ชื่อ Coron อาจยังเป็นที่รู้จักไม่มากนักในหมู่นักดำน้ำชาวไทย แม้จะมีทริปนักดำน้ำไทยไปดำน้ำที่นั่นแทบทุกปี แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นจำนวนมากมายเท่ากับแหล่งดำน้ำชื่อดังอย่าง สิปาดัน บาหลี หรือโคโมโด … ข้อมูลของแหล่งท่องเที่ยวและดำน้ำลึกที่ Coron จึงยังมีให้อ่านกันไม่มากนัก ยิ่งถ้าพูดถึงชื่อเกาะ Busuanga ก็ไม่ต้องคิดเลยว่าจะมีสักกี่คนรู้จักหรือเคยได้ยิน
ทั้งการเดินทางที่ไม่สะดวกสบายมากนัก แถมค่าใช้จ่ายทั้งที่พัก อาหาร และการดำน้ำ ก็อาจถือว่าสูงเมื่อเทียบกับจุดดำน้ำชื่อดังจุดอื่นๆ (เพราะรีสอร์ตดำน้ำหลายแห่งที่นั่น มีราคาจัดอยู่ในระดับ 5 ดาวเลยทีเดียว) แต่ถ้าใครกำลังมองหาแหล่งดำน้ำที่จะมอบประสบการณ์แปลกใหม่กว่าทุกที่ที่เคยไป รับรองได้ว่า Coron จะเป็นอีกชื่อหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในลิสต์นั้นแน่นอน
Coron ที่เราพูดถึงกัน ส่วนใหญ่หมายถึงเมืองหลักบนเกาะ Busuanga อันเป็นเกาะที่แวดล้อมไปด้วยแหล่งดำน้ำที่มีความแตกต่างไม่เหมือนใคร นับตั้งแต่ เรือจมญี่ปุ่นนับสิบลำสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีประวัติความเป็นมาน่าสนใจ การดำน้ำกับพะยูนที่คุ้นเคยกับคนเป็นอย่างดี และการดำน้ำในทะเลสาบที่มีทั้งชั้น themocline และ halocline ในที่เดียวกัน
นอกจากนี้ Coron ก็ยังเป็นชื่อของเกาะเล็กๆ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะ Busuanga และเป็นชื่อของอ่าวที่อยู่ระหว่างเกาะ Busuanga, เกาะ Coron และเกาะ Culion ด้วย
ด้วยเหตุที่ชื่อ Coron ปรากฏอยู่ทั่วไปในพื้นที่นี้ ทั้งยังเป็นชื่อเขตเมืองที่ตั้งของสนามบินด้วย จึงเป็นชื่อที่นักดำน้ำจะคุ้นหูคุ้นตามากกว่า แม้ว่าที่จริงแล้วจุดดำน้ำเกือบทั้งหมดในย่านนี้จะอยู่รอบเกาะ Busuanga ก็ตาม
ดำน้ำเรือจมรอบเกาะ Busuanga
ที่นี่ได้รับการขนานนามว่า Capital of Wreck Diving in the Philippines เป็นจุดหมายปลายทางของการดำน้ำเรือจมที่มีนักดำน้ำมาเยือนมากที่สุดแห่งหนึ่งในฟิลิปปินส์ และยังเคยติด 1 ใน 10 จุดดำน้ำที่ดีที่สุดของโลก ในนิตยสาร Forbes Travel Magazine เลยทีเดียว
จุดดำน้ำเรือจมในบริเวณนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ท่ามกลางเกาะเล็กเกาะน้อยระหว่างเกาะ Busuanga กับเกาะ Culion มีเพียง 1 จุดเท่านั้นที่อยู่นอกชายฝั่งของเกาะ Coron และอีก 1 จุดที่อยู่ทางเหนือของเกาะ Busuanga เป็นแหล่งดำน้ำที่รู้จักกันในชื่อ Coron Wrecks หรือหมู่เรือจม Coron
