Yellow-lipped sea krait (Laticauda colubrina)

รู้จักกับ งูทะเล … ถ้าเจอกันตอนดำน้ำ ใครควรจะกลัวใคร ?

ขึ้นชื่อว่า งู หลายคนคงแหยงๆ กับสัตว์ชนิดนี้ใช่มั้ยครับ ยิ่งเป็นงูทะเลแล้ว ข้อมูลที่ทราบกันทั่วไปคือ พิษงูทะเลนั้นร้ายแรงกว่างูเห่า 2-10 เท่าอีกต่างหาก มันช่างน่ากลัวเสียนี่กระไร … ความจริงแล้ว ยังมีอีกหลายประเด็นเกี่ยวกับงูทะเลที่ไม่ได้พูดถึงกัน ว่าจริงๆ แล้ว มันร้ายกาจแบบนั้นจริงหรือไม่

งูทะเลนั้นมีมากมายครับ ผมคงนั่งไล่ทีละชนิดไม่ไหว และกลัวเดี๋ยวจะกลายเป็นบทความทางสัตววิทยาไปซะ อาจจะขอความช่วยเหลือผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่อง งู มาตอบโดยเฉพาะในภายหลังอีกที แต่ผมจะขอกล่าวโดยรวมๆ ในแง่ของทางการแพทย์ ในแง่การระวังป้องกันและการรักษา ตามที่ผมถนัดดีกว่านะครับ

งูทะเลนั้น เกือบทุกชนิดเป็นงูที่มีพิษครับ … งูทะเลมีทั้งพวกที่ใช้ชีวิตหากินและขยายพันธุ์ในน้ำตลอด และอาจจะเป็นงูบกที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่บนบก ผสมพันธุ์และวางไข่บนบก แต่สามารถว่ายน้ำและหากินในน้ำได้ ก็มี

Snake on Beach

ส่วนในเรื่องพิษของงูทะเล พิษของงูตัวเดียวกันชนิดเดียวกันนั้น มีคุณสมบัติการออกฤทธิ์ ได้ 2 แบบครับ คือ ออกฤทธิ์กับระบบประสาท (neurotoxin) และ ออกฤทธิ์ทำลายกล้ามเนื้อ (myotoxin) ส่วนการออกฤทธิ์ต่อระบบไหนจะเด่นกว่ากันนั้น ขึ้นอยู่กับประเภทของงูครับ

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอันตรายจากงูทะเล

1. พิษของงูทะเล มีความร้ายแรงมากกว่างูเห่า 2 – 10 เท่าครับ แต่ด้วยลักษณะของปากของงูทะเลที่มีขนาดเล็ก และต่างจากงูพิษบนบกที่ ปากของงูทะเล ไม่สามารถอ้าปากได้กว้างเหมือนงูบก (อาหารของงูทะเลมักเป็นพวกปลาที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก) นอกจากนี้ การพัฒนาระบบการส่งต่อพิษจากต่อมพิษไปยังเขี้ยวนั้นมีการพัฒนาและมีประสิทธิภาพที่ต่ำกว่างูพิษบนบก ทำให้ในการกัดของงูทะเลในแต่ละครั้ง จะมีการปล่อยพิษออกมาในจำนวนที่น้อยมาก น้อยจนอาจจะไม่สามารถทำอันตรายถึงแก่ชีวิตกับมนุษย์ได้ เพราะจากสถิตินั้นพบว่า 80% ของคนที่ถูกงูทะเลกัดนั้น ไม่มีอาการที่เกิดจากพิษงูให้เห็น แต่หากเป็นเด็ก อาจจะมีอันตรายจนถึงชีวิตใด้ เนื่องจากสัดส่วนของขนาดร่างกายต่อพิษงูที่ได้รับนั้น แตกต่างจากผู้ใหญ่ ความรุนแรงจึงชัดเจนและมากกว่า

2. จากการศึกษาเรื่องงูทะเล ของ REID และ LIM ในช่วงปี 1950s กับ 1960s ในกลุ่มหมู่บ้านชาวประมงมาเลเซีย (เป็นการศึกษาที่มีจำนวน case มากที่สุด) พบว่าสาเหตุการถูกงูทะเลกัดนั้น ส่วนใหญ่จะสัมพันธ์กับการใช้อวนในการทำประมง (การที่มีงูทะเลติดอวนมาและจะถูกงูกัดในขณะจะเอาปลาออกจากอวน การเก็บอวน หรือการเอางูออกจากอวน) อัตราการเสียชีวิตจากการถูกกัดพบว่า อยู่ที่ประมาณ 3% ของจำนวนผู้ป่วยที่โดนกัด

