บุหรี่ ถือเป็นสิ่งเสพติดที่มีจำหน่ายได้ทั่วไปโดยถูกต้องตามกฏหมาย (บุหรี่เลิกยาก … แต่ก็เลิกได้ครับ) ถ้าถามว่า มีนักดำน้ำในบ้านเราสูบบุหรีกันมากมั้ย ผมว่า มากพอสมควรเลยหละครับ … แล้วบุหรี่ส่งผลต่อการเจ็บป่วยในการดำน้ำบ้างรึเปล่า ลองดูข้อมูลและผลที่บุหรี่กระทำต่อร่างกายเราดูตามนี้นะครับ
ผลของบุหรี่ที่มีต่อร่างกาย
1. ทำให้เกิดภาวะหลอดลมหดตัว (Broncospasm)
ภาวะนี้จะส่งผลให้ปริมาณอากาศที่จะไหลเข้าสู่ถุงลมในปอดลดลง และหากนักดำน้ำยิ่งดำลงลึกมากขึ้น อากาศที่หายใจเข้าจะมีความหนาแน่นมากขึ้น การหายใจเข้าในแต่ละครั้งต้องอาศัยแรงมากขึ้น เมื่อบวกกับผลของการมีหลอดลมที่หดตัว ก็จะยิ่งทำให้ปริมาณอากาศที่จะหายใจเข้าน้อยลงและต้องใช้แรงมากกว่าปกติ … อาจส่งผลให้เหนื่อย หมดแรงได้ง่าย และอาจมีอาการปวดมึนศีรษะจากภาวะพร่องออกซิเจน หรืออาจจะเกิดอาการคาร์บอนไดออกไซด์คั่ง จากการที่เมื่อหลอดลมหดตัว การหายใจออกก็ทำได้ไม่เต็มที่เช่นกัน … ส่งผลให้มีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน หลอดเลือดขยายตัว การแลกเปลี่ยนไนโตรเจนเข้าและออกเนื้อเยื่อมากขึ้นและเร็วขึ้น … อาจส่งผลให้เกิด Decompression Sickness ได้ง่ายขึ้นครับ
2. ทำให้มีเสมหะเกิดขึ้นภายในหลอดลมและท่อลมเล็กๆ ในปอด มากขึ้น
หากเสมหะนั้นไปอุดตันท่อลมเล็กๆ ในปอด จะเกิดลักษณะที่เรียกว่า Air Trapping อากาศจะถูกขังเอาไว้ในถุงลมโดยที่ไม่สามารถระบายหรือแลกเปลี่ยนปริมาตรออกมาภายนอกได้ หากมีการลดความกดบรรยากาศโดยการเปลี่ยนความลึกมาในที่ตื้นหรือขึ้นสู่ผิวน้ำอย่างรวดเร็ว อาจทำให้เกิดการฉีกขาดของถุงลมในปอด ส่งผลให้เกิดลมรั่วในช่องทรวงอก (Pulmonary Barotrauma) หรือเกิดฟองอากาศไปอุดตันหลอดเลือดแดงที่สมอง (Cerebral Artery Gas Embolism) ได้ครับ
3. ทำให้มีการติดเชื้อทางเดินหายใจได้ง่าย และบ่อยมากขึ้น
เนื่องจากส่วนประกอบของบุหรี่ที่มี tar หรือน้ำมันดิน รวมไปถึงก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้หลายชนิด จะไปมีผลต่อ Celia ซึ่งเป็นอวัยวะลักษณะคล้ายขนเล็กๆ ที่อยู่ที่เยื่อบุผิวทางเดินหายใจนั้น ทำงานได้ลดลง เคลื่อนไหวได้น้อยลง … Celia ที่ว่านี้ ทำหน้าที่ดักจับสิ่งแปลกปลอม ฝุ่นละออง เชื้อโรคต่างๆ ไม่ให้เข้าไปสู่ทางเดินหายใจในส่วนลึกได้ หาก Celia ทำงานลดลง ก็จะเกิดการติดเชื้อได้ง่าย อาจเกิดหลอดลมอักเสบได้บ่อยๆ และ เป็นครั้งละนานๆ แม้จะทานยาปฏิชีวนะที่ดีมากๆ ก็อาจจะไม่ทำให้อาการนั้นหายได้ในเวลาที่คนปกติทั่วไปเค้าหายกัน และการติดเชื้ออาจลุกลามไปยังปอด เกิดปอดอักเสบติดเชื้อตามมาได้อีก และจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิด Air Trapping ตามกลไกที่กล่าวไว้ในข้อ 2. ในที่สุด
4. ทำให้เกิดถุงลมโป่งพอง
โรคนี้คู่กับการสูบบุหรี่ครับ เป็นภัยเงียบ ไม่เกิดในทันทีทันใด จะส่งผลเมื่อสูบบุหรี่เป็นระยะเวลานานๆ (ใครเป็นโรคนี้ น่าสงสารครับ ทรมานมาก โดยเฉพาะถ้าเป็นตอนอายุมากๆ) ความเสี่ยงของถุงลมโป่งพองกับการดำน้ำก็คือ อาจมี Air Trapping ในถุงลมได้ง่ายและฉีกขาดได้ง่าย ความเสี่ยงที่จะเกิดการฉีกขาดของถุงลมในปอดจึงสูงมาก แม้ไม่ดำน้ำ และยิ่งน่ากังวลและอาจเกิดอันตรายขั้นรุนแรง หากเกิดภาวะนี้ขึ้นในขณะดำน้ำครับ
5. ปริมาณของ carboxyhemoglobin (ฮีโมโกลบินที่จับกับคาร์บอนมอนอกไซด์) สูงมากขึ้น