ซากเรือที่อับปางเหล่านี้เป็นของกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่น ในการยกพลขึ้นบกที่เลย์เต (Invasion of Leyte) สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งแอบอยู่ตามเกาะแก่งต่าง ๆ แต่ถูกเครื่องบินสอดแนมจากกองกำลังเฉพาะกิจ 38 (Task Force 38) ของสหรัฐอเมริกาตรวจจับได้ในวันที่ 24 กันยายน ปี ค.ศ. 1944 และเข้าโจมตีหลังจากนั้นไม่นาน ทำให้จักรวรรดิญี่ปุ่นต้องสูญเสียเรือมากกว่า 20 ลำ ซากเรือส่วนใหญ่จะทอดตัวอยู่ในระดับความลึกที่นักดำน้ำสามารถดำลงไปได้ คือระหว่าง 10 เมตร ถึง 40 เมตร โดยเฉลี่ยอยู่ที่ความลึกระดับ 25-30 เมตร
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดำน้ำเรือจมเหล่านี้ อ่านได้ที่ Dive Magazine: THE WRECKS OF CORON BAY
ดำน้ำกับพะยูนที่เกาะ Calauit
นอกจากเรือจมแล้ว นักดำน้ำยังรู้จัก Coron ในฐานะเป็นจุดดำน้ำที่เรามีโอกาสได้พบกับพะยูนประจำถิ่น ซึ่งบริเวณรอบเกาะ Busuanga นี้เป็นแหล่งหญ้าทะเลชั้นดี มีพะยูนอยู่ราว 30 ถึง 50 ตัวอาศัยอยู่ และหนึ่งในนั้นคือเจ้าอะบัน (Aban) พะยูนตัวเดียวที่อยู่ประจำบริเวณอ่าวด้านเหนือของเกาะ Calauit (เป็นเกาะที่อยู่ติดกับเกาะ Busuanga ทางตะวันตกเฉียงเหนือสุดของเกาะ) ใครมาว่ายน้ำหรือดำน้ำเล่นแถวนี้ ต้องได้เจอกับเจ้าอะบันแน่นอน หรือถ้าโชคดีอาจได้เจอพะยูนตัวอื่นว่ายผ่านมาด้วยก็ได้
พื้นที่ที่เราจะดำน้ำกับพะยูนนี้ได้รับการดูแลโดยเจ้าหน้าที่ (ซึ่งก็คือชาวบ้านในบริเวณนั้น) ที่จะคอยมองหาว่าเจ้าอะบันกำลังว่ายน้ำหรือกินหญ้าทะเลอยู่ตรงไหน และส่งสัญญาณมือบอกเจ้าหน้าที่ที่อีกคนบนเรือนักท่องเที่ยวแต่ละลำ ผลัดกันเข้าไปชมเจ้าอะบัน จำกัดจำนวนให้มีมนุษย์อยู่ใกล้ๆ เจ้าอะบันได้ไม่เกิน 5 คนในแต่ละรอบ ห่างไม่ต่ำกว่า 5 เมตร และให้ชมได้ประมาณ 20 นาทีต่อกลุ่มเท่านั้น เพื่อกระจายโอกาสกันและไม่รบกวนเจ้าอะบันจนเกินไป
ทั้งนี้ จะมีค่าธรรมเนียมเข้าดำน้ำกับเจ้าอะบันคนละ 600 เปโซ ซึ่งค่าธรรมเนียมนี้จะนำไปใช้เพื่อดูแลรักษาพื้นที่ในท้องถิ่นนั้นจริงๆ ไม่ต้องส่งเข้าส่วนกลางแต่อย่างใด ใครเคยอยากดำน้ำกับพะยูนโดยไม่ต้องวัดดวง ต้องหาโอกาสมาที่นี่ (ถ้าไม่โชคร้ายขนาดที่วันนั้นบังเอิญเจ้าอะบันออกไปเที่ยวไกลไปหน่อย ต้องได้เจอเจ้าอะบันแน่นอน) และการได้ดำน้ำกับพะยูน ก็เป็นประสบการณ์ที่น่าประทับใจมากทีเดียว
ดำน้ำใน Barracuda Lake ที่เกาะ Coron
