เชื่อว่าเพื่อนๆ เกือบทุกคนคงเคยมีประสบการณ์ขึ้นมาจากดำน้ำแล้วมีอาการปวดหัว สาเหตุเกิดได้จากหลายอย่าง เราควรทำความเข้าใจให้ดีถึงแต่ละเรื่อง จะได้แก้ไขปัญหาได้ถูกจุดและสนุกกับการดำน้ำได้มากขึ้น
การออกแรงมากขณะอยู่ใต้น้ำ
การว่ายทวนกระแสน้ำ การปรับการลอยตัวได้ไม่ดี การขยับร่างกายมากเกินความจำเป็น จะทำให้เราเหนื่อยเพราะน้ำมีความหนาแน่นกว่าอากาศหลายเท่า เราจะหายใจเร็วขึ้นส่งผลให้คาร์บอนไดออกไซด์สะสมในร่างกาย เมื่อกลับขึ้นสู่ผิวน้ำจะปวดหัว
ป้องกันได้ด้วยการควบคุมลมหายใจให้เบาๆ ยาวๆ อย่างต่อเนื่องแม้จะเริ่มเหนื่อย ปรับการลอยตัวให้เป็นกลางตลอดเวลา และหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่จะทำให้เหนื่อย เช่น การว่ายทวนน้ำแรงๆ หมั่นออกกำลังสม่ำเสมอจะช่วยให้เพื่อนๆ เหนื่อยยาก
การควบคุมการลอยตัวโดยใช้วิธีปรับการหายใจ
นักดำน้ำมือใหม่บางคนพยายามฝึกปรับการลอยตัวเป็นกลางโดยเน้นการปรับลมหายใจมากเกินไป การหายใจเข้าและออกที่ไม่สมดุลเท่ากันจะส่งผลให้คาร์บอนไดออกไซด์สะสมในร่างกายอีกเช่นกัน เมื่อขึ้นมาผิวน้ำจะรู้สึกปวดหัว
แก้ไขได้ด้วยการปรับการลอยตัวด้วยการเติมลม/ ปล่อยลมในบีซี เน้นให้การลอยตัวเป็นกลางทุกความลึกแต่ยังหายใจเข้าออกได้เบาๆ และช้าเท่าๆ กัน
การพยายามประหยัดอากาศด้วยการหายใจสั้นๆ
นักดำน้ำบางคนรู้สึกว่าตัวเองใช้อากาศเปลืองจึงพยายามลดด้วยการหายใจสั้นๆ การทำเช่นนี้จะทำให้คาร์บอนไดออกไซด์สะสมในร่างกาย ส่งผลให้การหายใจเร็วและถี่ขึ้นเรื่อยๆ ลมหายใจไม่ราบรื่นสุดท้ายใช้อากาศเปลืองเช่นเดิมและมีอาการปวดหัวเมื่อขึ้นสู่ผิวน้ำ
นักดำน้ำจะใช้อากาศไม่เปลืองต่อเมื่อมีการลอยตัวที่ดีและควบคุมลมหายใจให้ช้าๆ เบาๆ เท่ากันทั้งเข้าและออก ซึ่งช่วยให้ไม่ปวดหัว
อากาศในถังปนเปื้อน
บางครั้งอากาศในถังสกูบ้าอาจมีการปนเปื้อน โดยส่วนใหญ่จะเป็นคาร์บอนมอนนอกไซด์ ซึ่งมาจากเครื่องอัดอากาศที่ไส้กรองมีปัญหา การสูดคาร์บอนมอนนอกไซด์ที่ความลึกขณะดำน้ำจะทำให้ผลกระทบเพิ่มมากขึ้น หากร้ายแรงนักดำน้ำอาจหมดสติที่ใต้น้ำ หรือโดยทั่วไปมักจะปวดหัวเมื่อกลับขึ้นสู่ผิวน้ำ
ป้องกันได้ด้วยการเปิดอากาศจากถังสกูบ้าเพื่อดมกลิ่นก่อนใช้งาน หากมีกลิ่นเหม็นคล้ายควันรถยนต์ให้งดใช้งานถังใบนั้น
สาเหตุอื่นๆ
เร็กกูเลเตอร์ที่มีปัญหาหรือประสิทธิภาพไม่ดี
จะทำให้การหายใจติดขัด เกิดคาร์บอนไดออกไซด์สะสม ส่งผลให้ปวดหัวได้
น้ำเย็นจัด
จะทำให้เกิดการหดตัวของเส้นเลือดบริเวณใกล้ศีรษะและเมื่อกลับขึ้นสู่ผิวน้ำ เส้นเลือดที่ขยายกลับสู่ภาวะปกติจะทำให้เกิดอาการปวดหัวได้
การรัดสายหน้ากากแน่นเกินไป
อาจทำให้หน้ากากกดที่บริเวณใบหน้าโดยเฉพาะแถวหน้าผากทำให้ปวดหัวได้เช่นกัน
ครูแสน แสนยา โลหิตนาวี
8 กุมภาพันธ์ 2562