เนื่องจาก carbon monoxide นั้นมีความสามารถในการจับกับ hemoglobin ได้มากกว่าออกซิเจนถึง 245 เท่า ดังนั้นเมื่อมีปริมาณ carboxyhemoglobin สูง จึงทำให้เนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย เกิดภาวะขาดออกซิเจนตามมาในที่สุด
ปริมาณ carbon monoxide ที่สูงนั้น ส่งผลทำให้มีการขยายตัวของหลอดเลือด ความดันโลหิตลดต่ำลง มีอาการ หน้ามืดวิงเวียน ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ซึมลง สับสน หรือหมดสติ … อวัยวะที่ต้องการ oxygen ปริมาณมากคือหัวใจและสมอง จะเป็นอวัยวะที่ถูกกระทบกระเทือนก่อน หากนักดำน้ำมีปัญหาเรื่องหลอดเลือดหัวใจตีบตันร่วมด้วย ก็มักนำไปสู่ภาวะหัวใจขาดเลือดและเสียชีวิตในขณะดำน้ำได้ ส่วนอาการทางสมองนั้น ผู้ที่สูบบุหรี่ไปนานๆ อาจมีเรื่องของบุคลิกเปลี่ยนแปลง ความสามารถในการจดจำที่ลดลง การตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาช้าลงหรือมีการตัดสินใจที่ไม่เหมาะสมเกิดขึ้นได้
6. มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ
ข้อมูลนี้เป็นที่ทราบกันอยู่ดีแล้ว ว่าการสูบุหรี่ ส่งผลให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบสูงกว่าคนปกติทั่วไปถึง 2.4 เท่า และหากมีภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โอกาสที่จะเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบจะยิ่งสูงมากขึ้น อาจถึง 8 เท่าของคนที่ไม่สูบบุหรี่ และจากข้อมูลของ DAN (Diving Alert Network) พบว่า สาเหตุการเสียชีวิตของนักดำน้ำนั้น 26% เกิดจากโรคหัวใจ (หัวใจเต้นผิดปกติ, หลอดเลือดหัวใจตีบ, ฯลฯ) และจากการเก็บสถิติในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา พบว่า โรคหัวใจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของนักดำน้ำแบบ SCUBA สูงถึง 45%
ส่วนสถิติทั่วๆ ไป พบว่า โรคหลอดเลือดหัวใจที่เกิดจากการสูบบุหรี่นั้น จะนำไปสู่ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน มากกว่าคนปกติ 10 เท่า… โดยความเสี่ยงจะสูงขึ้นตามจำนวนบุหรี่ที่สูบ และเมื่อเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน 50% จะเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ และอีก 25% จะไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล (โอกาสรอดมีแค่ 1 ใน 4)
7. ส่งผลทำให้เยื่อบุโพรงจมูกและเยื่อบุทางเดินหายใจบวม (Nasopharyngeal Mucosa Congestion)
มีผลทำให้การปรับความดันในหูชั้นกลางนั้นเป็นไปได้ยาก ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บจากแรงดันที่หูชั้นกลาง, ชั้นใน หรือที่โพรงไซนัสตามมาได้ครับ
ถามว่า บุหรี่มีข้อดีอะไรบ้าง … นึกไม่ออกเลยจริงๆ ครับ … ข้อมูลที่คัดมาให้อ่านข้างต้น เป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงแต่มักจะถูกมองข้ามและละเลย หลายคนอาจจะบอกว่า สูบบุหรี่มานาน ดำน้ำมานาน ไม่เห็นเป็นอะไรเลย … ก็อย่างที่บอกครับ คนที่เค้าสูบแล้วเกิดเหตุ เค้าอาจจะไม่มีโอกาสมาเล่าให้เราฟังแล้วครับ ตราบใดที่เหตุยังไม่เกิดกับเรา เราก็ยังโชดดีอยู่ครับ …… แต่ตราบใดที่เพื่อนๆ นักดำน้ำยังสูบุหรี่อยู่ ก็เตือนตัวเองด้วยนะครับว่า ภัยคุกคามมันรอเราอยู่และพร้อมจะจัดการกับเราได้ทุกเมื่อ ………… เลิกบุหรี่กันดีกว่าครับ เพื่อตัวท่านเองและครอบครัวครับ
เขียนโดย | หมอเอ๋ |
---|---|
เผยแพร่ครั้งแรก | 21 ก.ย. 2554 |