้ำอย่างปลอดภัย ซึ่งช้ากว่าที่นักดำน้ำในยุคนั้นปฏิบัติกันอยู่

Royal Navy’s Deep Diving Committee พิจารณาผลการวิจัยและตัดสินใจเผยแพร่ให้แก่สาธารณะ ซึ่งก็ได้รับการยอมรับและใช้เป็นพื้นฐานในการจัดการดำน้ำทั้งในอังกฤษและต่างประเทศมาอย่างยาวนาน และในปี ค.ศ. 1912 US Navy ก็ได้ปรับปรุงตารางดำน้ำอีกเล็กน้อย ใช้งานต่อมาจนถึงปี ค.ศ. 1956

แม้ว่าในปัจจุบัน ความรู้บางอย่างที่เขาสรุปได้จะไม่ถูกต้องและได้รับการแก้ไขปรับปรุงใหม่แล้ว แต่แนวคิดและหลักการในงานวิจัยของเขานี้ยังคงเป็นรากฐานของทฤษฎีการลดความกดทั้งหมดที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

ตารางดำน้ำของ US Navy

จากการวิจัยเพิ่มเติมโดย US Navy ซึ่งพบว่า ในร่างกายมนุษย์ยังมีเนื้อเยื่อที่ดูดซึมไนโตรเจนด้วยค่า halftime ที่มากกว่า 75 นาที (ค่าสูงสุดในโมเดลของ Haldane) และเนื่องจากการดำน้ำทางยุทธวิธีอาจต้องดำน้ำนานและติดๆ กันหลายครั้ง เนื้อเยื่อที่มีอัตราการดูดซึมและคายก๊าซช้า จะมีอิทธิพลต่อการวางแผนระยะเวลาการพักน้ำและดำน้ำรอบถัดไป มากกว่าเนื้อเยื่อที่มีอัตราการดูดซึมเร็ว จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงตารางดำน้ำใหม่โดยเพิ่มโมเดลเนื้อเยื่อสมมตินี้อีก 1 ชนิด

US Navy ได้เพิ่มเนื้อเยื่อที่มี halftime 120 นาทีเข้ามาในตารางดำน้ำ และกำหนดเครดิตการพักน้ำโดยคำนวณจากเนื้อเยื่อที่เพิ่มมานี้ (และดังนั้น ตามตารางดำน้ำของ US Navy หากเราพักน้ำนานเกิน 12 ชั่วโมง หรือ 6 halftime1 ของ 120 นาทีแล้ว ก็จะไม่นับเป็น repetitive dive คือ ถือว่าไนโตรเจนได้ระบายออกจากร่างกายจนหมดแล้ว หรือมี nitrogen load เป็น 0 นั่นเอง)

ตารางดำน้ำที่ปรับปรุงใหม่ของ US Navy เริ่มใช้งานตั้งแต่กลางทศวรรษ 1950 จนถึงกลางทศวรรษ 1980 โดยในระหว่างนั้นก็มีการปรับปรุงด้วยเช่นกัน

Robert D. Workman แห่ง US Navy

ในช่วงทศวรรษ 1960 มีการสังเกตพบว่า ตารางดำน้ำยังไม่ค่อยเหมาะสมกับการดำน้ำที่ต้องอยู่ที่ลึกมากและใช้เวลานาน จึงมีการทบทวนงานวิจัยนั้นเพิ่มเติมโดย Robert D. Workman แห่ง US Navy Experimental Diving Unit (NEDU)

Workman ค้นพบว่า ค่าสูงสุดที่เนื้อเยื่อจะดูดซับก๊าซไนโตรเจนได้ก่อนจะเกิดอาการ DCS ในเนื้อเยื่อชนิดเดียวกัน ก็มีความแตกต่างกันตามระดับความลึกด้วย เขาได้นำเสนอชื่อ M-value เพื่อใช้เรียกค่าสูงสุดของความอิ่มตัวที่เนื้อเยื่อจะทนได้ และเสนอแนะว่า ค่า M-value ซึ่งมีลักษณะเป็นสมการ มากกว่าจะเป็นค่าคงที่ตายตัวนี้ เหมาะจะนำไปใช้สร้างเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยคำนวณให้ จึงนับได้ว่าเขาเป็นผู้ริเริ่มความคิดการสร้างไดฟ์คอมพิวเตอร์คนแรกของโลก

นอกจากนี้ Workman ยังได้เพิ่มโมเดลเนื้อเยื่อสมมตินี้อีก 3 ชนิดคือเนื้อเยื่อที่มี halftime เท่ากับ 160, 200 และ 240 นาที