ทะเลสาบแห่งนี้ตั้งอยู่ภายในเกาะ Coron (แต่ก็ใกล้กับทะเลมาก) มีน้ำใสปิ๊งอยู่ด้านบน รอบข้างจะมองเห็นเป็นแนวผนังหินปูนที่ทอดตัวมาจากภูเขาด้านบนตรงดิ่งลงไปถึงก้นทะเลสาบเบื้องล่าง ชั้นน้ำในทะเลสาบแบ่งเป็น 3 ชั้น คือ ชั้นบนสุด ลึกประมาณ 4 เมตร เป็นน้ำจืดอุณหภูมิประมาณ 28 c ถัดจากนั้นลงไปถึงความลึกประมาณ 14 เมตรจะเป็นชั้นน้ำเค็มที่เริ่มอุ่นขึ้นนิดหน่อย ถัดจากนั้นลงไปจนถึงก้นทะเลสาบคือ thermocline อุณหภูมิสูงถึง 38 c
ก้นทะเลสาบที่ความลึกประมาณ 30 เมตร เป็นพื้นทรายที่เป็นตะกอนเบาๆ ซึ่งฟุ้งกระจายได้ง่าย จึงต้องระวังการตีฟินให้ดีมากๆ ลองดูคลิปวิดีโอขำๆ ที่มีนักดำน้ำเล่นสนุกกับพื้นทรายก้นทะเลสาบ Barracuda Lake นี้ได้
ในทะเลสาบแห่งนี้ แม้จะไม่ค่อยมีสัตว์อาศัยอยู่มากนัก แต่ก็ยังพอได้เห็นปลาบู่ (goby) ปู กุ้ง และปลาบางชนิดอาศัยอยู่ ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่า ทะเลสาบแห่งนี้ในอดีตเคยเชื่อมต่อถึงทะเลภายนอก ก่อนจะกลายเป็นทะเลสาบปิดอย่างในปัจจุบัน ส่วนปลาสากหรือ Barracuda อันเป็นที่มาของชื่อทะเลสาบนี้ ก็มีผู้พบเห็นอยู่บ้างแต่ไม่บ่อยนัก
นักท่องเที่ยวที่มาที่นี่ มีทั้งนักท่องเที่ยวทั่วไป และนักดำน้ำทั้งฟรีไดฟ์และสคูบ้า โดยเฉพาะนักดำน้ำฟรีไดฟ์จะชอบที่นี่มากเพราะให้บรรยากาศรอบข้างไม่เหมือนที่ใดในโลก น้ำก็ใสมาก ถ่ายรูปออกมาแล้วงดงามจริงๆ
การเดินทางมายัง Barracuda Lake นี้ต้องมาขึ้นเรือที่ท่าเรือทางใต้ของเมือง Coron (บนเกาะ Busuanga) นั่งเรือเพียง 15 นาทีก็ถึงท่าจอดเรือหน้าเกาะ Coron จากนั้นเดินขึ้นบันไดเพื่อข้ามเนินเล็กๆ อีก 20 นาทีเพื่อเข้าสู่ทะเลสาบ
ชมภาพการดำน้ำฟรีไดฟ์สวยๆ ใน Barracuda Lake และเรือจมต่างๆ ของ Coron ได้ที่
- http://dugongdivecenter.com/v3/dive-sites/barracuda-lake/
- https://www.flickr.com/photos/gsbn/44706998462/in/photostream/
- https://mjpaula.wordpress.com/2017/04/25/freediving-the-beautiful-barracuda-lake-and-shipwrecks-of-coron-palawan-philippines/
นอกจากประสบการณ์การดำน้ำที่แปลกใหม่มากมายข้างต้นแล้ว ทะเลฟิลิปปินส์ยังคงมีแนวปะการังที่อุดมสมบูรณ์ให้ชมในทุกที่ มีปลาฝูงใหญ่ที่ว่ายน้ำเล่นด้วยได้หน้าชายหาดของรีสอร์ต มีปลาและสัตว์ตัวจิ๋วให้ค้นหาและฝึกหัดถ่ายภาพแบบมาโคร รวมถึงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เต่าทะเลแห่งสำคัญของโลก เช่นเดียวกับจุดดำน้ำอื่นๆ ในฟิลิปปินส์ด้วยเช่นกัน