3. งูทะเล ไม่มีนิสัยก้าวร้าว แต่มีนิสัยอยากรู้อยากเห็น งูอาจว่ายเข้ามาสังเกตดูนักดำน้ำใกล้ๆ แต่จะไม่ทำอันตรายนักดำน้ำ การถูกกัดอาจเกิดขึ้นได้ในกรณีที่เราไปรบกวนงูขณะที่กำลังจับคู่ผสมพันธุ์, การไปรบกวนงูขณะที่งูกำลังว่ายขึ้นผิวน้ำเพื่อมาหายใจ, การจับหรือสัมผัสโดนตัวงูอย่างรุนแรง เป็นต้น

4. เนื่องจากปากของงูที่เล็ก อ้าได้น้อย และการปล่อยพิษไม่มีประสิทธิภาพเท่างูบก การใส่เว็ทสูทจึงเป็นการป้องกันที่ดี (เว็ทสูทที่หนา 2.5-3 มม. ขึ้นไป) เพราะปากงูทะเลไม่สามารถอ้าได้กว้างและมีแรงกัดที่มากพอจะทะลุความหนาของเว็ทสูทได้ และถึงแม้เขี้ยวงูอาจจะทะลุเว็ทสูทลงไปจนถึงผิวหนัง จากสถิติก็พบว่ามักจะเป็นการกัดที่ไม่มีการปล่อยพิษเข้าสู่ร่างกาย และหากมีการปล่อยพิษ ก็จะมีปริมาณที่น้อยมากจนไม่มีอาการใดๆ แสดงให้เห็น

อาการแสดงของผู้ป่วยที่ได้รับพิษงู

ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ที่ถูกกัดนั้นจะไม่มีอาการเจ็บปวดที่บาดแผล หรือมีน้อยมาก ดังนั้นผู้ที่ถูกกัดอาจไม่ทราบว่าตัวเองโดนกัด ในระยะแรกของการรับพิษนั้น จะไม่แสดงอาการใดๆ จนกว่าเวลาจะผ่านไป 1-2 ชั่วโมง ดังนั้นอย่าเพิ่งด่วนสรุปว่า การกัดนั้นจะไม่มีอาการผิดปกติของพิษงู จนกว่าจะสังเกตอาการไปเรื่อยๆ ประมาณ 2 ชั่วโมงหลังถูกกัด

อาการแสดงทางระบบประสาท อาจจะมีดังนี้คือ สับสน หงุดหงิด หรืออาจซึมลง อาจมีการอ่อนแรงของแขน ขา และกล้ามเนื้อในบริเวณต่างๆ อาจมีอาการหนังตาตก พูดไม่ชัด กล้ามเนื้อกระตุก หายใจลำบาก หรืออาจหยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้นได้

การปฐมพยาบาลในกรณีที่ถูกงูทะเลกัด

วิธีการปฐมพยาบาลที่แนะนำให้ใช้เป็นมาตรฐาน เมื่อถูกงูทะเลกัดคือ Compression / Immobilization Bandaging Technique (การกดปิดบาดแผลที่อาศัยแรงกดร่วมกับการพันผ้าเพื่อจำกัดความเคลื่อนไหวของส่วนที่โดนกัด) หากไม่สามารถหาวัสดุปิดแผลได้ ก็สามารถใช้มือกดลงไปตรงๆ เหนือบาดแผลแทนได้ และเมื่อมีการปิดบาดแผลด้วยวิธีข้างต้นแล้ว จะไม่มีการแกะหรือเปิดแผลอีกจนกว่าผู้ป่วยจะถึงมือแพทย์ครับ

เนื้อหาอาจจะดูไม่เยอะ แต่ผมคัดเอาแต่ประเด็นที่สำคัญและชัดเจนมาให้อ่านกันครับ รายละเอียดว่า พิษงูออกฤทธิ์แบบไหนยังไง การรักษาให้ยาต้านพิษแบบไหน ขอยังไม่กล่าวถึงนะครับ

 

จะเห็นได้ว่า จริงๆ แล้ว โอกาสที่นักดำน้ำจะถูกงูทะเลกัดนั้น “น้อยมาก” และถึงจะถูกกัด โอกาสที่เขี้ยวของงูจะทะลุเว็ทสูทลงไปจนถึงผิวหนังและปลดปล่อยพิษนั้น ก็ “น้อยมาก” เช่นกัน ดังนั้น หากดำน้ำไปเจองูทะเล สิ่งที่ควรทำคือ “Leave Them Alone” อย่าไปยุ่งกับเค้า ต่างคนต่างมองกัน แล้วก็ทางใครทางมันครับ ดีที่สุด … จริงๆ แล้วถ้าถามว่า ใครกลัวใครมากกว่ากัน ผมว่า งู เค้าอาจจะเห็นว่าเราตัวใหญ่กว่าและเค้าอาจจะกลัวเรามากกว่าที่เรากลัวเค้าก็ได้นะครับ

เขียนโดยหมอเอ๋
เผยแพร่ครั้งแรก28 ก.ย. 2554