Albert A. Bühlmann

นักฟิสิกส์ชาวสวิสได้ต่อยอดการวิจัยของ Haldane ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 จนได้เผยแพร่ผลการวิจัยในปี ค.ศ.​1983 โดยมีเป้าหมายหลักในการค้นหาเนื้อเยื่อที่มี halftime สูงที่สุดสำหรับก๊าซไนโตรเจนและฮีเลี่ยม เขาใช้วิธีการคำนวณการลดความกดแบบเดียวกับ Workman ซึ่งรวมถึงการใช้ M-value ที่เปลี่ยนแปลงไปตามความลึกด้วย แต่ปรับให้ง่ายขึ้นในการนำไปใช้กับการดำน้ำบนที่สูง (high altitude diving)

เขาได้เพิ่มเนื้อเยื่อที่มี halftime ต่างๆ กันอีกหลายระดับเข้ามาในการวิจัย รวมของเดิมด้วยเป็นทั้งหมด 16 ชนิด มี halftime สูงสุด 635 นาที ทั้งยังได้นำเสนอปัจจัยอื่นๆ ที่เป็นตัวกำหนดขีดจำกัดการอิ่มตัวของไนโตรเจนที่ความลึกต่างๆ กันด้วย

งานวิจัยของ ดร. Bühlmann นี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นแหล่งอ้างอิงการคำนวณเกี่ยวกับการลดความกด ที่สมบูรณ์ที่สุดในสมัยนั้น และได้รับการปรับปรุงต่อยอด รวมถึงนำไปใช้ในไดฟ์คอมพิวเตอร์หลากหลายแบรนด์หลายรุ่น เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ชื่อของระบบการคำนวณที่ต่อยอดจากงานวิจัยของ ดร. Bühlmann นี้ ได้รับการกำหนดให้มีรหัสว่า ZH-L (ZH = Zürich และ L = limits) ตามด้วยจำนวนเนื้อเยื่อ และรหัสรุ่นย่อย เช่น ZH-L8, ZH-L16, ZH-L16C

การประดิษฐ์เครื่องวัดอัตราการไหลด้วยอัลตร้าซาวด์ (Doppler Ultrasound Flowmeter)

ถูกประดิษฐ์ขึ้นในปี ค.ศ. 1959 โดย Shigeo Satomura นักฟิสิกส์ชาวญี่ปุ่น ทำให้สามารถศึกษาฟองก๊าซไนโตรเจนที่เกิดขึ้นในกระแสเลือดของนักดำน้ำได้ชัดเจนยิ่งขึ้น มีการค้นพบฟองก๊าซจิ๋วๆ (silent bubble) ที่เกิดขึ้นกับการดำน้ำส่วนใหญ่ ซึ่งไม่ได้ส่งผลให้เกิด DCS แต่อย่างใด

การค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของฟองก๊าซในกระแสเลือดกับอาการ DCS ตลอดจนถึงเรื่องอื่นๆ เกี่ยวกับการดำน้ำ การลดความกด และการดูดซึมก๊าซไนโตรเจนในร่างกาย ก็ทำได้หลากหลายแง่มุมขึ้นอีกมาก

Raymond E. Rogers และ PADI RDP

ช่วงต้นทศวรรษ 1980 ดร. โรเจอร์ส​ ได้ศึกษาตารางดำน้ำของ US Navy อย่างละเอียดและเห็นว่า ตารางดำน้ำนี้ไม่เหมาะกับการดำน้ำเพื่อสันทนาการ ด้วย 3 เหตุผล คือ

  1. การนำเนื้อเยื่อที่มี halftime 120 นาทีมาคำนวณด้วย เหมาะจะใช้กับการดำน้ำแบบ decompression dive แต่จะ conservative เกินไปสำหรับการดำน้ำเพื่อสันทนาการ
  2. กลุ่มทดสอบของ US Navy เป็นกลุ่มเฉพาะของตนเอง ซึ่งไม่ค่อยสอดคล้องกับกลุ่มนักดำน้ำแบบสันทนาการทั่วไป
  3. บ่อยครั้งที่มีการตรวจพบฟองก๊าซจิ๋วๆ (silent bubble) ในกระแสเลือดของนักดำน้ำ หลังการดำน้ำตามตารางของ US Navy และค่า M-value ที่ใช้ในตารางนี้ค่อนข้างสูงเกินไป สำหรับการดำน้ำเพื่อสันทนาการ แสดงให้เห็นว่าตารางดำน้ำนี้ไม่ค่อย conservative นัก

ตารางดำน้ำของ US Navy จึง conservative เกินไปด้วยเหตุผลข้อแรก แต่ก็ conservative น้อยเกินไปด้วยเหตุผลข้อหลัง (ดูเหมือนขัดกันเอง แต่ที่จริง 2 สิ่งนี้ส่งผลแตกต่างกันตามเงื่อนไขของแต่ละไดฟ์)

จากการวิจัยของ ดร. โรเจอร์ส ต่อยอดงานของ Haldane โดยมีจุดต่างที่สำคัญคือการใช้เนื้อเยื่อที่มี halftime 60 นาทีมาเป็นพื้นฐานการคำนวณเพื่อการดำน้ำต่อเนื่อง (repetitive dive) ทำให้เกิดเป็นตารางวางแผนการดำน้ำเพื่อสันทนาการ (Recreational Dive Planner: RDP) ของ PADI ที่ช่วยเพิ่มเครดิตให้กับการพักน้ำโดยลดระยะเวลาการระบายไนโตรเจนสะสมลงได้เกือบครึ่งหนึ่ง

PADI RDP นี้มีคุณสมบัติ

  • ใช้เนื้อเยื่อทั้งหมด 14 ชนิดมี halftime ตั้งแต่ 5 นาที ถึง 480 นาที
  • เพิ่มกฎ WX & YZ ที่รักษาความสำคัญของเนื้อเยื่อที่มี halftime มากกว่า 60 นาทีให้ยังคงเป็นตัวควบคุมการวางแผนดำน้ำแบบต่อเนื่องด้วย
  • ใช้ค่า M-value ต่ำกว่าของ US Navy เพื่อเพิ่มความปลอดภัย
  • กลุ่มทดสอบงานวิจัยนี้ ครอบคลุมผู้หญิง, ครอบคลุมช่วงอายุมากกว่า และหลากหลายสภาพร่างกายกว่าของ US Navy

งานวิจัยของ ดร. โรเจอร์สนี้ได้รับการสนับสนุนโดย Diving Science And Technology (DSAT) จึงมีชื่อเรียกโมเดลการคำนวณการลดความกดนี้อีกอย่างหนึ่งว่า DSAT Model

Bubble Model

หลังจากมีการประดิษฐ์เครื่องวัดอัตราการไหลด้วยอัลตร้าซาวด์ ซึ่งทำให้เราสามารถสังเกตฟองก๊าซที่เกิดขึ้นในกระแสเลือดได้โดยตรง ด้วยข้อมูลที่ได้จากการสังเกตความเป็นไปของฟองก๊าซเหล่านั้น ทั้งขนาด จำนวน การไหลเวียนเปลี่ยนแปลง การเกิดขึ้น การดูดซับและสลายตัวไป ทำให้มีการตั้งสมมติฐานเกี่ยวฟองก๊าซและความสัมพันธ์ต่อการเกิด DCS ในนักดำน้ำ สรุปออกมาเป็น Bubble Model โดยมีสมมติฐานสำคัญที่แตกต่างจากโมเดลพื้นฐานดั้งเดิม คือ

  • มีฟองก๊าซเกิดขึ้นเสมอ ในระหว่างการลดความกด (ต่างจากเดิมมีสมมติฐานว่า หากความกดมีการเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก เช่น หากเราลดระดับความลึกอย่างช้าๆ จะไม่มีฟองก๊าซเกิดขึ้น)
  • ฟองก๊าซที่เกิดขึ้นมีหลายขนาด จำนวนฟองก๊าซขนาดใหญ่ มีน้อยกว่าฟองขนาดเล็ก เสมอ
  • ขนาดและปริมาณของฟองก๊าซส่งต่อโอกาสการเกิด DCS ไม่เท่ากัน
  • ฟองขนาดจิ๋ว (microscopic bubble หรือ silent bubble) ที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น หากมีขนาดใหญ่ระดับหนึ่ง ซึ่งสัมพันธ์กับความลึก (หรือก็คือความกดรอบตัว) ขณะนั้นๆ จะเติบโตขึ้นเมื่อลดความกดลงเรื่อยๆ
  • การสลายตัวของฟองก๊าซ (bubble phase) ช้ากว่าการสลายตัวของก๊าซที่ซึมซับอยู่ในเนื้อเยื่อ (dissolved phase)

จากนี้ก็มีนักวิจัยนำโมเดลนี้ไปออกแบบตารางดำน้ำ หรืออัลกอริธึมสำหรับไดฟ์คอมพิวเตอร์ เพื่อช่วยกำหนดวิธีการขึ้นสู่ผิวน้ำให้ปลอดภัยจาก DCS มากที่สุด

David E. Yount

Yount และคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาวาย ได้พัฒนาอัลกอริธึมเพื่อช่วยคำนวณ ชื่อว่า Varying Permeability Model (VPM) เพื่อช่วยคำนวณการทำ decompression stop สำหรับการดำน้ำแบบนี้ และสำหรับอากาศที่มีส่วนผสมของก๊าซแบบต่างๆ โดยพยายามให้ฟองก๊าซขนาดใหญ่ หรือที่กำลังขยายขนาดขึ้นได้ระบายออกไปก่อนที่จะสร้างปัญหา

ในปี ค.ศ. 1986 โมเดลนี้ได้ถูกนำไปใช้ในการออกแบบตารางการทำ decompression stop ของมหาวิทยาลัยฮาวาย และมีใช้อยู่ในไดฟ์คอมพิวเตอร์บางรุ่นในปัจจุบัน

Bruce Wienke

ดร. Wienke ได้รับการเชื้อเชิญจาก Suunto ให้มาช่วยออกแบบอัลกอริธึมช่วยคำนวณการทำ decompression stop ของ Suunto เอง โดยใช้ทฤษฎีพื้นฐานของ Haldane ประกอบกับแนวคิดของ Bubble Model ได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นโมเดลการคำนวณชื่อ Reduced Gradient Bubble Model (RGBM) ในปี ค.ศ. 2002

ปัจจุบันมีใช้งานอยู่ในไดฟ์คอมพิวเตอร์ของ Suunto, Mares (บางรุ่น), Atomic, Aqwary, HydroSpace Engineering และ Underwater Technologies Center

สรุป

ทฤษฎีการลดความกด (Decompression Theory) ที่เราใช้กันอยู่กับการดำน้ำในทุกวันนี้ มีรากฐานมาจากการค้นคว้าวิจัยของ ดร. Haldane โดยการสนับสนุนของกองทัพเรืออังกฤษ ซึ่งได้อธิบายด้วยโมเดลเนื้อเยื่อที่มีอัตราการดูดซับและคายก๊าซไนโตรเจนแตกต่างกัน มาคำนวณเพื่อกำหนดขีดจำกัดระยะเวลาที่ร่างกายเราจะดำน้ำได้ในแต่ละระดับความกดอากาศ (หรือก็คือความลึกใต้ผิวน้ำ) ตามระดับความเสี่ยงหรือความ conservative และประเภทการดำน้ำในแต่ละครั้ง

ด้วยโมเดลพื้นฐานของ ดร. Haldane ก็มีนักวิจัยอีกหลายคนช่วยกันพัฒนาปรับปรุงต่อ ทั้งการเพิ่มเนื้อเยื่อชนิดใหม่เข้าไปในโมเดล หรือการปรับค่าขีดจำกัดความอิ่มตัวสูงสุด ไปจนถึงปรับแนวทางการนำค่าต่างๆ เหล่านี้ไปใช้กับการดำน้ำแต่ละแบบ หรือแนวทางการคำนวณด้วยค่าความเสี่ยงที่แตกต่างกันตามแต่ความต้องการของนักดำน้ำ แตกหน่อต่อยอดออกเป็นตารางดำน้ำ หรืออัลกอริธึม (algorithm) คำนวณการดำน้ำที่อยู่ในไดฟ์คอมพิวเตอร์หรือโปรแกรมวางแผนการดำน้ำ ที่แตกต่างกันออกไปมากมาย ให้เราได้เลือกใช้กันในปัจจุบัน

 

ปัจจุบัน ยังคงมีการเสนอทฤษฎีการลดความกดที่ต่อยอดจากของ ดร. Haldane ออกไปอีกหลากหลายโมเดล ไว้มีเวลา และได้ศึกษาจนเข้าใจมากพอ ก็จะนำทฤษฎีเหล่านั้นมาเล่าให้ฟังอีกที

แหล่งข้อมูล

Footnotes

  1. ในระหว่างการหายใจด้วยอากาศความกดสูง เมื่อเวลาผ่านไป 6 รอบของ halftime การสะสมไนโตรเจนในเนื้อเยื่อนั้นๆ จะเท่ากับ 98.44% และถือว่าอิ่มตัวแล้ว หรือเมื่อใช้กับการลดความกด ก็จะถือว่าได้ระบายก๊าซออกจนหมดแล้ว